โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


พัฒนาการแห่งโรงเรียนกฎหมาย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


กรมหลวงสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์ได้ทรงพิจารณาบันทึกความเห็นของนายยอร์ช ปาดูซ์แล้ว มีพระดำริเห็นชอบด้วยจึงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2546 ว่า

"...ครั้นเมื่อข้าพระพุทธเจ้ากับกรรมการมีชื่อรับพระราชทานประชุมศึกษาตรวจสอบแก้ร่างประมวลแพ่งจวนจะสำเร็จลงในเดือนธันวาคมนั้น มองสิเออ ปาดูซ์ จึงได้ร้องขอให้ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาพิเคราะห์ถึงวิธีการศึกษาวิชากฎหมายว่า บัดนี้ถึงเวลาจำเป็นแล้วที่จะพึงดำริจัดการให้เข้าทำนองวิธีสั่งสอนฝ่ายคอนติเนนต์ คือกฎหมายประมวลธรรม สำแดงเหตุว่าวิธีทั้ง 2 ผิดกันหลายประการ แลรัฐบาลจะออกประกาศให้ใช้กฎหมายประมวลธรรมนี้ แต่ผู้พิพากษาตุลาการที่ไม่ชำนาญในวิธีนั้นจะบังคับอรรถคดีให้ถูกต้องโดยทำนองมิได้ ย่อมจะบังเกิดความลำบากใหญ่แก่ราชการศาลยุติธรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้สนทนาปรึกษาด้วยมองสิเออปาดูซ์ กับพระยาจักรปาณี (เจ้าพระยามหิธร) เป็นต้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าถึงการจำเป็นจะทิ้งรารอไว้ดังนี้มิได้ ควรจะตระเตรียมดัดแปลงโรงเรียนกฎหมายให้ลงร่องลงรอยกลมกลืนกับทำนองนี้จึงจะทันท่วงที ข้าพระพุทธเจ้าจึงสั่งให้มองสิเออปาดูซ์รวบรวมความเห็นที่ได้เขียนไว้เดิม ตกเติมเพิ่มข้อความลงให้กระจ่างเป็นฉบับเดียวกัน ทำมายื่นเพื่อได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเรียนปฏิบัติ...และยังได้ทราบเกล้าฯ อยู่ว่าทรงเป็นพระราชภาระธุระโดยพิเศษในการศึกษาของกุลบุตร ทรงพระราชปรารภอยู่ในการจัดตั้งวิทยาลัยจะให้เป็นมหาสถานที่มาชุมนุมซึ่งการศึกษาชั้นสูงทั่วทุกสาขาวิทยาลัยฝ่ายพลเรือน ข้าพระพุทธเจ้ามาคำนึงว่าวิชากฎหมายนี้ย่อมเป็นสาขาอันหนึ่งซึ่งจะพึงรวมประชุมเข้าด้วย เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเค้าโครงเดิมของโรงเรียนนี้ยังบกพร่องอยู่เป็นอันมาก ยากที่ใครจะสะสางขวนขวายให้เจริญขึ้นได้นอกจากพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะเหตุฉะนี้ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชวโรกาสจำทูลความเห็นของมองสิเออปาดูซ์ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ารับรองเห็นชอบด้วยนั้น เพื่อจะได้ทราบกระแสพระราชดำริว่าจะควรเป็นผลสำเร็จหรือขัดข้องประการใด เพื่อให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการอันอาศัยอยู่กับการฝึกหัดวิชากฎหมายนั้นดำเนินไปคล่องแคล่วในภายหน้า..."

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนและหลักสูตรในโรงเรียนกฎหมายเช่นเดียวกับกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์และนายยอร์ช ปาดูซ์ ดังนั้นจึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 ความว่า

"...เห็นว่าความเห็นนายปาดูซ์ได้แสดงมาโดยละเอียดและเป็นหลักฐานดี เห็นชอบด้วยทุกประการ จริงอยู่ในตัวหม่อมฉันเองเป็นผู้ที่ได้เรียนกฎหมายตามทางอังกฤษ แต่รู้สึกว่าเมืองเราได้ตกลงแล้วว่าจะใช้กฎหมายอย่างแบบประมวลธรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่เราจะคิดจัดการศึกษาให้เป็นประโยชน์มากที่สุดทางนั้น เพราะฉะนั้นอนุญาตให้ท่านทรงพระดำริวางรูปการไปตามความเห็นของนายปาดูซ์และตามที่พูดกันแล้วด้วยปากเมื่อวันที่ 16 เดือนนี้"

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า บันทึกความเห็นของนายยอร์ช ปาดูซ์และรายงานคำกราบบังคมทูลของกรมหลวงสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์ ได้ก่อให้เกิดแนวคิดที่จะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนและหลักสูตรกฎหมายในโรงเรียนหลวงของกระทรวงยุติธรรม ให้ลงรอยกับระบบกฎหมายของประเทศ อันได้แก่ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในภายหลัง แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าแม้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะพยายามสร้างอิทธิพลให้กฎหมายของตนปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายของไทยก็ตาม แต่ประเทศไทยก็สามารถขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการจัดสรรอิทธิพลทางกฎหมายของทั้งสองชาติได้อย่างลงตัว กล่าวคือในด้านโครงสร้างส่วนใหญ่ของระบบกฎหมายของประเทศได้เปลี่ยนมาใช้ระบบซีวิลลอว์ของประเทศในภาคพื้นยุโรปเช่นเดียวกับฝรั่งเศส แต่ในด้านเนื้อหาสาระของตัวบทกฎหมายนั้น ประเทศไทยใช้หลักผสม กล่าวคือบางส่วนถือตามหลักกฎหมายในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ เช่นกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 และบางส่วนก็ถือตามกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษ เช่นตั๋วเงินในบรรพ 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของประเทศนั้น ประเทศไทยได้ดำเนินการเป็น 2 แนวทางดังนี้

แนวทางแรก ได้แก่การเปลี่ยนแปลงประเทศที่จะส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชากฎหมาย แต่เดิมอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนกฎหมายคือเนติบัณฑิตที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายในประเทศซึ่งสอนตามระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ บุคคลเหล่านี้ได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาทั้งสิ้น แต่หลังจากนายยอร์ช ปาดูซ์ได้เสนอความคิดเห็นดังกล่าวแล้ว จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงแหล่งศึกษาวิชากฎหมายโดยส่งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษายังประเทศอื่น ๆ บ้าง ดังนั้นตั้งแต่พ.ศ.2546 เป็นต้นมาจึงได้มีการส่งนักเรียนไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอื่นนอกจากประเทศอังกฤษ เช่นที่สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส เป็นต้น อย่างไรก็ตามประเทศอังกฤษยังคงเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากรัฐบาลไทยในการส่งนักเรียนไปศึกษาวิชากฎหมาย ดังจะเห็นได้จากในระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2460 จนถึงพ.ศ.2465 นั้นมีนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายในต่างประเทศจำนวน 16 คน ในจำนวนนี้ 12 คนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ และมีเพียง 4 คนเท่านั้นที่ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอเมริกา

แนวทางที่สอง ได้แก่การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนกฎหมาย โดยเริ่มต้นตั้งแต่พ.ศ.2457 กล่าวคือเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2457 ได้มีการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนกฎหมายโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อันได้แก่    กรมหลวงสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์    พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ ไกรฤกษ์ ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยามหิธร)    พระยากฤติกานุกรณ์กิจ   (ดั่น บุนนาค ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาพิชัยญาติ) พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) นายซี เนียล(พระยามนูศรีธรรมประสาท) นายอาร์ ประแดนิเกต์    พระยาจินดาภิรมย์ (จิตร ณ สงขลา ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ)   หลวงประดิษฐ์พิจารณการ (ทองก้อน หุตะสิงห์ ต่อมาได้เป็นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา)    และหลวงพินิตนิตินัย (บุญช่วย วณิกกุล ต่อมาได้เป็น พระยาเทพวิฑูรพหุลศรุตาบดี) แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 2 หนี้ ยังไม่อาจประกาศใช้ได้เร็ววันดังที่คาดหวังไว้ เพราะมีปัญหาข้อกฎหมายในตัวบทของบรรพดังกล่าวที่ยังถกเถียงกันอยู่ นอกจากนี้ชาวต่างประเทศที่มีคดีความในศาลส่วนใหญ่เป็นคนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศส ดังนั้นที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศซึ่งมีทั้งชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสย่อมมีส่วนได้เสียในบทบัญญัติที่จะตราขึ้นเป็นประมวลกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตน เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้เช่นนี้ จึงจำเป็นอยู่เองที่จะสอนกฎหมายไทยในโรงเรียนกฎหมายตามระบบกฎหมายซีวิลลอว์ยังไม่ได้ การสอนจึงยังคงต้องใช้ผู้พิพากษาและข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมที่เป็นชาวต่างประเทศ อันหมายถึงที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศ สอนวิชากฎหมายแก่นักเรียนในโรงเรียนกฎหมายไปก่อน แต่ก็มีครูสอนภาษาฝรั่งเศสให้แก่นักเรียนกฎหมายที่สมัครเรียนด้วย ต่อมาเนื่องจากความเสื่อมถอยของโรงเรียนกฎหมาย จึงได้มีการปรับปรุงระเบียบการของโรงเรียนขึ้นในพ.ศ.2460 โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดให้นักเรียนกฎหมายมี 2 ประเภทคือ

1.นักเรียนสามัญ ได้แก่ผู้มีความรู้ไม่ต่ำกว่ามัธยมปีที่ 6 เป็นนักเรียนชั้นอุดมศึกษา บังคับให้ต้องมาฟังคำสอนที่โรงเรียนกฎหมายในระหว่างที่เปิดสอนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 3 วัน หรือเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 12 วัน มิฉะนั้นจะถูกคัดชื่อออกจากทะเบียน

2.นักเรียนพิเศษ ได้แก่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร หรือผู้ที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ นักเรียนประเภทนี้จะมาฟังคำสอนหรือไม่มาฟังคำสอนก็ได้

    <- ย้อนกลับ   

    หน้าถัดไป ->