|
|
Ultra Q : ก่อนจะมาเป็นอุลตร้าแมน
ก่อนที่จะมีอุลตร้าแมนที่พวกเรารู้จัก Tsuburaya ได้สร้างภาพยนต์ทางโทรทัศน์ชุด Ultra Q ขึ้นมาก่อนเมื่อปี พ.ศ.2509 เพื่อเป็นการลองเชิงการสร้างภาพยนต์แนววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการสร้างภาพยนต์ในยุค 60 อุลตร้า Q ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2509 จนกระทั่งถึงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2509 รวมทั้งสิ้น 28 ตอน และเป็นภาพยนต์สำหรับฉายโรงภาพยนต์อีก 1 ตอน โดยมีตัวเอกของเรื่อง คือ1.Jun Manjome พระเอกของเรื่อง เป็นนักบินของสายการบินโฮชิกาว่า และเป็นนักเขียนนิยายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ 2.Ippei Togawa ผู้ช่วยนักบินของสายการบินโฮชิกาว่า รองจากพระเอก เป็นคนมีอารมย์ขัน สร้างความครึกครื้นให้กับพระเอกและนางเอกในเรื่องอยู่เสมอ 3.Yuriko Edogawa นางเอก เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ Mainichi และเป็นคนรักของพระเอก แสดงโดยฮิโรโกะ ซากุระอิ ซึ่งได้แสดงเป็นอากิโกะ ฟูจิ หนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วย วิทยะ แห่งภาพยนต์อุลตร้าแมนชุดแรกในเวลาต่อมา 4.ศาสตราจารย์ Icshi-no-Tani นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ผู้ซึ่งตัวเอกของเรื่องอุลตร้า Q มักจะมาปรึกษาเวลาประสบปัญหาอยู่เสมอ อุลตร้า Q ถูกสร้างตามสูตรสำเร็จของหนังผจญภัยแนววิทยาศาสตร์ทั่วไป พระเอกต้องเป็นคนเก่ง (ซึ่งในยุคหนึ่งใช้ความเป็น นักบิน เป็นสื่อแสดงให้เห็นถึงความเก่ง โดยอนุมานเอาว่า คนเป็นนักบินได้ต้องเป็นคนเก่ง เป็นฮีโร่ เด็กๆในยุคนั้นจึงพากันอยากขับเครื่องบินกันทุกคน) มีนางเอกเป็นสาวเก่ง คล่องแคล่วว่องไว และต้องมีตัวตลกคนหนึ่งคอยติดตามพระเอก(หรือนางเอก) เพื่อเพิ่มสีสันให้กับภาพยนต์ เพราะตัวพระเอกนางเอกจะมาทำเป็นตลกไม่ได้ เดี๋ยวเสียความเป็นฮีโร่หมด ต้องเก๊กไว้เสมอ ตัวตลกจึงมักคอยแสดงมุขในช่วงที่ภาพยนต์ถึงตอนเครียด โดยไม่มีใครถือสาแม้ว่าจะค่อนข้างผิดกาละเทศะ แต่ความเป็นตลกก็เป็นข้อยกเว้นในเรื่องปลีกย่อยเล็กน้อยนั้นได้เสมอ รายสุดท้ายก็ต้องมี นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นมันสมองของทีม เป็นตัวละครที่คอยอธิบายเหตุผลของเรื่องให้คนดูเข้าใจ เพราะพระเอกนางเองจะเก่งแอ๊คชั่นอยู่แล้ว จะให้มีมันสมองฉลาดกว่าคนอื่นมาคอยอธิบายให้คนดูฟังก็ดูจะโอเว่อร์เกินไป ภาพยนต์แนวนี้จึงต้องหา ใครสักคน มาเป็นคนฉลาดคอยอธิบาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ แก่หรือหนุ่มก็ได้แตกต่างกันไป และเป็นสูตรสำเร็จที่ปรากฏในภาพยนต์อุลตร้าแมนยุคต่อๆมา ภาพยนต์ซีรี่ส์ชุดอุลตร้า Q เป็นภาพยนต์นำร่องให้แก่ อุลตร้าแมน เป็นหนังขาว-ดำคล้าย Twilight Zone ของฝรั่ง ซึ่งเป็นที่นิยมขณะนั้น ด้วยการปฏิวัติภาพยนต์แนววิทยาศาสตร์โดยมีตัวละครที่เป็นสัตว์ประหลาดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกตอน แต่ยังไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ร่างยักษ์ปรากฏในภาพยนต์ช่วงนี้ (เนื่องจากแนวคิดยังพัฒนาไปไม่ถึง) แต่ก็ไม่ได้ไกลเกินไปนัก เพราะในอีกไม่นาน ยักษ์สีเงินก็โบยบินมาจากฟากฟ้า ตามแนวทางของอุลตร้า Q ซึ่งเปรียบเสมือนบรรพบุรุษของภาพยนต์อุลตร้าแมนในเวลาต่อมา แต่สำหรับอุลตร้า Q ในยุคนี้ แนวของเรื่องยอดนิยมยังเป็นไปตามยุคสมัยของยุค 60 คือ ตัวเอกหรือชาวบ้านประสบกับปรากฏการณ์ที่เกิดจากความไม่สมดุลในแนวทางที่เหนือธรรมชาติ ในภาพยนต์โทรทัศน์ชุด อุลตร้า Q วลียอดนิยมในช่วงเริ่มต้นคือ และในอีก 30 นาทีต่อจากนี้ นัยน์ตาของท่านจะแยกออกมาจากร่างกาย และผ่านเข้าสู่มิติอันมหัศจรรย์นี้ ซึ่งนับเป็นการเรียกน้ำย่อยสำหรับผู้ชมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาพยนต์โทรทัศน์ Twilight Zone เป็นอย่างยิ่ง สัตว์ประหลาดหลายตัวในอุลตร้า Q ถูกนำมาใช้อีกในภาพยนต์ซีรี่ย์ชุดอุลตร้าแมน ซึ่งเป็นเรื่องปกติด้วยเหตุผลทางงบประมาณและการรีไซเคิล หากเราสังเกตจึงพบว่าสัตว์ประหลาดหลายตัวในชุดอุลตร้าแมนซีรี่ย์ก็มีการรีไซเคิลมาดัดแปลงใหม่หลายตัว บางตัวก็เคยเป็นดาราโด่งดังในตัวเองในเวลาก่อนหน้านั้น เช่น ก๊อดซิลล่า ซึ่งนำมาดัดแปลงเป็นสัตว์ประหลาด Gomess ในตอนที่ 15 ฯลฯ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะใช้วิธีรีไซเคิลมากมาย แต่การสร้างภาพยนต์โทรทัศน์อุลตร้า Q ก็เป็นไปอย่างพิถีพิถันมากกว่าปกติธรรมดา จะเห็นได้จากภาพยนต์ทั้งหมดจำนวน 28 ตอน ใช้เวลาสร้างถึง 15 เดือน ซึ่งนานเกินกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มากสำหรับภาพยนต์โทรทัศน์ในสมัยนั้น หลังจากที่อุลตร้า Q ฉายที่ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2510 อีกประมาณ 23 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2533 ภาพยนต์ชุดนี้ก็ถูกสร้างอีกครั้งเป็นภาพยนต์สำหรับฉายทางโรงภาพยนต์ และคราวนี้อุลตร้า Q ไม่ใช่ภาพยนต์ขาวดำอีกต่อไป แต่เป็นภาพยนต์สีอย่างสมบูรณ์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ฮิโรโกะ ซากุระอิ นักแสดงสาวผู้รับบทนางเอกในภาพยนต์ชุดอุลตร้า Q ได้ปรากฏตัวอีกครั้งในบทบาทของ อากิโกะ ฟูจิ เจ้าหน้าที่สาวแห่งหน่วย วิทยะ (Science Patrol) ซึ่งผู้สร้างมีการเล่นมุขบางประการกับบทของนางเอกสาวคนนี้ (หรืออาจจะเอามุขเดิมมารีไซเคิลกระมัง) เช่น ในภาพยนต์ อุลตร้า Q ตอนหนึ่ง ฮิโรโกะ ถูกย่อส่วนเหลือเพียงขนาด 1/8 ต่อมาเมื่อมีการสร้าง อุลตร้าแมน ผู้สร้างได้นำเรื่องนี้มาทำเป็นมุขตลกแบบต่อเนื่อง(สำหรับผู้ที่ติดตามชมภาพยนต์อุลตร้า Q และอุลตร้าแมนมาโดยตลอด) คือ ให้มนุษย์ดาว Mefilas ใช้ฤทธิ์เดชขยายร่างของฮิโรโกะ (หรือฟูจิ) ให้มีขนาดยักษ์ ออกมาทำลายบ้านเมือง แต่หากผู้ชมไม่ได้เป็นผู้ที่ติดตามอุลตร้า Q และอุลตร้าแมนมาโดยตลอดก็คงไม่ได้รับรู้มุขลึกๆเช่นนี้แต่อย่างใด ฉากเปิดเรื่องอุลตร้า Q เป็นภาพคล้ายกับของเหลวที่หมุนวนและกลายเป็นตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่น (ปนภาษาอังกฤษ) เขียนว่า อุลตร้า Q เป็นซึ่งเทคนิคนี้ถูกนำมารีไซเคิลใช้อีกครั้งในฉากเปิดเรื่องของอุลตร้าแมนในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความเกี่ยวพันของภาพยนต์ทั้ง 2 ชุดได้เป็นอย่างดี ภาพของเหลวหลากสีหมุนวนเป็นตัวหนังสือนี้ ถูกนำมาใช้อีกหลายครั้งในภาพยนต์โทรทัศน์อุลตร้าแมนตัวต่อๆมาอีกหลายชุด เช่น อุลตร้าแมน 80 , อุลตร้าแมนไกญ่า ฯลฯ ซึ่งล้วนมาจากแนวคิดของผู้สร้างในยุค 60 ทั้งสิ้น นอกจากฉากเปิดเรื่องแล้ว สัตว์ประหลาดในอุลตร้า Q หลายตัวกลับมาปรากฏในภาพยนต์ชุดอุลตร้าแมนอีก เช่น Kemur-jin กลับมาเป็นมนุษย์ดาว Mephilas , Ragon , Peguila, Chandler , Garamon ฯลฯ ซึ่งบางตัวอาจเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามหรือเปลี่ยนรูปร่างไปบ้างเล็กน้อย(ด้วยเหตุผลการรีไซเคิลและงบประมาณ) แต่บางตัวก็ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเลย แม้แต่มนุษย์ดาวบัลตั้น (Baltan)คู่ปรับตัวสำคัญของอุลตร้าแมนในทุกยุคทุกสมัย ก็มีต้นแบบมาจากของเดิม จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ชุดแสดงของมนุษย์ต่างดาวบัลตั้นนั้น ดัดแปลงมาจากชุดของ Locus man ในอุลตร้า Q นั่นเอง สัตว์ประหลาดบางตัว ถูกรีไซเคิลต่อมาในอนาคตนานถึงกว่า 30 ปี เช่น Kanegon ในภาพยนต์ Ultraman Zearth ภาค 2 ถูกรีไซเคิลมาจาก Kanegon ในอุลตร้า Q แม้จะมาใหม่ในรูปแบบของดิจิตอลก็ตามก่อนจะมีอุลตร้า Q : Woo และ Unbalance แม้ว่าอุลตร้า Q ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของอุลตร้าแมนในเวลาต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว มิใช่ว่าอยู่ดีๆ แนวคิดเกี่ยวกับอุลตร้า Q นี้จะเกิดขึ้นมาได้เองในทันใด แต่ย่อมเกิดมาจากแนวคิดหลายๆแนวมาปรับรวมกันในรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งก่อนที่จะมีอุลตร้า Q นั้น Tsuburaya ก็มีไอเดียเกี่ยวกับเรื่อง พรรค์อย่างนี้ เช่นกัน แนวคิดดังกล่าว มาจากโครงการที่ชื่อว่า Woo ในยุค 1960 ก่อนมีอุลตร้า Q เอจิ ซึบุรายา ปรมาจารย์ผู้ให้กำเนิดอุลตร้าแมนและเป็นเจ้าของ Tsuburaya มีแนวคิดและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาพยนต์แนวแฟนตาซี หลังจากที่เขาได้สร้างก๊อดซิลล่าให้กับโลกภาพยนต์ แนวคิดเรื่อง Woo เกิดขึ้นหลังจากที่ฟูจิ เทเลวิชั่น (Fuji Television) ได้หารือกับเอจิ ซึบุรายา เกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ที่คล้ายคลึงกับนิยายวิทยาศาสตร์และเรื่องลึกลับที่โด่งดังมาก่อนหน้านี้ เช่น The Outer Limits หรือ The Twilight Zone โดยทั้งคู่ให้ความสนใจรูปแบบรายการที่สามารถจบได้ในแต่ละตอนจากแนวคิดดังกล่าว พลอตเรื่องจึงเกิดขึ้น Woo เป็นสิ่งมีชีวิตที่มาจากดาว Woo ในกาแลกซี่แอนโดรเมด้า หลังจากดาวของเขาถูกทำลายลงจากการชนกันกับดาวเคราะห์ดวงอื่น Woo ก็เดินทางมายังโลกและเป็นมิตรกับมนุษย์ เขากลายเป็นผู้ปกป้องโลกให้พ้นจากภัยจากอวกาศ เช่น สัตว์ประหลาด , เหตุการณ์ประหลาด และการรุกรานของมนุษย์ต่างดาว ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าว Woo มีความคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนมาก หลังจากนั้นอีก 4-6 เดือน ก็มีการวางแผนว่าจะสร้างภาพยนต์ต่อจาก Woo อีก 2 ภาค คือ Rappa และ Space Horse ในขณะเดียวกัน ในฤดูร้อนของปี พ.ศ.2506 Tsuburaya Production ก็ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับภาพยนต์ใหม่สำหรับออกอากาศทางโทรทัศน์ต่อสถานีโทรทัศน์ TBS มีชื่อว่า Unbalance ซึ่งเป็นเรื่องจินตนาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่ออะไรหลายๆอย่างบนโลกกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เช่น มนุษย์ถูกปกครองโดยสัตว์และถูกฝึกให้คุ้นเคยกับอารยธรรมที่สันติไร้การต่อต้านดังกล่าว และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อระบบนี้ถูกทำลายลง หากจุลชีพมีขนาดใหญ่ยักษ์ ต้นไม้สามารถเดินได้ อารยธรรมมนุษย์จะยังอยู่ได้หรือไม่ถ้าอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า Unbalance เช่นนั้น อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวทั้งหมดเกี่ยวกับ Woo และ Unbalance ก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นภาพยนต์เนื่องมาจากติดขัดกับปัญหาด้านงบประมาณในขณะนั้น Tsuburaya ได้ตัดสินใจที่เช่าซื้อ Optical printer ที่แสนแพง ซึ่งมีอยู่เพียง 2 ตัวในโลก เนื่องมาจากเขาต้องการที่จะมีอุปกรณ์ชั้นยอดในการสร้างภาพยนต์ แต่เขาก็ไม่มีเงินพอจะจ่ายทั้งหมดได้ โชคดีที่ TBS ตกลงจะซื้อต่อจากเขา และใช้ร่วมกันในการสร้างภาพยนต์ซีรี่ย์ในเวลาต่อมาจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่
1 Mammoth Flower
เป็นเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ยักษ์ที่งอกขึ้นมาในย่านดาวน์ทาวน์ของโตเกียว อย่างไรก็ดี TBS รู้สึกว่าตั้งแต่ได้ Tsuburaya มาร่วมงาน TBS อาจนำเอาพ่อของก๊อดซิลล่า(Father of Godzilla) มาใช้ประโยชน์ได้ในเชิงภาพยนต์ รายชื่อสัตว์ประหลาดต่างๆถูกนำมาเตรียมไว้สำหรับภาพยนต์เรื่องที่ 4 และเรื่องต่อๆไป เริ่มจาก Todara แต่ภาพยนต์ดังกล่าวก็ถูกสับเปลี่ยนออก ยังไม่สร้างในขณะนั้น TBS ไม่ชอบชื่อเรื่อง Unbalance ดังนั้นจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น Ultra Q โดยมีที่มาจากกีฬาโอลิมปิคกรุงโตเกียวซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2507 ในการแข่งขันยิมนาสติก มีท่าหนึ่งที่ทำได้ยากมากชื่อว่า Ultra C เขาจึงตั้งชื่อภาพยนต์ชุดใหม่ว่า Ultra Q ซึ่งหมายถึงคำถามที่ยากมาก หรือปริศนาอันลึกลับ |
แปล
และเรียบเรียงเนื้อหา+ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์
Absolute Ultraman ของ Wayne Koizumi http://www.waynebrain.com/ultra/
โดย
อุลตร้าหม่อง