ประวัติมังกรไทย

  กีฬาเชิดสิงโต
  กีฬามังกร

 

 

 

 

 

 

         ประเทศไทยมีการแสดงมังกรมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีในงานฉลองกรุงธนบุรี  พ.ศ. 2322  ซึ่งในการแสดงครั้งนั้น  ใช้ผู้แสดงทั้งหมด  13  คน  และใช้ฆ้องเป็นเครื่องประกอบการแสดงมังกรเพียงอย่างเดียว    ต่อมาปี  พ.ศ.2506 ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  จังหวัดนครสวรรค์ได้ริเริ่มนำเอาการแสดงแห่มังกรขึ้นมาใหม่ ซึ่งแสดงโดยคณะมังกรทองลูกเจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ  จังหวัดนครสวรรค์  อาจกล่าวได้ว่าเป็นคณะมังกรคณะแรกของประเทศไทย   การแสดงมังกรของจังหวัดนครสวรรค์ใช้ผู้เชิด  และผู้ที่คอยสลับผลัดเปลี่ยนเข้ามาตลอดจนมโหรี  จำนวนมากกว่าร้อยคน
          ปี พ.ศ. 2547   ห้างสรรพสินค้า The Mall  ได้ริเริ่มจัดให้มีการแข่งขันกีฬาเชิดมังกรชิงแชมป์ประเทศไทย   ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย   ซึ่งมังกรที่ได้เข้าร่วมทำการแข่งขันในครั้งนี้   นั้นมีความแตกต่างจากมังกรที่จังหวัดนครสวรรค์ริเริ่มจัดให้มีการแสดงขึ้นมาเป็นอย่างมาก    เนื่องจากในการจัดการแข่งขันครั้งนี้     ใช้กติกาการแข่งขันกีฬามังกรนานาชาติของสหพันธ์มังกร & สิงโตนานาชาติ  ที่มีข้อบังคับให้มีผู้เชิดมังกรได้เพียง  9  คน หรือที่เรียกว่า มังกร  9  ตอน  หรือมังกร  9 ไม้   ซึ่งลักษณะการเชิดมังกรแบบนี้   ปัจจุบันได้รับการยอมรับบรรจุเข้าทำการแข่งขันในระดับนานาชาติมานานแล้ว   ขณะที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการแข่งขันกีฬามังกรแบบนี้เท่าใดนัก     ทั้งทุกปีสหพันธ์มังกร& สิงโตนานาชาติ  ยังจัดให้มีการแข่งขันมังกรชิงแชมป์โลก   โดยสหพันธ์มังกร & สิงโตนานาชาติได้ เป็นผู้ควบคุม   ดำเนินการ    และรับรองผลการแข่งขัน    การแข่งขันกีฬามังกรในระดับนานาชาติ   มิใช่ว่า  จะได้รับความสนใจส่งทีมเข้าร่วมทำการแข่งขันจากประเทศในแถบเอเชียเท่านั้น    แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั้งจากทวีปยุโรป และอเมริกาให้ความสนใจเข้าร่วมทำการแข่งขันด้วย  อาทิ  ประเทศฝรั่งเศส  ก็เข้าร่วมทำการแข่งขันเป็นประจำทุกปี ดังนั้นการแข่งขันกีฬามังกรจึงเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศมากกว่าคนไทย    ขณะที่คนไทยมักมุ่งไปในลักษณะการแห่มังกร   การแสดง แสง  สี  เสียง  ของมังกรเป็นส่วนใหญ่    มากกว่าจะเน้นเพื่อเข้าประกวดหรือทำการแข่งขัน อย่างไรก็ตามหลังจากได้มีการแข่งขันกีฬามังกรชิงแชมป์ประเทศไทย  ครั้งที่  1   ผ่านไปแล้วนั้นได้ก่อให้เกิดกระแสความสนใจ   จากผู้ที่ต้องการศึกษาและฝึกฝน    ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการพัฒนากีฬามังกรของประเทศไทย  เพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะ   ความสามารถสูงในเชิงการเชิดมังกร    ก่อนนำไปแข่งขันในระดับนานาชาติ  หรือระดับโลกต่อไป

ลิขสิทธิ์  ชมรมส่งเสริมกีฬาเชิดมังกร&สิงโตประเทศไทย