![]()
วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือพระราชวังเดิม ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) เดิมชื่อ วัดมะกอก โดยตั้งชื่อตามตำบลที่ตั้ง ต่อมามีวัดสร้างใหม่ในตำบลเดียวกันจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนวัดใหม่ที่สร้างลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ เรียกว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ)
ในประวัติศาสตร์ วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดที่มีความสำคัญในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จพร้อมด้วยไพร่พลลงมาทางชลมารค ถึงหน้าวัดแห่งนี้เมื่อยามใกล้รุ่ง จึงเสด็จประทับแรมที่ ศาลาการเปรียญเมื่อทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดแจ้ง และใน พ.ศ. ๒๓๑๑ โปรดให้สร้างพระราชวังใหม่ โดยขยายเขตพระราชฐาน วัดแจ้งจึงกลายเป็นวัดในพระราชวังเช่นเดียวกัน วัดพระศรีสรรเพชญ์ที่พระนครศรีอยุธยา ไม่มีเขตสังฆวาส คือ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เมื่อครั้งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี) ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางลงมายังธนบุรี และนำมาประดิษฐาน ณ วัดแจ้ง
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้สร้างพระนครใหม่ทางฝ่สังตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา วัดแจ้งจึงเป็นวัดนอกพระราชวังจึงโปรดให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาต่อไปได้
วัดแจ้งได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอารามโดยพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระโอรส) แต่สำเร็จเพียงกุฏิสงฆ์ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติโปรดให้สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารต่อจนแล้วเสร็จพร้อมทั้งทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และโปรดให้หล่อขึ้น ประดิษฐานเป็นเพราะประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมมาโดยตลอดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชวงศ์จักรีเกือบทุกพระองค์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอารามอีกครั้งหนึ่ง และโปรดให้ก่อสร้างพระปรางค์ตามที่ทรงคิดแบบขึ้นจนสำเร็จเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงความงดงามยิ่ง ดังที่ในปัจจุบันเรียกกันติดปากว่า พระปรางค์วัดอรุณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้าง และปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น บุษบกยอดปรางค์ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม
ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่เกือบหมดทั้งพระอาราม และในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เพลิงไหม้พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปอำนวยการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง และทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชออกไปได้ทัน จากนั้นจึงโปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ตลอดจนเขียนภาพผนังด้านใน และปฏิสังขรณ์พระระเบียงรอบพระอุโบสถ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้โปรดให้บูรณะและปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมที่สำคัญภายในวัด เช่น โปรดให้ซ่อมสร้างศาลาการเปรียญ ถนนหนทาง กำแพงวัด กุฏิ วิหาร พระเจดีย์ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระปรางค์วัดอรุณฯ