![]()
วัดราชบพิธ เป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กระทรวงมหาดไทยริมคลองหลอด แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในการสร้างพระอารามประจำพระองค์ และเพื่อปฏิบัติตามพระราชประเพณีที่พระบรมราชบุพการีได้ทรงบำเพ็ญมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชโอรสาราม และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระฤกษ์เพื่อลงมือก่อสร้างเมื่อ วันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง เอกศก ตรงกับวันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๑๒ พระราชทานที่วิสุงคามสีมาในวันที่ ๒๗ มกราคม ในปีเดียวกัน โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ประดิษฐ์วรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ทรงเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างมาเป็นลำดับ
ในส่วนของแบบแปลนแผนผัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ก่อสร้างตามแบบของวัดแต่โบราณคือ สถาปนาพระมหาเจดีย์เป็นหลักสำคัญของวัด ล้อมด้วยพระระเบียง พระอุโบสถ พระวิหาร และวิหารทิศมีกำแพงกั้นระหว่างเขตพุทธาวาส และนอกจากนี้ทางด้านทิศตะวันตกของพระอารามเป็นบริเวณสุสานหลวง ซึ่งมีอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึง และอุทิศถวายพระราชกุศลแก่พระบรมวงศานุวงศ์
นามวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แบ่งความหมายออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ราชบพิธ หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ส่วนสร้อยนาม สถิตมหาสีมาราม หมายถึง พระอารามซึ่งมีมหาสีมาหรือเสมาขนาดใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากโปรดให้ประดิษฐานเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร ๘ เสา ตั้งประจำที่กำแพงทั้ง ๘ ทิศ ดังนั้นในการประกอบพิธีสงฆ์หรือการกระทำสังฆกรรมใด ๆ จึงสามารถกระทำได้ทุกแห่งภายในขอบเขตของมหาสีมานี้
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งวัดหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นวัดประจำรัชกาลองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้น และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ซึ่งทรงมีพระราชศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์ เสมือนหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ด้วย