มูลเหตุที่ทรงสร้างวัดราชโอรสาราม

เรื่องการสร้างวัดราชโอรสารามนั้น คงจะเนื่องมาจากมูลเหตุเพราะเป็นนิวาสสถานข้างพระญาติฝ่ายพระบรม ราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคือกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) พระบรม ราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของพระยานนทบุรี (บุญจัน) และคุณหญิงเพ็ง คุณหญิงเพ็งเป็นธิดาของพระยาราชวังสัน (หวัง) และท่านชู ท่านชูเป็นพระปัยยิกา (ยายทวด) ของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านผู้นี้กล่าวกันว่าเป็นธิดาของคหบดีชาวสวน มีนิวาสสถานอยู่แถววัดหนัง ริมคลองด่าน ซึ่งบัดนี้กำหนดเป็นแขวงบางค้อ ท้องที่เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

ณ บริเวณสองฝากคลองด่านแถววัดหนัง วัดนางนอง และวัดจอมทอง จึงมีพวกชาวสวนผู้เป็นวงศ์ญาติ ของท่านชูอยู่โดยมาก และนับว่ามีพระญาติทางบรรพชนฝ่ายพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัวอยู่แถวนั้น ประกอบกับท่านเจ้าอาวาสวัดจอมทอง ซึ่งต่อมาเมื่อสร้างขึ้นเป็นวัดราชโอรสารามแล้วท่าน มีสมณศักดิ์เป็นพระสุธรรมเทพเถรนั้น สันนิษฐานตามสมณศักดิ์ของท่านคงจะเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ ทั้งมีผู้เล่าว่า ท่านชำนาญในการพยากรณ์ยามสามตาด้วย ท่านเจ้าอาวาสองค์นี้คงจะเป็นที่ทรงรู้จักมักคุ้นกับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ แล้ว ครั้นมาเมื่อเดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ มีข่าวว่า พม่าตระเตรียมกำลังทัพจะยกเข้าประเทศ สยามอีก แพร่เข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลหมื่นหนึ่งเสด็จไปตั้งขัดตาทัพอยู่ ณ ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี พระองค์ได้เสด็จยาตราทัพออกจากกรุงเทพ ฯ ทางเรือเมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรงนั้นเอง

เส้นทางยาตราทัพในวันแรกได้ผ่านคลองบางกอกใหญ่เข้าคลองด่าน เมื่อเสด็จถึงวัดจอมทอง ซึ่งเป็นวัดโบราณ ก็เสด็จหยุดประทับแรมที่หน้าวัด และได้ทรงกระทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม ณ ที่วัดนี้ดังมี ความในหนังสือนิราศตามเสด็จทัพลำแม่น้ำน้อยที่พระยาตรัง กวีเอกผู้โดยเสด็จราชการทัพครั้งนี้ บรรยายถึง การกระทำพิธีนี้ไว้ว่า

"อาดาลอาหุดิห้อม โหมสนาน
ถึกพฤฒิพราหมณ์ โสรจเกล้า
ชีพ่อเบิกโขลนทวาร ทวีเทวศ วายแล
ลารูปพระเจ้าปั้น แปดมือ"


ในพิธีดังกล่าวนี้ได้ทรงอธิษฐานขอให้เสด็จไปราชการทัพคราวนี้ประสบความสำเร็จ และเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ และท่านเจ้าอาวาสวัดจอมทองคงจะได้ถวายคำพยากรณ์ไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้พระเจ้าลูกยาเธอทรงเลื่อมใส

เมื่อได้ยาตราทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองกาญจนบุรีจะย่างเข้าสู่ปีมะเส็งในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าพม่าจะยกทัพ มา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เลิกกองทัพ เสด็จกลับพระนคร เมื่อราวเดือน ๖-๗ ในปีมะเส็งนั้น ครั้นเสด็จกลับถึงพระนครแล้ว ก็ทรงเริ่มปฏิสังขรณ์ วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งวัดเหมือนสร้างใหม่ ได้เสด็จมาประทับคุมงานและตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์องตลอดมา เสร็จแล้วได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทาน นามใหม่ว่า "วัดราชโอรส" หมายถึงว่าเป็นวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา

การสถาปนาวัดราชโอรสครั้งแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะทรงเห็นเป็นการส่วนพระองค์ มิได้เกี่ยวข้องกับทางราชการแต่อย่างใด จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมสร้างขึ้นตาม ความพอพระราชหฤทัย เพราะขณะนั้นได้ทรงกำกับการกรมท่า ทำการค้าติดต่อกับประเทศจีน และทรงนิยม ศิลปกรรมแบบจีนมาก วัตถุสถานต่าง ๆ ที่พระองค์โปรด ฯ ให้สร้างขึ้นในวัดนี้ จึงตกแต่งด้วยศิลปกรรมแบบจีนทั้งสิ้น

ศิลปกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ พระองค์ได้สรรสร้างนฤมิตกรรม ให้กลมกลืนงดงามยิ่งนักอย่างหาที่ติมิได้ เช่น เสี้ยวกางไทย ซึ่งเป็นรูปปั้นที่บานหน้าต่าง และประตู พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ นับเป็นครั้งแรกของสยามประเทศ ที่มีการประยุกต์ศิลปกรรมได้อย่างประณีตยิ่งนัก เช่น รูปทรงหลังคาพระอุโบสถ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ตลอดถึงกุฏิ และนับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่มีการสร้างโบสถ์วิหารที่ไม่ต้องใช้ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ก็ยังคงรูปสิ่งเหล่านั้นไว้ ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่าและงดงาม ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงมีลายพระหัตถ์ ทูลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า

"หม่อมฉันเคยเห็นกลอนหรือโคลงซึ่งพระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารึกศิลาไว้ที่ในโบสถ์หน้าพระเมรุ มีความแห่งหนึ่งกล่าวถึงทรงสร้างวัดราชโอรส ชมพระปัญญาว่าช่างแก้ไขยักเยื้อง มิให้มีช่อฟ้า ใบระกา อันเป็นของหักพังง่ายไม่ถาวร ก็วัดราชโอรสนั้นสร้างในรัชกาลที่ ๒ ความที่พระไชยวิชิตกล่าวถึงนั้นส่อว่า เป็นวัดแรกคิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัดซึ่งสร้างกันอย่างเป็นสามัญ จะเรียกต่อไปในจดหมายนี้ว่า "วัดนอกอย่าง" พิจารณาดูวัดราชโอรสเห็นได้ว่า วัดนอกอย่างนั้นไม่ใช่แต่เอาช่อฟ้าใบระกาออกเท่านั้นถึงสิ่งอื่นเช่นลวดลายและรูปภาพเป็นต้น ก็แผลงไปเป็นอย่างอื่นหมดคงไว้แต่สิ่งอันเป็นหลักของวัดอันจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น นอกจาก ทรงสร้างตามพระราชหฤทัย ไม่เกรงใจใครจะติเตียนแต่ตั้งพระราชหฤทัยประจงให้งามอย่างแปลก มิใช่สร้างแต่พอเป็นกิริยาบุญ"

นายจอน ครอฟอร์ด เองได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันของเขาว่า "หลังคาโบสถ์ดูแปลกแต่ใช่ว่าไม่งามใช้กระเบื้องเคลือบน้ำยาสีเขียว บริเวณรอบ ๆ โบสถ์เป็นสวนปลูก ต้นไม้ประดับและต้นไม้ผล กุฏิพระเป็นแบบใหม่ เพราะแทนที่จะเป็นเครื่องไม้ กุฏิในวัดนี้ก่อเป็นตึกหมด ใช้อิฐฉาบปูน ทำให้รู้สึก ว่าเหมือนบ้านเรือนน้อย ๆ ในประเทศอังกฤษ"

แผนผังของวัดราชโอรสก็เหมือนกับวัดทั่ว ๆ ไป เช่น พระอุโบสถ ตั้งอยู่กลางพระวิหารพระยืนอยู่ด้านซ้าย ศาลาการเปรียญ อยู่ด้านขวา พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อยู่ด้านหลัง แผนผังหลักที่พร้อมสรรพ เช่นนี้ก็เห็นมีแต่วัดพระเชตุพน ฯ วัดอื่นที่คล้ายกัน หายาก วัดนี้แม้ดูจากภายนอกจะเป็นแบบจีนทั่วบริเวณก็ตาม แต่ภายในเป็นไทยแท้ทุกประการ เช่น รูปเสี้ยวกางไทยที่กล่าวแล้ว แม้พระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่เรียงรายอยู่ภายในรอบวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือพระพุทธรูปที่พระดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร หรือพระอุโบสถ ล้วนเป็นพุทธศิลป์แบบสยามแท้ ไม่มีพระพุทธรูปองค์ใดมีรูปอย่างพระพุทธรูปจีน นอกจากพระพุทธรูปหินสลักนูน จากแผ่นศิลาในเก๋งจีนเรือไฟหินหรือที่เรียกกันว่า "สุสานพระธรรม" ซึ่งตั้งอยู่ข้างถะด้านทิศเหนือหลังพระอุโบสถเท่านั้น

"พระพุทธรูปในวัดราชโอรสทุกองค์สร้างด้วยส่วนสัดที่งดงามมาก จะไปเปรียบเทียบกับสมัยใดก็ยาก เพราะทรงพยายาม ที่จะให้งามเป็นพิเศษ"

ศิลปกรรมทุกชิ้นในวัดนี้ล้วนสร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีตบรรจงจริง ๆ เมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ ความงดงามของวัดราชโอรสาราม ที่ได้ทรง สร้างขึ้นนั้นเป็นที่เลื่องลือกันมากมีชาวไทยและชาวต่างประเทศ ลงเรือมาชมกันมิได้ขาด เป็นเหตุให้มีผู้เขียนหนังสือชมเชยไว้หลายคน ที่เขียนเป็นแบบร้อยกรองตามีที่สมัยนิยมกันในสมัยนั้นก็มี

นายครอฟอร์ดราชทูตอังกฤษซึ่งได้เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ ได้เขียนชมวัดราชโอรสาราม และยกย่องชมเชยฝีมือการสร้างไว้ว่างดงามยิ่งนัก และออกความเห็นไว้ว่า

"ที่วัดนี้สร้างขึ้นได้อย่างงดงามได้เช่นนี้คงเป็นเพราะในกรมผู้ทรงเป็นเจ้าของวัดนั้นทรงว่าการกรมท่า ทรงได้รับผลประโยชน์ จากการติดต่อกับพ่อค้าชาวจีนอย่างกว้างขวาง"

แม้แต่ท่านสุนทรภู่เดินทางผ่านมาเห็นวัดราชโอรสารามที่สร้างขึ้นไว้ด้วยศิลปะที่แปลกและงดงามยิ่งนัก ในตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ได้รำพัน อนุโมทนาไว้อย่างน่าฟังมากในนิราศเมืองเพชรว่า

"ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง
ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง
เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานปประทานนาม
โอรสราชอารามนามเจริญ
มีเขื่อนรอบขอบคูดูพิลึก
กุฏิตึงเก๋งกุฏิสุดสรรเสริญ
ที่ริมน้ำทำศาลาไว้น่าเพลิน
จนเรือเดินมาถึงทางบางขุนเทียน"

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอาราม ไว้เป็นจำนวนมากในรัชกาลของพระองค์ ถึงกับกล่าวกันว่า ในรัชกาลที่ ๓ ถ้าใครใจบุญชอบสร้างวัดวาอารามก็เป็นคนโปรด แต่วัดที่ทรง สร้างด้วยฝีมือประณีต มีแบบอย่างศิลปกรรมที่แปลก และงดงามเป็นพิเศษ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญกันมาก เห็นจะไม่มีวัดไหนเสมอ วัดราชโอรสาราม เหตุนี้ นายมี มหาดเล็ก บุตรพระโหราธิบดี เมื่อแต่งเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงวัดราชโอรสารามไว้ว่า

"วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ
เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร
ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ
ทรงสร้างด้วยพระมหาวิริยาธึก
โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราะเพริศดูเลิศล้ำ
ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา
จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด
ขอยกหยุดพองามตามเลขา
กำหนดสร้างอาวาสโดยมาตรา
ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี
จึงเสร็จการอาวาสราชโอรส
อันเลื่องยศเฟื่องฟุ้งทั่งกรุงศรี
แล้วสมโภชโปรดปรานการทวี
การที่มีเหลือล้นคณนา"

เพลงยาวนี้ได้เน้นว่าสร้างถึง ๑๔ ปีจึงสำเร็จ ทั้งนี้คงหมายความว่า ตอนที่ทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงนั้นส่วนใหญ่ของวัดได้ สำเร็จลงแล้ว เว้นแต่การก่อสร้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ที่ได้สร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์ แล้วหลายปี จึงได้หยุดการก่อสร้าง นับเวลาตั้งแต่เริ่มแรกลงมือสร้างจนเสร็จบริบูรณ์คงรวมเวลา ๑๔ ปี ดังเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติที่ นายมีพรรณนาไว้

< หน้าหลัก     สิ่งสำคัญภายในวัด >