๑. พระอุโบสถ
  ภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานภายใต้พระมหาฉัตร 9 ชิ้น ( นพปฏลมหาเศวตฉัตร ) ด้านล่างเป็นฐานเขียนรูป ยกขอบปลายกลีบบัว ลงรักปิดทองประดับกระจกที่พุทธอาสน์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมอัฐิและศิลาจารึกดวงพระชันษาของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาบรรจุไว้ที่ผ้าทิพย์ใต้พระพุทธบัลลังค์พระประธาน และทรงถวายพระนามพระประธานองค์นี้ว่า "พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร" นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังประดิษฐานภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ของรัชกาลที่ 3 เป็นภาพสีน้ำมันในพระอิริยาบทเต็มพระองค์ที่งดงามมาก
๒. พระวิหารพระพุทธไสยาสน์
  ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นพระที่ตั้งพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นประดิษฐานอยู่รัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนามว่า "พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร" เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีสัดส่วนงดงามมาก วัดความยาวจากพระบาทถึงเปลวพระรัศมีได้ 20 เมตร สูง 6 เมตร พระเขนยสี่เหลี่ยม ใต้พระเศียรซ้อน 7 พระเขนยลงรักปิดทองประดับกระจกสี ฐานชุกชีประดับลวดลายสวยงาม ชั้นบนประดับปูนปั้นลายกลีบบัวรวนกลีบยาวติดกระจกสี
. ศาลาการเปรียญ
  อยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ มีอีกชื่อเรียกกันว่า "วิหารพระนั่ง" เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนเหมือนกับพระวิหารพระยืน ภายในมีพระพุทธรูปถือตาลปัตร แบบพระปฏิมากรชัยวัฒน์เป็นพระประธานองค์ใหญ่
๔. พระวิหารพระยืน
  อยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนทั้งหลัง ภายในมีสองห้อง ห้องแรกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ศิลปแบบอู่ทอง ห้องที่สองเป็นที่ประดิษฐานพระรูปหลายปางหลายขนาด มีพระประธานองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปแบบอยุธยา สันนิษฐานว่าบริเวณพระวิหารนี้คงเคยเป็นอุโบสถหลังเก่าก่อนที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จะทรงมาบูรณะทั้งวัด และปรับปรุงอุโบสถให้เป็นพระวิหารศิลปแบบจีน ด้านหน้าพระวิหารเป็นพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เป็นที่บรรจุอัฐิของราชสกุลลดาวัลย์
< ประวัติวัด    หน้าหลัก >