วัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรม ยุติกนิกาย นับเป็นพระอารามแห่งแรกของคณะสงฆ์ฝ่ายนี้

บริเวณที่สร้างวัดนี้แต่เดิมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานแก่ข้าราชการที่ต้องพระราชประสงค์จะเรียกใช้ใกล้ชิดให้เป็นที่อยู่อาศัย และมีผู้สร้างโรงธรรมการเปรียญเพื่อใช้เป็นที่ฟังธรรมและถวายทานแก่พระสงฆ์เหมือนกับเป็นศาลาการเปรียญในวัดทั่วไป

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ บริเวณสวนกาแฟนี้รกร้างขาดการดูแล ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างวัดธรรมยุตขึ้น ณ สถานที่นี้

โดยทรงมีพระราชเหตุผล ในการสร้างวัด ๓ ประการ ดังที่โปรดให้จารึกไว้บนแผ่นศิลาที่ประดิษฐานไว้ด้านหลังพระวิหารคือ

๑. ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีวัดธรรมยุติกนิกายใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชบิพารผู้ประสงค์จะทำบุญตามคติอย่างธรรมยุติกนิกายไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก
๒. ทรงมีพระราชประสงค์จะได้คณะสงฆ์ธรรยยุติกนิกายอยู่ใกล้ เพื่อที่จะได้ทรงปรึกษาสอบสวนข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของสงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่ทรงตั้งขึ้นด้วยพระองค์เอง
๓. เพื่อให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คือ ภายในเมืองหลวงจะมีวัดที่สำคัญประจำอยู่ ๓ วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์
ในการสร้างวัดราชประดิษฐ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งแต่ซื้อที่ดินจากกรมพระนครบาลตามประมาณราคาขายที่ดินในสมัยนั้น ที่ดินแปลงนี้คิดเป็นจำนวนเงิน ๑,๐๙๘ บาท หรือคิดเป็นเงิน ๑๘ ชั่ง ตำลึงกึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากทรงเกรงจะเกิดข้อครหาต่อมาภายหลังได้ ดังโปรดให้จารึกไว้ว่า

…ที่นี้เป็นสวนกาแฟของหลวงของแผ่นดิน เป็นของกลางอยู่ ไม่ควรจะยกเอามาถวายเฉพาะเป็นของพระสงฆ์ คณะธรรมยุติกนิกายเป็นพิเศษได้เห็นว่าจะกระทำให้เสียประโยชน์แก่แผ่นดินไป…

เมื่อทรงได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว จึงได้ทรงประกาศสร้างวัดธรรมยุตขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ และทรงพระราชทานนามวัดไว้ตั้งแต่กำลังทำการก่อสร้างว่า วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม นับเป็นวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายแห่งแรก
และด้วยทรงเป็นห่วงในพระอาราม และคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายที่พระองค์โปรดให้ตั้งขึ้น ในตอนท้ายของจารึกจึงโปรดให้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งดังนี้

…ที่นี้ใกล้พระราชวัง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินในอนาคตไม่โปรด จะต้องประสงค์ที่นี้ใช้ในราชการแผ่นดินก็ขอให้ซื้อที่อื่นเท่าที่นี้ หรือใหญ่กว่านี้ด้วยราคาเท่านี้ ในที่ใกล้บ้านคนถือพระพุทธศาสนา ไม่รังเกียจเกลียดชังพระสงฆ์ คณะธรรมยุติกนิกายขอเป็นที่ภิกขาจารได้ แลไม่ใกล้เคียงชิดติดกับวัดอื่น เปลี่ยนก่อนจึงได้ของอะไร ฯข้าฯ ผู้ที่ชื่อเขียนไว้ท้ายหนังสือนี้ ได้สร้างสถาปนาการลงไว้ในที่นี้ ก็ต้องสร้างใช้ให้ดีงามเหมือนกัน จึงควรจะเอาที่นี้เป็นที่หลวงใช้ในราชการได้…

ในการก่อสร้างพระอารามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้าง ในวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๒๖ ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๗ ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ
แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่ทำการก่อสร้างเป็นพื้นที่ต่ำ โดยเฉพาะบริเวณที่จะทำการสร้างพระวิหารหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะถมพื้นที่ให้สูงขึ้น จึงทรงมีพระราชดำริใช้ไหกระเทียมที่นำมาจากเมืองจีนหรือเศษเครื่องกระเบื้องถ้วย ชาม ที่แตกหักมาถมที่แทนดินและทรายที่อาจจะทำให้พื้นทรุดตัวในภายหลังได้ (วัสดุดังกล่าวมีเนื้อแกร่ง ไม่ผุ ไม่หดตัว และมีน้ำหนักเบาจึงเท่ากับการใช้เสาเข็ม ที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กในปัจจุบันนั่นเอง)

วิธีการหาไหกระเทียม และเครื่องถ้วยกระเบื้องทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ๆ นั้น พระองค์ทรงใช้วิธีออกประกาศบอกบุญเรี่ยไรให้ประชาชนนำไหกระเทียมมาร่วมพระราชกุศลหรือขายให้กับพระองค์ พร้อมกันนั้นโปรดให้จัดละครการกุศลโดยเก็บค่าผ่านประตูเป็นไหกระเทียม ไหขนาดเล็ก ขวด ถ้วยชา และเครื่องกระเบื้องอื่น ๆ และทรงอนุญาตให้ประชาชนไปดูการนำไหลงฝัง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าพระองค์จะทรงใช้ไหกระเทียมเหล่านั้นบรรจุเงินทองฝังไว้ในวัด

ครั้นเมื่อสร้างพระอารามเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเปลี่ยนนามวัดเป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ทั้งนี้อาจจะทรงพิจารณาเห็นว่า นามวัดที่พระราชทานไว้เดิมเป็นการเจาะจงต่อพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตมากเกินไป หรืออาจจะเพื่อให้เป็นที่เหมาะสมกับที่โปรดให้ประดิษฐานหลักศิลา หรือสีมาใหญ่ ๑๐ หลัก เพื่อเป็นขอบเขตของพระอารามและโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีผูกพัทธสีมาถึง ๓ วัน คือวันที่ ๗ - ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๘

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

ครั้นต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม และยังโปรดให้บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (บางส่วน) ไว้ในกล่องศิลาและประดิษฐานไว้ในพระพุทธอาสน์พระประธานในพระวิหารหลวงตามพระกระแสรับสั่งของพระบรมราชชนก

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดราชประดิษฐ์อีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยโปรดสร้างปราสาทยอดปรางค์ขึ้นใหม่ ๒ หลัง แทนเรือนไม้ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดให้ช่างกรมศิลปากรรื้อและออกแบบสร้างใหม่เป็นปราสาทยอดปรางค์แบบขอม ปราสาทที่อยู่ทางด้านตะวันออก หรือทางด้านขวาของพระวิหารใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก จึงเรียกว่า "หอไตร" ส่วนหลังที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเรียกกันว่า "หอพระจอม"
<หน้าหลัก      สิ่งสำคัญภายในวัด>