วัดสุทัศนเทพวรารามตั้งอยู่ตรงมุมถนนตีทองและถนนบำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงขยายพระนครทางด้านตะวันออกจากแนวเดิมซึ่งอยู่ที่คลองหลอด ออกไปจนถึงแนวคลองโอ่งอ่างทำให้พระนครกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างปูชนียสถานขึ้นกลางพระนครเยื้องพระนครอื่น ๆ เช่นที่กรุงสุโขทัย มีวัดพระมหาธาตุและศิวาลัยอยู่กลางเมือง หรือกรุงศรีอยุธยามีวัดมหาธาตุ และวัดราษฎร์บูรณะ

ใน พ.ศ. ๒๓๕๐ จึงโปรดให้สร้างโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้าขึ้นกลางเมือง ซึ่งวัดจากพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตั้งอยู่ชิดแม่น้ำเจ้าพระยาและกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ไปถึงกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกที่ประตูสำราญราษฎร์ ข้ามคลองโอ่งอ่างไปยังวัดสระเกศ และโปรดให้ชะลอพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ ในศิลปะสุโขทัยจากวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งถูกทิ้งร้างขาดการบำรุงรักษา ลงมาประดิษฐาน ณ บริเวณด้านใต้ ของเสาชิงช้า

โปรดให้ทำการถมที่ให้สูงขึ้น และบูรณะองค์พระให้สมบูรณ์งดงาม แล้วจึงโปรดให้ยกขึ้นตั้งประจำที่เตรียมไว้ พร้อมทั้งกันขอบเขตบริเวณที่จะสร้างวัด และพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส แต่ประชาชนในสมัยนั้นมักเรียกกันว่า วัดพระโต แต่ยังไม่ทันทำการก่อสร้างก็เสด็จสวรรคต

ถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งพระทัยจะสนองพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนกให้สำเร็จด้วยพระราชศรัทธา จึงโปรดให้สร้างพระวิหาร และพระอุโบสถ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างต่อตามผังเดิมจนสำเร็จบริบูรณ์ สถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งหมายถึง วัดที่งามเลิศเหมือนเมืองเทวดาชั้นสวรรค์

วัดสุทัศน์เทพวรารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนมหาอานันทมหิดล และพระสรีรังคารของพระองค์อีกด้วย

< หน้าหลัก    สิ่งสำคัญภายในวัด >