หน้าหลัก เกี่ยวกับวัด ประมวลภาพ สาระน่ารู้เกี่ยวกับพุทธ บทสวดมนต ลิงค ติดต่อวัด Deutsch
 การบริหารคณะสงฆ์
 การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม
 กฎหมายสงฆ์ของไทย
 พระไตรปิฎก
 พุทธประวัติ
 วันสำคัญทางพุทธศาสนา

    

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๒

            ๒.   กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ.....
            ด้วยสมเด็จพระบรมบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
            มีพระราชอุตสาหะ มิได้คิดแก่พระกายแลพระชนม์ชีพ จนได้สิริราชสมบัติ ทั้งนี้ด้วยตั้งพระทัยจะบำรุง   พระบวรพุทธ ศาสนาตามพุทธฎีกาว่า   พระปาติโมกข์สังวรวินัยนี้ชื่อว่าพระศาสนา   ถ้าพระภิกษุยังทรงประปาติโมกข์บริบูรณ์อยู่ตราบใด   ชื่อว่าพระศาสนายังตั้งอยู่ ณ ตราบนั้น   เหตุฉะนี้จึงทรงพระราชศรัทธา   บริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมาก   เป็นจตุปัจจัย ทานถวายพระสงฆ์   แลมีพระราชโอวาทานุศาสนตักเตือน   เพื่อจะให้พระสงฆ์ทั้งปวง ในกรุงนอกกรุงเทพมหานคร   และนา นาประเทศ   ให้ทรงพระปาติโมกขสังวรณ์ศีลบริสุทธิ์   ให้เป็นเนื้อนาบุญแก่สัตว์โลก..... ฝ่ายฆราวาสแต่ก่อนก็มีศรัทธา มิได้ กระทำให้เป็นเสน่หาอาลัย   ทำให้เจ้ากูเสียศีลสิกขาบทบริสุทธิ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย   พระศาสนาก็รุ่งเรืองสืบมา
            แลภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐแล้ว   มิได้รักษาประปาติโมกข์ตามอริยวงศ์ประเพณี   ปฏิบัติเข้าระคน คบหาฆราวาส   ติดด้วยเบญจกามคุณ   มิได้เห็นแก่พระศาสนา   เห็นแก่หน้าบุคคล   รับฝากเงินทองของฆราวาส   ฆราวาส มิได้คิดแก่พระศาสนา   เข้าเป็นญาติโยมปฏิบัติด้วยเสน่หาอาลัย   ให้กะปิจังหันแก่ภิกษุโดยคุณปัติคุณแก่กัน ให้เสียศีล สิกขาบทไป   ดุจหนึ่งสมีรักวัดบางหว้าใหญ่   รับเข้าของเงินทองของอี่เพงไว้เป็นอันมาก   อี่เพงเป็นกบฎโทษถึงตาย   สิ่งของอี่เพงเป็นของหลวงตามบทพระไอยการ   ราชอาณาจักรสืบมาโดยโบราณราชประเพณี   เนื้อความทั้งนี้ก็ปรากฏทั่ว พระนครแขวงจังหวัด   ถ้าสมีรักรักสิกขาบทจริง   ก็จะขวนขวายเอาของฝากนั้น มาแจ้งแก่สมเด็จพระสังฆราช และราชาคณะ ผู้ใหญ่ทั้งปวง   ให้ปรึกษาตามบทพระวินัยว่า   ทรัพย์นี้เป็นของของหลวง หรือยังเป็นของอี่เพงอยู่ จึงควรแก่สมณ   นี่สมีรัก ปิดบังไว้ มิได้ให้ราชาคณะทั้งปวงรู้   อนึ่งก็ได้โปรดให้ป่าวร้องเป็นหลายครั้ง   สมีรักก็มิได้บอกแก่ผู้ใด   ต่อไอ้มีชื่อให้การออก ว่าของอี่เพงฝากไว้แก่สมีรักเป็นอันมาก   จนตรัสใช้ให้ราชบุรุษมา   สมีรักจึงสำแดงแก่ราชบุรุษ..... ฉะนี้ก็เห็นในสมีรักว่าสมีรัก องอาจหยาบช้า   หาอาลัยต่อสิกขาบทไม่หลายครั้งมาแล้ว   เกลือกสมีรักแกล้งบังเอาของของเขาไว้ เจ้าของขาดอาลัยก็ จะขาดสิกขาบทอยู่ก่อนแล้ว   หากแต่สมีรัก กลัวภัยในปัจจุบันกว่ากลัวภัยในอนาคต   จึงสู้สบถสาบาน ให้การต่อพระราชา คณะ   พระราชาคณะพิพากษาว่าต้องแต่อาบัติปาจิตตีย์   สมีรักเป็นโลกีย์มีภยาคติ   ยังกลัวความตายอยู่ จะเชื่อเอาสบถ สาบานสมีรักนั้นไม่ได้   ก็เห็นว่าสมีรักยังหาปราศจากมลทินโทษไม่   โดยกระแสทางการพิจารณา   เห็นเนื้อความใหญ่ทั้ง สองข้อ ฝ่ายพุทธจักราณาจักร เป็นปัจจัยถึงกันติดพันสมีรักอยู่   แต่หากทรงพระกรุณาว่า   ยังหามีพระราชกำหนดกฎหมายไม่ จึงงดโทษสมีรักไว้
          แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า   อย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก   ห้ามอย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก ห้ามอย่า ให้ภิกษุสามเณรทั้งปวงรับของฝากฆราวาส   จะเสียพระวินัยพระศาสนาไป   ถ้าภิกษุไม่รับฝาก ห้ามปรามผู้ฝาก ผู้ฝากมิพัง   กลัวภัยขืนทิ้งไว้ที่กุฏิ..... เร่งเอาเพื่อนพรหมจรรย์ที่ใกล้กันให้หลายองค์รู้เห็นเป็นพยาน..... พาสงฆ์ซึ่งรู้เห็นนั้นไปแจ้ง เนื้อความ และสิ่งของแก่พระราชาคณะเจ้าอธิการ   พระราชาคณะเจ้าอธิการจงประชุมนุมกันปรึกษาจงละเอียด   ให้ต้องตาม พระวินัยบัญญัติ.... ถ้าพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยจะปรึกษาประการใด จงประพฤติตาม   ให้สงฆ์เป็นอันมากรู้เห็นเป็น พยานไว้..... อย่าให้ผู้อื่นแคลงในพระพุทธศาสนา แลห้ามฝ่ายฆราวาส อย่าให้เอาของเงินของทองไปฝากภิกษุสามเณรไว้   ทำให้เจ้ากูเสียวินัยสิกขาบทเป็นอันขาดทีเดียว   ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้   ฝ่ายภิกษุสามเณรจะลง พระอาชญาโทษดุจโทษ อทินนาทานปาราชิก   จะสึกออกขับเฆี่ยนจงสาหัส   ฝ่ายฆราวาสจะให้ริบราชบาทขับเฆี่ยนจงหนัก โดยโทษานุโทษ
            อนึ่ง....ถ้าสามเณรรูปใด มีอายุสมควรจะอุปสมบทแล้ว   ก็ให้บวชเข้าร่ำเรียนคันถธุระ วิปัสนาธุระ   อย่าให้เที่ยวไปมา เรียนความรู้อิทธิฤทธิ์ให้ผิดธุระทั้งสองไป..... สามเณรรูปใดอายุถึงอุปสมบทแล้วมิได้บวช เที่ยวเล่นโว้เว้อยู่ จับได้จะเอาตัว สามเณรแลชีต้น อาจารย์ ญาติโยมเป็นโทษจงหนัก
            กฎให้ไว้ ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นห้าค่ำ   จุลศักราชหนึ่งพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก

 

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๓

            ๓.   กฏให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ.....
            สมเด็จบรมนาถบพิตร..... รับพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
            พระศาสนาจะวัฒนาการตั้งไปได้ อาศัยพระราชอาณาจักร...สงเคราะห์พระศาสนา   ฝ่ายพระวินัยบัญญัติเล่า   พระ พุทธองค์ตรัสสอนอนุญาตไว้ว่า   ถ้ากุลบุตรบวชเป็นภิกษุสงฆ์ในพระศาสนาแล้ว   ให้อยู่ในสำนักหมู่คณะสงฆ์ในพระศาสนา แล้ว   ให้อยู่ในสำนักหมู่คณะสงฆ์แลอุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน   จะได้รู้กิจวัตรปฏิบัติ   ถึงมาทว่าจะประพฤติผิดทำทุจริตอันมิควร ก็จะมีความละอายกลัวเพื่อนพรหมจรรย์ แลครูอุปัชฌาย์จะว่ากล่าวติเตียน ความชั่วทุจริตที่ทำนั้นจะสงบลง   ศีลนั้นจะบริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งแก่สมาธิปัญญา วิปัสนามรรคญาณ สำเร็จมรรคผลในหมู่คณะสงฆ์...แม้นมาทจะมีปรารถนาจะหาที่อยู่อันสบาย สม ควรแก่พระกัมมัฏฐานก็ดี   ก็ย่อมจักชวนเพื่อนพรหมจรรย์ร่วมศรัทธาด้วยกัน...จะได้ทำสังฆกรรมแลอุโบสถกรรมด้วยกัน   เพื่อ จะได้ศีลบริสุทธิ์เป็นที่ตั้งแก่พระกัมมัฏฐาน.....
            แลภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้   ละพระวินัยบัญญัติเสีย   มิได้ระวังตักเตือนสั่งสอนกำชับว่ากล่าวกัน   ครั้นบวชเข้าแล้วก็มิได้ ให้ศิษย์อยู่นิสัยในหมู่คณะสงฆ์ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน   ละให้เที่ยวไปโดยอำเภอใจ..... ทำมารยารักษาศีลภาวนา   ทำ กิริยาให้คนเลื่อมใสนับถือ   สำแดงความรู้วิชาอวดอิทธิฤทธิ์ เป็นอุตริมนุษธรรมเป็นกลโกหก   ตั้งตัวว่าผู้มีบุญ ว่าพบคนวิเศษ มีวิชามาแต่ถ้ำแต่เขา..... ทำให้แผ่นดินและพระศาสนาจลาจล.... เพราะเหตุพระสังฆราชาคณะอธิการผู้ใหญ่ผู้น้อยมิได้ เอาใจใส่ตักเตือน ว่ากล่าวตามพระวินัยบัญญัติ..... ฝ่ายฆราวาสข้าทูลลอองธุลีผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ละเมินเสีย   มิได้เอาใจใส่ระวัง รักษา   ให้ไอ้อีมีชื่อผู้ศัตรู เข้ามาทำอันตรายถึงในพระราชฐาน..... ถ้าจะว่าตามโบราณราชกำหนดกฎหมาย   ฝ่ายสมณฆรา วาสมิได้พ้นจากมหันตโทษ..... แต่หากทรงพระกรุณายกโทษไว้เพราะยังมิได้มีพระราชกำหนดกฎหมายก่อน.....

   >>>หน้า 3

ที่มา : หอมรดกไทย

 

 
 
Copyright (c) 2005 All rights reserved, Sponsored by Siam Focus   
Wat Yarnsangvorn Vienna, Kohlgasse 41, 1050 Vienna, Austria, Tel./Fax: +43-(0)1-5488078
Contact Wat, Contact Webmaster