3G ย่อจาก Third Generation เป็นชื่อเรียกยุคที่ 3 ของการพัฒนาโทรศัพท์แบบเซลลูล่าร์ เริ่มจากระบบแรกเรียกยุค 1G (First Generation) คือระบบสื่อสารไร้สายที่ใช้เทคโนโลยีระบบอนาล็อก พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการด้านเสียงเท่านั้น มีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพของเครือข่าย เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายยุค 1G ได้แก่บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ AMPS (Advanced Mobile Phone Service) ซึ่งให้บริการครั้งแรก พ.ศ.2523 ใช้สัญญาณวิทยุส่งคลื่นเสียงโดยไม่รองรับการส่งผ่านข้อมูลใดๆ ใช้งานทางด้านเสียงได้เพียงโทรออก-รับสาย เท่านั้น ต่อมาเป็น 2G (Second Generation) คือการสื่อสารไร้สายด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิตอล การสื่อสารด้วยเสียงมีคุณภาพขึ้น และสามารถรับ-ส่งข้อมูลด้วยความเร็วที่ระดับ 9.614.4 kbps (กิโลบิตต์ต่อวินาที) ถือเป็นยุคเริ่มต้นความรุ่งเรืองของโทรศัพท์มือถือ ราคาโทรศัพท์ต่ำลง ปริมาณผู้ใช้มีมากขึ้น เริ่มฮิตการดาวน์โหลดเสียงเรียกเข้า หรือริงโทน วอลล์เปเปอร์ กราฟิกต่างๆ แต่ทั้งนี้เป็นสีขาว-ดำ เท่านั้น และความละเอียดยังอยู่ในขั้นต่ำ ครั้นถึงระดับ 2.5G ซึ่งเป็นยุคกึ่งระหว่าง 2G และ 3G เป็นยุคกำเนิดเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) สามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วประมาณ 40 kbps ตามด้วยระดับ 2.75G อันเป็นช่วงเริ่มใช้เทคโนโลยี EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) เป็นเทคโนโลยีต่อยอดของ GPRS พัฒนาปรับปรุงคุณภาพความเร็วให้รับ-ส่งข้อมูลได้สูงขึ้น แต่ยุค 2.75G ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการ อธิบายไว้เป็นเพียงการเปรียบเทียบช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุค 2.5G และ 3G
แล้วก็ถึง 3G (Third Generation) คือระบบเครือข่ายไร้สายรุ่นล่าสุดที่ทำงานบนพื้นฐานของระบบ IP (Internet Protocol) ผ่านอุปกรณ์พกพา สามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 144 kbps หรือสูงกว่าในสภาวะการใช้งานที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือมีการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง นับเป็นยุคเทคโนโลยีการสื่อสารที่ผสมผสานการนำเสนอข้อมูลและเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าด้วยกัน เช่น โทรศัพท์มือถือ วอล์กแมน กล้องถ่ายรูป และอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีการสื่อสารยุค 3G จุดเด่นที่สุดคือความเร็วในการเชื่อมต่อและการรับ-ส่งข้อมูล เน้นการเชื่อมต่อแบบไร้สายด้วยความเร็วสูง รับ-ส่งข้อมูลรวดเร็ว สามารถใช้บริการมัลติมีเดียได้สมบูรณ์แบบ มีช่องสัญญาณความถี่และความจุในการรับส่งข้อมูลมากกว่า 2G อีกคุณสมบัติเด่นคือ Always On หมายถึงมีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของ 3G ตลอดเวลาที่เปิดโทรศัพท์
แม้ว่าขณะนี้ เทคโนโลยีและโครงข่าย 3G ยังไม่มีเปิดให้บริการ แต่ก็มีเครือข่าย CDMA 2000 1X EV-DO ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และโอเปอเตอร์อย่าง บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือ ฮัทช์ (Hutch) ที่ถือว่ามีความใกล้เคียง 3G มากที่สุด และในต่างประเทศก็ถือว่าเป็นการสื่อสารแบบ 3G ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระบบ CDMA ก็มีจำนวนผู้ใช้ที่ไม่มาก เพราะจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองหลวงเป็นหลัก ส่วนเครือข่ายไร้สายหลักที่โอเปอเรเตอร์ อาทิ เอไอเอส ดีแทค และ ทีเอ ออเร้นจ์ ใช้ คือ ระบบ GSM 1800 MHz.ที่จัดเป็นเทคโนโลยียุคที่ 2
นางคนึงจิตร สุริยะธำรงค์กุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ควอลคอมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของเทคโนโลยีระบบ CDMA 2000 และ Wide Band CDMA หรือ WCDMA อธิบายเกี่ยวกับ 3G จะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไรว่า เมื่อหันมาใช้ 3G จะทำให้ระบบเครือข่ายมีความเร็วขึ้น สิ่งที่จะเปลี่ยนไป คือ การใช้งานแอพลิเคชันในปัจจุบันมีอยู่แค่ การรับส่ง MMS และ SMS แต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายจากอุปกรณ์มือถือ หรือ โน้ตบุ๊ค ที่ต้องการความเป็น Mobility หรือ เคลื่อนที่ได้ยังค่อนข้างจำกัด ยกเว้น ใช้กับพวกบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายแบบ ไว-ไฟ อีกทั้ง เมื่อเป็น 3G ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือจะมี แอพลิเคชันที่มีความเป็นมัลติมีเดียมากขึ้น
ดังนั้น เรื่องที่น่าสนใจของ 3G ที่กำลังจะเกิดในประเทศไทย จึงไม่ได้อยู่ที่ความเร็วของเครือข่ายเพียงอย่าเดียว แต่จะเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในทุกที่ ให้สามารถเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากับชาวไทย จากการที่ได้เข้าไปค้นหาความรู้ หรือ ข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กๆ ในมือเท่านั้นเอง ที่มา: http://www.sudipan.net/phpBB2/viewtopic