อิทัปปัจจยตา
พิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๕๑๖

พุทธทาสภิกขุ
(พ.ศ.๒๔๔๙ - ๒๕๓๖)



		บรรดาธรรมเทศนา มากมายของท่านพุทธทาสภิกขุ (๒๔๔๙-๒๕๓๖)
	มหาสมณะผู้ทุ่มเทชีวิตสร้างสรรค์ผลงานด้านพุทธศาสนามากกว่าครึ่งศตวรรษ จนเป็นที่
	รู้จักกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชนภายในและนอกประเทศนั้น มีทั้งหนังสือที่เขียนเป็นความ	
	เรียงอย่างกระชัดงดงาม และเป็นหนังสือบนธรรมาสน์ อันเกิดจากการอัดเทปธรรม
	เทศนาแล้วถอดออกมาพิมพ์เผยแพร่ ล้วนเป็นอาหารทางปัญญาที่มากด้วยคุณค่า สร้าง
	คุณูปการอันใหญ่หลวงทางด้านจิตวิญญาณ ความศรัทธาต่อศีลธรรม การปลูกฝังมนุษย
	ธรรม และเสริมสร้างสติปัญญาในการแสวงหาความจริงแท้ของชีวิต

		งานชิ้นเอกที่ท่านพุทธทาสศึกาารวบรวมจากพระไตรปิฏก และเชื่อมร้อยพุทธ
	วจนะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในที่ต่างๆ มาเชื่อมโยงนัยเข้าไว้เป็นหมวดหมู่ แล้วอธิบายให้
	แจ่มกระจ่างเป็น "แก่นปรัชญา" ของพุทธศาสนา เป็น "วิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ของ
	พุทธศาสนา" เป็นหัวใจของพุทธศาสนา และเป็นกฎเหนือกฎทั้งปวง คือ หลักธรรมว่า
	ด้วย "อิทัปปัจจยตา"

		ท่านพุทธทาสทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตา เป็นอย่าง
	สูง พยายามอธิบายให้เห็นว่า อิทัปปัจจยตาเป็นพุทธธรรมอันติมะหรือสัจธรรม ความ
	จริงแท้ที่สุดของพุทธศาสนา และเชื่อมโยงคำสอนทั้งปวงของพระพุทธเจ้า ว่าล้วนเป็น
	ไปตามหลักธรรมหรือกฎของ "อิทัปปัจจยตา" ทั้งสิ้น  เหตุนี้ หนังสือ เรื่อง อิทัปปัจจยตา 
	ของท่านพุทธทาสภิกขุ  จึงอุดมด้วยการอธิบายหลักธรรมเรื่อง อิทัปปัจจยตา อย่างเป็น
	กระบวนการ  เป็นวิธีคิดที่ชี้ให้เห็นชัดว่าหลักอิทัปปัจจยตา ซึมซ่านอยู่ในเหตุปัจจัยแห่ง
	การก่อเกิด การดำรงอยู่  การมีปฏิสัมพันธ์ และเสื่อมสลายของสรรพสิ่งในจักรวาล 
	รวมถึงเป็นวิธีคิดทางทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขาด้วย

		อิทัปปัจจยตาเป็นหลักธรรมที่พุทธทาสภิกขุให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ใน
	บั้นปลายของชีวิตท่านจะเทศนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง  ในการสนทนาธรรมกับปัญญาชน
	ทั้งไทยและเทศหรือนักบวชในศาสนาอื่น  พุทธทาสภิกขุปรารถนาให้ นักคิดนักเขียนหรือ
	นักวิชาการเรียนรู้หลักอิทัปปัจจยตา และท่านก็ใช้หลักอิทัปปัจจยตาเป็นธรรมหรือสื่อใน
	การสมานความคิดเข้ากับหลักธรรมของศาสนาอื่นๆ

		พุทธทาสภิกขุมักเน้นอยู่เสมอว่า พุทธบริษัทจักต้องเรียนรู้อิทัปปัจจยตา
	และกล่าวถึงคำนี้บ่อยครั้งในฐานะเป็นหัวใจพุทธศาสนา เพราะอิทัปปัจจยตาเป็นทั้งวิธี
	คิดและหลักปรัชญาที่นำไปสู่ภาวะการบรรลุธรรมได้
		
		        "พุทธบริษัทเต็มรูป ต้องเข้าใจความทั้งหมดของพุทธศาสนา คือ 
		อิทัปปัจจยตา ทุกคนควรรู้ จนคล่องปากคล่องใจ ใช้ในการพูดจาเป็นประจำ
		เหมือนพุทธองค์เอง แม้แต่ก่อไฟหุงข้าวกิน ก็แสดงอิทัปปัจจยตา เป็นทอดๆ  
		พระพุทธเจ้าออกบวช ค้นหา ตรัสรู้ เที่ยวสอน  ก็เนื่องจากอิทัปปัจจยตาทั้ง
		สิ้น รู้อิทัปปัจจยตาดี จะไม่บ้าไม่ขี้ขลาดไร้เหตุผล มีสติเห็นทางแก้ รู้ทำแต่ที่
		ถูก แก้ไขส่วนที่เป็นทุกข์ไม่พึงปรารถนา อิทัปปัจจยตา  ส่วนนี้คือ มัชฌิมาปทา
		วิชาอะไรในโลกทั้งหมด ย่อมอยู่ในกฎเกณฑ์ "ความที่สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" นั่นคือ 
		สรรพสิ่งในโลกล้วนมีเหตุปัจจัยแห่งการก่อเกิดเปลี่ยนแปลง และดับสูญ 
		(เปลี่ยนสถานะ) ทั้งสิ้น"
		
		พุทธทาสภิกขุได้ศึกษาลึกซึ้ง และอย่างจริงจังถึงฐานะบทบาทของหลักธรรม
	อิทัปปัจจยตาในพุทธศาสนา  ท่านพบว่า  ในวันตรัสรู้  พระพุทธองค์ทรงอุทานทั้ง ๓ ยาม 
	ก็เพราะดื่มด่ำในอิทัปปัจจยตา และตรัสรู้หลักธรรมอันนี้

		ในเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนาที่คนไทยมักยึดถือกันว่า เป็นอริยสัจ ๔ ได้แก่
	ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  และมรรคนั้น  พุทธทาสภิกขุเห็นว่าจริงถูกต้อง แต่เป็นความเข้าใจ
	ที่พร่า  เพราะหัวใจจะมี ๔ หัวได้อย่างไร แต่เมื่อพิเคราะห์ชัดแจ้งแล้วหลักธรรมทั้ง ๔ 
	ประการนี้เป็นอิทัปปัจจยตา หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า "ปฏิบจจสมุปบาท" อันเป็นเรื่อง
	เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ เหตุปัจจัยที่จะรู้เหตุแห่งทุกข์ เหตุปัจจัยที่เป็นวิธีการเข้าถึง
	การดับทุกข์

		ดังนั้น หัวใจของพุทธศาสนาที่แท้จริงคือ อิทัปปัจจยตา ถ้าจะอธิบายให้รู้จัก
	ได้ง่ายก็คือการเห็นว่า เพราะ มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น  การดำรงชีวิตของ
	มนุษย์ หากศึกษาถึงเหตุปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของสิ่ง วัตถุธรรม และจิตใจในภาวะ
	เงื่อนไขต่างๆ ว่าดำรงอยู่อย่างไร แสดงบทบาทหน้าที่อย่างไร และมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่ง
	อื่นอย่างไร  ความรู้ในสิ่งนั้นปัญหานั้นก็เกิดขึ้น และสามารถจะคิดค้นหาทางแก้ไขปัญหา
	ได้ตามเงื่อนไขสภาพความเป็นจริง  ซึ่งจะต่อเนื่องกับกฎการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นๆ และ
	สามารถแปรเปลี่ยนได้จากการสัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างไม่สิ้นสุด นี่เป็นสัจธรรมอันจริงแท้
	ในพุทธศาสนา

อ่านต่อ ไปหน้าที่ 2


กลับไปหนังสือประเภทศาสนา, ปรัชญา