ประเพณีเข้าอินทขิล
 
 
ประเพณี เข้าอินทขิล

               ประเพณี "เข้าอินทขิล" คือ การสักการะบูชาเสาหลักเมือง เสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง ของเชียงใหม่นี้ ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นวัดที่สร้าง ขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งครองอาณาจักรล้านนาไทย
พระองค์ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๕ เสาอินทขิลนี้อยู่ในมณฑปจตุรมุขวิหารทางด้านใต้เสานี้ก่อด้วยอิฐถือปูน และแต่เดิมอยู่ที่ วัดสะดือเมือง(หรือ วัดอินทขีล) ซึ่งเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราช ข้างศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน ครั้นต่อมาสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ ก็ได้ให้ย้ายเสาอินทขีลมาอยู่ที่วัดนี้ และได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๓ เสาอินทขีลเป็นเสาหลักเมือง คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นที่เคารพสักการะและนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานสำคัญของเชียงใหม

               ในสมัยก่อน ได้มีการทำพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิลเป็นประจำทุกปี การทำพิธีดังกล่าวนี้ มักจะทำกันในปลายเดือน ๘ เหนือข้างแรมแก่ ๆ ในวันเริ่มทำพิธีนั้น พวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งเฒ่าแก่หนุ่ม-สาวก็จะพากัน นำเอาดอกไม้ธูปเทียนน้ำขมิ้น ส้มป่อยใส่พานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการะบูชา การทำพิธีดังกล่าวนี้ มักจะเริ่มทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ และเสร็จเอาเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ เป็นประจำทุกปี จึงเรียกกันว่า "เดือน ๘ เข้า เดือน ๙ ออก" ในระหว่างการทำพิธีนี้ จะมีการจัดให้มีซอพื้นเมือง และมีช่างฟ้อนดาบ ฟ้อนหอกสังเวยเทพยดาอารักษ์ ผี (เสื้อ) บ้าน ผี (เสื้อ) เมือง ในสมัยที่เชียงใหม่ยังมีเจ้าผู้ครองนคร ก่อนที่จะเริ่มทำพิธีเข้าอินทขิลก็จะมีผู้นำเข่งไม้ใหญ่ไปขอเรี่ยไรผักปลาอาหารจากชาวบ้าน ร้าน ตลาดทั่วไป ซึ่งทุกคนจะบริจาคให้ด้วยความเต็มใจ ผักปลาอาหารที่เขามาขอเรี่ยไรไปนั้น ก็เพื่อจะเอาไปปรุงอาหารเป็นเครื่องเซ่นสังเวยเทพยดาอารักษ์ พระเสื้อบ้านเสื้อเมือง (ล้านนา เรียกว่า เชนบ้านเชนเมือง) และกุมภัณฑ์ที่เฝ้ารักษาเสาอินทขิลอยู่นั้น ที่เหลือก็จะเอาเลี้ยงดูผู้ที่ไปร่วมในงานด้วย ซึ่งจะมีพวกตามบ้านนอกมานอนค้างอ้างแรมร่วมงานด้วยเครื่องเซ่นสังเวยนี้ นอกจากอาหารที่เก็บจากชาวบ้านมาแล้ว ก็มีอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ซึ่งฆ่าสังเวยเป็นตัว ๆ เช่น หมู วัว ควาย ไก่ เป็นต้น นอกจากการสังเวยเซ่นสรวงแล้ว ก็มีการอัญเชิญผีบ้านผีเมือง เรียกว่า "อาฮักเจ้าหลวงฅำเขียว เจ้าหลวงฅำแดง" มาเข้าทรง และพวกเจ้านายที่เป็นเจ้าผู้ครองนครและญาติวงศ์ก็จะถามถึงความเป็นไปของบ้านเมืองว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีเหตุเภทภัยประการใดหรือไม่ ฝนฟ้าและข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์ดีหรือไม่? อย่างไร? "คนทรง"(หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ที่นั่ง หรือม้าขี่ของเจ้าพ่อ) ก็จะพยากรณ์ให้ทราบ เมื่อทราบชาตาของบ้านเมืองไม่สู้ดีนัก ก็จะมีการทำพิธีทางไสยศาสตร์แก้ไข เป็นการปัดเป่าให้เบาบางลง ซึ่งเรียกว่า มีการทำพิธีสืบชาตาเมือง (สืบ คำนี้หมายถึง ต่อ หมายถึง การต่ออายุเมือง) และก่อนที่จะมีการทำพิธีเข้าอินทขิล ก็มีการเลี้ยงผีปู่ย่าที่ดอยคำก่อนด้วย

               การทำพิธีดังกล่าวนี้ ในสมัยก่อนได้จัดทำกันเป็นงานใหญ่และทำกันประจำทุกปี ในสมัยเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา พิธีนี้ก็ได้เลิกล้มไป ปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นจัดทำประเพณีนี้ขึ้นอีก แต่ทำเฉพาะการบูชาเสาอินทขีลเท่านั้น การเข้าทรงและอื่น ๆ นั้นเลิกกันไป ประเพณีเข้าอินทขีลนี้ เป็นประเพณีที่แสดงถึงความสามัคคีของประชาชนพลเมือง ซึ่งจะมีประชาชนทั้งชายหญิงไปร่วมในพิธีนี้ทุกวันจนเสร็จงาน

ประวัติความเป็นมาของเสาอินทขิล


               เท่าที่ปรากฎหลักฐานจากหนังสือตำนานสุวรรณฅำแดง (ฉบับพระมหาหมื่น วัดเจดีย์หลวง) ได้กล่าวถึงประวัติประเพณีนี้ ว่า ในสมัยก่อนโน้น บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่นี้ เป็นที่อยู่ของพวกลัวะ และพวกลัวะที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ถูกผีร้ายมารบกวนต่าง ๆ นานา เป็นที่เดือดร้อนทั่วทั้งเมือง พระอินทร์ทรงเล็งเห็นความเดือดร้อนทั่วทั้งเมือง พระอินทร์ทรงเล็งเห็นความเดือดร้อนของพลเมืองก็คิดที่จะช่วยเหลือ โดยบอกให้ชาวเมืองถือศีลรักษาคำสัตย์ บ้านเมืองจึงรอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เมื่อพระอินทร์ทรงเห็นว่า ชาวเมืองมีศีลมีสัตย์ดีแล้ว ก็บันดาลให้บ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วเกิดขึ้นภายในเมืองและให้ชาวเมืองอธิษฐานขอเอาตามความปรารถนา ในสมัยนั้น พวกชาวเมืองมีอยู่ ๙ ตระกูล ก็แบ่งพวกเป็น ๓ หมู่ ๆ ละ ๓ ตระกูล คอยอยู่เฝ้ารักษาบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้วนั้น พวกลัวะทั้ง ๙ ตระกูลนี้เอง ที่ทำให้ได้ชื่อว่า "เมืองนพบุรี"
ต่อมา พวกลัวะ ๙ ตระกูลนั้น ได้สร้างเวียงสวนดอก และอาศัยอยู่ภายในเมืองนี้ด้วยความเจริญเป็นเวลานาน และต่างก็มีความสงบสุข เพราะมีของทิพย์เกิดขึ้นในบ้านเมืองของตน บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ดี
               ต่อจากนั้น ข่าวความอุดมสมบูรณ์ของเมืองนพบุรีที่มีบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้วของทิพย์เกิดขึ้นในเมืองที่เป็นที่เลื่องลือทั่วไปตามบ้านต่าง ๆ ทั้งใกล้เคียงและห่างไกล พวกหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้ข่าวก็จะจัดแต่งลี้พลเป็นกองศึกยกมาจะชิงเอาบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้ว เมื่อชาวเมืองได้ทราบข่าวศึกก็มีความตกใจและขยาดหวั่นเกรงในการศึก จึงนำความไปแจ้งแก่ฤาษีที่มาจำศีลภาวนาอยู่ที่นั้นให้ช่วยเหลือ ฤาษีจึงนำเอาความไปกราบทูลให้พระอินทร์ทรงทราบ พระอินทร์จึงให้เรียกกุมภัณฑ์ ๒ ตนนั้นมา แล้วให้ไปขุดเอาเสาอินทขีลเล่มกลางใส่สาแหรกเหล็กให้ยักษ์ ๒ ตน หาบลงไปฝังไว้ที่เมืองนพบุรี เสาอินทขีลที่นี้ว่าเดิมอยู่บนสวรรค์ และมีอยู่ด้วยกันหลายเล่ม เล่มที่เอามาฝังที่เมืองนพบุรีนี้ว่าเป็นเล่มกลาง ด้วยอิทธิพลอำนาจของเสาอินทขิลนี้เอง บันดาลให้พวกข้าศึกที่ยกกองทัพมาชิงเอาเมืองนพบุรีนั้นกลายเป็นพ่อค้าไปหมด และเมื่อพวกพ่อค้าเหล่านี้เข้าไปในเมือง พวกลัวะชาวเมืองก็ถามว่า ท่านมีความประสงค์ต้องการสิ่งไรหรือพวกพ่อค้าตอบว่า พวกเรามีความต้องการอยากได้แก้วเงินและทองในเมืองของท่าน พวกชาวเมืองก็ตอบว่า พวกท่านอยากได้สิ่งใด ก็ให้อธิษฐานเอาตามความปรารถนาเถิด ขอแต่ให้ท่านรักษาความสัตย์ ขอสิ่งใดก็จงเอาสิ่งนั้น อย่าได้ละโมภสิ่งอื่นด้วยก็แล้วกัน
พ่อค้าได้ยินดังนั้นก็มีความดีใจต่างก็ตั้งสัจอธิษฐานบูชาขอแก้ว เงิน ทอง ตามความปรารถนาพวกพ่อค้าได้อธิษฐานขออยู่ทุกปี บางคนก็ทำพิธีบูชาขอเอาตามพิธีการของพวกลัวะ บางคนก็ถือเอาวิสาสะหยิบเอาไปเสียเฉยๆ ไม่ปฏิบัติบูชา และมิหนำซ้ำยังเอาท่อนไม้ ก้อนอิฐ ก้อนดินและของโสโครกขว้างทิ้งตามบริเวณนั้นและไม่ทำพลีกรรมบวงสรวงเสีย แต่นั้นมา บ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป คนพวกนั้นจะไปขอสิ่งใดก็ไม่ได้ พวกพ่อค้าเหล่านั้นก็เลยขาดลาภ และพากันกลับไปยังบ้านเมืองของตนเสีย
              ครั้งนั้น มีลัวะเฒ่าคนหนึ่งเคยไปสักการะบูชาบูชาเสาอินทขิลเสมอ วันหนึ่งก็เอาดอกไม้ธูปเทียนจะไปบูชาอินทขิล ก็ปรากฎว่ายักษ์สองตนนั้นหามกลับไปบนสวรรค์เสียแล้ว ลัวะผู้เฒ่าคนนั้นมีความเสียใจมากจึงร้องไห้ร้องห่มต่าง ๆ นานา และจะจากบรรพชิตไปถึงเพศเป็นชีปะขาว บำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ใต้ต้นยางนั้น เป็นเวลานานถึง ๒ ปี ก็มีพระเถระเจ้าองค์หนึ่งจาริกมาจากป่าหิมพานต์ มาทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองนี้จะถึงกาลวิบัติ พวกลัวะได้ยินดังนั้นก็มีความเกรงกลัวเป็นอันมาก จึงขอร้องให้พระเถระเจ้าองค์นั้นช่วยเหลือให้พ้นภัยพิบัติ พระเถระเจ้าก็รับปากว่าจะช่วยเหลือ และได้ขึ้นไปขอความช่วยเหลือจากพระอินทร์อีก
พระอินทร์ก็บอกว่า ให้พวกชาวเมืองหล่ออ่างขาง(กะทะใหญ่ทำด้วยเหล็กหล่อ)หนา ๘ นิ้วมือขวาง กว้าง ๔ ศอก ขุดหลุมลึก ๔ ศอก แล้วปั้นรูปสัตว์ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้อย่างละ ๑ คู่ ปั้นรูปคนทั้งหลายให้ครบร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา ปั้นรูปช้างคู่หนึ่ง ม้าคู่หนึ่ง แล้วเอารูปปั้นเหล่านี้ใส่ลงในกะทะเอาลงฝังในหลุมนั้น แล้วก่ออิฐถมไว้ และให้ก่อเสาอินทขิลจริง ๆ บ้านเมืองจึงจะพ้นภัยพิบัติได้
              พระเถระเจ้าก็นำความมาแจ้งแก่ชาวเมืองให้ทราบ พวกชาวเมืองได้ทราบดังนั้นก็ปฏิบัติตามคำของพระอินทร์ทุกประการ และได้ทำพิธีบวงสรวง สักการะบูชาเสาอินทขีล และรูปกุมภัณฑ์ที่สร้างเทียมไว้นั้นมิได้ขาด บ้านเมืองก็รอดพ้นจากภัยพิบัติและเจริญรุ่งเรืองขึ้น แต่นั้นมาจึงมีประเพณีทำพิธีสักการะบูชาเสาอินทขีลตราบกระทั่งทุกวันนี้
ครั้นต่อมา ในสมัยพระเจ้ากาวิละได้ครองเมืองเชียงใหม่ ในวันเสาร์เดือน ๗ (เหนือ) ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีวอกโทศกพุทธศักราช ๑๑๖๒ (พ.ศ.๒๓๔๓) พระองค์ทรงให้สร้างรูปกุมภัณฑ์และฤาษีไว้ พร้อมกับเสาอินทขีลด้วย

 
ประเพณี ยี่เป็ง,ประเพณีเข้าอินทขิล, พิธีกรรมเลี้ยงผี ปู่ ย่า ตา ยายประเพณีฟ้อนผีมด, ประเพณีสงกานต์