บาร์โค้ด ( BARCODE ) : รหัสแท่ง

            แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความรู้สึกต้องการที่จะเขียนเรื่องนี้ก็เนื่องจาก ทุกวันนี้มีคนสนใจเรื่องของบาร์โค้ดค่อนข้างมาก หน่วยงานบางแห่งมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของบาร์โค้ดเป็นอย่างดี เมื่อลงทุนเกี่ยวกับเรื่องของบาร์โค้ดลงไปก็ทำให้ผลการดำเนินงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมากมายทีเดียว แต่ก็มีหลายแห่งเหมือนกันครับที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของบาร์โค้ดเพียงพอ เมื่อลงทุนนำระบบบาร์โค้ดมาใช้ก็ก่อให้เกิดความผิดพลาดและเสียหายอย่างหนักจนยากจะแก้ไขก็มีเหมือนกัน

            บาร์โค้ด ( Barcode ) หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่ารหัสแท่งนั้น คือสัญญลักษณ์พิเศษแบบหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ทางด้านการบันทึกข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะข้อมูลที่ซ้ำ ๆ กัน หรือข้อมูลที่อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย หรือต้องการพัฒนาความรวดเร็วในการทำงานด้านการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายหลักของบาร์โค้ดก็คือ ใช้แทนการบันทึกข้อมูลจากการกดแป้นพิมพ์

            ทั้งนี้เนื่องจากการอ่านข้อมูลจากแถบบาร์โค้ดจะทำงานได้เร็วกว่าการบันทึกข้อมูลเข้าเครื่องโดยการใช้แป้นพิมพ์ค่อนข้างมาก สมมติว่าถ้าเรามีข้อมูล " 8850427130017 " ที่จะต้องคีย์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ จะเห็นว่าถ้าเราใช้วิธีการบันทึกข้อมูลจากทางแป้นพิมพ์ เราจะต้องกดแป้นตัวเลขทั้งหมด 13 ครั้ง ซึ่งสำหรับคนที่คีย์ข้อมูลได้เร็วมากและเกิดความผิดพลาดน้อยเวลาที่ใช้เฉลี่ยจะประมาณ 8 วินาที สำหรับใส่ข้อมูลชุดนี้เข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ สาเหตุเกิดจากขณะที่เรากดแป้นพิมพ์แต่ละตัวนั้น ธรรมชาติของคนจะเกิดการชะงักเมื่อจะเลื่อนนิ้วไปกดแป้นพิมพ์ตัวถัดไป แต่ถ้าเราใช้แทนข้อมูลชุดนี้ เราวิธีการอ่านค่า ( SCAN ) จากแถบบาร์โค้ดที่ใช้แทนข้อมูลชุดนี้เราจะใช้เวลาประมาณ 1 วินาที และสามารถรับประกันได้ว่าข้อมูลที่ได้จากการอ่านแถบบาร์โค้ดจะไม่ผิดเลย

            โดยทั่วไปบาร์โค้ดจะประกอบด้วยองค์ประกอบหลักอยู่ 2 อย่าง คือแท่งสี่เหลี่ยมแบบทึบ ( หรือสีเข้ม ) กับแท่งสี่เหลี่ยมแบบสว่าง ( หรือช่องว่าง ) ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำมากำหนดประเภทของบาร์โค้ด เช่น บาร์โค้ดประเภทที่ใช้แถบแคบกับแถบกว้างสำหรับแทนค่า 0 หรือ 1 ในระบบเลขฐานสอง หรือประเภทที่ใช้แถบมืดกับแถบสว่างแทนค่า 0 หรือ 1 ในระบบเลขฐานสองเป็นต้น และองค์ประกอบทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำมาผสมกันตามข้อกำหนด ( PATTERN ) ของบาร์โค้ดแต่ละชนิด ( TYPE ) ซึ่งในปัจจุบันมีบาร์โค้ดชนิดต่าง ๆ อยู่ด้วยกันหลายร้อยชนิด แต่จะมีเพียงไม่กี่ชนิดที่นิยมใช้กันหรือเห็นกันอยู่ทั่วไป
 
 


รูปที่ 1


 

นอกจากองค์ประกอบหลัก ๆ ตามข้างต้นที่บาร์โค้ดทุกชนิดจะเหมือนกันแล้ว ในบาร์โค้ดแต่ละชนิดยังต้องประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัยอีก 3 อย่างด้วยกันคือ
            1. ส่วนเริ่มต้น เป็นแถบเส้นบาร์โค้ดที่อยู่ด้านซ้ายสุดของตัวบาร์โค้ดแบบที่วางตัวในแนวเส้นตรง ( มีบาร์โค้ดบางชนิดจะมีการวางแถบบาร์โค้ดเป็นวงกลม ) ซึ่งจะใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านแถบบาร์โค้ด นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวแบ่งแยกชนิดของบาร์โค้ดด้วย
           2. แถบเส้นบาร์โค้ดที่ใช้แทนข้อมูล เป็นแถบบาร์โค้ดที่ใช้แทนข้อมูล ซึ่งบาร์โค้ดบางชนิดจะใช้แทนค่าตัวเลขได้เพียงอย่างเดียว เช่น บาร์โค้ดชนิด EAN13, Interleaved 2 of 5 เป็นต้น หรือบางชนิดสามารถใช้แทนค่าข้อมูลได้ทั้งที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรอื่น ๆ เช่น บาร์โค้ดชนิด Code 3 of 9 ( Code 39 ) เป็นต้น
           3. ส่วนปิดท้าย เป็นแถบเส้นบาร์โค้ดที่อยู่ด้านขวาสุดของตัวบาร์โค้ดแบบที่วางตัวในแนวเส้นตรง ซึ่งจะใช้เป็นตัวบอกจุดสิ้นสุดของการอ่านบาร์โค้ด และยังใช้ประกอบในการแยกชนิดของบาร์โค้ดในเครื่องอ่านบาร์โค้ดอีกด้วย
ในบาร์โค้ดทุกชนิดจะต้องมีส่วนประกอบหลักตามที่กล่าวมาในข้างต้น แต่บางชนิดอาจจะมีส่วนประกอบ พิเศษอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น บาร์โค้ดในกลุ่ม UPC/EAN จะมีส่วนที่เรียกว่า CENTER BAR เพิ่มขึ้นมาเป็นต้น
 


รูปที่ 2



หน้า 1 | 2 | 3 |
| home | menu | เทคโนโลยี |

1 : 08 : 2541