รถพ่วง
รถพ่วง เป็นชื่อเรียกรวมบรรดารถที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าและคนโดยสารในกิจการขนส่งโดยทางรถไฟ รถพ่วงจะถูกนำเอามาพ่วงต่อกันจำนวนหลายคันประกอบเป็นขบวนรถ แล้วใช้รถจักรทำการลากจูงต่อไป
รถพ่วงมีอยู่ ๒ ชนิดคือ
๑.รถบรรทุกคนโดยสาร เรียกว่า รถโดยสาร
๒.รถบรรทุกสินค้า เรียกว่า รถสินค้า
รถพ่วงโดยทั่วไปมีส่วนประกอบที่สำคัญ
๑. โครงประธาน ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวรถและสิ่งบรรทุก
๒. ลำตัว ทำหน้าที่บรรจุสิ่งบรรทุกและป้องกันแดด ลม ฝน ลำตัวยึดติดกับโครงประธาน
๓. ล้อพร้อมเพลา ทำหน้าที่รับน้ำหนักรถและสิ่งบรรทุกให้ลงบนรางและทำให้เคลื่อนที่ไปบนรางนั้นได้สะดวก
๔. เครื่องลากจูงและเครื่องพ่วง สำหรับพ่วงต่อรถเข้าด้วยกัน และถ่ายทอดกำลังฉุดลากจากรถจักรไปยังรถพ่วงแต่ละคันที่พ่วงกันเป็นขบวน
๕. อุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกแก่การโดยสาร และการบรรทุก
การเดินรถ
ในการเดินขบวนรถโดยสาร ขบวนรถสินค้า หรือขบวนรถพิเศษอื่นใดไปในเส้นทางตอนใดจะต้องมีการประกาศเดินรถโดย เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาขในการประกาศเดินรถ เป็นผู้ทำประกาศโดยแจ้งกำหนดเวลาและจำนวนรถที่พ่วงเข้าในขบวน ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในทางตอนที่ขบวนรถนั้นๆ จะเดินเข้าไปให้ทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมการให้ความปลอดภัยแก่ขบวนรถ
การกำหนดหมายเลขขบวนรถ
ในทางสายหนึ่งๆ จะมีขบวนรถประเภทต่างๆ จำนวนมากเดินร่วมกันถ้าจะเรียกชื่อขบวนรถด้วยตัวอักษร ก็จะต้องใช้ตัวอักษรยืดยาวมาก ทั้งขบวนรถที่เดินมีทั้งเที่ยวขึ้นและเที่ยวล่องเป็นการสับสนกันอยู่ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดให้เรียกชื่อขบวนรถเป็นตัวเลข ซึ่งจะทำให้สั้นและแสดงให้ทราบถึงประเภทของขบวนรถได้ง่าย เพื่อสะดวกในการใช้โทรเลขสะดวกในการเดินรถ และผู้ปฏิบัติงานเข้าใจได้ง่าย โดยกำหนดสถานีกรุงเทพ ฯ และ ธนบุรีเป็นหลัก ขบวนรถเดินจากกรุงเทพ ฯ หรือ ธนบุรีออกไปใช้เลขขบวนรถเป็นเลข คี่ ถ้าเดินเข้ากรุงเทพหรือ ธนบุรีใช้เลขขบวนรถเป็นเลขคู่ และกำหนดจำนวนเลข ให้แตกต่างกันสำหรับประเภทขบวนรถ เช่น จำนวนเลขน้อยกำหนดไว้สำหรับขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา รถชานเมือง จำนวนเลขมากขึ้นไปสำหรับขบวนรถรวม จำนวนเลขมากขึ้นไปอีก สำหรับขบวนรถสินค้า และ จำนวนเลขมากขึ้นไปอีกสำหรับ ขบวนรถ งาน และ ขบวนรถพิเศษ ตัวอย่าง เช่น ขบวน 1 เป็นขบวนรถด่วนจากสถานีกรุงเทพ ฯ ถึงสถานีเชียงใหม่ และขบวน 2 เป็นขบวนรถด่วนจากสถานีเชียงใหม่ ไป สถานี กรุงเทพ ฯ ขบวน 101 เป็นขบวนรถเร็ว จากสถานีกรุงเทพ ฯ ถึงสถานีเชียงใหม่ และขบวน 102 เป็นขบวนรถเร็ว จากสถานีเชียงใหม่ ถึงสถานีกรุงเทพฯ
อักษรย่อต่างๆ ในการรถไฟ
การรถไฟฯได้กำหนดอักษรย่อต่างๆ ที่ใช้ในกิจการรถไฟทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ต่างๆ ชื่อสถานี ที่หยุดรถ และชื่อรถโดยสารและสินค้า เพื่อความสะดวกในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและในการใช้โทรเลข วิทยุโทรเลขและโทรพิมพ์ในบางโอกาสผู้ใช้บริการรถไฟก็อาจจะพบเห็นอักษรย่อต่างๆ เหล่านี้ได้บ้าง อาทิ พขร. ซึ่งหมายถึง พนักงานขับรถ พรร. พนักงานรักษารถ นสน. นายสถานี อย. สถานีอยุธยา อน. สถานีอุบลราชธานี หญ. สถานีชุมทางหาดใหญ่ บชส. รถโบกี้ชั้นที่ 3 บนท. รถโบกี้นั่งและนอนชั้นที่ 2 บนอ.ป. รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 บตญ. รถโบกี้ตู้ใหญ่ บขถ. รถโบกี้ข้างโถง ขต. รถข้างต่ำ เป็นต้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------