วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
 
 
 
   วัดพระสิงห์
      วัดพระสิงห์ หรือมีชื่อเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสามล้าน ต.พระสิงห์ เป็นวัดที่มีนักท่องเที่ยวรู้จักคุ้นชื่อกันดี พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู ซึ่งเป็นพระราชบิดา เดิมชื่อว่า วัดลีเชียงพระ บริเวณหน้าวัดแห่งนี้เคยเป็นกาดมาก่อน ชาวบ้านเรียกว่า กาดลี วัดพระสิงห์มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ หอไตร สร้างเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ที่ตัวผนังตึกด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้นแต่งองค์ทรงเครื่องสวยงาม เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ต่อมาในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐได้มีการซ่อมแซมขึ้นใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2467 ที่ฐานหอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัวภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ และประจำยาม ที่มีลักษณะละม้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน
นอกจากนี้ยังมีวิหารลายคำ เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนาขนาดเล็กกระทัดรัด ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่ผนังวิหารมีภาพจิตรกรรมโดยรอบ ด้านเหนือเขียนเป็นเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เป็นเรื่องสุวรรณหงส์ ภาพจิตรกรรมดังกล่าวมีความน่าสนใจมากทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบเพียงแห่งเดียวที่นี่ ลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนา อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สรุปไว้ว่า
" จิตรกรรมในภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน เป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้าเรามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน "
บรรจุอัฐิของพระยาคำฟู

    พระยาคำฟูเป็นราชวงศ์เม็งรายอันดับที่ ๗ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแสนภู ราชวงศ์เม็งรายอันดับที่ ๖ เมื่อพระเจ้าแสนภูได้ปกครองเมืองเชียงแสน "เดิมชื่อเมืองเงินยาง" ปี พ.ศ. ๑๘๕๗ ถึงปี พ.ศ. ๑๘๖๓ ก็เสด็จสวรรคตลง บรรดาข้าราชการพ่อค้าประชาชน ได้อัญเชิญให้พระยาคำฟูขึ้นครองเมืองเชียงแสนแทน เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๗ พระองค์ได้เสด็จสวรรคตลงที่แม่น้ำคำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา พระเจ้าผายูพระราชโอรสจึงได้นำพระอัฐิและพระอังคารมาบรรจุไว้ที่นี้ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ และเพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา จึงทรงสร้างเมืองขึ้นตรงนี้ ชื่อว่าวัดลีเชียงพระ ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดพระสิงห์ ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา ราชวงศ์เม็งรายอันดับที่ ๑๐

     จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่
งานจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ของเชียงใหม่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ ถนนสามล้าน อำเภอเมืองเชียงใหม่ วัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้น "วรมหาวิหาร" สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าผายู กษัตริย์ล้านนาอันดับที่ ๕ แห่งราชวงศ์มังรายครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๗๙ - ๑๘๙๘ เพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารของพระเจ้าคำฟู ผู้เป็นพระบิดา เรียกชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ" เนื่องจากบริเวณนี้เดิมเป็นตลาด
ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ล้านนาอันดับที่ ๗ ครองราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๒๘ - ๑๙๔๔ โปรดให้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์มาจากเชียงราย ประชาชนจึงเรียกชื่อวัดพระพุทธสิหิงค์ และเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระสิงห์ ตั้งแต่นั้นมา
จากการสันนิษฐานของ สน สีมาตรัง กล่าวว่า โครงสร้างสถาปัตยกรรมวิหารลายคำเป็นโครงสร้างเก่าแก่อายุราวพุทธ ศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓ แต่งานช่างทั้งอาคารที่เห็นในปัจจุบันอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือ ช่างเขียนในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ซึ่งเขียนขึ้นภายหลัง
      การบูรณะปฏิสังขรณ
      คงมีต่อมาเรื่อยๆ ตามความสำคัญของวัดที่มีมาแต่อดีต และในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ คงมีการ ปฏิสงขรณ์ครั้งใหญ่ทั้งวิหารและเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นในคราวเดียวกัน หรือในระยะเวลาไม่ห่างกันมาก งานช่างทั้งหมด มีแบบแผนและความคิดในการสร้างงานศิลปะเป็นสกุลช่างเดียวกัน ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำวัดพระสิงห์เชียงใหม่กับ จิตรกรรมฝาผนังวิหารจตุรมุขวัดภูมินทร์จังหวัดน่าน
เรื่องราวที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ มีชาดก ๒ เรื่อง คือ เรื่องสังข์ทอง ซึ่งเขียนบนผนัง ด้านทิศเหนือ เป็นฝีมือของสกุลช่างเชียงใหม่ และเรื่อง "สุวรรณหงส์" เขียนบนผนังด้านทิศใต้เป็นฝีมือสกุลช่างกรุงเทพฯ
จากการวิเคราะห์ภาพจิตรกรรมของ สน สีมาตรัง กล่าวว่า สกุลช่างเชียงใหม่ที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านทิศเหนือ ของวิหารลายคำ เป็นลักษณะการเขียนภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวช่าง ซึ่งบ่งบอกถึงความประทับใจของช่างแล้วแสดงออกในภาพ เป็นแบบอิสระตามความชอบและความถนัดของช่างเขียน มากกว่าจะเป็นแบบทำตามระบบกำกับงานของนายช่างใหญ่หรือผู้ปกครอง
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ มีลักษณะการเขียนของช่างที่สวยงานประณีตเป็นอันมาก แสดงออกซึ่งความชำนาญของช่างเขียนที่ได้ถ่ายทอดออกมา มีลักษณะการเขียนที่ผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและรัตนโกสินทร์ ผนวกกับลักษณะเฉพาะของปราสาทล้านนา และเรือนกาแล ที่นิยมสร้างกันสมัยนั้น ภาพคน คือ ตัวพระ ตัวนาง และภาพตัว กาก (ภาพสามัญชน) มีลักษณะการเขียนที่แสดงถึงลักษณะของคน ล้านนาในยุคนั้น เครื่องแต่งกายต่างๆ ก็บอกความเป็นคนล้านนา โดยจะสังเกตุเห็นว่าเครื่องแต่งกาย ของข้าราชการในวังสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏอยู่ในภาพ นอกจากนี้ยังปรากฏลักษณะการแต่งกายของชนเผ่าต่างๆ ที่มีความใกล้ชิดกับชาวล้านนาสมัยนั้นด้วยรูปลักษณ์ของ หน้ากลม ตาสองชั้นเรียวยาว จมูกเรียวเล็ก ปากรูปกระจับ ทรงผมเกล้ามวยของผู้หญิง และทรงผมผู้ชายเป็นกระจุกอยู่กลางศีรษะที่เรียก กันว่า"ทรงมหาดไทย" ทุกอย่างที่กล่าวมาบ่งบอกถึงลักษณะของผู้คนชาวล้านนา ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ทั้งสิ้น ส่วนลักษณะการเขียน สถาปัตยกรรมประกอบภาพในเรื่องส่วนประกอบของไม้ใช้เป็นส่วนบน ปูนใช้ เป็นส่วนกลางและหลังคามุงกระเบื้อง ส่วนรั้วและกำแพง บางจุดเป็นไม้ บางจุดเป็นอิฐมีความละเอียดประณีตมาก ใช้ทองคำเปลว ช่วยให้เกิดความสวยงาม มีผ้าม่านเป็นฉากกั้นระหว่างห้อง เขียนลายผ้าม่านเป็นลวดลายดอกไม้สวยงามมาก
สีที่ใช้จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เป็นวรรณสีเย็น ซึ่งมีสีน้ำเงินครามและสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ นอกจาก นี้ก็มีสีแดง สีเขียว สีน้ำตาล สีดำ และสีทอง ซึ่งใช้เขียนส่วนที่เป็นโลหะปิดด้วยทองคำเปลวตัดด้วยสีแดงและดำ เช่น เชิงหลังคา และยอดปราสาท สิ่งของเครื่องใช้ เช่น อาวุธ เครื่องประดับ

 
วัดพระธาตุดอยสุเทพ, วัดพระสิงห์, วัดเจ็ดยอด, วัดสวนดอกวัดเจดีย์หลวง, วัดเจดีย์เหลียม, วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์