ข่าวโทรคมนาคม
วันศุกร์ ที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2543
ทีทีแอนด์ทีเพิ่มทุน5พันล. เปิดช่องรวมกิจการรับเสรี
"ทีทีแอนด์ที"เตรียมเพิ่มทุน 5 พันล้านบาท เปิดทางพร้อมรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมไทย รองรับเปิดเสรี
หลังจากเจ้าหนี้โหวตผ่านแผนปรับโครงสร้างหนี้ 44,360 ล้านบาท นอกจากเพิ่มทุนแล้ว ยังใช้วิธีแปลงหนี้เป็นเงินกู้ระยะยาว,
แปลงหนี้เป็นทุน และหักกลบลบหนี้ กับ ทศท.อีก 3,603 ล้านบาท
นายวิทิต สัจจพงษ์ รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงินและบัญชีบริษัท ไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอม- มิวนิเคชั่น หรือทีทีแอนด์ที
ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ วานนี้ ว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ต่อแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจำนวนประมาณ
44,360 ล้านบาท ปรากฏว่า เจ้าหนี้ที่อยู่ในขบวนการคณะกรรมการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้(คปน.) 98.74%
ของมูลหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้ คปน. ให้ความเห็นชอบกับแผนปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้นอก คปน. จำนวน 55.12% ของมูลหนี้นอก
คปน.ให้ความเห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหนี้นอก คปน.รายหนึ่งซึ่งมีหนี้ 20.12% ของมูลหนี้นอก
คปน.แสดงเจตนารมณ์สนับสนุนแผนแต่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้ และเจ้าหนี้นอก คปน.อีกหนึ่งราย ซึ่งมีหนี้ 15.76%
ของหนี้นอกคปน.หรือคิดเป็น 9.93% ของหนี้ทั้งหมดลงคะแนนเสียงคัดค้าน
"ทั้งเจ้าหนี้และบริษัทเอง เห็นตรงกันว่า ธุรกิจโทรคมนาคมกำลัง จะเปิดเสรีมีความจำเป็นต้องแข่งขันด้านเทคโนโลยีสูง
การเพิ่มทุนจึงมีความจำเป็น ซึ่งบริษัทได้เริ่มพิจารณาหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่ทั้งในและต่างภายใน 2 ปีครึ่ง ตามเงื่อนไขปรับโครงสร้าง
และการร่วมตัวกันของผู้ประกอบการที่มีอยู่ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจโทรคมนาคมได้" นายวิทิต
กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ วานนี้
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ รายงานว่า นายวิทิต แม้ไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่นายธนินท์ เจียรวนนท์
ประธานคณะกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (ทีเอ)
ระบุถึงความเป็นไปได้ของการรวมกิจการกับ ทีทีแอนด์ที แต่นายวิทิต ก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิด ดังกล่าว
โดยตามแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของทีทีแอนด์ที ระบุไว้ว่า ทีทีแอนด์ทีจะหาเงินทุนเพิ่มเป็นจำนวน 5,000 ล้านบาท
โดยอย่างน้อยจะต้องมีการชำระเงินสดจำนวน 3,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 2.5 ปี นับจากวันลงนามสัญญา
ตามกระบวนการที่จะตกลงกันต่อไป เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการชำระหนี้ตามแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้
และอีกส่วนหนึ่งจะใช้เป็นเงินลงทุนขยายกิจการ เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันในธุรกิจใหม่ๆ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สภาวการณ์ที่จะมีการเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม ถ้าบริษัทไม่สามารถเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาท
ได้ภายในระยะเวลา 24 หรือ 30 เดือน หลังจากวันลงนามสัญญา บริษัทรับที่จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิเพิ่มให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้ "ซี"
(จำนวน 6,122 ล้านบาท) โดยใบสำคัญแสดงสิทธิส่วนนี้ใช้ซื้อหุ้นได้ในราคาตลาดแต่ไม่ต่ำกว่าราคาพาร์ (10 บาท)
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของแผนการปรับโครงสร้างหนี้ 44,360 ล้านบาท (สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2542) นั้น ในจำนวน 23,569 ล้านบาท
เป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน และอีก 20,791 ล้านบาท เป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่ง
รวมถึงหนี้ต่อผู้ขายอุปกรณ์รายใหญ่จำนวน 7,284 ล้านบาท หนี้ต่อบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกัน 6,811 ล้านบาท และหนี้ต่อผู้รับเหมารายย่อย 446
ล้านบาท ที่เหลืออีก 6,250 ล้านบาทเป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้อื่นๆ
ในแผนปรับโครงสร้างหนี้นี้จะมีการแยกเอาหนี้จำนวน 13,507 ล้านบาท ออกมาดำเนินการต่างหาก
โดยหนี้ต่อบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งจำนวน 6,811 ล้านบาท จะแปลงเป็นหุ้นสามัญของบริษัท ณ ราคาตลาดของหุ้นบริษัท
ซึ่งคำนวณจากราคาเฉลี่ยในช่วง 180 วันซื้อขายก่อนวันลงนามสัญญา แต่ไม่เกินราคาพาร์ (10 บาท)
หนี้ต่อเจ้าหนี้รายย่อย จำนวน 446 ล้านบาท บริษัทจะชำระเป็นเงินสดโดยหักส่วนลด 35% หรือผ่อนชำระ 100 เดือนโดยไม่มีดอกเบี้ย
สำหรับหนี้ต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) จำนวน 3,603 ล้านบาท
จะดำเนินการหักกลบลบหนี้กับส่วนที่องค์การโทรศัพท์เป็นหนี้ต่อบริษัท และหนี้ที่เหลืออีก 2,647 ล้านบาทเป็นหนี้การค้าทั่วไป
รวมทั้งภาษีค้างจ่ายจะชำระตามกำหนดชำระ
ส่วนหนี้ที่เหลืออีก 30,853 ล้านบาทตามแผนปรับโครงสร้างหนี้กำหนดให้แปลงหนี้เป็นเงินกู้ 3 กลุ่ม คือ เงินกู้กลุ่ม "เอ" จำนวน 19,183
ล้านบาท มีกำหนดชำระคืน 12.5 ปี และระยะปลอดหนี้ 2 ปีโดยต้องชำระดอกเบี้ยตามกำหนด
เงินกู้กลุ่ม "บี" จำนวน 5,548 ล้านบาท มีกำหนดชำระคืน 14 ปี และระยะปลอดหนี้ 12.5 ปี โดยสามารถค้างชำระดอกเบี้ยได้รวมกันไม่เกิน 18
เดือน และกลุ่มตราสารหนี้ "ซี" จำนวน 6,122 ล้านบาท มีกำหนดไถ่ถอน 17.5 ปี และระยะปลอดหนี้ 14 ปี
โดยไถ่ถอนตามจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ บริษัทสามารถนำเงินเพิ่มทุนมาซื้อคืนตราสารหนี้ซีได้
และผู้ถือตราสารหนี้ซีสามารถเลือกที่จะแปลงหนี้ตามตราสารดังกล่าวแต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญของบริษัทก็ได้
ในราคาและเงื่อนไขเดียวกับที่เจ้าหนี้บริษัทที่เกี่ยวข้องกันแปลงหนี้เป็นทุน ณ วัน ลงนามสัญญา
นอกจากนั้น บริษัทจะออกใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น (Warrant) ตามแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวนเท่ากับ 10%
ของจำนวนหุ้นสามัญภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน ผู้จำหน่ายอุปกรณ์รายใหญ่และผู้ถือหุ้น ณ
วันลงนามสัญญา โดยจัดสรรให้เจ้าหนี้ 50% และผู้ถือหุ้น 50% ใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีอายุการใช้สิทธิได้ 5 ปี นับจากวันลงนามสัญญา
และจะใช้สิทธิได้เพียงเฉพาะด้วยวิธีการชำระเงินสดแก่บริษัทเท่านั้น
ที่ปรึกษาการเงินของบริษัท ทีทีแอนด์ที คือ เคนซิงตัน กรุ๊ป โดยมีมิลแบงก์ ทวีท ฮาร์ดลี แอนด์ แมคคอย เป็นที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ
และที่ปรึกษากฎหมายสากลเป็นที่ปรึกษากฎหมายในประเทศ ส่วนเจ้าหนี้มีไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เป็นที่ปรึกษาการเงิน
และอัลเลนแอนด์โอเวอรี กับลิงค์เลเทอรส์ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษากฎหมาย
สำหรับผลดำเนินการของทีทีแอนด์ที สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2542 มียอดขาดทุนสุทธิจำนวน 2,527 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
มีกำไรสุทธิจำนวน 846 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ขาดทุนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านรายได้ และรายจ่าย โดยทางด้านรายได้
บริษัทมีรายได้รวม ในปี 2542 จำนวน 6,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6,178 ล้านบาท ในปี 2541
เนื่องจากจำนวนเลขหมายที่ออกบิลสะสมเพิ่มขึ้นจาก 1,109,511 เลขหมาย ณ สิ้นปี 2541 เป็น 1,153,247 เลขหมาย ในปี 2542 หรือเพิ่มขึ้น
43,736 เลขหมาย
ส่วนราคาหุ้นของบริษัทวานนี้ ปิดที่ระดับ 11.00 บาทไม่มีการเปลี่ยนแปลง
Krungthep Turakij Newspaper
วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2543
องค์การโทรศัพท์ฯร่วมมือกับ อสมท. และเอแบคโพลล์รายงานเลือกตั้ง ส.ว. 4 มี.ค. นี้
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยร่วมมือกับ อสมท.และสำนักวิจัย เอแบคโพลล์ รายงานผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม นี้ โดยโทรศัพท์นครหลวงที่ 2.1.1 กับกองตอนนอก 2.1 ของเขตโทรศัพท์นครหลวงที่ 2.1 ฝ่ายโทรศัพท์นครหลวงที่ 2 ติดตั้งเลขหมายโทรศัพท์จำนวน 300 เลขหมายที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญและวงจร Leased Line แบบ DDN 64 K จำนวน 2 วงจร เพื่อเชื่อมต่อไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์ของ อสมท. เพื่อรองรับการรายงานผลจากหน่วยเลือกตั้งในเขต กทม. และต่างจังหวัด
วันพฤหัสบดีที่2 มีนาคม พ.ศ.2543
เจ้าหนี้90%รับแผน ปรับหนี้ทีทีแอนด์ที
ปรับโครงสร้างหนี้ "ทีทีแอนด์ที" ราบรื่น เจ้าหนี้กว่า 90% ของมูลหนี้ 4.4 หมื่นล้านบาท ลงมติรับแผน โดยมูลหนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก
ทั้งยืดหนี้จาก 7 ปี เป็น 14 ปี และมีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 1% รวมไปถึงการออกหุ้นกู้แปลงสภาพให้เจ้าหนี้
ให้เวลาหาพันธมิตรใหม่ 1-1.5 ปี
นายศิวะพร ทรรทรานนท์ รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.)
กล่าวถึงกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัท ไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมูนิเคชั่น(ทีทีแอนด์ที) เมื่อวานนี้ (1) ว่า
เป็นการโหวตครั้งสุดท้ายตามกระบวนการของ คปน.โดยมีทั้งเจ้าหนี้ใน คปน.และนอก คปน.มาลงมติทั้งหมด รวมมูลหนี้ 44,360 ล้านบาท
แบ่งเป็นหนี้ใน คปน.สัดส่วน 29% ของมูลหนี้ หรือประมาณ 8-9 พันล้านบาท มีเจ้าหนี้ทั้งหมด 22 ราย เป็นธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่ง
ธนาคารต่างประเทศ 7 แห่ง โดยธนาคารสัญชาติฝรั่งเศสเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
ทั้งนี้ เจ้าหนี้กว่า 90% ของมูลหนี้ ได้ลงมติรับแผนปรับโครงสร้างหนี้ทีทีแอนด์ที ส่วนขั้นตอนการหาพันธมิตรหลังจากนี้คาดว่าจะใช้เวลาราว
1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง โดยพันธมิตรที่จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่จะต้องไม่ใช่คู่แข่ง หรือคู่ค้าของบริษัท
สำหรับแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของทีทีแอนด์ที ที่เสนอให้กับเจ้าหนี้ในวงเงิน 38,000 ล้านบาท โดยมีการแปลงหนี้เป็นทุน 7,000
ล้านบาท ส่วนอีก 31,000 ล้านบาท จะแบ่งมูลหนี้ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่ม A มีวงหนี้รวม19,000 ล้านบาท ยืดอายุการชำระหนี้จาก 7 ปี
เป็น 12.5 ปี มีระยะปลอดหนี้ หรือ GRACE PERIOD ช่วงเวลา 2 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราตลาด กลุ่ม B ที่มีวงหนี้ 6,000 ล้านบาท
ยืดอายุการชำระหนี้จาก 10 ปี เป็น 14.5 ปี ไม่มีระยะปลอดหนี้ (GRACE PERIOD) อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าตลาด 1% กลุ่ม C มีวงหนี้ 6,000
ล้านบาท เป็น Conventible debenture หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ที่สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้โดยผู้ถือหุ้นเดิมจะให้สิทธิในการแปลงหนี้เป็นทุน
3,000 ล้านบาท ในตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าตลาด 1-1.15%หลังจากมีการเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาท
แผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ มีทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน การยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และการหาผู้ร่วมทุน
ซึ่งในส่วนของการแปลงหนี้เป็นทุนส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหนี้ด้านซัพพลายเออร์ รวมถึงบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล
ก็เป็นรายหนึ่งที่จะแปลงหนี้เป็นทุน ดังนั้น ในส่วนนี้ค่อนข้างตกลงกันไปพอสมควรแล้ว ส่วนของการยืดอายุชำระหนี้
และการหาผู้ร่วมทุนใหม่ ค่อนข้างเป็นที่ถกเถียงมากในรายละเอียดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย
น่าสังเกตว่า กระบวนการโหวตรับแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของทีทีแอนด์ที เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) นั้น เดิมกำหนดไว้ที่ 16.00
น.แต่เลื่อนมาเป็น 17.00 น.และท้ายสุดเป็นเวลา 18.00 น.เนื่องจากรอเจ้าหนี้บางราย เพื่อขอรับอนุมัติแผนจากสำนักงานในต่างประเทศ
จึงขยายเวลาออกมาเรื่อยๆ เพราะทุกคนคาดหวังว่า การรอดังกล่าวจะทำให้ตกลงกันง่ายขึ้น
"กรณีของทีทีแอนด์ที ทางการได้พยายามเกลี้ยกล่อมมาโดยตลอด แต่จะโหวตผ่านหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหนี้ ซึ่งแผนวานนี้
(1 มี.ค.) คิดว่า กลั่นแผนให้เหมาะสมอย่างเต็มที่แล้ว หากไม่ผ่านก็เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ต้องดำเนินการ และผลกระทบก็อาจเกิดขึ้นกับบริษัทได้"
นายศิวะพร กล่าว
ตามกระบวนการของ คปน.เมื่อมีการโหวตครั้งสุดท้ายแล้ว ขั้นตอนต่อไปมี 2 ทาง คือ เจ้าหนี้อาจจะดำเนินการขั้นศาล หรือร้องขอ
คปน.เพื่อตั้งผู้ชี้ขาด โดยผู้ชี้ขาดจะได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง
แต่ต้องเข้าใจเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งผู้ชี้ขาด จะมีเวลา 40 วันทำการ เพื่อให้ผู้ชี้ขาดระบุว่า
แผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทเหมาะสมหรือไม่ และท้ายสุดหากเจ้าหนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องเข้ากระบวนการทางศาล
ซึ่งเจ้าหนี้จะเป็นผู้ดำเนินการว่าจะไปศาลฟื้นฟู ศาลล้มละลายกลาง หรือศาลแพ่ง
อย่างไรก็ตาม หากการโหวตครั้งสุดท้าย มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถโหวตได้ เช่น เจ้าหนี้บางรายต้องรอขออนุมัติจากคณะกรรมการเจ้าหนี้
คปน.อาจจะผ่อนผันให้ในระยะเวลาอันสั้น 2-3 วัน
สำหรับผลดำเนินการของทีทีแอนด์ที ซึ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์ รายงานว่า ผลการดำเนินงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2542
มียอดขาดทุนสุทธิจำนวน 2,527 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิจำนวน 846 ล้านบาท
ซึ่งสาเหตุที่ขาดทุนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านรายได้ และรายจ่าย โดยทางด้านรายได้ บริษัทมีรายได้รวม ในปี 2542 จำนวน 6,230
ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6,178 ล้านบาท ในปี 2541 เนื่องจากจำนวนเลขหมายที่ออกบิลสะสมเพิ่มขึ้นจาก 1,109,511 เลขหมาย ณ สิ้นปี 2541 เป็น
1,153,247 เลขหมาย ในปี 2542 หรือเพิ่มขึ้น 43,736 เลขหมาย
Krungthep Turakij Newspaper
วันอังคารที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
ครม.อนุมัติ3แนวทางเก็บค่าบริการโทร.พื้นฐาน
ประธานบอร์ดชี้ประชาชนได้ประโยชน์ทศท.-เอกชนขาดรายได้
ครม. ผ่านอัตราค่าบริการโทรศัพท์ใหม่ 3 ทางเลือกแล้ว ขณะที่ประธานบอร์ดทศท.ชี้
ประชาชนได้ประโยชน์ ส่วน ทศท. และเอกชนมีรายได้ลดลง
นายสมบัติ อุทัยสาง ประธานคณะกรรมการ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า
อัตราโครงสร้างค่าบริการใหม่ซึ่ง ครม. อนุมัติ เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ทั้ง 3 รูปแบบ วานนี้ (29)
จะทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากอัตราค่าบริการโทรศัพท์ทางไกล
ที่ลดลงจากทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้น
โดยโครงสร้างใหม่แบ่งออกเป็น
1. รูปแบบเดิม ค่าบริการรายเดือน 100 บาท โทรในพื้นที่เดียวกัน 3 บาทไม่จำกัดเวลา และ ค่าโทรทางไกล
ตามระยะทาง 3, 6, 9, 12, 15 และ 18 บาทต่อนาที
2. ค่าบริการรายเดือน 120 บาท ค่าใช้ในพื้นที่เดียวกัน 3 บาทไม่จำกัดเวลา ส่วนค่าโทรทางไกล เหลือ 3, 6, 9 และ12 บาทต่อนาที
3. ค่าบริการรายเดือน 90 บาท ค่าโทรในพื้นที่เดียวกันนาทีละ 1 บาท ส่วนค่าโทรทางไกล 3, 6, 9 และ 12 บาทต่อนาที
"รูปแบบที่ 3 นี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคงไม่ชอบ และคาดว่าประชาชนจะเลือกใช้รูปแบบที่ 2 มากที่สุด เพราะค่าโทรทางไกลที่ลดลง
ส่วนทางเลือกที่ 3 คาดว่า จะมีผู้เลือกน้อยที่สุด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคบางคนจะใช้โทรศัพท์ไม่ถึง 1-2 นาที" นายสมบัติกล่าว อย่างไรก็ตาม
เรื่องของเศษวินาทีจากค่าโทรทางไกล ซึ่งหากใช้ไม่ถึง 30 วินาที จะปัดลง และผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการนั้น คาดว่าจะทำให้ ทศท.
เสียรายได้บางส่วนไป ซึ่งคำนวณว่าจะอยู่ในราว 330 ล้านบาท หรือ 7% จากรายได้ค่าโทรทางไกล ภายใน 6 เดือน
คาดประกาศใช้เม.ย. นี้
ทั้งนี้ ทศท. จะประกาศใช้แนวทาง 3 รูปแบบนี้ อย่างเป็นทางการภายหลัง ครม. อนุมัติภายใน 1 เดือน
เพราะต้องเตรียมความพร้อมของระบบชำระค่าบริการ (บิลลิ่ง) ต่างๆ ให้เรียบร้อย ซึ่งในเบื้องต้นคงยังไม่สามารถคาดการณ์ว่า
รายได้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากอัตราค่าบริการใหม่จนกว่าจะใช้ไปในระยะหนึ่งก่อน
สำหรับการแปรสัญญาร่วมการงานนั้น อัตราค่าบริการใหม่นี้จะเป็นพื้นฐาน ในการคำนวณรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งเป็นเรื่องของคณะอนุกรรมการกำกับการแปรสัญญา ร่วมการงานด้านกิจการโทรคมนาคม (กปส.)
ที่คณะกรรมการกำกับนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่งตั้งขึ้นมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
โดยต่อจากนี้ 2 เดือน คณะกรรมการชุดนี้จะเชิญชวนเอกชนเข้ามาแปรสัญญา ซึ่งก็จะพอดีกับที่ ทศท. คาดการณ์ว่า
จะมีผู้ใช้บริการในรูปแบบต่างๆ ที่ประชาชนเลือกเข้ามา จากโครงสร้างใหม่
นายสมบัติ กล่าวว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ 470 ที่ ทศท. เสนอลดค่าบริการรายเดือนเหลือ 300 บาท จาก 450 บาท
จะเริ่มใช้เมื่อมีผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้น โดย ครม. ได้อนุมัติตามหลักการนี้
ส่วนแนวคิดการปัดเศษวินาทีนั้น หากนำมาใช้กับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ทศท. ด้วย จะทำให้ ทศท. เสียรายได้อีกราว 330 ล้านบาท
เช่นกัน
วายเทลจ่อคิวเข้า ครม.
ขณะที่ โทรศัพท์แบบประหยัด (วายเทล) นั้น ทศท. ก็เตรียมนำเสนอให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง หลังจากเคยถูกตีกลับมาแล้ว
โดยรูปแบบใหม่นั้น จะเสนอ 2 รูปแบบ
ประกอบด้วย 1. กำหนดค่าบริการ 5 อัตรา เป็นกรอบให้อำนาจกับบอร์ดในการตัดสิน เพื่อทำตลาดแข่งขันกับเอกชน
โดยแบ่งออกเป็น รูปแบบ
1. คือ 2, 4, 6, 8 บาท ต่อนาที
2. อัตรา 1.5, 3, 4.5, 6 บาทต่อนาที 3. อัตรา 1, 2, 3, 4 บาทต่อนาที 4. อัตรา 0.75, 1.5, 2.25, 3 บาทต่อนาที 5. อัตรา 0.50, 1, 1.50, 2 บาทต่อนาที
ซึ่งรูปแบบนี้ ทศท. จะแนบหนังสือของสำนักงานกฤษฎีกา ที่เคยพิจารณาว่า ไม่ขัดกับกฎหมายของ ทศท. เพราะก่อนหน้านี้
สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นแนวทางที่ขัดต่อกฎหมาย
ส่วนรูปแบบที่ 2 ทศท. จะกำหนดแบบตายตัว คือ ในช่วง เวลา 7.00-18.00 น. คิดอัตรา 2, 4, 6, 8 บาทต่อนาที และ ตั้งแต่ 18.00-22.00 น.
จะคิดอัตรา 1, 2, 3, 4 บาทต่อนาทีเวลา 22.00-7.00 น. จะคิดอัตรา 0.75, 1.5, 2.25 บาทต่อนาที
ขณะที่วันหยุดจะกำหนดค่าใช้บริการในช่วงเวลา 7.00 - 18.00 น. ในอัตรา 1.5, 3, 4.5, 6 บาทต่อนาที เวลา 18.00-22.00เป็นอัตรา 0.75, 1.5,
2.25 และ 3 บาทต่อนาที สำหรับเวลา 22.00-7.00 น. คิดอัตรา 0.50, 1, 1.50 และ 2 บาทต่อนาที
สำหรับรูปแบบที่ 2 นี้ ทศท. เสนอเพื่อให้ ครม.พิจารณา
ในกรณีที่ทางเลือกที่ 1 ขัดต่อกฎหมาย และไม่ดำเนินการได้
เปิดกว้างให้ผู้ใช้เปลี่ยนรูปแบบได้
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก ทศท. กล่าวว่า อัตราค่าบริการที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว คงประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายนนี้
โดยผู้ใช้จะเลือกรูปแบบเข้ามาที่ ทศท. และถ้าไม่พอใจในบริการที่เลือก ต้องการเปลี่ยนเป็นแบบอื่นคงต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้ครบรอบบัญชี
ในการคิดค่าบริการ ซึ่งคาดว่าจะต้องกำหนดไว้ที่ 2-3 เดือน
ทีทีแอนด์ที ขานรับเต็มที่
นายวิทิต สัจจพงษ์ บริษัท ไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีทีแอนด์ที
กล่าวว่าบริษัทยินดีจะดำเนินการคิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ใหม่ ตามที่ ครม. อนุมัติ เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทสนับสนุน
และเสนอให้ลดค่าบริการโดยเฉพาะโทรศัพท์ทางไกลมาโดยตลอด แม้ว่าอัตราที่ ทศท. เสนอนั้นยังลดไม่มากอย่างที่บริษัทเคยเสนอให้ทศท.
พิจารณา
ทั้งนี้ ประชาชน เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ที่จะเลือกอัตราใหม่ตามความเหมาะสมของการใช้งานของตนเอง
ซึ่งคาดว่าลูกค้าต่างจังหวัดที่จำเป็นต้องโทรทางไกลมากๆ คงจะเลือกแนวทางที่ 2 เพราะประหยัดกว่า
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงด้วย ส่วนจะมีการใช้บริการมากขึ้นด้วยหรือไม่นั้นยังประเมินได้ยากในขั้นนี้
เพราะราคาไม่ได้ลดลงมากจนดึงดูดให้มีการใช้มากขึ้น ขณะเดียวกัน โครงสร้างอัตราค่าบริการใหม่นี้
ก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้
โดยในทางปฏิบัติ บริษัทพร้อมดำเนินการจัดเก็บค่าบริการตามโครงสร้างใหม่ทันที ขณะเดียวกัน ก็คงต้องเจรจากับ ทศท.
เกี่ยวกับผลกระทบกับสัญญาไปด้วย ซึ่งสามารถเจรจาคู่ขนานกันไป และคงไม่กระทบไปถึงการแปรสัญญาสัมปทานนัก
สำหรับบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ ผู้สื่อข่าวสอบถามความเห็นแล้ว แต่ได้รับการแจ้งว่า
คงต้องรอเห็นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน จึงจะให้ความเห็นได้
Krungthep Turakij Newspaper
วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
กสท.ยอมทีเอแก้สัญญาดับบลิวซีเอส
ทีมผู้บริหารทีเอ พบ กสท.เซ็นสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น พร้อมเปิดให้บริการ 1 ตุลาคมนี้
พร้อมเปิดเจรจาขอลดส่วนแบ่งรายได้เหลือปีละ 20% เท่ากับดิจิตอลโฟนของกลุ่มชิน
นายธีระพงศ์ สุทธินนท์ ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) กล่าวว่า กสท.ได้รับเรื่องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัท
ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิส จำกัด หรือดับบลิวซีเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล 1800 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ
กสท.เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ กสท.จะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ถือหุ้นจะต้องยอมรับภาระหนี้สินผูกพันที่มีกับ
กสท.รวมถึงการประกันรายได้ขั้นต่ำตามเงื่อนไขสัญญา
เนื่องจากบริษัท ดับบลิวซีเอส จะต้องเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 แต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น
จะต้องเสียค่าประกันรายได้ให้กับ กสท.จนถึงปัจจุบันจำนวน 200 ล้านบาท ไม่รวมค่าเชื่อมต่อเลขหมายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) หรือเลขหมายละ 200 บาท ที่บริษัท ดับบลิวซีเอส ต้องจ่ายให้กับ ทศท.
สำหรับค่าประกันรายได้ที่ กสท.กำหนดไว้ตลอดอายุสัมปทาน 17 ปี ตั้งแต่ปี 2540-2556 รวมเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 3,604.05 ล้านบาท
แต่บริษัทต้องเริ่มจ่ายค่าเงินประกันให้กับ กสท.เริ่มปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4 แบ่งเป็น
ปีแรกจ่ายเงินประกันรายได้ขึ้นต่ำ 16 มิถุนายน 2540-15 กันยายน 2540 เป็นเงิน 4.5 ล้านบาท
ปีที่สอง 16 กันยายน 2540-15 กันยายน 2541 จำนวน 33.15 ล้านบาท ปีที่สาม 16 กันยายน 2541-15 กันยายน 2541 เป็นเงิน 55.2 ล้านบาท
ปีที่สี่ 16 กันยายน 2542-15 กันยายน 2543 เป็นเงิน 79.77 ล้านบาท
ทีเอบุกกสท.แก้ไขสัญญาดับบลิวซีเอส
"เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้บริหารแทคได้นำผู้บริหารจากทีเอ เข้าพบผู้ว่าการ กสท.เรียบร้อยแล้ว" แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม
กล่าว
การเข้าพบดังกล่าวเพื่อเซ็นสัญญาแก้ไขสัมปทานในบริษัท ดับบลิวซีเอส และเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
พร้อมทั้งได้ชำระหนี้ค่าส่วนแบ่งรายได้ให้กับ กสท.เป็นจำนวนเงิน 103 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 103 ล้านบาท จะชำระในเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับอายุสัญญาสัมปทานยังคงเดิม 17 ปี แต่คาดว่า กลุ่มทีเอจะเจรจาลดจ่ายส่วนแบ่งรายได้เหลือ 20% จากเดิมสัญญาระบุว่า จะต้องจ่ายปีละ
25% เริ่มตั้งแต่กันยายน 2540 - กันยายน 2549 หรือเป็นระยะเวลา 10 ปี ส่วนปีที่ 11-ปีที่ 17 (กันยายน 2549- กันยายน 2556)
เริ่มจ่ายส่วนแบ่งปีละ 30%
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวจะให้เทียบเท่ากับบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ซึ่งได้รับอนุมัติจาก กสท.ไปแล้ว แต่การจ่ายส่วนแบ่งรายได้
20% จะไม่จ่ายตลอดอายุสัมปทาน
ในส่วนของแผนบริการจะเริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งสามารถรองรับบริการได้ 50,000 เลขหมาย
และในเดือนกันยายน 2544 จะเปิดให้บริการอีก 50,000 เลขหมาย หรือภายใน 2 ปี คาดว่า จะมีลูกค้าประมาณ 100,000 เลขหมาย
โดยในช่วงแรกจะเจรจาเพื่อขอเช่าโครงข่ายของบริษัท แทค ก่อน คาดว่า จะสรุปได้ภายใน 6-7 เดือน
สำหรับรายละเอียดของการซื้อขายหุ้นดังกล่าว กลุ่มทีเอ จะถือหุ้น 98% ส่วนอีก 2% เป็นของเอ็มกรุ๊ป และ กสท. รวมทั้งพนักงาน กสท.
โดยการซื้อขายหุ้นของทีเอ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายประมาณ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,850 ล้านบาท)
นอกจากนี้รับภาระในส่วนของหนี้อีกจำนวน 14 ล้านดอลลาร์ (532 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นหนี้ กสท.170 ล้านบาท,
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ประมาณ 216 ล้านบาท, นอร์เทล 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่เหลือเป็นหนี้อื่นๆ
แหล่งข่าวด้านการเงินรายหนึ่ง กล่าวว่า สัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัท ดับบลิวซีเอส ประกอบด้วย 1.บริษัท สวีทดรีม ออฟ เซอร์วิส จำกัด 2.บริษัท
โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค ถือหุ้น 18.18% 3.บริษัท ไทยเทเลคอม โฮลดิ้ง จำกัด ถือ 10.23% 4.บริษัท เอเซีย
เทเลคอม โฮลดิ้ง ประมาณ 9.09% 5.กสท. ถือ 0.45% 6.บริษัท เอสเคทีแอล 18.18% 7.บริษัท โกลด์แมน แซคส์ เครดิต พาร์ทเนอร์ ถือหุ้น
11.50%
Krungthep Turakij Newspaper
วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
ทศท.ยินยอมเปลี่ยนยี่ห้อ โทรสาธารณะเป็นเออร์เมท
ทศท. ยินยอมให้บริษัทฟิวเจอร์ไฮเทคเปลี่ยนส่งมอบโทรศัพท์สาธารณะ เป็นยี่ห้อเออร์เมท จากยี่ห้อต้าถุงเดิม ยอมรับได้กำไรกว่า 70 ล้านบาท
พร้อมปฏิเสธไม่ได้รับการติดต่อร่วมทุนซับไมครอน
นายธงชัย ยงเจริญ ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า ทศท. ยินยอมให้บริษัท ฟิวเจอร์ ไฮเทค จำกัด
ส่งโทรศัพท์สาธารณะเปลี่ยนเป็นยี่ห้อเออร์เมท จากประเทศอิตาลี แทนยี่ห้อต้าถุง จากไต้หวัน เนื่องจากเครื่องโทรศัพท์เออร์เมท
มีคุณภาพดีกว่า ตามข้อกำหนดเดิมของทศท. นอกจากนั้น ราคาเครื่องยังแพงกว่ากันประมาณ 36,000 บาทต่อเครื่อง
ในขณะที่โทรศัพท์ต้าถุงมีราคาประมาณ 30,000 บาท จึงทำให้ทศท. มีกำไรประมาณ 70 ล้านบาท
แหล่งข่าวภายในทศท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทฟิวเจอร์ไม่สามารถส่งโทรศัพท์สาธารณะได้ตามกำหนดเวลา
เนื่องจากมีปัญหากับผู้ผลิตไต้หวัน ในขณะที่บริษัทจะต้องเริ่มส่งโทรศัพท์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จำนวน 4,000 เครื่อง จากทั้งหมด 12,000
เครื่อง
นายธงชัย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าทศท. จะยินยอมให้เปลี่ยนยี่ห้อเครื่องก็ตาม แต่บริษัทต้องจ่ายค่าปรับกรณีส่งอุปกรณ์ล่าช้า 120 วัน ซึ่งขณะนี้
อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดว่าต้องปรับเป็นจำนวนเท่าใด ส่วนการยึดเงินประกันนั้น ขณะที่อยู่ที่ระดับ 10% คือประมาณ 19 ล้านบาท
แต่ส่วนนี้จะดำเนินการก็ต่อเมื่อไม่ส่งมอบเครื่อง
นางสาวรัชนี ยิ่งฉายรักษ์ ประธานบริษัท ฟิวเจอร์ไฮเทค จำกัด กล่าวว่า การเซ็นสัญญาส่งมอบเครื่องโทรศัพท์เออร์เมท จำนวน 12,000 เครื่อง
ขณะนี้ ยังไม่ได้เซ็นสัญญาส่งมอบ เนื่องจากจากต้องรอกรรมการทศท. อนุมัติอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ทศท.ต้องศึกษาการลงทุน
นายธงชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องการลงทุนในบริษัทซับไมครอน จำกัด เพื่อผลิตเวเฟอร์แฟบ ยังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัท
และจะเข้าไปดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเวเฟอร์แฟบหรือไม่ จะต้องศึกษาก่อน เพราะ ทศท. กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน
เอสดีเอชเตรียมพิจารณาผู้ชนะทางด้านเทคนิค
นายธงชัย กล่าวว่า วานนี้ (24) ได้ประชุมพิจารณาด้านเทคนิคผู้เข้าประกวดราคาโครงการสื่อสัญญาณความเร็วสูงระบบเอสดีเอช
โดยจะตัดสิทธิผู้ที่ไม่ผ่านตามมาตรฐานที่ ทศท.กำหนดไว้ พร้อมได้เชิญเอกชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการที่เสนอเข้ามา
ส่วนผู้บริษัทที่ผ่านเทคนิคแล้ว จะนำรายชื่อเสนอให้กับคณะกรรมการบริหารอีกครั้ง ก่อนที่จะให้บริษัทเอกชนยื่นซองประกวดราคาเข้ามา
Krungthep Turakij Newspaper
วันเสาร์ที่ 19กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
ชินคุมบริหารดีพีซี มาเลย์ยันไม่ทิ้งหุ้น
ชิน คอร์ป.รุกสื่อสารไทย บุกเจรจาผู้ให้บริการขอร่วมทุนทุกราย โดยหวังจับมือกันธุรกิจต่างชาติ "ฮุบ" กิจการโทรคมนาคมไทย ด้าน
"มาเลเซียเทเลคอม" ยันยังเดินหน้าลงทุนในไทย ส่วน "สามารถ" ประกาศลุยธุรกิจอินเทอร์เน็ตแทน
นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังการเซ็นสัญญาแลกหุ้นระหว่างบริษัท
ชิน คอร์ป. และบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือดีพีซี ว่า
เป็นการเซ็นสัญญาแลกหุ้นระหว่างชินและบริษัทสามารถ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของบริษัทคนไทย
เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโทรคมนาคม ตามนโยบายที่กลุ่มชินวางไว้ คือหลังจากนี้ไป ก็จะพยายามให้บริษัทที่เป็นคนไทย
เข้ามาถือหุ้นในบริษัทชินก่อนที่จะมีการแข่งขันกับต่างชาติ
"ที่ผ่านมา บริษัทจากต่างประเทศมักจะเข้ามาลงทุนกับบริษัทต่างๆ ในไทย โดยคนไทยจะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
แต่ถ้ากลุ่มบริษัทคนไทยรวมกัน เราจะมีโอกาสได้สิทธิบริหาร และนอกจากการเจรจากับบริษัทสามารถ
กลุ่มชินก็ยังมีการเจรจากับบริษัทสื่อสารอื่นๆ ด้วย" นายบุญคลีกล่าว
ส่งผู้บริหารฝ่ายละ 3
สำหรับโครงสร้างของผู้บริหารใหม่ ที่จะเข้าไปบริหารงานในบริษัทดีพีซี จะมีผู้บริหารจากชิน คอร์ป.ไปนั่งเป็นกรรมการ 3 คน
โดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) 1 คน และผู้บริหาร 2 คน ส่วนมาเลเซีย เทเลคอม ส่งผู้บริหารมา 3 คน
นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ (ซีโอโอ) 1 คน และผู้บริหารอีก 2 คน ส่วนอีก 1 คน มาจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด
(มหาชน) หรือแทค
ทั้งนี้ ส่วนสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัทดิจิตอลโฟน ภายหลังการเซ็นสัญญาใหม่นี้ ประกอบด้วย กลุ่มชินถือหุ้น 46% กลุ่มมาเลเซีย เทเลคอม
เบอร์ฮัด ถือ 49% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 5% จากเดิมกลุ่มสามารถถือหุ้น 46%, มาเลเซีย เทเลคอม ถือหุ้น 49% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 5%
สำหรับกลุ่มบริษัทสามารถ จะเข้าไปถือหุ้นในกลุ่มชินจำนวน 5.6% ทั้งนี้จากการแลกหุ้นดังกล่าว ไม่สามารถคิดเป็นจำนวนเงินได้
เพราะหุ้นมีการเคลื่อนไหว แต่การเจรจาอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 250 บาทต่อหุ้น โดยชินแลกเปลี่ยนหุ้น 16.5 ล้านหุ้น เทียบเป็นเงินประมาณ 4,000
ล้านบาท โดยไม่มีการใช้เงินสดในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้
ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนหุ้นดังกล่าว ระหว่างกลุ่มชินกับกลุ่มสามารถ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส)
ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 และจีเอสเอ็มที่มีสิงคโปร์ เทเลคอม ถือหุ้นอยู่ ส่วนบริษัทดีพีซีที่มีบริษัทมาเลเซีย เทเลคอมถือหุ้น
เป็นการลงทุนธุรกิจใหม่
นายบุญคลีกล่าวว่า สำหรับสัดส่วนที่กลุ่มบริษัทสามารถเข้าไปถือหุ้นในกลุ่มชิน จำนวน 5.6% ซึ่งถือมากกว่าสิงคโปร์ 4%
และผลดีกลุ่มสามารถเข้ามาถือในชินใหญ่ ก็จะมีสิทธิในบริษัทลูกของชินด้วย
"สามารถ"เบนเข็มมาลงทุนอินเทอร์เน็ต
นายธวัชชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการลงทุนใหม่ๆ ของกลุ่มสามารถนั้น ว่า
ในปีนี้คงมุ่งไปที่ด้านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก เนื่องจากใช้งบประมาณการลงทุนไม่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
เพราะการลงทุนในอินเทอร์เน็ตนั้น จะเน้นด้านความคิดสร้างสรรค์ และบุคลากรเป็นหลัก
มาเลเซีย เทเลคอมยืนยันลงทุนต่อ
นายราม ลัน อาห์หมัด ประธานฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนของมาเลเซีย เทเลคอม
กล่าวว่า บริษัทมาเลเซีย เทเลคอม ยังยืนยันที่จะเดินหน้าลงทุนในบริษัทดีพีซีต่อเนื่อง
เพราะบริษัทมีนโยบายที่จะลงทุนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน (โทรศัพท์)
เนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งบประมาณลงทุนไม่สูงมากนัก
ขณะเดียวกัน การตัดสินใจครั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นว่า ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก
โดยพิจารณาจากจำนวนลูกค้าร่วม 2.5 ล้านเครื่องในปัจจุบัน จากจำนวนประชากรรวมประมาณ 63 ล้านคน
ส่วนการลงทุนเบื้องต้นในปีนี้ ยังเน้นขยายโครงข่ายเพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าได้ตามเป้าหมาย 250,000 ราย
ในเบื้องต้นจากศักยภาพโครงข่ายสามารถรองรับ 150,000 -200,000 ราย และเตรียมขยายโครงข่ายดีพีซี ให้ครอบคลุมในต่างจังหวัด
คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่ม 96 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีนี้
"ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของมาเลเซีย เทเลคอมในไทย ถือเป็นการลงทุนใหญ่เป็นอันดับ 2 ต่อจากการลงทุนในบริษัทเทเลคอม แอฟริกา
ในแอฟริกาใต้ โดยมีการลงทุนไปแล้ว" นายรามกล่าว
ขณะที่ความขัดแย้งในเชิงธุรกิจ ในกรณีบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้ามาในดีพีซีแทนบริษัทสามารถ คอร์ป. และสิงคโปร์
เทเลคอม ถือหุ้นอยู่ในเอไอเอส หลายกลุ่มมองว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของมาเลเซีย เทเลคอมนั้น ในเวลานี้
ยังมองไม่เป็นถึงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น แต่กลับมองว่า กลุ่มชินเข้ามาร่วมทุนในดีพีซี จะช่วยให้ดีพีซีมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
และสามารถสนับสนุนการตลาดในอนาคต
Krungthep Turakij Newspaper
วันพฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
ไทย-เทศทุบ'ทีเอ'ดึงสื่อสารร่วง
หลังหุ้นลูกแนสแด็กไม่ขยับ
นักลงทุนถอนก่อนทำกำไร80%
โบรกเกอร์ไทย-เทศ เผยเหตุหุ้นกลุ่มสื่อสารรูดลึกต่ออีก เนื่องจากกองทุนในประเทศ
และนักลงทุนต่างชาติ พร้อมใจเทขาย หลังให้ผลตอบแทนคุ้มค่าจากถือหุ้นเพียง 2 เดือน
โดยหุ้นบางตัวปรับเพิ่มขึ้น 80-100% ขณะเดียวกันหุ้น
"ทีเอ"นำดิ่งหลังหุ้นลูกที่จดทะเบียนในแนสแด็ก ไม่พุ่งตามคาด กดหุ้นร่วงแล้ว 30% ผสมกับพวกเฮดจ์ ฟันด์ เข้าร่วมทำชอร์ตเซล
เมื่อต่างชาติมองกฎหมายล้มละลายล้มเหลว หลังกรณีทีพีไอไม่สามารถตกลงได้เปิดช่องให้ลูกหนี้
แรงเทขายหุ้นในกลุ่มสื่อสาร ยังคงมีออกมาต่อเนื่อง และยังเป็นชนวนสำคัญ ที่กดให้หุ้นไทยปรับตัวลดลงอีกในวานนี้ (16) ถึง 4.83%
โดยยังคงมีวอลุ่มการซื้อขายหนาแน่นถึง 14% ของมูลค่าการซื้อขาย รวมทั้งตลาดที่มีอยู่ 6,275 ล้านบาท ซึ่งยังคงนำทีมโดยหุ้นเทเลคอมเอเซีย
หรือ ทีเอ ที่ลดลงอีก 10.62% มาปิดที่ 50.50 บาท และตามมาด้วยหุ้นทีทีแอนด์ที ที่ปรับตัวลงแรง 8.89%
หลังจากปรากฏข่าวว่าบริษัทจะเลื่อนการโหวตปรับหนี้จากวันที่ 18 ก.พ.นี้ ไปเป็นวันที่ 1 มี.ค.
ขณะที่บริษัทออกมาชี้แจงข่าวดังกล่าวว่าบริษัทยังไม่มี ข้อสรุป เพราะนอกจากหุ้นในกลุ่มสื่อสารที่ปรับตัวลดลงแล้ว
ยังฉุดให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่ม ไฟแนนซ์ ปรับตัวลดลงตาม ส่งผลให้ดัชนีหุ้นวานนี้ อ่อนตัวลงมาปิดที่ 422.83 ลดลง 8.14 จุด
โบรกเกอร์ต่างชาติรายหนึ่ง กล่าวถึงสาเหตุที่หุ้นกลุ่มสื่อสาร ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงต่อเนื่องมาหลายวัน
จนมีผลทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงนั้น เนื่องมาจากกองทุนในประเทศ ที่ส่งคำสั่งขายหุ้นกลุ่มสื่อสารออกมาอย่างรุนแรง
เพราะมีต้นทุนหุ้นกลุ่มสื่อสารราคาถูก โดยเฉพาะหุ้นทีเอนั้น มีต้นทุนระหว่าง 35-45 บาท ขณะที่ราคาหุ้นขยับขึ้นไปแตะเกือบถึงระดับ 70
บาท ส่งผลให้บรรดาผู้บริหารกองทุนรวม ส่งคำสั่งขายเพื่อทำกำไรก่อนที่จะเข้าไปเก็บ เมื่อราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารปรับตัวลดลง
นอกจากกองทุนในประเทศแล้ว ยังมีผลมาจากนักลงทุนต่างชาติเช่นกองทุน หรือ เฮดจ์ ฟันด์ ที่มีทั้งขายของต้นทุนถูก ขณะที่กลุ่มหลัง
มีการทำชอร์ตเซล เพราะระยะนี้ นักลงทุนต่างชาติ เริ่มมองเห็นความไม่ชอบมาพากล
โดยเฉพาะกรณีการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทอุตสาห กรรมปิโตรเคมีกัล(ทีพีไอ) ที่ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้
เมื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติ มองว่า กฎหมายล้มละลายของไทยล้มเหลว
หรือมีช่องว่างเปิดให้ลูกหนี้ยื่นคัดค้านได้ง่าย และการทำเช่นนี้ จะทำให้เกิดแบบอย่างขึ้นในรายอื่นๆ ตามมา
ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ ยังคงแสดงตัวเลขการขายสุทธิออกมา แทนที่จะแสดงทีท่าว่าเข้ามาลงทุน
เนื่องจากไม่มั่นใจว่าสถานการณ์การปรับโครงสร้างหนี้ของไทยจะมีความคืบหน้า
หุ้นกลุ่มสื่อสารร่วง กองทุนหุ้นเทคโนโลยีฉวยโอกาสเข้าซื้อในราคาต่ำ
โบรกเกอร์อีกรายหนึ่งยังกล่าวด้วยว่า มีกระแสข่าวว่า กองทุนอยุธยาจาร์ดีน เฟลมมิง โดยเฉพาะกองทุนหุ้นเทคโนโลยี
สาเหตุที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้เทขายหุ้นกลุ่มสื่อสารออกมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.อยุธยาจาร์ดีนเฟรมมิง เปิดเผยว่า กองทุนอยุธยาเทคโนโลยี
จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนกว่า 270 ล้านบาท ซึ่งเริ่มจัดตั้งขึ้นมาไม่นาน
และการที่หุ้นปรับตัวลดลงรอบนี้กลับทำให้กองทุนได้รับผลกระทบ เนื่องจากเข้าไปลงทุนในระดับราคาที่สูง
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ปรับตัวสูงถึง 10.80 บาท และขนาดของกองทุนก็เพิ่มขึ้น ณ วันที่ 15 ก.พ. มูลค่า 353.3 ล้านบาท
มูลค่า สินทรัพย์สุทธิ 9.8611 บาท ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน
ซึ่งเป็นธรรมชาติของหุ้นในกลุ่มนี้ และราคายังขึ้นอยู่กับความต้อง การ และกระแสข่าวเกี่ยวกับตัวบริษัท ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ มีความหวือหวา
อย่างไรก็ตาม หุ้นที่กลุ่มสื่อสาร ก็ยังคงเป็นกลุ่มที่นำตลาด เพราะมีการแกว่งตัวมากกว่าดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ทั้งขาขึ้นและขาลง
สำหรับการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มสื่อสารไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุน เนื่องจากกองทุนอยู่ในระหว่างการทยอยซื้อหุ้นเพื่อลงทุน
และจำนวนผู้ถือหน่วยกว่า 600 คน ก็เห็นว่าในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงนี้ ควรจะเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อหุ้น
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์โบรกเกอร์ต่างชาติรายหนึ่ง กล่าวว่า การที่ราคาหุ้นสื่อสารปรับตัว ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจาก FLAG
ซึ่งเข้าไปซื้อขายในแนสแด็กแล้วราคาไม่ดีอย่างที่คิด และเงินที่ได้ต้องนำไปใช้เจ้าหนี้ทั้งหมด ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมา ส่งผลต่อดัชนี
เนื่องจากหุ้นทีเอ มีผลต่อการคำนวณดัชนี ส่วนหุ้นทีทีแอนด์ที ก็ยังมีปัญหาการปรับโครงสร้างที่ต้องมีการเจรจาก่อน นอกจากนั้น
หุ้นแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส ก็ได้ถูกเทขายจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
การที่หุ้นในตลาดเข้ามาเป็นผู้เล่นในธุรกิจอินเทอร์เน็ตมากขึ้น รวมทั้งหุ้นในกลุ่มบันเทิง
ทำให้การลงทุนต้องพิจารณาจากธุรกิจหลักของบริษัทมากกว่า แม้ว่าจะมีส่วนเสริมที่คาดว่าจะเป็นรายได้
แต่เป็นเรื่องของการลงทุนในอนาคตมากกว่า
โบรกเกอร์ต่างชาติอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า การที่หุ้นกลุ่มสื่อสารปรับตัวลดลง เนื่องจากหุ้นทีเอ โดยเฉพาะหุ้นทีเอ ที่ออกหุ้นเพิ่มทุนอีก 702
ล้านหุ้น เพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับเคเอฟ ดับบลิว หรือคิดเป็น 24% ของทุนจดทะเบียนใหม่ของบริษัท
โดยในส่วนนี้จะมีการออกคัฟเวอร์วอร์แรนท์ ซึ่งกำหนดให้โอนสิทธิ์ไม่ได้ ให้ถือเฉพาะราย และผู้ถือจะไม่สามารถแปลงสภาพได้ภายใน 2 ปี
ส่งผลให้กองทุนที่ถือหุ้น ทีเอ ขายหุ้นออกมาก่อน เพื่อทำกำไร ก่อนที่จะเข้าไปเก็บใหม่อีกรอบ
Krungthep Turakij Newspaper
วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
ทีเอยอมรับเจรจาร่วมยูคอม ปฏิเสธซื้อขาดดับบลิวซีเอส
"ศุภชัย"ยอมรับเจรจายูคอมหาแนวทางใช้โครงข่ายร่วม ทั้งยอมรับสนใจทำโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน
แต่ปฏิเสธเจรจาซื้อขาดกิจการดับบลิวซีเอส
เพราะอาจจะใช้วิธีขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติได้อีกทาง
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรม-การผู้จัดการใหญ่บริษัทเทเลคอม เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(ทีเอ)
กล่าวยอมรับว่าได้เจรจากับผู้ให้บริการหลายรายเช่นบริษัทสามารถ คอร์ปอ เรชั่นจำกัด(มหาชน),บริษัทแอดวานซ์
อินโฟร์ เซอร์วิสจำกัด(มหาชน), บริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)หรือยูคอม และบริษัท
ไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีทีแอนด์ที
อย่างไรก็ตาม แนวทางการเจรจามีหลายรูปแบบ เช่น ความร่วมมือทางด้านการตลาดและโครงข่าย แต่ยังไม่มีการเจรจาควบกิจการ
เนื่องจากบริษัทเห็นว่า แนวทางการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีได้หลายแนวทาง เช่น
ขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน ปฏิเสธว่าบริษัท และบริษัทเทเลคอมโฮลดิ้ง (ทีเอช) ไม่ได้เจรจาขอซื้อบริษัทไวร์เลส คอมมู นิเคชั่นส์ เซอร์วิส (ดับบลิวซีเอส)
จากบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทคแต่อย่างใด
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าบริษัทจะสนใจธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่บริษัทต้องดูแลหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะหนี้ของทีเอช
รวมทั้งต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าหนี้ก่อน
นายวัลลพ วิมลวาณิชย์ รองประธานกรรมการบริษัททีเอ และประ-ธานกรรมการบริหารบริษัททีเอช กล่าวว่า
แนวโน้มการรวมตัวกันของกิจการโทรคมนาคมต่างชาติ มีมากขึ้น เพราะต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตัวเองแบบก้าวกระโดด
ส่วนของโทรคมนาคมไทย ยังมีน้อยมาก และเชื่อว่าเกิดได้ไม่ง่ายนัก ขณะที่ข่าวการร่วมทุนระหว่างบริษัทชิน
คอร์ปอเรชั่นและบริษัทสามารถฯ เป็นลักษณะการรวมกันแบบ 3 เส้า เพราะมีแทครวมอยู่ด้วย
เหมือนครั้งที่มีการผนวกกิจการเคเบิลทีวีของบริษัท
รวมทั้งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการร่วมทุนของทั้งสองบริษัทจะทำให้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตหรือไม่
Krungthep Turakij Newspaper
วันศุกร์ ที่11 กุมภาพันธ์พ.ศ.2543
เอ็มเว็บรับ เจรจาซื้อ 'เคเอสซี'
เอ็มเว็บ เดินแผนรุกสู่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) บุกเจรจาขอซื้อธุรกิจเคเอสซี พร้อมยื่นขอเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกับ กสท.
อีกทาง เพื่อเพิ่มทางเลือก คาดสรุปได้เดือนเมษายนนี้ ทั้งเตรียมเปิดเวบไซต์ใหม่อีก 5 แห่งพร้อมกัน
แหล่งข่าวจากบริษัท เอ็มเว็บ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวยอมรับว่า ได้เจรจาขอซื้อกิจการบริษัทเคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เนต จำกัด
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเคเอสซีจริงแต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดขั้นตอนการเจรจา ว่าเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน บริษัทเจรจากับผู้ให้บริการ (ไอเอสพี) รายอื่นด้วย รวมทั้งอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.)
ขณะนี้ บริษัทมีสองทางเลือกคือ 1. เจรจากับไอเอสพี 2. ขอใบอนุญาตจากกสท. ทั้งนี้
คาดว่าภายในเมษายนนี้บริษัทจะต้องสรุปได้ว่าจะเลือกทางใด
นายเครก ไวท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเดียวกัน กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทมีได้เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว
บริษัทจะดำเนินการตามแผนธุรกิจ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมนี้ บริษัทก็จะทยอยส่งเวบไซต์ใหม่ 4 ไซต์
ที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) โดยเฉพาะจากปัจจุบันที่มีเวบในลักษณะดังกล่าวอยู่เพียง 1 ไซต์ในชื่อ
www.thaicentral.com ซึ่งให้บริการประมูลสินค้า (อ็อกชั่น) หรือเป็นรูปแบบผู้บริโภคต่อผู้บริโภค (ซีทูซี)
โดย 4 ไซต์อี-คอมเมิร์ซดังกล่าว ประกอบด้วย 1 ไซต์สำหรับกลุ่มธุริจต่อธุรกิจ (บีทูบี) มีเป้าหมายในการเจาะตลาดเชิงลึก และอีก 3 ไซต์
จะเน้นรูปแบบธุรกิจต่อผู้บริโภค (บีทูซี) ซึ่งจะครอบคลุมบริการด้านการเงิน และไซต์ท่า (พอร์ทัล), บริการชอปปิง
และจับตลาดโครงการพิเศษ (สเปเชียล โพรเจ็กต์)
Krungthep Turakij Newspaper