ผมไม่คิดว่าผมเป็นสำนักคิด
ผมไม่มีอิสซึ่ม ผมเป็นตามธรรมชาติของผม คือ ทำงานด้วยความสนุก ผมไม่สามารถจะไปรับผิดชอบใครให้มาเป็นลูกศิษย์ผมได้
วิธีการสอนของผมคือ สอนลูกจระเข้ให้ว่ายน้ำ สอนให้ลูกนกปีกกล้าขาแข็ง
มากกว่าจะบอกให้พวกเขามาทำตามผม เขาจะเป็นตัวของเขาเอง อย่างนั้นสบายใจกว่า
***********************
มนุษย์เรามีอารมณ์ที่อ้างว้างว้าเหว่ บางครั้งไม่อยากจะไปสัมพันธ์กับมนุษย์อื่น
อารมณ์นั้นมันประหลาด บางทีเราไปในสถานที่บางแห่งแล้วอยู่ๆ ก็รู้สึกไม่มีใคร
พอว้าเหว่แล้วก็ต้องหาสิ่งมาชโลมใจ ผมชอบเสพศิลปะ มันทำให้หัวใจชุ่มชื่น
ตรงนั้นล่ะเป็นช่วงที่ดี เปลี่ยนอารมณ์อ้างว้างเป็นสุนทรีย์
***********************
"นี่บ้านเอ๋ นั่นบ้านโอ๋"
น้ำเสียงนุ่มนวลของ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ยามพูดถึงบุตรสาวสุดที่รัก
2 คน ชวนให้อาคันตุกะละสายตาจากแมกไม้ร่มรื่นภายในบริเวณบ้านมาที่ผู้พูด
นี่คืออาณาจักรน้อยๆ ของปราชญ์อาวุโสวัย 65 ปี ผู้มีเรือนกายสูงใหญ่กับผิวคล้ำกร้านแดดเยี่ยงคนผ่านการเดินทางมาตลอดชีวิต
ในวัยเกษียณอายุราชการจากงานสอนที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ไม่ได้ทำให้ต่อมการเรียนรู้หยุดการทำงานไปด้วย อาจารย์ศรีศักรมีความสุขกับการเดินทางสู่ชนบทเสมอ...
เหมือนครั้งที่ยังเป็นเด็กชายตัวน้อยคอยติดตามคุณพ่อไปทุกหนแห่ง
แม้สังคมภายนอกจะรู้จักอาจารย์ในภาพของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี
นักมานุษยวิทยา หรือแม้แต่นักวิพากษ์สังคมฝีปากจัดจ้าน แต่เมื่อกลับสู่โลกส่วนตัว
อาจารย์ศรีศักรก็กลายเป็น 'พ่อหมีใจดี' สำหรับลูกๆ
พ่อหมีผู้ละเอียดอ่อนต่อชีวิต และมีหัวใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์เสมอกัน
+อาจารย์เรียนจบปริญญาตรีทางสาขาไหนกันแน่คะ
ผมเรียนอังกฤษ ฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เรียนประวัติศาสตร์เพราะเบื่อ
มันต้องท่อง ที่จริงผมชอบประวัติศาสตร์เพราะผมโตมากับครอบครัว คือคุณพ่อทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาโดยตลอด
แต่พอไปเรียนแล้วมันไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้ เลยคิดว่าไปเอาดีทางภาษาดีกว่า
เรียนเรื่องทางวรรณคดีหลายๆ สมัย วรรณคดีนี่มันสะท้อนสังคมมากเลยนะ
ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ แล้วยังช่วยเกื้อหนุนการมองหลักฐานทางประวัติศาสตร์
โบราณคดีได้ชัดขึ้นด้วย
ผมจบจากจุฬาฯ ก็มาเป็นอาจารย์ที่คณะโบราณคดี ศิลปากร สอนภาษาอังกฤษกับประวัติศาสตร์
+ระยะหลังอาจารย์เปรยๆ ว่าเสียดายที่สมัยหนุ่มตอนออกภาคสนามเน้นถ่ายแต่รูปโบราณสถาน
ไม่ได้ถ่ายรูปชีวิตผู้คนเท่าไหร่
ต้องบอกก่อนว่าฐานของผมคือออกไปค้นคว้า ผจญภัย แล้วก็ถ่ายรูปมา
ทีนี้เราก็ละเลยสิ่งที่เป็นชุมชนและธรรมชาติ อันนี้เป็นจุดอ่อนที่รู้สึกว่าเสียใจ
เพราะโบราณสถานหรือวัดวาอะไรนี่เราไปถ่ายมันก็ยังอยู่อย่างนั้น แต่สภาพสังคมมนุษย์มันเปลี่ยนไป
ผมเพิ่งมารู้ตัวเมื่อประมาณ 6-7 ปี นี่เอง ถึงได้บอกว่าเป็นความผิดพลาดไง
ถ้าผมถ่ายรูปเก็บไว้นะฟิล์มนั้นมันจะบอกสภาพแวดล้อมที่มันเคยมีเคยเป็น
เคยสวยงามแค่ไหนในอดีต ก็มาคิดว่า เอ๊ ทำไมเราโง่อยู่ตั้งนาน (ยิ้มบางๆ)
+อาจารย์ไปเรียนต่อทางมานุษยวิทยา?
ผมสอนอยู่หลายปีก็ได้ทุนไปเรียนต่อสาขามานุษยวิทยาที่ออสเตรเลีย
แต่ก่อนหน้าที่จะไปเรียน ผมออกไปค้นคว้าในท้องถิ่น สืบต่องานเก่าพ่อ
(อาจารย์มานิต วัลลิโภดม) พ่ออยู่กรมศิลปากร เขาให้ไปเป็นหัวหน้าแผนกสำรวจ
ในสมัยก่อนกองโบราณคดีมีแค่ 2 แผนก คือแผนกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
กับแผนกสำรวจ พ่อผมเลยได้ออกต่างจังหวัดอยู่เรื่อย แล้วก็เป็นความชอบของพ่อด้วย
ผมมีโอกาสตามพ่อไปตั้งแต่ 7 ขวบ ตอนหลังผมออกกับนักศึกษาเป็นกลุ่ม
เกิดเป็นชุมนุมศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี ซึ่งผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ออกไปคราวนี้มีเทคนิคเพิ่มขึ้นเยอะ เราใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ใช้แผนที่มากำหนดว่าจะไปที่ไหน
ทำให้เห็นองค์รวมเบื้องต้นของสภาพแวดล้อม พูดง่ายๆ ว่ามันเปลี่ยนแนวทางศึกษาแหล่งโบราณสถานโบราณคดี
มาเห็นสภาพแวดล้อมเห็นชุมชนด้วย เป็นการพานักศึกษาออกไปทำฟิลด์เวิร์คเก่าที่สุดในประเทศไทย
(ยิ้มกว้าง) เพราะมหาวิทยาลัยอื่นไม่เคยทำ
+ศิษย์รุ่นนั้นมีใครบ้างคะ
ก็มี สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
พวกเนี้ยฮะ แล้วเขาก็มีความเข้าใจ
+มีเสียงเล่าลือว่าตอนสอนที่คณะโบราณคดี อาจารย์ถูกแอนตี้?
อ้าว แน่นอน เพราะผมมีแนวทางที่ไม่ตรงกับเขาน่ะ (ยิ้ม) ไม่ใช่เฉพาะที่ศิลปากรหรอก
จุฬาฯ ก็มี คือถ้าเราไปขัดของเก่าๆ ก็จะถูกขัดเคือง
+แล้วแนวคิดกระแสหลักตอนนั้นคืออะไรคะ
พวกประวัติศาสตร์ชาตินิยมอะไรอย่างนี้ สกุลดำรงราชานุภาพ คือไปค้านไม่ได้
ไม่ใช่เฉพาะคนศิลปากรอย่างเดียวที่ไม่ชอบผม ที่อื่นเขาก็ไม่ชอบผม
(ยิ้มกว้าง) เพราะไปค้านบรมครูเขา แต่ผมไม่ได้ไปค้านนะ เพียงแต่บางอย่างผมไม่เห็นด้วย
คนไทยสมัยนั้นถือว่าไปลบหลู่ คิดต่างเท่ากับลบหลู่ เนรคุณ เขามองไปแบบนั้น
ผมยกย่องท่านนะ เพราะท่านเป็นผู้เริ่มต้น การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ดี
ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่มีโอกาสเติบโตขึ้นมา แต่ปัญหาคือว่าเราต้องคิดต่อไป
ไม่ได้หยุดนิ่ง
+ภาพของอาจารย์เป็นหลายนักเหลือเกิน?
คือผมไม่มีกรอบ มาจุดหนึ่งแล้วเราจะไม่มีกรอบ ผมมีเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นญี่ปุ่น
หรือเอเชียอะไรต่างๆ ที่คุยกัน บอกว่ามาถึงจุดหนึ่งแล้วเราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร
(หัวเราะร่วน) เพราะเรารู้สึกว่าไปสัมผัสมาหมดแล้ว ฉะนั้นแล้วแต่ว่าใครจะคิดกับเรา
มันหมดความอยากจะเป็นนักโน่นนักนี่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราเป็นนักมานุษยวิทยาแล้วจะยิ่งใหญ่
เราก็เห็นหลายๆ นักเขามีประโยชน์ถ้ามองพื้นที่ร่วมกัน มองในแง่วิทยาศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ นักอะไรก็ได้เมื่อมองรวมกันในพื้นที่หนึ่งๆ แล้วเอาความรู้ที่ได้มาประมวลมาเชื่อมโยงมันก็ได้ความรู้เพิ่มเติม
ภาวะตรงนี้ทำให้เราหลุดกรอบ ถ้าเรายังมีกรอบเราก็ต้องบ้าแต่เรื่องแนวคิดทฤษฎีของเรา
เอาไปสร้างอัตตาแล้วไปทะเลาะกับเขา
+กว่าจะคิดในจุดนี้ได้ขึ้นอยู่กับวัยไหมคะ
ประสบการณ์...ประสบการณ์ (ยิ้ม)
+แสดงว่าในวัยหนุ่มอาจารย์ก็ยังไม่ได้คิดแบบนี้?
ตอนนั้นคิดตามอารมณ์น่ะ เราจะไปทะเลาะกับเขาเพราะยึดมั่นในความคิดตัวเองว่าถูก
อัตตาก็แรง แต่พอผ่านๆ ไปก็เห็น แล้วเราได้ปะทะสังสรรค์กับคนกลุ่มต่างๆ
จากที่เคยดูถูกเขาก็คิดได้ใหม่ว่า เออ เขาก็มีส่วนดีส่วนถูกเหมือนกัน
แต่สิ่งที่ให้เราได้เรียนรู้เรื่องนี้กลับไม่ใช่คนที่เป็นนักวิชาการ
แต่เป็นคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ในชนบทที่เราได้ไปสัมผัส ที่สังคมไทยรู้สึกว่าเขาต่ำกว่าเรา
เมื่อได้ไปเรียนรู้จริงๆ ถึงเข้าใจ ได้เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา
ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของเขา ซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน
+ตอนนี้อาจารย์ลดความแรงในการแสดงความเห็นลงแล้ว?
มันก็เป็นไปตามอายุ แต่ผมก็จะหมั่นไส้มากกับพวกที่ชอบมีอัตตาแรงๆ
ชอบดูถูกคนนั้นคนนี้ แล้วบางครั้งผมก็ต้องดูถูกกลับเพราะว่ามันทนไม่ได้
มันเป็นอารมณ์น่ะ แต่ก็พยายามข่มอยู่นะ (หัวเราะ)
+อาจารย์คิดว่าสังคมไทย มีนักวิชาการที่สามารถนำความรู้มาปรับใช้กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าน้อย เพราะว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไปเรียนแต่แนวคิดทฤษฎีเป็นหลัก
แล้วก็พยายามไปหาข้อมูลมายัดให้เข้ากับทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มองลึกลงไปว่าปรากฏการณ์นั้นมันคืออะไร
แล้วถึงจะเอาแนวคิดทฤษฎีมาช่วยวิเคราะห์ พูดง่ายๆ ว่าไม่เน้นเนื้อหาและประสบการณ์
+หมายความว่าจำเป็นต้องลงพื้นที่?
อ๋อ แน่นอนๆ สังคมไทยยังขาดเนื้อหาความรู้ประสบการณ์ แนวคิดทฤษฎีมีมากจนเกร่อแล้ว
มันถึงได้มีปัญหาทะเลาะกัน
+เคยได้ยินคนให้สมญาอาจารย์ว่า 'นักวิชาการไร้เชิงอรรถ' ในความหมายเชิงลบ
อันนี้หมายถึงวิธีการเขียนหนังสือของอาจารย์เหรอคะ
ก็ปล่อยเขา ต้องเข้าใจก่อนนะว่าผมเคยทำแบบมีเชิงอรรถตั้งเยอะแยะ
โอ๊ย น่าเบื่อ แล้วก็ดัดจริต ผมได้รับการอบรมมาจากมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลียอย่างหนึ่งคือผมเขียนเชิงอรรถไป
แล้วอาจารย์ผมคนหนึ่งเขาพูดมาคำหนึ่งมีความหมายว่า เห่อความรู้
ผมก็มาได้คิด เรื่องบางอย่างไม่ต้องใส่เชิงอรรถ แต่ถ้าเราเอาแนวคิดของใครใหญ่ๆ
มาใช้อ้างอิงก็ต้องบอกที่มา เรากล่าวถึงในตัวเนื้อหาเลยก็ได้ไม่ต้องมาทำเชิงอรรถให้มันเลอะๆ
เทอะๆ
อีกประเด็นหนึ่งคือเราต้องรู้ว่าเราจะสื่อให้ใคร ผมอยากสื่อให้คนทั่วไปที่เขาไม่รู้ให้เขาได้เรียนรู้
ถึงได้ใช้ภาษาง่ายๆ ด้วยเหตุนี้เวลาผมทำวารสารเมืองโบราณ ถึงเน้นเรื่องกับการสื่อสารมาก
อีกประเด็นอันนี้สำคัญมากคือ ผมอยากจะทำอะไรที่ผมพอใจ ผมไม่แคร์ว่าใครจะมองยังไง
ผมเขียนไปแล้วผมสนุก ผมก็จะเขียนต่อไป ไม่ใช่ว่าเขียนแล้วต้องถูก
คนอื่นจะคิดแย้งกับผมก็ได้ ทะเลาะกันก็ได้ คือ ทะเลาะกันทางวิชาการ
การทะเลาะมันทำให้เกิดการคิดใหม่ขึ้นมา มันสนุก แต่อย่าโกรธกันในแง่อาฆาตจองเวร
ถ้าเราไปเป็นเหยื่อของการวิพากษ์วิจารณ์จะทำให้เราท้อใจ ไม่มีประโยชน์
เราก็รุดหน้าทำงานของเราต่อไป มนุษย์ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เราก็ทำเหมือนคนตัวเล็กๆ
ธรรมดานี่ล่ะ บางทีเราพบกับคนที่เขาเก่งกว่าเรา ดีกว่าเรา ก็มีความสุข
+เป็นเรื่องของการทำตัวให้เล็กลง?
ผมว่านั่นคือ ดีที่สุด เพราะค่านิยมของสังคมไทยมันเป็นค่านิยมที่อยากจะเด่น
มีความเหลื่อมล้ำในสังคมมาก ซึ่งไม่ใช่ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง
ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องคือความเสมอภาค
+อาจารย์เป็นนักเดินทางตัวยงจนถึงตอนนี้ก็เป็นอยู่?
ใช่ เมืองไทยมีที่น่าไปเยอะแยะ แล้วผมไปมันหลายตลบ อย่างอยุธยานี่ผมเที่ยวมาปรุแล้ว
ได้เห็นตั้งแต่สภาพที่มีน้ำท่วมตามฤดูกาลก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพล
แล้วสภาพเก่าๆ พวกนี้ติดตาฝังใจ มันเป็นความสุข พอเรียนหนังสือมีโอกาสก็ออกไป
เข้ามาทำงานมาตั้งชุมนุมก็ยิ่งออกมากไปอีก
เรียกว่าออกต่างจังหวัดหลายตลบ แล้วมาตอนที่คุณเล็ก วิริยะพันธุ์
ท่านทำเมืองโบราณ ผมเป็นที่ปรึกษา ผมก็นำท่านไปทั่วราชอาณาจักร เพราะคุณเล็กต้องไปเก็บข้อมูลมาสร้างที่เมืองโบราณ
ต้องไปกลับอยู่อย่างนี้ทุกเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลา 15 ปี ผมก็ไปเรื่อย
ต่อมาหลังจากคุณเล็กหยุด เราก็สานต่อมาทำวารสารเมืองโบราณ ก็ออกไปกับอาจารย์ยูร
(อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ-เสียชีวิตแล้ว) ช่วงนี้ออกต่างจังหวัดต่อเนื่องมา
30 ปี ช่วงหลังนี้ผมไปสัมมนาตามสถาบันที่เขาเชิญไป
+แต่ละรอบการเดินทางได้ความแปลกใหม่อะไรมั้ยคะ
โห มากเลย ที่สำคัญคือ มุมมองใหม่ๆ ได้ความเข้าใจใหม่ๆ เป็นการเรียนรู้ตลอดเวลานั่นแหละ
ฉะนั้นผลการวิจัยของความเป็นมนุษย์มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเท่านั้นเท่านี้แล้วจะต้องยุติ
สิ่งที่เราพบมันน่าศึกษาเพราะรัฐพัฒนาประเทศโดยไม่เห็นคนท้องถิ่น
ท้องถิ่นถูกทำลาย ผมคิดว่าคนที่เคยมีประสบการณ์ท้องถิ่นแบบผม จะต้องรู้สึกอย่างนี้ทุกคน
มันเจ็บปวด เพราะเราเคยเห็นสิ่งดีงามที่เป็นธรรมชาติมันถูกทำลาย
+อะไรคือตัวทำลายที่ว่านี้คะ
ผมคิดว่าที่ทำลายสภาพแวดล้อมนี่เป็นการชลประทานหลวง กับถนนหนทาง
แล้วเป็นการทำลายโดยมองจากข้างบนลงมาข้างล่าง ไม่เห็นชีวิตผู้คน
ผมแคร์คนในท้องถิ่นเหล่านี้ที่เขาโหยหาอดีต เลยทำให้ผมเกิดความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นมา
+เห็นว่าอาจารย์เคลื่อนไหวเรื่องนี้มานานเป็นสิบกว่าปีแล้ว?
ไม่ได้ไปจัดให้เขานะ แค่ไปสานต่อจากสิ่งที่เขาต้องการอยู่แล้ว ทำให้เราแคร์กันและกัน
ทำให้ผมมีความสุข ผมอาจเคยถามตัวเองว่าเราเป็นสัตว์ปัจเจกหรือสัตว์สังคม
ถ้าเป็นปัจเจกเมื่อไหร่เราก็อัตตาแรง แต่ถ้าเป็นสัตว์สังคมเมื่อไหร่มันเกิดความชุ่มชื่นใจ
ความเอื้ออาทรจะเกิดขึ้นได้จากการที่เราอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม
วัดม่วง จังหวัดราชบุรี นี่เป็นที่แรก ที่เริ่มทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
เราไม่ได้สร้างแบบเอาของไปจัด ทุกอย่างต้องค้นคว้าข้อมูลความรู้มาตีความเป็นเนื้อหาก่อน
แล้วถึงจะเห็นว่าประเด็นอะไรบ้างที่ควรนำเสนอ ถึงค่อยมากำหนดรูปแบบอาคารให้สอดคล้อง
วัดม่วงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ที่อื่นๆ มาศึกษา เอาแนวคิดไปทำในท้องถิ่นตัวเอง
คุณเล็กก็ให้ทุนสร้างมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เพิ่มกิจกรรม
แทนที่จะทำวารสารเมืองโบราณอย่างเดียว ก็มาช่วยชาวบ้านทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
ตอนนี้มีหลายแห่งที่ทำไปแล้ว เวลานี้เราได้ประสบการณ์ว่าการไปทำอาคารมันช้าไป
ขณะที่ความต้องการของชาวบ้านสูง เลยต้องเปลี่ยนแนวคิดว่ามันเป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่เราจะถ่ายทอดให้เด็กๆ
ในชุมชน อาจมีแค่สถานที่เล็กๆ ไว้เป็นศูนย์ข้อมูล แต่สนับสนุนให้เขาอนุรักษ์
จุดที่เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของเขา
+หลายปีก่อนอาจารย์ได้รับยกย่องเป็นเมธีวิจัยอาวุโส ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) แล้วก็เป็นที่ปรึกษาของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรด้วย ได้เคลื่อนไหวบทบาทในสถานะนี้ยังไงบ้าง
ผมขอทุนไปฝึกคนท้องถิ่นให้เป็นนักวิชาการเพราะเขาจะรู้เรื่องราวในอดีต
เป็นการทำ Action Research แล้วข้อมูลเหล่านั้นคือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา
ให้ครูจัดอบรมเด็กเป็นยุวมัคคุเทศน์ ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วย
มันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ใครมาก็เล่าให้ฟังได้ เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเอง
ไม่ใช่ได้ความรู้มาเก็บไว้
+อาจารย์เคยพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวกลุ่มเล็กที่ไม่ได้วางเป้าหมายที่กำไร?
ใช่ เป้าหมายอยู่ที่ความรู้ ความภูมิใจ และก็เงินที่จะได้จากนักท่องเที่ยวพอควรตามอัตภาพ
แล้วแผ่กระจายไปทั่วถึงคนอื่นๆ
+ต้นปีที่ผ่านมา นักวิชาการญี่ปุ่นเปิดเวบไซต์เผยแพร่ผลงานค้นคว้าของอาจารย์
เริ่มที่ภาคอีสาน?
อันนี้เป็นผลพวงจากที่ผมไปร่วมวิจัยกับนักวิชาการญี่ปุ่นมาเป็น
20 กว่าปีแล้ว คือ ญี่ปุ่นเขามีนักวิชาการรุ่นแก่ๆ อย่างผมเนี่ย
พวกนี้เขาทำงานอย่างบ้าคลั่งเหมือนผม (ยิ้ม) เวลาทำงานไม่มีกำหนดตายตัวว่าเริ่มกี่โมงเลิกกี่โมง
ซำเหมาไปเรื่อยๆ เขาเชิญผมไปเป็นผู้ร่วมวิจัย ผมพาเขาไปทั่วเมืองไทย
เขาพาผมไปญี่ปุ่นทั่วประเทศ เราก็ได้ประสบการณ์ร่วมกัน
แล้วก็คิดคอนเซ็ปท์ร่วมกันอย่างหนึ่งเรื่อง Dry Area ก็พากันไปศรีลังกา
พม่า ลาว เขมร อินโดนีเซีย ไทย คือใช้พื้นที่แห้งแล้งเหมือนๆ กันในการศึกษา
มีนักวิชาการหลายฝ่ายเข้ามาทำ มันก็เกิดความเข้าใจในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ
พวกเราก็เกิดความสนุกขึ้นมา ทางญี่ปุ่นก็บอกว่าข้อมูลพวกนี้ควรบันทึกไว้
อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี่มันมีมิติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีใครเก็บข้อมูลในลักษณะของ
Time Series คือ ชุดของเวลา เขาเห็นงานผมที่ทำตั้งแต่รุ่นพ่อ เขาเลยเอาเข้าเวบไซต์ให้หมด
+ไม่ใช่ว่าเป็นการมาล้วงข้อมูลเมืองไทยเหรอคะ
เขาไม่ต้องล้วงหรอกครับ เขาสำรวจมาหมดแล้ว นักวิชาการญี่ปุ่นนี่
Basic Research เขาเยี่ยมมาก พวกเขาไม่โอ้อวด ไม่ด่วนสรุปเหมือนนักวิชาการฝรั่ง
นักวิชาการฝรั่งรู้แค่ผิวเผินแล้วก็จับมาเสนอ แต่ญี่ปุ่นนี่ทำละเอียดมากแล้วมาวิเคราะห์ร่วมกัน
เพราะฉะนั้นงานวิจัยของเขาสามารถนำไปใช้ได้ในหลายๆ สาขา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
+ลูกศิษย์อาจารย์บางคนเคยเขียนถึงอาจารย์ว่าเป็นคนที่มีพลังงานเหลือเฟือ
ถ้าไม่ปล่อยออกมาเสียบ้างหรือไม่ได้ถกเถียงกับคนอื่นๆ จะอกแตกตาย
คือเป็นการสัพยอกด้วยความเคารพ?
(ยิ้ม) การคุยกันกับคนที่สนใจมันมีรสชาติ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้
ก็เกิดความมันขึ้นมา ผมจะคุยเฉพาะกับคนที่เขาสนใจ
+เวลาเดินทางไปต่างจังหวัดหลายๆ ครั้ง อาจารย์ก็จะบรรยายได้ตั้งแต่เริ่มออกเดินทางจนถึงปลายทาง?
แหม มันสนุกน่ะ พอผ่านจุดไหนๆ ที่ผมเคยเห็นสภาพธรรมชาติแบบเดิมแล้วมันเปลี่ยนไปก็อยากจะเล่าให้คนอื่นฟัง
+ตอนนี้มีลูกศิษย์ที่เป็นตัวตายตัวแทนหรือยังคะ
มีบ้างแต่น้อย การจะสร้างไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเริ่มทีละน้อย คนที่จะเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่แค่วันสองวัน
ยิ่งเวลานี้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย พอไปเจอลำบากหน่อยชักถอดใจแล้ว
+ถ้าอย่างนั้นอาจารย์กังวลว่าจะมีคนรับไม้ผลัดต่อมั้ยคะ
ผมไม่เครียดน่ะ ตอนนี้ไปตามอายุ ใครจะรับได้ไม่ได้ รับได้แค่ไหนก็เรื่องของเขา
ขอให้มีใจรักก็พอ
+แง่สถานะทางวิชาการ ดูเหมือนอาจารย์จะเทียบเท่าสำนักคิดหนึ่งของไทย
ถ้าเติมคำว่า ism ต่อท้ายชื่ออาจารย์เป็น ศรีศักริสซึ่ม ซะเลย จะดีหรือเสียยังไงมั้ยคะ
ไม่ใช่นะ ผมไม่ใช่ ผมเคยเกลียดคำว่าอิสซึ่ม คือ การเป็นลัทธิ เพราะการเป็นลัทธิจะเป็นภาพหยุดนิ่ง
ทุกคนจะต้องทำตาม แล้วถ้าผิดจากฉันนี่เป็นผิดหมด ซึ่งผมไม่ใช่ ผมไม่คิดว่าผมเป็นสำนักคิด
ผมไม่มีอิสซึ่ม ผมเป็นตามธรรมชาติของผม คือทำงานด้วยความสนุก ผมไม่สามารถจะไปรับผิดชอบใครให้มาเป็นลูกศิษย์ผมได้
วิธีการสอนของผมคือสอนลูกจระเข้ให้ว่ายน้ำ สอนให้ลูกนกปีกกล้าขาแข็ง
มากกว่าจะบอกให้พวกเขามาทำตามผม เขาจะเป็นตัวของเขาเอง อย่างนั้นสบายใจกว่า
+อาจารย์ทำงานแขนงนี้ ไม่ทราบว่าในทางส่วนตัวแล้ว อาจารย์เชื่อหรือมีสัมผัสพิเศษกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติบ้างมั้ยคะ
(นิ่งไปพักหนึ่ง) ในฐานะที่เป็นนักวิชาการ ต้องมีหัวโขน ต้องอยู่ในวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์
แต่อีกแง่หนึ่งในฐานะที่เป็นปุถุชน สองอย่างนี้มันขัดแย้งกันเหลือเกิน
ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ผมก็กลัวในเรื่องมิติทางจิตวิญญาณ
ผมเชื่อเรื่องพวกนี้ มันเป็นความเชื่อซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
แต่มากน้อยแตกต่างกัน
ฉะนั้นบางสถานการณ์เราก็กลัว บางสถานการณ์เราก็ไม่กลัว ซึ่งมันจะมีเข้ามาหา
จะบอกว่าผมไม่เชื่อไม่ได้ แต่เวลาที่เกิดขึ้นมาปั๊บ จะพูดหรืออธิบายนี่ยาก
จะพูดในฐานะที่เป็นนักวิชาการเขาก็หาว่างมงาย หรือจะอธิบายเป็นวิชาการก็ไม่ได้อีก
พูดง่ายๆ ว่าผมไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่ามีความเชื่อที่เป็นประเพณีของคนในภูมิภาคตะวันออก
ซึ่งมีวิธีคิดเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ผมก็เชื่ออย่างนั้น
+ทราบว่าอาจารย์เล่นพระเครื่องด้วย?
ไม่ใช่เล่นหรือสะสมนะครับ ผมเพียงแต่มีพระเครื่องที่ทำให้เกิดความมั่นใจ
ไม่ได้คิดจะทำให้เกิดโชคลาภใดๆ ก็มีที่ห้อยคออยู่ เป็นของเก่าของพ่อ
แต่ไม่ได้สะสมแบบนักเล่นของเก่า เพราะทางบ้านเราถือ ในฐานะที่เป็นนักโบราณคดีแล้วเคยสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว
พ่อจะห้ามไม่ให้เอาของเก่าหรือของพวกนี้เข้ามาในบ้าน มันเป็นอัปมงคล
ผมก็ไม่ยุ่ง ถ้าไปเล่นเข้าสิอันตราย (ทำเสียงเข้ม)
+อาจารย์เคยไปทำวิปัสสนาใช่มั้ยคะ
เคยครับ เราเรียนแต่หนังสือหนังหาไม่พอหรอก ชีวิตการเป็นนักวิชาการมันเต็มไปด้วยการปรุงแต่ง
ยืนเฉยๆ ก็คิดแล้ว ทำให้เกิดความเครียดโดยไม่ระวังตัว พูดง่ายๆ ว่ามันมีแต่อดีตกับอนาคตที่มองออกไป
แต่ปัจจุบันไม่รู้ว่าตรงนั้นตัวทำอะไร เวลามีเรื่องอะไรปั๊บมันตัดไม่ได้
เพราะสติไม่มี
การไปทำวิปัสสนาที่สำคัญคือ ทำให้รู้ว่าปัจจุบันคืออะไร แล้วถึงมานั่งคิดในทางธรรมว่าชีวิตของเรามันเต็มไปด้วยวัตถุ
ตายไปแล้วก็หมดสิ้นไป ฉะนั้นผมก็จะลดความบ้าคลั่งทางวิชาการ หรือความบ้าคลั่งอยากจะทำโน่นทำนี่
เพราะอายุต้องเปลี่ยนไป เราต้องยอมรับว่าวัยขนาดนี้ต่อไปเราก็คงไม่อยู่แล้ว
ความเจ็บป่วยก็ต้องมา
+อาจารย์มีวัดประจำสำหรับการฝึกวิปัสสนามั้ยคะ
ผมไปหลายแห่งที่เขามีจัดวิปัสสนาทั้งที่ชนบทแล้วก็ในกรุงเทพฯ ไปกับครอบครัว
ภรรยากับลูกๆ ผมเขาไปบ่อย แต่ผมยังติดนิสัยคนชั้นกลางอยู่น่ะ ต้องการความสบาย
(ยิ้ม) อายุมากแล้วตื่นเช้ามาต้องคำนึงเรื่องห้องน้ำห้องท่า เพราะตอนนี้ก็เป็นเหยื่อของโรคภัยไข้เจ็บ
ต้องระมัดระวัง ดูที่มันสมควรแก่อัตภาพ ไม่ใช่ตึงเกินไป ต้องยึดทางสายกลาง
พอกลับมาบ้านก็ปฏิบัติต่อ กลางคืนผมจะสวดมนต์ฉบับย่อๆ เพราะง่วงนอนเร็ว
บางทีหลับคาสวดมนต์ (ยิ้ม) ตื่นเช้ามาบริหารร่างกายเสร็จแล้วก็สวดมนต์
ถ้ามีเวลาก็นั่งวิปัสสนาประมาณ 15-40 นาที เป็นการกำหนดลมหายใจ แล้วก็ออกมาหน้าระเบียงห้องนอน
มาดูต้นไม้ใบหญ้าในบริเวณบ้าน เช้าๆ จะมีนกส่งเสียงเจี๊ยวเลย (ยิ้มกว้าง)
ผมว่าคนแก่รุ่นๆ ผมจะมีอะไรคล้ายกัน อย่างผมกับอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์)
จะมีอะไรคล้ายๆ กัน นิธินี่บ้านเขาจะปลูกไม้หอม แล้วเราก็จะคุยเรื่องไม้หอมกัน
คือ หันไปสู่ธรรมชาติ แค่นี้ก็มีความสุขเพราะเราไม่ได้ต้องการอะไรใหญ่โต
+อาจารย์เตรียมวางความพร้อมในชีวิตให้ครอบครัวยังไงคะ โดยเฉพาะลูกสาว
2 คน
ผมให้อิสระเขาที่จะทำอะไรหรือมีกิจกรรมอะไร ผมแค่ให้ไกด์ไลน์ว่าอะไรที่ปลอดภัย
ไม่ต้องไปร่ำรวยขนาดไหน เพราะเขามีที่อยู่ที่อาศัยมีบ้านของตัวเองคนละหลัง
ผมสร้างไว้ให้ติดๆ กัน พ่อแม่ก็อาศัยเขาอยู่ (หัวเราะ) แค่ให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรม
เรียบง่าย เข้าใจธรรมชาติ รักษาชีวิตไว้จนสิ้นอายุขัยก็พอ (หัวเราะร่วน)
+ลูกสาวบอกว่า 'พ่อหมี' ชอบซื้อของฝากกระจุ๋มกระจิ๋มให้บ่อย?
(ยิ้ม) แหม ไอ้ชอปปิงนี่มันเป็นนิสัยของเราน่ะ ถ้าไม่ซื้อของกินก็ซื้อของฝากให้ลูก
แต่ไม่ซื้อแพงนะ พวกทองหยองเพชรพลอยผมไม่เอาด้วยหรอก อย่างพวกกำไลหิน
ลูกปัดนี่ ถ้าเห็นก็จะซื้อมา
+พูดถึงเรื่องกินนี่ อาจารย์เคยเป็นนักกินตัวยง หมายความว่าไปถึงถิ่นไหนต้องลองกินอาหารในท้องถิ่นนั้น?
เรื่องกินนี่มันบอกได้หลายเรื่องนะ อาหารแต่ละอย่างมันเกิดจากสภาพแวดล้อม
เป็นผลิตผลจากธรรมชาติ คนท้องถิ่นเขาได้เรียนรู้ว่าตัวไหนเป็นยา
ตัวไหนเป็นพิษ อาหารเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตแบบหนึ่งของแต่ละท้องถิ่น
ถ้าเราไปเรียนรู้ตรงนั้นเราจะเข้าใจว่าทำไมถึงเกิดรูปแบบอย่างนั้นได้
ความหลากหลายทางชีวภาพจะสัมพันธ์กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เวลานักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวบ้านเรา ไม่ใช่ว่าเขาอยากเที่ยวดูสถานที่หรอก
แต่อยู่ที่การกิน ต้องมาตามฤดูกาลถึงจะได้กินอย่างนั้นอย่างนี้
+อาจารย์ปลูกบ้านไว้ที่จันทบุรีด้วย?
ครับ ซื้อที่ไว้นานแล้วประมาณ 25 ไร่ อยู่แถวๆ อำเภอสอยดาว ที่นั่นอากาศดี
ตั้งใจปลูกเป็นป่า แล้วปลูกบ้านพักแบบบังกะโลไว้ เช้าๆ ก็ฟังเสียงนกเสียงแมลงร้อง
ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ ผมก็จะขับรถไปนอนพัก ผมชอบขับรถไปต่างจังหวัดเองก็เลยต้องใช้รถประเภทออฟโรดที่ลุยๆ
หน่อย
+แล้วสุขภาพอาจารย์เป็นไงบ้างคะ
เคยเป็นเกาต์อยู่พักหนึ่ง แล้วก็มีอาการหายใจขัด เมื่อปีกว่าๆ มานี่ผมมารู้ตัวว่าเป็นมะเร็งลำไส้
หมอบอกเป็นระยะที่ 2 ตัดไส้ออกไปฟุตหนึ่ง ยังดีที่มันไม่แพร่กระจาย
ผมก็ไม่ได้ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ เวลานี้เลิกกินเนื้อสัตว์ใหญ่ นมไม่กิน
กินแต่ผัก ปลา
นี่ก็เป็นมรณานุสติที่ดี ถือเป็นจุดหักเห เพราะมันใกล้ความตาย ทำให้ใช้ชีวิตระมัดระวังมากขึ้น
ปล่อยวางมากขึ้น เรารู้ว่าถ้ายังอยากมีชีวิตอยู่เราต้องจัดการ พอจัดการได้ถึงจุดหนึ่งก็มาคิดได้ว่าจริงๆ
มันก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร
+อาจารย์ออกกำลังกายแบบไหนคะ
เช้าๆ ลุกมาแกว่งแขนง่ายๆ พอตอนเย็นจะไปเล่นเทนนิส ผมมีก๊วนประจำที่สโมสรราชนาวี
ตรงท่าช้าง ผมตีเทนนิสที่นี่มา 30-40 ปี แล้ว มีคนหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุ
76 โอ้โห ตีเก่งมากเลย
โลกส่วนใหญ่ของเรามันสมมติทั้งนั้น อย่างผมสมมติว่าเป็นนักวิชาการ
เพื่อนร่วมก๊วนก็มีหน้าที่การงานต่างๆ กัน แต่พอเล่นเทนนิส ทุกคนถอดหัวโขน
ไม่ได้เป็นนายพล ไม่ได้เป็นผู้พิพากษา ไม่ได้เป็นนายธนาคาร เราเป็นสมาชิกเล่นเทนนิสเย้าแหย่กันไป
ลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เล่นเสร็จกลับมาถึงบ้านอาบน้ำนอนสบาย
(หัวเราะ)
+อาจารย์มีกิจกรรมโปรดอีกอย่างที่บ้านคือดูมวยตู้?
ผมชอบดู แต่เดี๋ยวนี้ชักเบื่อ อายุมากแล้วตื่นเต้นเกินไปมันเหนื่อย
ดูพวกนี้แล้วเกิดอคติ คือ ต้องลุ้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ยิ้ม) เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยดูแล้ว
อย่างหนังจากอเมริกา ผมว่าเราไม่ควรดูมันเท่าไหร่ มีแต่ความรุนแรง
ผมชอบดูหนังที่ไม่ต้องใช้เหตุผลมาก อย่างเรื่องจอว์สเนี่ยชอบ (ยิ้มกว้าง)
ผมชอบฟังดนตรีไทยเดิมมากนะ เวลาขับรถก็เปิดฟัง สบายใจ
+ลูกสาวบอกว่าปกติชุดอยู่บ้านของอาจารย์คือผ้าขาวม้าผืนเดียว
เสื้อไม่ใส่ เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่คุณปู่แล้ว?
(ยิ้ม) ก็เมืองเรามันเมืองร้อนนี่ แล้วเราอยู่บ้านส่วนตัวเราเอง
จะเข้าห้องน้ำห้องท่าสะดวกดี ก็เป็นแบบเดิมๆ น่ะ
+เวลาที่อาจารย์ท้อแท้หรือหมดกำลังใจมีวิธีจัดการความรู้สึกยังไงคะ
ผมคิดว่ามนุษย์เรามีอารมณ์ที่อ้างว้างว้าเหว่ บางครั้งไม่อยากจะไปสัมพันธ์กับมนุษย์อื่น
อารมณ์นั้นมันประหลาด บางทีเราไปในสถานที่บางแห่งแล้วอยู่ๆ ก็รู้สึกไม่มีใคร
หรือเวลาที่เกิดทุกข์หนักก็จะเกิดอารมณ์นั้นขึ้นมา พอว้าเหว่แล้วก็ต้องหาสิ่งมาชโลมใจ
อย่างผมก็มีที่ยึดโดยการมองศิลปะในฐานะคนเสพ อ่านวรรณกรรม อ่านบทกวี
หรืออ่านปรัชญา ผมจะจำพวกโคลงกลอนที่มันเพราะๆ อย่างลิลิตตะเลงพ่ายนี่ผมชอบ
พอเสพศิลปะแล้วมันจะทำให้หัวใจชุ่มชื่นขึ้น ตรงนั้นล่ะเป็นช่วงที่ดี
เปลี่ยนอารมณ์อ้างว้างเป็นสุนทรีย์
+ในชีวิตมีเรื่องอะไรที่ทำให้อาจารย์เสียน้ำตาบ้าง
อืม ความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การจากไปของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
รวมทั้งคนที่เราเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด คนที่ดีงาม แม้กระทั่งสถานที่บางแห่งที่ถูกเปลี่ยนไป
บางทีไปเห็นแล้วน้ำตาร่วง เพราะเราเคยเห็นครั้งที่ยังสวยงามสมบูรณ์อยู่
หลายแห่งที่เคยเห็นอย่างเช่น พระธาตุพนมล้มนี่ผมเห็นแล้วสะเทือนใจมาก
สภาพที่ให้ความร่มรื่นแก่จิตใจมันพังไป อันนี้ก็เสียน้ำตา
+ถ้าอาจารย์ย้อนกลับไปดูชีวิตที่ผ่านมา อาจารย์จะประเมินมันว่ายังไง
ผมว่าชีวิตผมค่อนข้างโชคดีคือ ได้ทำงานที่ผมรัก สิ่งที่ผมรักเป็นทั้งอาชีพ
และเป็นวิถีชีวิต ผมพอใจ ผมไม่คิดว่าต้องการอะไรมากไปกว่านี้ แต่บางทีก็มีความล้มเหลว
ความเจ็บป่วย ความขัดแย้งแทรกเข้ามาเป็นธรรมดา ผมคิดว่าใช้ชีวิตคุ้มยังจำคำพูดของคุณเล็กได้
แกเคยบอกว่าชีวิตในเมืองนี่เหมือนมดปลวก ไต่กันยั้วเยี้ย แต่ถ้าออกไปข้างนอกจะมีพื้นที่กว้างสำหรับคุณ
ผมเห็นด้วย แล้วมันตรงกับนิสัย ผมถึงได้ชอบออกไปต่างจังหวัด ที่นั่นผมมีตัวของผม
ผมไม่ใช่มดปลวกอยู่ในเมือง
..............................
สายหยุดส่งกลิ่นหอมเย็นใจขณะเลื้อยกิ่งพันรั้วระเบียง
ต้นจันทน์สูงใหญ่อวดโฉมข้างๆ เกลอร่วมรุ่นอย่างจันทน์กะพ้อที่ป่านนี้แล้วยังไม่ยอมอวดดอก
ยังจำปีกับสารภีที่ให้กิ่งก้านพักพิงแก่นกกางเขนเพื่อขับกล่อมดนตรีรับอรุณแด่เจ้าบ้าน
ความสุขง่ายๆ เท่านี้เพียงพอแล้วสำหรับปูชนียบุคคลผู้ไม่นิยมหาบทสรุปใดๆ
ให้ตัวเอง...เพราะมนุษย์มีความซับซ้อนมากมายให้ค้นหา
ยุวดี มณีกุล
จุดประกาย เสาร์สวัสดี
ฉบับที่ 232 วันเสาร์ที่ 1 พ.ย.
2546
|