กังวานเกี่ยวข้อง > ศรีบูรพา สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่
 

เป็นที่ปลื้มปีติยินดียิ่งอีกครั้งหนึ่ง สำหรับประชาชนคนไทยทั้งมวล โดยเฉพาะครอบครัว 'สายประดิษฐ์' ที่ในปีนี้ ทาง ยูเนสโก หรือองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา เป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นระดับโลก

"...ถือได้เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการเป็นผู้นำทางความคิดและแนวทางการสร้างสรรค์วรรณกรรมไทยในยุคใหม่ ซึ่งสะท้อนภาพของสังคมและนำเสนอความคิดในเชิงอุดมคติเพื่อจรรโลงจิตใจของผู้อ่าน"

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย แจ้งถึงที่มาของการเสนอปูชนียบุคคลท่านนี้เพื่อรับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญด้าน 'ศิลปวัฒนธรรมของโลก' ในปี พ.ศ.2548

เนื่องจากคุณูปการของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา นั้น ยิ่งใหญ่และส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทย ตลอดจนนักคิด นักเขียนรุ่นหลังมากมายนัก

"เราจะมองกุหลาบ สายประดิษฐ์หรือศรีบูรพา เป็นเหมือนปูชนียบุคคล เป็นภาพของตัวแทนที่วิพากษ์การเหลื่อมล้ำ การต่อสู้กับอำนาจ..."

ธีรยุทธ บุญมี เจ้าของรางวัลศรีบูรพาในปีนี้ ได้ประเมินค่า 'ศรีบูรพา' ไว้เช่นนั้น

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อ 31 มีนาคม 2448 เป็นลูกของ สุวรรณ เสมียนเอกของกรมรถไฟ และสมบุญ มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อ จำรัส นิมาภาส พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตในย่านหัวลำโพงนี่เอง

วัยเด็กเรียนหลายโรงเรียน ทั้งโรงเรียนวัดหัวลำโพง และโรงเรียนทหารเด็ก แต่ที่ได้เห็นทั้งชีวิตลูกผู้ดีและลูกชาวบ้านคละเคล้ากันไปก็คือที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ นั่นเอง และเป็นศิษย์ร่วมรุ่นกับหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง และ สด กูรมะโรหิต

การเขียนหนังสือก็เริ่มที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์นี้ด้วย ได้ออกหนังสือในโรงเรียน 2 เล่มด้วยกันก็คือ 'ดรุณสาร' และ 'ศรีเทพ'

แนบแน่นกับการเขียนมากขึ้นตอนเป็นหนุ่มวัย 18 เมื่อสอนภาษาอังกฤษที่ 'โรงเรียนรวมการสอน' ที่อยู่ที่เดียวกับ 'สำนักรวมการแปล'

มีหลายนามปากกา และ 'ศรีบูรพา' ก็เกิดขึ้นในห้วงนี้เอง โดยมี โกศล (บุญเติม) โกมลจันทร์ นักแปลนักเขียนกลอนลำตัดและผู้จัดการสำนักรวมการแปล เป็นผู้ตั้งให้ ปรากฏในงานเขียนชื่อ แถลงการณ์ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทศวารบรรเทิง

ส่วนนามจริงนั้นเพิ่งใช้ครั้งแรกในปีถัดมา ในงานเขียนกลอนหกเรื่องต้องแจวเรือจ้าง ตีพิมพ์ในหนังสือของโรงเรียนชื่อ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์

แค่อายุ 20 ปี ก็ได้สัมผัสชีวิตบรรณาธิการแล้ว ที่หนังสือรายทส (สิบวัน) ชื่อ สาส์นสหาย ซึ่งมี นายแตงโม จันทวิมพ์ เจ้าของสำนักรวมการแปลเป็นผู้ออกทุนให้ แต่เมื่อหมดกำลัง (เงิน) ก็หยุดไป

แต่กุหลาบเดินหน้าต่อบนเส้นทางหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการโดยมีตำแหน่งเป็น 'เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์' แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แต่กุหลาบก็ได้ชักชวนมิตรสหายมาเขียนร่วมกันด้วย แต่ทำไปทำมาก็ยุติเนื่องจากเป็นพลเรือนอยู่ ไม่ได้เป็นทหารเต็มตัวเงินเดือนจึงถูกกดประกอบกับไม่พอใจท่าวางเขื่องของบรรดานายทหารด้วย

ร่วมกับเพื่อนนักเขียน กวี นักประพันธ์ และ นักหนังสือพิมพ์ ในนาม 'คณะสุภาพบุรุษ' ออกนิตยสาร (รายปักษ์) ชื่อ 'สุภาพบุรุษ' ด้วยวัยเพียง 24 ในเดือนมิถุนายน 2472

สำแดงฝีมือนักหนังสือพิมพ์เมื่อถูกเทียบเชิญไปปรับปรุงหนังสือพิมพ์ 'บางกอกการเมือง' จนฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

และหัวใจรักความยุติธรรมนั้น เห็นได้ชัดที่ 'บางกอกการเมืองใหม่' นี่เอง เพราะในเล่มนอกจากใส่สีสัน พาดหัวข่าว มีเรื่องราวหลากหลายกลายเป็นที่สนใจของประชาชนแล้ว ศรีบูรพากับคณะ (สนิท เจริญรัฐ, เฉวียง เศวตะทัต, ชะเอม อันตรเสน) ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของข้าราชการในยุคนั้นอีกด้วย ที่สุดถูกบีบจึงลาออกออกทั้งคณะ

มายุคหนังสือพิมพ์ 'รายวันไทยใหม่' ที่กุหลาบเป็นบรรณาธิการก็เช่นกัน

แม้จะสร้างสรรค์รวมดึงพรรคพวกมาทำด้วยกัน (หลัง สุภาพบุรุษ ยุติเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2473 รวมมี 37 ฉบับ) ทั้งออก 'ไทยใหม่วันอาทิตย์' ให้ มาลัย ชูพินิจ ดูแล หรือออก หนังสือพิมพ์สุริยา ให้ โชติ แพร่พันธุ์ ไปเป็นบรรณาธิการ

แต่เมื่อได้เขียนบทความแห่งประวัติศาสตร์ ชื่อ 'มนุษยภาพ' เสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ลงในหนังสือพิมพ์ 'ศรีกรุง' (ที่กุหลาบเป็นกองบรรณาธิการด้วย)

สุดท้ายก็ต้องออกจากไทยใหม่และทำให้ศรีกรุงถูกปิดด้วย

ในปี 2475 (27 ปี) ที่ หนังสือพิมพ์ ประชาชาติรายวัน ซึ่งอยู่ในอุปถัมภ์ของ พลตรีพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ-พระอิสริยยศในเวลานั้น) กุหลาบตอกย้ำหัวใจรักความเป็นธรรมอีกครั้ง สังเกตจากการปวารณาตัวของหนังสือพิมพ์ภายใต้การดูแลของเขาและคณะ

"ประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมคือ เข็มทิศของหนังสือพิมพ์และมีจุดยืนเคียงข้างประชาธิปไตย"

ผลก็คือถูกสั่งปิดถึง 2 ครั้ง 2 ครา เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา

ในวัย 34 กุหลาบ ได้รื้อฟื้นคณะสุภาพบุรุษขึ้นมาอีกครั้ง ออกหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษรายวัน ก่อนจะรวมกับหนังสือพิมพ์ประชามิตร เป็น 'ประชามิตร-สุภาพบุรุษ'

ขณะเดียวกันหน้าที่นักหนังสือพิมพ์ก็ได้บทความคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างต่อเนื่อง

ถูกจับเข้าคุกครั้งแรกเนื่องจากเขียนบทความคัดค้านที่รัฐบาลไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แม้คดีไม่มีมูลแต่ก็ถูกคุมขังนานถึง 3 เดือน

ตำแหน่ง 'ประธานกรรมการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์' ที่ได้รับเลือกในปี 2484 และ 'นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย' ในปี 2488-2489 นั่นน่าจะให้เห็นถึงความเป็นนักหนังสือพิมพ์เป็นอย่างดี

เรื่องเห็นอกเห็นใจผู้คน ไม่ชอบเผด็จการ เห็นแก่ประชาชนนั้นเป็นตั้งแต่ก่อนไปเรียนวิชาการเมืองที่ออสเตรเลียนานถึง 2 ปี (2490-2492) ด้วยซ้ำ

ปี 2495 กุหลาบมิอาจอยู่นิ่งเฉย เมื่อหนังสือพิมพ์ตกอยู่ในสภาพลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จึงไปร่วมกับนักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซนเซอร์หนังสือพิมพ์และยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484

ปีเดียวกัน กุหลาบถูกจับพร้อมกับมิตรสหายในนาม 'กบฏสันติภาพ' เพราะโดยตำแหน่งคือ 'รองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย' ไปเรียกร้องสันติภาพคัดค้านรุกรานเกาหลี ถูกศาลตัดสินจำคุกถึงคนละ 13 ปี 4 เดือน ที่คุกบางขวางในฐานะนักโทษการเมือง แต่ได้รับการปลดปล่อยพ้นจากข้อหาก่อนกำหนด เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ หลังจากถูกคุมขัง 4 ปีกว่าๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500

ปลายปีนั้นได้รับเชิญไปเยือนสหภาพโซเวียตเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติโซเวียต ถัดมาอีกปีได้รับเชิญให้นำคณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปเยือนจีน

ขณะที่เยือนจีนนั้นเองที่ประเทศไทย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ทำรัฐประหารจับกุมคุมขังผู้รักชาติรักประชาธิปไตยขณะขนานใหญ่ (รวมถึงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่กลับจากเยือนจีนในช่วงนั้น)

การเดินทางในเดือนสิงหาคม 2501 นั้น จึงเป็นการจากบ้าน จากแผ่นดินไทยของกุหลาบไปตลอดกาล ด้วยเกรงความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตจึงได้ขอลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ปักกิ่งนับแต่นั้น

อย่างไรก็ตาม ระหว่าง 16 ปีในจีน กุหลาบมิได้อยู่เฉย หากแต่ได้เขียน พูดกระจายเสียงออกอากาศเล่าเรื่องสาธารณรัฐจีนตามที่ได้ไปเห็นทางสถานีวิทยุปักกิ่งบ้าง และได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ (สาขาสังคมศาสตร์) ที่ปักกิ่ง (2507) ได้ไปที่ร่วมประชุมนานาชาติสนับสนุนประชาชนเวียดนามต่อต้านการรุกรานของอเมริกาที่ฮานอย (2508)

แต่มิเคยได้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกเลย ตั้งแต่อายุ 53 จวบกระทั่งเสียชีวิตในวัย 69 ปี ด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน ที่โรงพยาบาลเซียะเหอในปักกิ่ง ท่ามกลางการจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติโดยรัฐบาลจีน ทิ้งไว้เพียงเกียรติประวัติและผลงานอันมีคุณค่า

สำหรับการฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ (Aniversaries of Great Personalities and Historic Events) ของยูเนสโกนี้ เปิดให้ประเทศสมาชิกซึ่งมีทั้งหมด 189 ประเทศทั่วโลก ได้เสนอกันทุกๆ 2 ปี

จะเป็น 'บุคคล' หรือ 'เหตุการณ์' สำคัญใดๆ ก็ได้ ที่มีการครบรอบทุก 50 ปี 100 ปี 150 ปี หรือ 200 ปี ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ หรือการสื่อสารมวลชน

ที่สำคัญจะต้องเป็น 'แบบอย่าง' อันดีเลิศที่แสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องของการส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์ ตามสาขาหลักๆ ที่ได้ตั้งไว้ดังกล่าว

ทางสมาคมนักเขียนฯ และมูลนิธิเสฐียรโกเศศฯ จึงได้ร่วมกันเสนอและดำเนินการผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

กระทั่งได้รับข่าวดีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง

และจากนี้ไปทางสมาคมนักเขียนฯ ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเตรียมจัดกิจกรรมฉลองวาระพิเศษนี้ต่อไป

 

จาก เนชันสุดสัปดาห์ ฉบับประจำปีที่ 12 ฉบับที่ 599 วันที่ 24 - 30 พ.ย. 2546
โดย อิสรีอิน



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่
๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗