กังวานเกี่ยวข้อง > ดิเรก ชัยนาม ที่คนไทยควรรู้จัก

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้าพเจ้าถือโอกาสไปเยี่ยมพี่ชาย ซึ่งมีอายุมากที่สุดในบรรดาสมาชิกสกุลศิวรักษ์ ในบัดนี้ เพื่อขอพรจากท่าน ด้วยการประยุกต์ประเพณีรดน้ำสงกรานต์ มาเป็นการนับศักราชอย่างใหม่

แปลกใจและดีใจที่ถนนหน้าปากซอยเข้าบ้านพี่ชาย ได้ชื่อใหม่ว่าถนนปรีดี พนมยงค์ โดยทางเทศบาลกรุงเทพฯอธิบายให้ผู้คนในละแวกนั้นเข้าใจว่าการตั้งชื่อถนนดังกล่าว เป็นการบูชาคุณท่าน ที่มีคุณูปการกับบ้านเมืองและราษฎรมาอย่างเป็นเอนกอนันต์ ทั้งๆที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ต้องการตัดถนนประดิษฐ์มนูธรรม ที่ตั้งตามบรรดาศักดิ์ของท่านให้เหลือครึ่งเดียว เพื่อเอาอีกครึ่งไปตั้งเป็นชื่อถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งมีบรรดาศักดิ์คล้องกัน แต่สภาเทศบาลไม่ยินยอมอนุมัติตามมติอันเป็นเผด็จการของผู้ว่าฯ ซึ่งนับว่าน่านิยมชมชอบ

พี่ชายของข้าพเจ้าคนนี้ เคยทำงานด้านเสรีไทย รับใช้อาจารย์ปรีดี พนมยงค์มาในทางอ้อม หากรับใช้ใกล้ชิดกับนายดิเรก ชัยนาม ซึ่งเป็นผู้บัญชางานเสรีไทยอย่างสำคัญคนหนึ่ง

ดูเหมือนคนที่สนองงานอาจารย์ปรีดีมานั้น ที่ท่านไว้ใจที่สุด อย่างเรียกได้ว่าเป็นมือขวามือซ้ายของท่าน เห็นจะได้แก่นายทวี บุณยเกตุ กับนายดิเรก ชัยนาม จะว่าคนแรกเป็นฝ่ายบู๊และคนหลังเป็นฝ่ายบุ๋นก็ได้ เพราะคุณทวีเป็นคนพูดจาโผงผางแต่จริงใจ และเป็นที่เคารพรักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ ซึ่งเคยเลือกให้ท่านเป็นประธานสภาฯ หากจอมพลป. พิบูลสงครามขัดขวาง และตอนโค่นจอมพลป.ลงโดยวิถีทางของรัฐสภานั้น อาจารย์ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ไม่อาจตั้งคุณทวีเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะคุณทวีเล่นละครตบตาญี่ปุ่นไม่ได้ จึงต้องให้นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คุณทวีเป็นรัฐมนตรีที่สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้ อะไรๆที่สำคัญๆนั้น อาจารย์ปรีดีหารือกับคุณทวีเป็นการภายในเป็นส่วนมาก หากเป็นเรื่องฉกรรจ์ ก็ต้องบอกให้หลวงอดุลเดชจรัสทราบ เพราะเขาคนนี้มีความสามารถในการคานอำนาจจอมพล ป.

ครั้นเสร็จสงครามแล้ว อาจารย์ปรีดีเห็นควรให้คุณดิเรกเป็นนายกฯ แต่คุณดิเรกติงว่า ตั้งแต่ปลดพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจากตำแหน่งดังกล่าวไป ในปี ๒๔๗๖ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ผลัดกันเป็นนายกฯ มาตลอด เกรงผู้คนจะติฉินคณะราษฎร ว่าต้องการกุมอำนาจไว้อย่างถาวร ถ้าเลือกเอาคนนอกมาดำรงตำแหน่งบ้าง ก็จะดี ยิ่งได้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชด้วยแล้ว ก็น่าจะเหมาะสม เพราะบุคคลผู้นี้ก็เป็นเสรีไทยภายนอกประเทศที่สำคัญสุด ทั้งยังเป็นเชื้อพระวงศ์ ฝ่ายเจ้ากับฝ่ายไพร่จะได้คืนดีกัน สิ้นความกินแหนงแคลงใจ ว่าคณะราษฎรแย่งชิงอำนาจไปจากเจ้า

อาจารย์ปรีดีเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณดิเรก จึงเชิญคุณชายเสนีย์มาเป็นนายกฯ นับว่าน่าเสียดายที่ความหวังดีของฝ่ายคณะราษฎร ถูกคุณชายเสนีย์มองไปว่า เอาท่านมาเป็นตัวเชิด โดยท่านไม่รู้ตัวว่าท่านเองเป็นคนหูเบา ที่บริหารงานแผ่นดินไม่เป็น ดังกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก็เป็นพยานให้คนร่วมสมัยเห็นถึงความอ่อนแอของท่าน

เมื่อเป็นนายกฯครั้งแรก คุณชายเสนีย์ไร้สมรรถภาพในการบริหารงานแผ่นดิน จนต้องลาออกไป ทั้งยังกล่าวหาว่าถูกอาจารย์ปรีดีหลอกเอามาใช้อีกด้วย นับว่าการเสนอชื่อคุณชายเสนีย์ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นความล้มเหลวของคุณดิเรกแท้ทีเดียว โดยที่คุณดิเรก ก็เป็นคนที่เสนอชื่อให้คุณชายเสนีย์ไปเป็นทูตที่สหรัฐมาก่อนด้วยแล้ว

เมื่อคุณชายเสนีย์พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว อาจารย์ปรีดีจึงเห็นควรให้คุณดิเรกเป็นนายกฯ ให้จงได้ แม้หลวงอดุลเดชจรัสก็สนับสนุนคุณดิเรก โดยที่คุณดิเรกมีความสามารถสูงทางการทูต ไม่แต่กับชาวต่างประเทศ แม้ในหมู่คนไทยด้วยกัน จึงชักจูงหลวงอดุลให้มาสนับสนุนอาจารย์ปรีดีและงานเสรีไทยจนสำเร็จ ทั้งๆที่หลวงอดุลสนิทสนมกับจอมพลป. มาแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยมาด้วยกัน โดยที่ถ้าไม่ได้หลวงอดุลหนุน งานเสรีไทยย่อมเป็นไปไม่ได้ภายในประเทศ

โดยที่คุณดิเรกเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน คนวงนอกจึงเข้าใจว่าท่านเป็นคนอ่อนแอ ยิ่งหลวงอดุลสนับสนุนท่าน ใครๆก็พากันเกรงไปว่าคุณดิเรกจะอยู่ใต้อำนาจหลวงอดุล ซึ่งมีความเป็นเผด็จการที่แข็งแกร่งมาแต่ไหนแต่ไร ข้างฝ่ายคุณควงก็ต้องการกลับมาเป็นนายกฯอีก โดยมีคณะของคุณชายเสนีย์สนับสนุน คุณดิเรกจึงแพ้คะแนนคุณควง ตอนออกเสียงในรัฐสภาเพื่อหาคนมาเป็นนายกฯ และแล้วคุณควงก็แพ้คะแนนของพรรคสหชีพ ซึ่งมีสมาชิกส่วนมากเป็นชาวอีสาน และมีแนวโน้มในทางสังคมนิยม โดยที่พรรคนี้รังเกียจนโยบายของรัฐบาลควง ซึ่งเป็นไปในทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ผสมกับศักดินา

ตอนคุณควงลาออกเพราะแพ้คะแนนเสียงนั้น ได้ตัดพ้อต่อว่าอาจารย์ปรีดี หาว่าโยงใยอยู่เบื้องหลังพรรคสหชีพ จึงไปตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาฟาดฟันอาจารย์ปรีดีและบริษัทบริวาร โดยที่ถ้าไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องใช้กล แม้จนมนต์คาถา ที่ไร้จรรยาบรรณใดๆก็ตาม ทั้งคุณควงประกาศก้องว่าถ้าอาจารย์ปรีดีเก่งจริง ก็ให้มาเป็นนายกฯเสียเอง อย่าอาศัยบุคคลอย่างคุณดิเรกเป็นหน้าฉากเลย

ความแตกแยกกันของรัฐสภาเข้าหน้าสิ่วหน้าขวาน จนอาจารย์ปรีดีไม่มีทางเลือก ต้องรับเป็นนายกรัฐมนตรี และขอให้คุณดิเรกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ หากให้เป็นผู้กำกับสำนักพระราชวังด้วย เพราะตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา สำนักพระราชวังขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นคราวเคราะห์ของบ้านเมือง และของคณะอาจารย์ปรีดี ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๘ สวรรคตขึ้น หลังจากที่ท่านรับตำแหน่งนายกฯได้ไม่นาน พรรคประชาธิปัตย์จึงหาทางโจมตีอย่างเลยเถิดไปว่า อาจารย์ปรีดีวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ถึงขนาดจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า ปรีดีฆ่าในหลวง

ชนวนที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เล่ห์กระเท่ห์นี้ได้ผล จนคุณควงไปวางแผนกับคณะทหาร ก่อการรัฐประหารขึ้นในปลายปี ๒๔๙๐ เป็นเหตุให้อาจารย์ปรีดีและคณะต้องปลาสนาการไปจากแวดวงทางการเมืองเอาเลย

ก่อนรัฐประหาร เมื่ออาจารย์ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกฯในรัชกาลปัจจุบันนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์รับตำแหน่งสืบทอดต่อ นายกฯคนใหม่ขอให้คุณดิเรกไปเป็นทูตที่อังกฤษ ด้วยการยกสถานะเดิมจากอัครราชทูตให้เป็นเอกอัครราชทูต

คุณดิเรกเกรงว่าจะไม่สมควร เพราะม.จ.นักขัตรมงคล กิตติยากร เป็นอัครราชทูตอยู่แล้ว แต่อาจารย์ปรีดีกับนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ต้องอาศัยความสามารถทางการทูตของคุณดิเรกในการเจรจากับอังกฤษ เพื่อแก้ไขข้อตกลงต่างๆซึ่งคุณเสนีย์ทำเรื่องไว้ และอาจารย์ปรีดีบอกว่าจะขอย้ายท่านนักขัตรไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ปารีส โดยที่เดิมทรงเป็นเพียงอัครราชทูต เป็นอันว่าท่านก็ได้เลื่อนสถานะขึ้นด้วย และท่านเป็นนักเรียนฝรั่งเศสมาก่อน ไปประทับทางปารีสดูจะเหมาะสมกว่า คุณดิเรกจึงยอม ดังเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมพลป.ขอให้คุณดิเรกไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ญี่ปุ่น (นี่ก็เป็นการเพิ่มสถานะจากตำแหน่งอัครราชทูตเช่นกัน) คุณดิเรกบ่ายเบี่ยง ทำให้จอมพลป.โกรธมาก ถึงกับว่าถ้าคุณดิเรกไม่ไป จอมพลป.จะไปเอง ดังนี้เป็นต้น ผลก็คือหลวงอดุลมาไกล่เกลี่ยให้คุณดิเรกยอมรับตำแหน่ง เผื่อจะไปใช้โอกาสกู้บ้านกู้เมืองจากนอกประเทศ

เมื่อคณะรัฐประหารได้ชัยชนะมาอย่างผิดกฎหมายนั้น ได้ตั้งคุณควงให้เป็นนายกฯอย่างเป็นหุ่นให้พวกทหารเชิด พระยาศรีวิศาลวาจาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลควง ได้มีหนังสือไปขอให้คุณดิเรกดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตต่อไป คุณดิเรกตอบว่า ยินดีดำรงตำแหน่งต่อ จนกว่ารัฐบาลใหม่จะได้รับการรับรองจากรัฐบาลอังกฤษ แล้วท่านก็จะขอลาออก

ในช่วงนั้น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นนักเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ลอนดอน และสนิทกับคุณดิเรกมาก ถึงกับถามว่าถ้าลาออกจากราชการไปแล้ว อาจารย์จะทำอะไร ท่านก็ตอบว่าว่างงาน แต่นั่นไม่สำคัญเท่าเกียรติยศ เพราะท่านได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งที่สำคัญ โดยรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย แล้วจะอยู่รับใช้รัฐบาล ที่เข้ามามีอำนาจด้วยการล้มระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

ความสำคัญทางจริยธรรมข้อนี้ ยากที่คนร่วมสมัยจะเข้าใจ แต่คุณป๋วยเข้าใจอย่างซาบซึ้ง และคุณป๋วยดำเนินชีวิตเช่นคุณดิเรกมาเกือบจะโดยตลอด โดยคุณป๋วยย้ำอยู่เสมอว่าชีวิตของคนเรานั้นสำคัญที่เกียรติ คือการเคารพตัวเอง และเคารพธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม

ขำก็ตรงที่ม.จ.สิทธิพร กฤดากรนั้น เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเกษตร ในรัฐบาลควง โดยคงไม่ทรงตระหนักว่ารัฐบาลนั้นผิดกฎหมาย ครั้นนายควงถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ลาออกไป จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้นำของคณะรัฐประหาร ได้มาทูลท่านสิทธิพร ให้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรต่อไป ภายใต้การเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพลป.พิบูลสงคราม เพราะความสามารถและความสัตย์ซื่อของท่าน แต่ท่านก็ทรงปฏิเสธไปอย่างนิ่มนวล คล้ายๆคุณดิเรกเหมือนกัน

รัฐบาลควงขึ้นสู่อำนาจในปลายปี ๒๔๙๐ ด้วยความฉ้อฉลเท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจอมพลป.ที่ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลควง ก็ใช้กำลังทหารบีบเอาอย่างเลวร้ายพอๆกัน เพราะฉะนั้น อาจารย์ปรีดีจึงกรีฑาทัพมาบีบให้รัฐบาลจอมพลป. ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศตั้งคุณดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี ๒๔๙๒ หากอาจารย์ปรีดีต้องพ่ายแพ้ไป เพราะถูกหลวงสินธุ์สงครามชัย แม่ทัพเรือ หักหลัง ดังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ท่านก็ถูกหลวงอดุลเดชจรัส ร่วมกับหลวงสังวรยุทธกิจหักหลังนั้นแล โดยที่หลวงสังวรนั้นยังมาหักหลังอาจารย์ปรีดีอีกในปี ๒๔๙๒ เคราะห์ดีที่จอมพลป.ไม่เห็นโทษของคุณดิเรก ท่านจึงไม่ถูกจองจำ แม้กรณีสวรรคตที่ทั้งจอมพลป. และพลเอกเผ่า ศรียานนท์พยายามทำเรื่องให้โยงไปถึงอาจารย์ปรีดีนั้น ก็มีผู้เสนอให้คุณดิเรกติดร่างแหด้วย ในฐานะรัฐมนตรีผู้กำกับสำนักพระราชวังตอนเกิดสวรรคต หากจอมพลป.ขอไว้ คุณดิเรกจึงรอดตัว แต่ท่านก็ไม่ยอมร่วมกิจการทางการเมืองกับจอมพลป. จนตลอดระยะเวลาที่บุคคลผู้นั้นมีอำนาจ หากยินดีเล่นกอล์ฟด้วยกันตามแต่โอกาสจะอำนวย คือท่านรู้จักแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องของส่วนรวม

ทางฝ่ายนายสงวน ตุลารักษ์นั้น ก็ร่วมก่อการมากับคณะราษฎรในปี ๒๔๗๕ และมีบทบาทในขบวนการเสรีไทยด้วย ตอนรัฐประหาร เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศจีน อยู่ที่นครนานกิง คุณสงวนประกาศด่าคณะรัฐประหารอย่างรุนแรง และลาออกจากตำแหน่งในทันที นี่คือการแสดงบทบาททางไม้แข็ง ในขณะที่คุณดิเรกและท่านสิทธิพรใช้ไม้อ่อน ซึ่งบางทีนั้นออกจะอ่อนนอกและแข็งใน ให้เป็นที่เกรงขามของสุภาพชน หรือคนที่ตามีแวว

ถ้าใครได้อ่านถ้อยคำของพระยามโนที่โจมตีอาจารย์ปรีดีแต่ในปี ๒๔๗๕ จะเห็นได้ว่าเจ้าคุณมโนยกให้นายสงวน ตุลารักษ์กับนายซิม วีระไวทยะ ว่าเป็นโมคคัลลาน์สารีบุตรของอาจารย์ปรีดีเอาเลย แต่คุณซิมตายเสียแต่เมื่ออายุยังน้อย เฉกเช่น นายตั้ว ลพานุกรม หากคุณสงวนอยู่มาจนเพิ่งตายหลังจากอาจารย์ปรีดี เมื่อไม่นานมานี้เอง อาจเป็นเพราะความแข็งกร้าวของคุณสงวนก็ได้ ที่ภายหลังดูท่านจะห่างอาจารย์ปรีดีออกไป

ถ้าคุณดิเรกยอมไกล่เกลี่ยหลักการเสียบ้าง จอมพลป .ก็อยากให้ท่านมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ เมื่อคณะรัฐประหารบีบให้รัฐบาลควง อภัยวงศ์ลาออกไป ในส่วนงานด้านการศึกษานั้น คุณดิเรกรับเป็นคณบดีคนแรกให้คณะรัฐศาสตร์ เมื่อธรรมศาสตร์หมดสภาพความเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ดังมีคณะต่างๆอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และก็น่าชื่นใจที่คณบดีคณะนี้และศิษย์หาที่สำนักนี้ เห็นคุณของคุณดิเรก จนให้ปั้นรูปท่านไว้ที่คณะอย่างเป็นอนุสาวรีย์ที่เตือนใจพวกเขา ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคล ในขณะที่ทางกระทรวงการต่างประเทศ แทบไม่มีใครเห็นคุณค่าของท่านกันอีกแล้ว ทั้งๆที่ท่านเป็นเจ้ากระทรวง ในหัวเลี้ยวทางการเมืองการต่างประเทศที่สำคัญยิ่ง แต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนหลังสงครามแล้ว

เมื่อท่านป่วยหนักอยู่นั้น เข้าใจว่าน่าจะเป็นกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (รองนายกฯในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกฯ) จะทรงเป็นผู้ดำเนินเรื่องขอเหรียญดุษฎีมาลาและเข็มศิลปวิทยา เพื่อพระราชทานแด่คุณดิเรก โดยมีการนำเหรียญนั้นไปมอบแก่คุณดิเรก ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยที่เจ้ากระทรวงการต่างประเทศ หาได้ทำอะไรให้เป็นเกียรติแก่ท่านไม่

ข้าพเจ้าเชื่อว่า รัฐมนตรีว่การกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน ก็ไม่แลเห็นคุณความดีของคุณดิเรก ชัยนามเช่นกัน เพราะคนที่จะเห็นคุณค่าของท่านนั้นต้องตามีแวว และเข้าใจในเรื่องความงามความดีและความจริง โดยมีมิติทางอดีตอย่างรู้จักโยงมายังปัจจุบัน เพื่อมองไปถึงอนาคต อย่างไม่สยบยอมกับอำนาจหรือเงินตรา หรือเห็นแต่ค่าของคนประจบประแจง หรือเห็นการแสแสร้งว่าเป็นความจริง

ในอีกสองปีต่อแต่นี้ไปคุณดิเรก ชัยนามจะมีอายุครบศตวรรษ โดยคงจักไม่มีอะไรในระดับของทางราชการ ที่จะยกย่องคุณวิเศษของคนที่มีมติว่าสำคัญที่เกียรติ หรือคนที่มีมโนธรรมสำนึกในการปกครองบ้านเมืองอย่างเสียสละและอย่างสามารถยิ่ง โดยที่ชนชั้นปกครองดังกล่าว ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมประกอบไปอีกด้วย ดังงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จะมีห้องประชุมปรีดี หรือประดิษฐ์มนูธรรม ที่กระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นอนุสรณ์ถึงท่านก็หาไม่ ทั้งๆที่กระทรวงฯ เพิ่งจะมีอาคารใหม่เกิดขึ้น และท่านผู้นี้เป็นคนสุดท้าย ที่ทำลายอภิสิทธิ์ของมหาอำนาจให้ปลาสนาการไปได้จากสยาม ด้วยขบวนการทูตและทางกฎหมายอย่างสำคัญยิ่ง

เรามัวยกย่องกันแต่คนที่ไร้เกียรติ หากมีทีท่าว่ามีอำนาจ (อันไม่ชอบธรรม) อย่างอนุสาวรีย์ของส. ธนะรัชต์ที่ขอนแก่น ของ ผ. ศรียานนท์ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน แม้จนอนุสาวรีย์ของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมที่อุดรธานีนั้น ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์สักนิดก็จะเห็นได้ว่าในหลวงทั้งรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ ทรงวิพากษ์พระองค์ท่านว่าอย่างไร ดังขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ของร.๖มาลงไว้ให้อ่านกันดังนี้

“ความชั่วต่างๆ ของกรมหลวงประจักษ์นั้น ถ้าแม้จะนำมาจดลงไว้แม้แต่โดยย่อๆ ก็จะต้องการสมุดเล่ม ๑ ต่างหากทีเดียว ยกตัวอย่างเปนบางข้อ เมื่อยังรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์อยู่ที่เมืองหนองคาย ได้เชิญกงสุลฝรั่งเศสไปกินอาหารกลางวัน แล้วแต่งคนไปยิงช้างที่กงสุลขี่กลางทาง และมีใบบอกเท็จเข้ามาว่าจับผู้ร้ายไม่ได้ ครั้งนั้นเกือบเกิดความใหญ่โตทีเดียว โดยความอิจฉาแรงกล้า ได้พยายามวางยาพิษประทุษร้ายกรมหลวงเทววงศ์ แต่กรมหลวงท่านไม่เอาความ เพราะเกรงจะเกิดชำระกันเปนการเอิกเกริก เสื่อมเสียพระเกียรติยศราชตระกูล ทอดบัตรสนเท่ห์ด่าเสด็จแม่ด้วยถ้อยคำหยาบคายที่สุด แต่หาหลักฐานไม่ได้มั่นพอ ต้องระงับเรื่อง เมื่อพระเจ้าหลวงจะเสด็จยุโรปครั้งที่ ๒ เที่ยวคุยอวดกับใครๆ ว่าพระเจ้าหลวงทรงชวนไปเปนเพื่อน เล่าเป็นกิจจะลักษณะว่ารับสั่งว่า เวลาหนุ่มๆ เขาไปเที่ยวกัน จะได้ทรงมีเพื่อนคุยที่รุ่นราวคราวกัน แท้จริงเข้าไปกราบพระบาททูลวิงวอนขอตามเสด็จ โดยอ้างว่าถ้าไม่ได้ไปจะถูกคนเย้ยหยันว่ามิได้โปรดจริงเช่นที่โอ้อวด พระเจ้าหลวงทรงรำคาญจึ่งทรงอนุญาตให้ตามเสด็จ ในระหว่างเวลาไปยุโรปได้ไปทำสกะปรกต่างๆมาก และที่จัญไรที่สุดคือได้ไถ่ปัสสาวะลงในแก้วน้ำเสวย ซึ่งทำให้พระเจ้าหลวงกริ้วมากจะส่งกลับ แต่ไปร้องไห้อ้อนวอนกรมราชบุรีให้ช่วยทูลขอโทษ จึ่งรอดตัวไปครั้ง ๑ ส่วนกิจสุดท้าย คือเรื่องกรมราชบุรีนั้น ก็เข้ายุ่งด้วย เพราะนึกถึงความพยาบาทส่วนตัว เพราะว่ามีเหตุบาดหมาง และอิจฉากันกับกรมนราธิปด้วยเรื่องแย่งลูกเขยกัน”

แม้กรมหลวงราชบุรี ที่ได้รับยกย่องกันเป็นอย่างยิ่งในวงการผู้พิพากษาตุลาการ จนมีอนุสาวรีย์ที่อยู่ที่หน้ากระทรวงยุติธรรมนั้น ก็ขอให้อ่านบทพระราชนิพนธ์ ร.๕ ดังต่อไปนี้ประกอบด้วยบ้าง

“ความรักกันฉันพ่อกับลูกมีอยู่ที่ตรงไหน ความเห็นแก่ราชการมีอยู่ที่ตรงไหน ความจงรักภักดีฉันเจ้ากับข้ามีอยู่ที่ตรงไหน ควรที่จะไว้ใจได้หรือ แก่คนที่โทโษวู่วามถึงเพียงนี้ หรือจะให้วางใจความคิดคนที่เอาแต่ความปรารถนาของตัว ไม่นึกถึงพ่อ ไม่นึกถึงเจ้า ไม่นึกถึงน่าที่ที่ตัวทำราชการอยู่ ไม่นึกถึงแผ่นดินที่ตัวเกิดและอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ เพราะเห็นแก่ตัว”

“สิ่งที่เสียสละแลกเพื่อนคือพ่อ เจ้า และแผ่นดิน เปนของควรแลกกันหรือ ถ้ายอมรับ ปรินซิเปอล (หลักธรรม) อันนี้แล้วพ่อเปนเจ้าแผ่นดินไม่ได้”

“ทางที่หักใจได้อยู่อีกอย่างเดียวแต่ว่ารพีเปนคนโรคจริงๆ น่ากลัวจะเชือนทางไหนก็เชือนได้ และทำงานไม่ได้มานานแล้ว เปนแต่นึกสนุกขึ้นมาก็ทำอะไรตูมตามไปคราวหนึ่ง แล้วทิ้งค้างทั้งนั้น ถ้าสืบสวนดูก็จะรู้ว่างานในกระทรวงนั้นมันเดิรไปไหนบ้าง พ่อไม่ต้องมีใครบอก เพราะงานมันมาเฉพาะหน้าให้รู้เอง”

(ข้อความในอัญประกาศทั้งหมด นำมาจาก ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)

ถ้าเรายกผู้คน เพราะชาติวุฒิ โดยไม่ยอมเข้าใจเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรๆกันเสียแล้ว เราก็ยกเจ้าเลวๆได้หมด โดยเราหารู้ไม่ว่า ลัทธิชูเจ้านั้นเพิ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการยึดอำนาจของ ส.ธนะรัชต์ เมื่อปี ๒๕๐๐นี้เอง แล้วเราก็ถูกทำให้ตามืดบอด จนยกย่องคนเลวอย่างอ้ายหมอนั่นเข้าด้วย ความที่เรายังติดยึดให้มีอนุสาวรีย์ปลอม และยกย่องทุจริตชนนี้แล ที่เราย่อมเข้าไม่ถึงทองเนื้อแท้ ไม่ยกย่องสุจริตชนที่พอใจในการปิดทองหลังพระอย่างคุณดิเรก ชัยนาม เป็นอันว่าเรายังคงอยู่ในสภาพที่จมปลักอยู่กับของปลอมหรือของเทียม โดยนึกว่านั่นคือของจริงหรือของแท้ พูดอย่างโบราณ ก็ว่าเรายังคงเห็นกงจักรเป็นดอกบัวอยู่นั่นเอง ดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำมาอย่างสะอาดบริสุทธิ์ เช่นคุณดิเรก ชัยนาม ซึ่งมีภรรยาที่งดงามทั้งทางกิริยามารยาท และจิตใจอันประเสริฐ ที่ไม่แพ้สามีอย่างม.ล.ปุ๋ย (นพวงศ์) ชัยนาม ก็ควรได้รับความยกย่องเชิดชูจากสาธุชนเท่าๆกับคุณดิเรกด้วยเช่นกัน (โดยที่ราชสกุลนพวงศ์นั้นโยงใยไปถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย) ส่วนคนที่ตาไม่มีแวว ก็ปล่อยไปตามยถากรรมเถิด

แต่ถ้าสาธุชนในหน่วยงานของทางราชการอย่างคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีความองอาจกล้าหาญพอ ก็น่าจะขอให้รัฐบาลยกย่องเชิดชูคุณดิเรก ชัยนาม ในระดับชาติและในระดับนานาชาติ เช่น ผ่าน UNESCO ในโอกาสชาตกาลครบศตวรรษของท่าน วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘

 



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘