ภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รูปสมาชิกสมัชชาคนจนยิงธนูส่งสารเข้าทำเนียบรัฐบาล
เป็นภาพที่สะเทือนใจมากอย่างยิ่งในสายตาของผม
ในยุคสมัยที่นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของบริษัทมือถือ ในสมัยที่มีกระทรวงไอซีที
ในโลกที่ถูกเรียกว่ายุคข่าวสารข้อมูล แค่จะร้องเรียนความเดือดร้อนแก่ผู้ปกครอง
ชาวบ้านก็ไม่สามารถส่งสารด้วยวิธีใดให้ทะลุไปถึงได้ นอกจากวิธีโบราณสมัยหิน
คือเอาสารผูกลูกธนูยิงเข้าไป
ด้วยความหวังว่า
ยามคงจะเก็บเสนอขึ้นไปถึงนายที่รับผิดชอบเรื่องนี้บ้าง
ผมอดนึกถึงพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้
จารึกในนามของท่านบอกว่าโปรดให้เอากระดิ่งผูกไว้หน้าประตู เผื่อใครเดือดร้อนจะได้สั่นกระดิ่งเชิญท่านมาไต่สวนทวนความแก้ปัญหาให้ได้
ผมอ่านจารึกนี้ด้วยความเชื่อตลอดมาว่า โฆษณาชวนเชื่อแหงๆ เพราะในทางปฏิบัติกระดิ่งลูกเดียวแก้ปัญหาไม่ได้แน่
แต่ได้เห็นชาวบ้านยิงธนูเข้าทำเนียบแล้วจึงเข้าใจ
จะมีคนสั่นกระดิ่งจริงสักกี่คนไม่สู้สำคัญนัก แต่กระดิ่งเป็นสัญลักษณ์หรือความหมายที่พ่อขุนราม
(ตามจารึก) ให้ไว้แก่การปกครองของพระองค์ นั่นคือเป็นการปกครองเปิด
เจ้าเมืองมีไว้ให้ใครๆ ก็เข้าถึงได้
ไม่มีใครสั่นกระดิ่งเลยก็ไม่เป็นไร แต่กระดิ่งทำให้อุ่นใจว่าถึงที่สุดแล้ว
เรายังมีหูของผู้ปกครองที่พร้อมจะฟังเรา ในขณะที่การยิงธนูคือความอับจนสิ้นหนทางของคนไร้อำนาจ
ผมอยากเดาว่าสมัชชาคนจนก็รู้ความหมายนี้เหมือนกัน และที่ทำก็เพื่อสื่อความหมายอันนี้แหละแก่สังคม
ส่วนสื่อแล้วจะได้ผลหรือไม่เป็นคนละเรื่อง
ทำไมคนจนคนไร้อำนาจจึงต้องใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย ?
คําตอบง่ายที่สุดก็คือ เพราะคนมีอำนาจ (ซึ่งไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
แต่รวมถึงชนชั้นที่มีอำนาจทั้งหมดด้วย) ยึดกุมความหมายของการกระทำ,
ของพื้นที่, ของการสื่อสารสาธารณะไว้หมด เช่น
ถ้าทำหนังสือร้องเรียนไปตามลำดับขั้น
ความหมายก็คือ เมื่อผูใหญ่ระดับสูงสุดตัดสินใจอย่างไรแล้ว นั่นก็คือต้องยอมรับโดยดุษณี
เพราะการทำหนังสือมีความหมายมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า วิจารณญาณของผู้ใหญ่ถือเป็นที่สุด
แม้คำตัดสินนั้นไม่ประกอบด้วยเหตุผลข้อมูล แต่ลำเอียงและไม่เป็นธรรม
ผู้ทำหนังสือก็ไม่มีสิทธิ์จะไปชี้แจงแย้งความแต่อย่างไร
เขาให้ความหมายของสิ่งต่างๆ
ไว้ก็เพื่อให้คนยอมรับอำนาจของเขา เหตุดังนั้นจึงไม่เหลือช่องว่างในการสื่อสารสาธารณะตามปรกติ
สำหรับคนไร้อำนาจใช้เพื่อต่อรองอย่างเสมอหน้ากับคนอื่นได้ คนจนคนไร้อำนาจจึงต้องสร้างความหมายใหม่ขึ้นด้วยสัญลักษณ์
โดยอาศัยเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกให้ความหมายเอาไว้ เช่นยิงธนูก็เพื่อบอกว่า
ผู้ปกครองไม่ฟังคนจน
หรือเช่นถนน
พื้นที่ถนนนี่น่าสนใจนะครับ ผมได้ข่าวว่า ส.ส. กำลังจะผลักดันกฎหมายเอาผิดคนชุมนุมบนพื้นถนนให้แรง
ถือว่าบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมอย่างร้าย (โดยเฉพาะถนนที่รถติดวินาศสันตะโรของกรุงเทพฯ)
ฉะนั้น ผมจึงอยากคุยถึงพื้นที่ถนนที่คนจนคนไร้อำนาจมักใช้สำหรับสื่อสารกับสาธารณะสักหน่อย
ถนนเป็นพื้นที่ซึ่งแทบไร้ความหมายในสังคมไทยปัจจุบันเลยนะครับ
มีไว้สำหรับให้เกิดการสัญจรได้สะดวก โดยแบ่งลำดับขั้นความสะดวกไว้ให้แก่คนมีเงินก่อน
แล้วก็ทอนความสะดวกลงมาตามระดับของทรัพย์ในกระเป๋า คือรถยนต์ส่วนบุคคลไปก่อน
รมเมล์ตามมา และคนเดินถนนท้ายสุด ถึงอย่างไรทุกคนก็ได้ไปในที่สุด
ไปโดยมีความราบเรียบในสังคมเสียด้วย เพราะทุกคนอยู่ในที่ซึ่งควรจะอยู่
ฉะนั้น
ในท่ามกลางความไร้ความหมายของถนน พื้นที่นี้ก็เริ่มมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของจักรกลสังคม
ตราบเท่าที่ถนนยังจอแจอยู่ ก็ดูเหมือนเฟืองของจักรกลสังคมยังขับเคลื่อนหมุนไปได้ตามปรกติ
(ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า ถนนในสังคมไทยสมัยก่อนมีความหมายถึงพื้นที่ซึ่งไม่มีเจ้าของ
หรือไม่เป็นของใคร เราจึงพูดถึง "หมากลางถนน" ในขณะที่ฝรั่งเรียกหมาชนิดนี้ว่า
"หมาออกนอกลู่นอกทาง" และพูดถึง "ด็กข้างถนน" คือไม่มีบ้าน ถ้าถนนคือพื้นที่ซึ่งไม่มีเจ้าของ
ใครจะใช้มันทำอะไรก็ย่อมได้)
ท่ามกลางความกำกวมของความหมายพื้นที่ถนนอย่างนี้แหละครับ
ผมคิดว่าคนจนคนไร้อำนาจใช้ถนนเป็นสื่อสาธารณะสำหรับส่งสารของตัวแก่สังคม
ประท้วงริมหรือกลางถนน หรือแม้แต่ปิดถนน ก็คือบอกว่าจักรกลของสังคมจะดำเนินไปตามปรกติอย่างราบเรียบไม่ได้
ถ้าปล่อยให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างที่เขาเผชิญอยู่ผ่านไปโดยไม่แก้ไข
ในขณะเดียวกัน
เขาขอใช้พื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นของใครเพื่อบอกเล่าความทุกข์ยากของเขาแก่สังคม
พื้นที่ถนนทำให้เขาคือคนสิ้นไร้ไม้ตอก ไร้อำนาจ ไร้ความเหลียวแล
เหมือนอะไรที่เป็น "กลางถนน" ในความหมายเก่า
นอกจากนี้
ถนนในความหมายเก่ายังหมายถึงที่ซึ่งไร้ความเป็นส่วนตัวอย่างสิ้นเชิง
ตะขอหลุดหรือซิปแตกกลางถนนเป็นเรื่องน่าอาย ฉะนั้น การที่คนจนไปกินอยู่หลับนอนอยู่กลางถนนจึงเป็นการบอกคนอื่นไปพร้อมกันว่า
เขาคือคนอับจนสิ้นหนทางจนกระทั่งต้องเอาความเป็นส่วนตัวมาแฉกลางที่สาธารณะอย่างสิ้นอาย
ความเป็นคนไร้อำนาจ
ไร้ทางไปอย่างสิ้นเชิงเห็นได้ชัดด้วยเพิงพักที่เปิดโล่งริมถนน ใครที่โง่พอจะจัดกำลังอันธพาลไปทำร้ายเขาจึงไร้สติปัญญาเสียจนสังคมรับไม่ได้
เพราะเป็นการรังแกคนอ่อนแอไม่มีทางสู้อย่างน่าขยะแขยง ความหมายที่คนจนคนไร้อำนาจใช้พื้นที่ถนนเป็นตัวสื่อนี้จึงมีความ
"แรง" มากในวัฒนธรรมไทย
เปรียบเทียบกับในวัฒนธรรมฝรั่ง
แทบไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะในถนนของฝรั่ง มีการประท้วงกันทุกวันโดยหนังสือพิมพ์แทบไม่ลงข่าวเอาเลย
แล้วสังคมไทยรับความหมายที่คนจนคนไร้อำนาจสร้างขึ้นให้แก่พื้นที่ถนนนี้ได้หรือไม่
ผมออกจะสงสัยว่ารับได้ เพราะน่าสังเกตว่า การประท้วงบนถนนซึ่งทำให้รถติด
ตลอดจนการปิดถนนนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว แม้ผู้ใช้ถนนจะเดือดร้อน ก็ได้แต่บ่นและแสดงความรำคาญเท่านั้น
ยอมรับชะตากรรมความซวยของตัวแต่โดยดี ที่ถึงขั้นก่อม็อบลงไปลุยผู้ประท้วงนั้นไม่เคยปรากฏ
ม็อบที่ยกไปลุยผู้ประท้วงในถนนนั้นมีแต่มาจากการ
"จัดตั้ง" หรือ "ปลุกปั่น" ของผู้มีอำนาจทุกที เผลอๆ ก็ใช้นักเลงนำหน้าแล้วเจ้าหน้าที่ลุยตามหลังจนผู้ประท้วงหัวร้างข้างแตก
เหตุที่คนไทยทั่วไปมีขันติธรรมต่อการประท้วงบนพื้นที่ถนนนั้นก็เพราะ
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ประท้วงมักจะประท้วงด้วยเหตุของความจำเป็นตามธรรมชาติ
เช่น สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วหายใจไม่ออก ปิดเขื่อนปากมูลแล้วไม่มีกิน
ฯลฯ เป็นต้น
ผมคิดว่ามนุษย์เราไม่ว่าจะสร้างระเบียบสังคมที่สลับซับซ้อนขึ้นมาแค่ไหนก็ตาม
แต่สิ่งที่มนุษย์ที่ไหนๆ ก็ยอมรับให้อยู่เหนือระเบียบเหล่านั้นก็คือธรรมชาติ
หิวก็ตาม ขี้จะแตกก็ตาม ลูกจะออกก็ตาม เป็นลมก็ตาม ฯลฯ ย่อมมีอำนาจละเมิดมารยาท
ประเพณี กฎหมาย หรือระเบียบสังคมอื่นใดได้หมด
ตราบเท่าที่คนจนคนไร้อำนาจใช้พื้นที่ถนนในการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิตามธรรมชาติเช่นนี้
เขาก็สามารถใช้พื้นที่ถนนสื่อสารของเขาสู่สาธารณะอย่างได้ผลอยู่ตราบนั้น
การอ้างระเบียบกฎหมายอะไรก็ไม่มีความ
"แรง" เทียบเท่าได้ทั้งนั้น
ในโลกที่ความหมายถูกคนอื่นยึดจองไปหมดแล้ว
คนจนคนไร้อำนาจต้องหาพื้นที่ว่างสำหรับสร้างความหมายใหม่ของตนเอง
หรือแม้แต่ต้องแย่งยึดเอาพื้นที่เก่าเพื่อนิยามความหมายใหม่ของตนเองลงไปบ้าง
นี้เป็นธรรมดาโลก
นิธิ
เอียวศรีวงศ์
มติชน
สุดสัปดาห์ เดือนธันวาคม
|