หนุ่มสาวดัดจริต > ๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรคนแรก
 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ศิลปวัฒนธรรม , ปีที่ 5 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2547

อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญในสังคมสยามในช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๖๐ คือ การที่ราษฎรเสื่อมความนิยมต่อราชสำนักมาก อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บันทึกของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล พูดถึงบรรยากาศในช่วงเวลานั้นไว้ว่า "ฝ่ายพระราชวงศ์อ่อนแอลงเพราะการแข่งดีกันเอง โดยไม่ทำดีอะไรให้คนนับถือ" และผลที่ตามมาก็คือ "เสียงเกลียดเจ้าค่อยๆ เริ่มขึ้น จนถึงแสดงกิริยาเปิดเผยขึ้นทุกที"๑

ความตกต่ำของราชสำนัก ส่งผลให้ราษฎรมีความรู้สึกนึกคิดต่อราชวงศ์เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" เขียนบทความสะท้อนความรู้สึกเช่นนี้เอาไว้ว่า "พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและที่โง่ บางพระองค์อาจเปนได้ทั้งโง่และทั้งหยิ่ง นี่แหละเปนเหตุ ที่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินดำเนิรไปในทางผิดหวัง ทำให้ประชาชนเห็นตระหนักยิ่งขึ้นทุกขณะว่า ชาติกำเนิดของบุคคลไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกถึงความดีของมนุษย์ต่อไป"๒

พัฒนาการของความเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์แบบนี้ ส่งผลให้ราษฎรมีความรู้สึกนึกคิดต่อระบอบราชาธิปไตยเปลี่ยนไปจากเดิม อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนแม้แต่เมื่อพระองค์เจ้าธานีนิวัต ในฐานะเสนาบดีกระทรวงธรรมการ กราบบังคมทูลเสนอโครงการศึกษาของมุสโสลินีในประเทศอิตาลี เพื่อนำมาเป็นข้อคิดในการจัดการศึกษา ให้คนสยามนิยมการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสตอบไปว่า "ความนิยมและนับถือในองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่เคยเป็นมาก่อน ฉันเห็นว่าจะกลับฟื้นขึ้นอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว"๓

ความเติบโตของโลกทัศน์แบบนี้ เป็นสาเหตุโดยตรงที่นำไปสู่จุดจบของการเมืองแบบราชาธิปไตย และการสถาปนาระบอบการปกครองแบบใหม่ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ทำให้ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ขยายตัวได้อย่างเปิดเผยยิ่งขึ้นไปอีก สยามในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักมีฐานะทางการเมืองตกต่ำอย่างถึงที่สุด โดยบรรยากาศเช่นนี้จะดำรงอยู่ไปจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง๔

ความพยายามฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในแทบทุกด้านของฝ่ายนิยมเจ้า เริ่มต้นจากความพ่ายแพ้ทางการทหารในปี ๒๔๗๖ เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นฝ่ายปราชัยในการกบฏ เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร, การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นปีแรกในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๘ โดยพระองค์ทรงครองราชย์โดยพำนักอยู่ในต่างประเทศ ก่อนที่จะเสด็จนิวัติกลับพระนครเป็นเวลาสั้นๆ ในปี ๒๔๘๑

อวสานของราชาธิปไตยนำมาซึ่งบรรยากาศทางการเมืองแบบใหม่ และบรรยากาศทางการเมืองแบบใหม่ ก็เปิดโอกาสให้ราษฎรแสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาได้อิสระ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผลก็คือ "การเมืองของพลเมือง" กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคสมัยนี้ และก็เป็นช่วงเวลาแบบนี้เอง ที่ราษฎรผู้ทุกข์ยากได้ฉวยไว้ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการขจัดความอยุติธรรม ที่พวกเขาได้รับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ภายใต้ห้วงเวลานี้เองที่ ถวัติ ฤทธิเดช แสดงบทบาททางประวัติศาสตร์ของเขาออกมาให้ปรากฏ! เป็นบทบาททางประวัติศาสตร์ ที่หลายเรื่อง ก็เป็นหลักไมล์ของการเมืองไทยสมัยใหม่มาจวบจนปัจจุบัน

ถวัติเป็นผู้นำในการสไตรก์ครั้งแรกของคนงานในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เขาเป็นตัวแทนของคนยากจนในการต่อสู้กับความอยุติธรรม ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้ชื่อว่าเป็นสามัญชนคนแรก ที่ฟ้องร้องพระเจ้าอยู่หัวว่าดูหมิ่นประชาชน

 

ปลุกพวกกรรมกรให้ตื่น

ถวัติเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ในครอบครัวของชาวสวนแห่งอำเภอบางช้าง และได้รับการศึกษาจากการบวชเรียนกับธรรมยุติกนิกายแห่งสำนักเทพศิรินทร์ เขาเริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งเสมียนแห่งกรมอู่ทหารเรือใน พ.ศ. ๒๔๖๐ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ แล้วหันเหวิถีชีวิตมาสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ และเริ่มต้นบทบาททางสังคมและการเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ถวัติเริ่มต้นชีวิตนักหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์สยามสักขี แต่บทบาททางสังคมและการเมืองของเขาจะเริ่มปรากฏ ก็ต่อเมื่อเข้าไปรับหน้าที่บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ "กรรมกร" ในปี ๒๔๖๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ "ผจญต่อต้านเหล่าอำมาตย์ทุจริตซึ่งคิดมิชอบ" และ "ปลุกให้พวกกรรมกรตื่นขึ้นจากหลับ... ประหารสภาพของพวกกรรมกรให้พ้นจากความเปนทาษ"๕

และเมื่อคนงานรถรางจำนวน ๓๐๐ คนเศษ ทำการนัดหยุดงาน หนังสือพิมพ์กรรมกรก็แสดงจุดยืน สนับสนุนการต่อสู้ของคนงานอย่างเต็มที่ ในรูปของการรายงานข่าว และตีพิมพ์บทความที่ชี้แจงเหตุผล และความจำเป็นในการเคลื่อนไหวของฝ่ายแรงงาน

อุดมคติของรัฐราชสำนักคือ ความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระบรมเดชานุภาพ ที่จะปกป้องราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ยาก ถึงแม้พระราชอำนาจของพระองค์จะเป็นอิสระ และอยู่เหนือปวงชน ภายใต้อุดมคติแบบนี้ "ความเปนทาษ" ย่อมชี้ให้เห็นว่าพระบรมเดชานุภาพอยู่ในสภาพอ่อนแอ ส่วนรัฐบาลของพระองค์ก็ปราศจากประสิทธิภาพ และเพราะเป็นเช่นนี้ ผู้นำทางการเมืองในรัฐราชสำนัก จึงไม่อาจยอมรับว่า ราษฎรมีความทุกข์และตกอยู่ในสภาพของ "ความเปนทาษ" ได้ ดังปรากฏตัวอย่าง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสว่า คนงานนั้น "หาได้เดือดร้อนจริงจังอันใดไม่"๖

และเมื่อกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในฐานะเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายตรวจตราโรงงาน เพื่อคุ้มครองคนงาน พระองค์ก็มีพระบรมราชวินิจฉัยกลับไปว่า "เปนของควรคิดอย่างยิ่ง แต่ว่าไม่ใช่ทำกฎหมายเพื่อป้องกันคนงาน"๗

ถวัติอาศัยหนังสือพิมพ์กรรมกรพูดถึงความจริงของราษฎร ซึ่งแตกต่างไปจากความจริงของราชสำนัก ผลก็คือกรมราชเลขาธิการจับตามองหนังสือพิมพ์ของเขาอย่างไม่ไว้วางใจ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่สามารถจับกุมเขาได้ เพราะถวัติทำหนังสือพิมพ์กรรมกร โดยอาศัยชื่อบุคคลในบังคับต่างชาติบางราย สมอ้างเป็นบรรณาธิการตามกฎหมาย และเมื่อจับกุมไม่ได้ เจ้าพระยายมราช ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงใช้อำนาจและอิทธิพลต่างๆ กดดันจนหนังสือพิมพ์กรรมกรต้องปิดฉากลงไป หลังจากวางแผงจำหน่ายได้เป็นเวลา ๓ ปี

น่าสนใจว่าภัยจากอำนาจรัฐไม่ได้ทำให้ถวัติย่อท้อในการต่อสู้เพื่อสัจจะ ซ้ำการคุกคามของอำนาจอสัตย์ ยังเป็นแรงกระตุ้นให้ถวัติพูดความจริงตามอาชีวปฏิญาณยิ่งขึ้นไปอีก เขาเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ โดยเปิดเผยตัวเอง ในฐานะบรรณาธิการตามกฎหมายของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เจตนารมณ์เช่นนี้ทำให้หนังสือพิมพ์ "ปากกาไทย" วิพากษ์วิจารณ์ความไม่ถูกต้องของรัฐบาลในระบอบราชาธิปไตยอย่างเต็มที่

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับพระคลังข้างที่ ซึ่งเก็บค่าเช่าห้องแถวอย่าง "ขูดเอาเลือดเนื้อ" ๘ จากประชาชน หรือการตีพิมพ์บทความที่ตั้งคำถามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า "ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร แยกออกจากกันได้ไหม มีผลอย่างไร"๙

อดทนกับถวัติได้ไม่นาน รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีคำสั่งให้จับกุมเขาด้วยข้อหาหมิ่นประมาท เขาถูกคุมขังในสภาพห้ามเยี่ยมห้ามประกันเป็นเวลา ๓ วัน โดยทางฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะสร้างหลักฐานว่าถวัติมีความผิด แต่เมื่อไม่สามารถหาพยานมายืนยันความผิดได้ ฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องคืนอิสรภาพให้แก่ถวัติไป

 

ฎีกาและกรรมกร

หนังสือพิมพ์ต้องอาศัยทุน และถึงแม้ปากกาไทยจะมียอดขายสูงถึง ๑๐,๐๐๐ ฉบับ ต่อเดือน ถวัติก็ไม่มีเงินทุนมากพอจะดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์ต่อไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงหันไปอาศัยช่องทางอื่นเพื่อประหัตประหาร "สภาพของความเปนทาษ" โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านฎีกา

ฎีกาเป็นจารีตทางการเมือง ที่ถือว่าราษฎรสามารถร้องทุกข์ความเดือดร้อน ให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบได้โดยตรง เพื่ออาศัยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไปลงโทษมูลนาย หรือขุนนางอำมาตย์ ที่ปฏิบัติราชกิจผิดไปจากพระบรมราโชบาย แต่ราษฎรในระบอบราชาธิปไตยนั้น อาจประสบทุกข์ภัยจากความฉ้อฉลของขุนนางอำมาตย์ได้เท่าๆ กับรัฐประศาสนศาสตร์ที่ผิดพลาด ขององค์พระประมุข และยิ่งการเมืองการปกครองรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์มากเท่าไร พระองค์ก็ยิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ต่อรัฐประศาสโนบายที่ผิดพลาดได้มากขึ้นเท่านั้น

กล่าวในแง่นี้แล้ว แม้ฎีกาจะแสดงถึงความยอมรับ ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ฎีกาก็เป็นกระจกสะท้อน ให้เห็นความหย่อนประสิทธิภาพ ในการว่าราชการแผ่นดินของพระองค์ไปได้พร้อมๆ กัน

พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๔๗๕ คือช่วงเวลาที่ถวัติเขียนฎีกา ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้หลายฉบับ บางฉบับก็เขียนขึ้นจากคำร้องขอของราษฎร ที่ประสบทุกขภัยจากรัฐประศาสโนบายที่ผิดพลาด เช่นฎีกาเรื่อง "การแก้ไขฐานะของชาวนา" ที่ถวัติเขียนตามคำร้องขอของชาวนาอำเภอหนองจอกและบางน้ำเปรี้ยวราว ๑,๐๐๐ ราย เพื่อถวายความเห็นว่า "แม้รัฐบาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะพยายามแก้ไขความเดือดร้อนทุกข์ยากของพวกเขาอย่างไร ประชาชนก็ยังมองไม่เห็นผล"๑๐

และหลายฉบับก็เขียนขึ้นเพื่อเสนอความคิดเห็นของเขาเอง เช่นฎีกาเสนอความเห็นเพื่อช่วยผู้ที่ไม่มีงานทำและชาวนา หรือฎีกาที่ตั้งคำถามกับรัชกาลที่ ๗ หลังจากเสด็จกลับจากการพระราชดำเนินไปต่างประเทศในปี ๒๔๗๔ ว่า "หนังสือพิมพ์ปีนังกาเซตต์ลงข่าวว่า การที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จรักษาพระเนตร์ ต้องเสียพระราชทรัพย์แพงที่สุดในประวัติการ คือ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต้องใช้พระราชทรัพย์สินไปประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ปอนด์ (ราวสองล้านห้าแสนบาท) ความจริงมีเพียงไร แลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงใช้จ่ายไปจริงเท่าไร"๑๑

ชื่อเสียงจากการเคลื่อนไหวในระบอบราชาธิปไตย ทำให้ราษฎรผู้ถูกกดขี่ยอมรับอุดมคติและปฏิญาณของถวัติ และเมื่อคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นผลสำเร็จ คนแทบทุกหมู่เหล่าก็ได้รับโอกาสให้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มองค์กรทางการเมืองได้อย่างเสรี จังหวะนี้เอง ที่ถวัติร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเคียงบ่าเคียงไหล่กับกรรมกรรถราง จนได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม (ส.ร.ส.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรจัดตั้งแห่งแรกของผู้ใช้แรงงานไทย

จากนั้น เขาก็เข้าไปมีบทบาทอย่างสูงในการนัดหยุดงานของคนงานรถราง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และการนัดหยุดงานของกุลีโรงสีข้าว ๓๒ แห่ง ในเขตพระนครและธนบุรี ในอีกหนึ่งปีถัดมา ราษฎรไทยมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ทุกข์ยาก มาตั้งแต่ระบอบราชาธิปไตย และภายใต้ระบอบการเมืองใหม่ ที่เชิดชูคุณค่าเรื่องเสรีภาพ มากกว่าระบอบการเมืองโบราณ การต่อสู้ของถวัติและกรรมกรรถราง เป็นแรงบันดาลใจให้ราษฎรกลุ่มอื่นลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความอารยะในชีวิต ดังที่ในเดือนธันวาคม ๒๔๗๗ คนขับแท็กซี่ในพระนครชุมนุมใหญ่ เพื่อกดดันให้เจ้าของอู่รถยอมเพิ่มค่าแรง เดือนมิถุนายน ๒๔๗๘ คนขับรถเมล์สายเชียงใหม่-ลำปาง นัดหยุดงานด้วยเหตุผลเดียวกัน เดือนสิงหาคม ๒๔๗๙ คนงานเหมืองแร่ที่ยะลาก่อการสไตรก์เพื่อประท้วงสภาพการทำงานที่โหดร้าย๑๒ ฯลฯ

ประสบการณ์ในการเรียกร้องความยุติธรรมร่วมกับกรรมกรรถราง และกุลีโรงสีข้าว ทำให้ถวัติเข้าใจปัญหาของคนยากไร้ ในแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม เขาเริ่มมองเห็นว่า แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะทำให้ประชาชนชาวไทยมีอิสรภาพและเสรีภาพ แต่ "กรรมกรสยามยังมิได้พ้นจากความกดขี่ ยังคงเป็นทาษน้ำเงินนายจ้างอยู่"๑๓

และเมื่อการเคลื่อนไหวของคนงาน ถูกฝ่ายพ่อค้าและนายจ้างประทุษร้าย ถึงขั้นหว่านล้อมให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุลีจีนโรงสีข้าว ๓๐ ราย ถวัติก็ตระหนักในทันทีว่า อำนาจของ "เงิน" จะปกครองประเทศ เขากล่าวว่า "ธนานุภาพจะครอบคลุมสยาม"๑๔

จริงอยู่ว่าถวัติแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเขาสนับสนุนคณะราษฎร ไม่ว่าจะโดยการนำกรรมกรรถราง ไปสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาลในช่วงสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ หรือนำกรรมกร เข้าร่วมกองกำลังรักษาความสงบภายในพระนครและกองทหารอาสา เพื่อทำสงครามปราบกบฏบวรเดช แต่การต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับคนงาน ทำให้ถวัติได้บทเรียนว่า แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ลำพังการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการเมืองนั้น ไม่เพียงพอที่จะนำชีวิตที่ดีมาสู่ผู้ใช้แรงงาน

 

ฟ้องพระปกเกล้าฯ

ถึงพลังฝ่ายนิยมเจ้าจะไม่พอใจถวัติ มาตั้งแต่คราวทำหนังสือพิมพ์ และถวายฎีกา ในสมัยราชาธิปไตย คนเหล่านี้ก็ปีติ ที่เห็นถวัติเคลื่อนไหวร่วมกับกรรมกร ภายใต้ระบอบการเมืองแบบใหม่ พลังฝ่ายนิยมเจ้าอาศัยประเด็นแรงงานไปโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อโจมตีคณะราษฎร

แต่เมื่อถวัติและฝ่ายคนงานแสดงให้เห็นว่า มีไมตรีกับผู้นำพลเรือนในระบอบใหม่ พวกเขาก็พลอยตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายนิยมเจ้าไปด้วย ดังปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสพาดพิงถึงถวัติเอาไว้ใน "พระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ว่า "ยุ" ให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะได้เป็นโอกาสตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบายไป" ส่วนคนงานรถรางที่นัดหยุดงานนั้น "หาได้เดือดร้อนจริงจังอันใดไม่"๑๕ พระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นเอกสารทางการเมือง

ที่สัมพันธ์โดยตรงกับการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎร และพลังฝ่ายอนุรักษนิยมในระบอบใหม่ โดยเฉพาะการต่อสู้ระหว่างฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ตัวถวัติไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมืองเหล่านี้ แต่ก็มีพระราชกระแสพาดพิงถึงถวัติ เพื่อที่จะต่อต้านความคิดของนายปรีดี เรื่องความระส่ำระสาย และความทุกข์ยากของราษฎร ในระบอบราชาธิปไตย

สงครามทางการเมืองที่ชนชั้นนำในระบอบเก่า กระทำต่อผู้นำพลเรือนของระบอบใหม่ ทำให้ถวัติถูกกล่าวหาอย่างปราศจากความยุติธรรม ว่าเป็นพวก "ยุ" เพื่อให้ "ได้รับเงินเดือนกินสบาย" และเมื่อตัวเขาและพวกกรรมกรรถรางถูกกล่าวถึงในทางเสื่อมเสียเช่นนี้ ถวัติจึงมอบหมายให้ ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร เป็นทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทราษฎร ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๗๖ ๑๖

ศาลสถิตยุติธรรมปฏิเสธที่จะพิจารณาคำฟ้องร้องของถวัติ โดยอ้างมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีใจความว่า "องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาก็สั่งการ ให้อัยการฟ้องว่าถวัติมีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยได้ทำโทรเลขแจ้งสำนักพระราชวังให้รับทราบเรื่องนี้ในทันที

ผู้ถูกกล่าวหากลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีไปก็ด้วยเหตุฉะนี้ และถึงตอนนี้ หนทางเดียวที่ถวัติจะต่อสู้เพื่อปกป้องเกียรติยศและชื่อเสียงของเขา ก็คือการอาศัยกฎหมายและกลไกของกระบวนการยุติธรรม โดยถวัติได้เสนอคำแถลงการณ์เปิดคดีฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยอาศัยความในมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในเวลานั้น ซึ่งระบุว่า "กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย" คำแถลงเปิดฟ้องคดีของถวัติ ทำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเผชิญปัญหาซึ่งจัดการได้ไม่ง่าย

คำอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนฯ หลายราย สะท้อนให้เห็นความลังเล และไม่สามารถตัดสินใจ ระหว่างหลักนิติธรรม และความเสมอภาค ตามอุดมคติของประชาธิปไตยสมัยใหม่ กับจารีตทางการเมืองแบบไทยๆ ที่ตกค้างมาตั้งแต่รัฐโบราณ ความอึมครึม ทำให้สภาในวันนั้นเต็มไปด้วยการแสดงโวหารทางการเมือง ที่ซุกซ่อนไปด้วยเป้าหมายหลายชนิด การประชุมดำเนินไปด้วยไหวพริบปัญญามากพอๆกับการช่วงชิงเหลี่ยมคูทางการเมือง ในขณะที่นอกสภาผู้แทนราษฎรออกไป พลังการเมืองเกือบทุกฝ่ายก็จ้องจะใช้ความเคลื่อนไหวของถวัติ ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดทางการเมืองของฝ่ายตัวเอง

 

ประเมินค่า

ถวัติมีชีวิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เขาเติบโตในช่วงที่ "การเมืองพลเมือง" ท้าทายการเมืองแบบราชสำนัก เขาสัมพันธ์กับราษฎรกลุ่ม ซึ่งอยู่ในจุดมืดมิดที่สุดในพัฒนาการทางเศรษฐกิจของรัฐไทย เขาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในช่วงที่จารีตทางการเมืองแบบโบราณเสื่อมความนิยมอย่างเต็มที่ และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองที่ถวัติค่อยๆ กำหนดบทบาท และนิยามตัวตนของเขาขึ้นมา โดยปกติของมนุษย์ที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมหวาดกลัว บ้างก็กลัวเพราะความไม่รู้อนาคตในวันหน้า บ้างก็กลัวว่าจะเสียความมั่นคงที่มีมาแต่อดีต แต่ถวัติทำอะไรหลายอย่าง ซึ่งส่อให้เห็นว่าเขาปราศจากความกลัวแบบนี้

โลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ถวัตินิยามอัตลักษณ์ของความเป็นประชาชนเปลี่ยนไป และความเป็นประชาชนแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างถึงที่สุด ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ถวัติพูดความจริงว่าสยามกดขี่ผู้คนให้ตกอยู่ในสภาพความเป็นทาส ถวัติพูดความจริงว่าราษฎรมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีที่พึงภูมิใจ ถวัติยืนยันว่า แกนกลางของการเมืองสมัยใหม่ คือความเสมอภาคระหว่างบุคคลอย่างถ่องแท้

ความจริงทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง และเพราะเป็นเรื่องจริงเช่นนี้ ถวัติจึงกลายเป็นคนที่ "แปลกแยก" และ "เป็นอื่น" จากประชาชนในอุดมคติของรัฐไทย

ถวัติเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ และคงมีบุคคลในประวัติศาสตร์อีกมากที่เป็นอย่างถวัตินี้

คนแบบนี้ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ไทย เพราะประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับอำนาจในปัจจุบัน เกินกว่าจะปล่อยให้อดีตและความจริงเป็นอิสระได้

เชื่อกันว่าอดีตทำให้รู้จักปัจจุบัน และเมื่อเข้าใจปัจจุบัน ก็ย่อมเท่าทันอนาคต แต่ปัจจุบันต่างหากเขียนอดีต สัมฤทธิผลในการควบคุมอดีต จึงแสดงให้เห็นสัมฤทธิผลในการควบคุมปัจจุบัน

 

เชิงอรรถ

๑. พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น : ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๔), หน้า ๘๗.

๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์. ศรีกรุง. ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕.

๓. หจช. ร.๗ ศ.๗/๑ เรื่อง พระราชกระแส ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๗๕

๔. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับกรณี ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก, ๒๕๔๔).

๕. "กรรมกรกับการเมือง", หนังสือพิมพ์กรรมกร. ๒๒ มีนาคม ๒๔๖๖.

๖. เดือน บุนนาค, ศาสตราจารย์. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์สามัคคีธรรม, ๒๕๑๗), หน้า ๒๙๔.

๗. หจช. ร.๗ พ.๑๓/๑ เรื่อง กรรมกร

๘. "กรมพระคลังข้างที่กับมนุษย์น่าเลือด", ปากกาไทย. ๙ กันยายน ๒๔๖๙.

๙. "ข้อปัญหาของเถรตรง", ปากกาไทย. ๘ มกราคม ๒๔๖๘.

๑๐. หจช. ร.๗ รล.๒๐/๑๘๓ เรื่อง นายถวัติ ฤทธิเดช แสดงความเห็นวิธีแก้ไขฐานะของชาวนา

๑๑. หจช. ร.๗ ม.๒.๑/๕๙ เรื่อง ขอพระราชทานอินเตอร์วิวข่าว

๑๒. Thompson, Virginia. Labor Problems in Southeast Asia. (New Haven : Yale University Press, 1947), p.240.

๑๓. หจช. (๒) สร.๐๒๐๑.๗๕/๓ เรื่อง กรรมกรรถรางและสมาคมกรรมกรรถราง (จดหมายจากนายกสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม ถึงนายกรัฐมนตรี วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๗๕)

๑๔. หจช. (๒) สร.๐๒๐๑.๗๕/๑๘ เรื่อง กรรมกรโรงสีไฟ (จดหมายจาก นายถวัติ ฤทธิเดช ถึงนายกรัฐมนตรี วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖)

๑๕. เดือน บุนนาค, ศาสตราจารย์. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สามัคคีธรรม, ๒๕๑๗), หน้า ๑๑๕-๑๑๖.

๑๖. หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๗๖, และ นายหนหวย (นามแฝง), เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ. (กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏผู้จัดพิมพ์, ๒๕๓๑), หน้า ๔๕๖.




หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘