หนุ่มสาวดัดจริต > ชีววิทยา - ศาสตร์ว่าด้วยชีวิต

เล่ม This is biology นี้ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ. ๑๙๙๗ ว่าด้วยภาพรวมของชีววิทยา มัยเออร์เขียนหนังสือเล่มนี้เนื่องจากความคับข้องใจ อันเกิดจากความเข้าใจผิดของบุคคลอื่น และแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง ว่าด้วยตำแหน่งแห่งที่ของชีววิทยา ในพื้นที่ความหมายของวิทยาศาสตร์ และความเป็นศาสตร์ในตนเอง ดังที่เขายกตัวอย่าง โครงสร้างการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ของโธมัส คูห์น นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งยง ขึ้นมาวิจารณ์ว่าคงใช้ได้เฉพาะวิชาฟิสิกส์เท่านั้น ทั้งยังแสดงความประหลาดใจ ที่ดาร์วินไม่ค่อยได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญา เทียมเท่ากับนักฟิสิกส์ยุคสมัยเดียวกัน เขายังเสียดสีอีกหลายคนพอแสบ ๆ คัน ๆ ในอีกหลายแห่งหลายที่ ทำให้เราพอจะเห็นความหงุดหงิดและน้อยใจของเขา ในฐานะนักชีววิทยาได้บ้าง

เนื้อหาแบ่งเป็น ๑๒ บท เริ่มจากการเล่าถึงความพยายามในการนิยามความหมายของคำว่า “ชีวิต” ตั้งแต่อดีต ต่อด้วยประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์โดยคร่าว เพื่อให้เห็นที่มาของรากฐานความคิด และเป้าหมายของวิทยาศาสตร์ ที่จะพยายามอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ โดยชี้ให้เห็นว่า แม้ชีววิทยาจะมีกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่บนการสังเกตเสียมากกว่าการทดลอง และไม่ใคร่จะมีสมการคณิตศาสตร์ ดังเช่น ฟิสิกส์ หรือเคมี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชีววิทยามิได้มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นแต่ว่าแตกต่างไปจากแบบแผนเดิม และยังมุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ ในกรอบของสิ่งมีชีวิต แต่ละวิชาเองก็มีขอบเขตในการอธิบายความจริงระดับหนึ่ง แตกต่างกันไป

กลางเล่มจึงว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับชีววิทยาล้วน เริ่มจากการแบ่งสาขาวิชา ตัวเนื้อหา กระบวนการหาคำตอบ และการอธิบายเหตุผล โดยเน้นกล่าวถึง ทฤษฎีวิวัฒนาการ และนิเวศน์วิทยาระดับต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นความหมายหลากมุม และความขัดแย้งของกรอบความคิดที่เกี่ยวข้อง

ในตอนท้าย มัยเออร์พยายามอธิบายให้เห็นกระบวนทัศน์ของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก ตามทัศนะทางนิเวศน์และทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งครอบคลุมไปถึงกระบวนการวิวัฒน์ทางวัฒนธรรม ศีลธรรม จริยธรรม โดยชี้ให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะมีบรรพบุรุษร่วมกันกับสัตว์อื่น แต่ก็แตกต่างจากเดรัจฉานตรงที่ศักยภาพในการวิวัฒน์ทางจิตใจ ระบบคุณค่าทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

มัยเออร์อธิบายเรื่องระบบคุณค่า จากมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการได้อย่างน่าสนใจว่า ระบบคุณค่าเองก็มีแตกต่างกันไปสามระดับ คือ ระดับปัจเจกบุคคล ระดับสังคม และระดับโลก คุณค่าที่ปัจเจกยึดถือมักจะขัดแย้งกับคุณค่าอื่น เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก แต่สังคมที่มีความเจริญ ย่อมมีการจัดลำดับความสำคัญ ของการมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมอยู่เหนือประโยชน์ส่วนตัว ในแต่ละสังคมเองก็มีระบบคุณค่าที่แตกต่างกัน เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นสังคมโลกก็ย่อมมีคุณค่าที่หลากหลาย เราไม่อาจนำคุณค่าหนึ่งไปกำหนดใช้กับทุกสังคมได้ จำต้องมองถึงเหตุปัจจัยของสังคมนั้นโดยรวม เป็นต้นว่า นโยบายของรัฐบาลจีนที่กำหนดให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตรเพียงหนึ่งคน เมื่อมองจากทัศนะตะวันตก ย่อมเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของมนุษย์อย่างรุนแรง แต่หากมองว่าประเทศจีนมีประชากรอยู่มาก และการมีประชากรมากในทางชีววิทยา ย่อมหมายถึงมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น อันเนื่องจากการบริโภคและการปล่อยของเสียโดยมนุษย์ ดังนี้ การไม่ควบคุมจำนวนประชากรของจีนก็จะกลายเป็นเรื่องเบียดเบียนโลก เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เหนือกว่าประโยชน์ส่วนบุคคลนั่นเอง เขายังแสดงความห่วงใยอีกว่า หากกระทั่งพระสันตปาปา ยังไม่เข้าใจเป้าหมายของการคุมกำเนิด ก็คงเป็นการยากที่จะแก้ปัญหา ส่วนคำถามที่ว่าการคุมกำเนิดเป็นการทำลายชีวิตหรือไม่นั้น มัยเออร์ก็ยืนยันชัดเจนว่า สำหรับเขาแล้วในฐานะนักชีววิทยา ไข่และอสุจิก็เป็นชีวิตเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างการอธิบายที่แหลมคมดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นปัญหาความขัดแย้ง ของการปะทะกันของระบบคุณค่าของมนุษย์ในปัจจุบันอีกด้วย มัยเออร์เสนอว่า ระบบคุณค่าที่เหมาะสมกับมนุษยชาติโดยรวมมากที่สุด คือ ระบบที่มีความยืดหยุ่น ไม่ตายตัว เพราะหากแข็งกระด้างเสียจนไม่ยอมปรับเข้ากับอะไร ก็อาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและนำไปสู่ความวิบัติของเผ่าพันธุ์โดยรวมได้ ซึ่งก็หมายความว่า ระบบคุณค่าของมนุษย์ ก็มีศักยภาพในการวิวัฒน์ตนเองขึ้นมาเช่นเดียวกับสิ่งอื่น

มัยเออร์มุ่งหวังว่า หากเราเข้าใจกรอบความคิดทางชีววิทยา ดังเช่น วิวัฒนาการ ความหลากหลายทางชีวภาพ การแข่งขัน การสูญพันธ์ การคัดเลือกทางธรรมชาติ การขยายเผ่าพันธุ์ การพัฒนา ฯลฯ ปัญหาในโลกอย่าง การมีประชากรล้นโลก การทำลายสิ่งแวดล้อม และปัญหาเมืองใหญ่ ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยวรรณกรรม ด้วยประวัติศาสตร์ หากแต่ด้วยกระบวนการ อันเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในรากทางชีววิทยาของปัญหา นั่นคือ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง ก็คงจะช่วยให้เราเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของเราในโลกนี้ และนำไปสู่ความตระหนัก ในความรับผิดชอบต่อธรรมชาติโดยรวมได้ในที่สุด

 

สารบาญ

บทนำ

๑. “ชีวิต” คืออะไร?

            กายภาพนิยม

            จิตนิยม

            องค์กรนิยม

            ลักษณะของสิ่งมีชีวิต

 ๒. วิทยาศาสตร์คืออะไร? 

            กำเนิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

            ชีววิทยาเป็นศาสตร์หนึ่งหรือไม่?

            วัตถุประสงค์ของวิทยาศาสตร์

            เป้าหมายการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 

๓. วิทยาศาสตร์อธิบายธรรมชาติอย่างไร? 

            ประวัติย่อปรัชญาวิทยาศาสตร์

            การค้นพบและการยืนยันผล

            ชีววิทยาภาคปฏิบัติ

            การให้คำจำกัดความแก่ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฏ และความคิดรวบยอด 

๔. ชีววิทยาอธิบายธรรมชาติอย่างไร? 

            สาเหตุในทางชีววิทยา

            ทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการรับรู้

            ความโน้มเอียงสู่ความแน่นอน 

๕. วิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าอย่างไร?

            ความเจริญก้าวหน้าในเรื่องเซลล์

            มีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์หรือไม่?

            วิทยาศาสตร์มีการพัฒนาหลังจากการค้นพบของดาร์วินหรือไม่?

            ขอบเขตจำกัดของวิทยาศาสตร์ 

๖. ชีววิทยามีโครงสร้างอย่างไร? 

            วิธีการทดลองและเปรียบเทียบในทางชีววิทยา

            ความพยายามที่จะจัดโครงสร้างทางชีววิทยาใหม่

            การเคลื่อนย้ายอำนาจในชีววิทยา

            ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ที่มีสีสันหลากหลาย 

๗. คำถามว่าด้วยอะไร: เนื้อหาการวิจัยที่หลากหลายทางชีววิทยา 

            การแบ่งประเภท

            อนุกรมวิธานจุลภาค

            อนุกรมวิธานมหภาค

            การจัดเก็บและค้นข้อมูล

            ระบบของสิ่งมีชีวิต 

๘. คำถามว่าด้วยอย่างไร: ความดำรงอยู่ของปัจเจก 

            พัฒนาการทางชีววิทยาเริ่มแรก

            ผลกระทบจากทฤษฎีเซลล์

            พัฒนาการทางยีน

            พัฒนาการและวิวัฒนาการทางชีววิทยา 

๙. คำถามว่าด้วยทำไม: วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต 

            ความหมายหลากหลายของ “วิวัฒนาการ”

            ทฤษฎีดาร์วินว่าด้วยวิวัฒนาการ  

            ทฤษฎีดาร์วินว่าด้วยจุดกำเนิดร่วมกัน

            ทฤษฎีดาร์วินว่าด้วยการเพิ่มประเภท

            ทฤษฎีดาร์วินว่าด้วย Gradualismus

            ทฤษฎีดาร์วินว่าด้วยการคัดเลือกทางธรรมชาติ

            วิวัฒนาการสังเคราะห์และช่วงเวลาหลังจากนั้น

            ยังคงมีการวิวัฒนาการอยู่หรือไม่?

            ปัญหาถกเถียงในปัจจุบัน 

๑๐. คำถามทางนิเวศน์วิทยา 

            ประวัติย่อของนิเวศน์วิทยา

            นิเวศน์วิทยาของปัจเจก

            นิเวศน์วิทยาของประเภท

            นิเวศน์วิทยาของชุมชน

            Paläoökologie

            ปัญหาถกเถียงทางนิเวศน์วิทยา 

๑๑. มนุษย์อยู่ตรงไหนในการวิวัฒนาการ? 

            ความสัมพันธ์ฉันญาติระหว่างมนุษย์และมนุษย์วานร

            การเกิดขึ้นของมนุษย์

            วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม

            ชาติพันธุ์ของมนุษย์และอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ 

๑๒. ศีลธรรมในวิวัฒนาการ 

            กำเนิดศีลธรรมของมนุษย์

            แต่ละกลุ่มชนกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมอย่างไร?

            ปัจเจกกำหนดศีลธรรมไว้อย่างไร?

            ระบบศีลธรรมใดที่เหมาะสมกับมนุษยชาติมากที่สุด? 

หมายเหตุ 

บรรณานุกรม 

ศัพทานุกรม 

คำขอบคุณ 

ดรรชนี

เกี่ยวกับผู้เขียน

แอร์นสต์ มัยเออร์ - Ernst Mayr

นักวิทยาศาสตร์อายุร่วมร้อยปี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้รับการขนานนามว่า เป็นดาร์วินแห่งศตวรรษใหม่ ศาสตราจารย์ชาวเยอรมันผู้นี้จบการศึกษาทั้งทางด้านชีววิทยา แพทยศาสตร์ และปรัชญา ก่อนที่จะย้ายถิ่นฐาน ไปทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ ประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๓๒ และประจำอยู่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ด้านสัตวศาสตร์ตั้งแต่ปีค.ศ.๑๙๕๓ จนกระทั่งเกษียณอายุในปีค.ศ. ๑๙๗๕ มัยเออร์เป็นทั้งนักเขียนและบรรณาธิการหนังสือรวมกัน ๑๘ เล่ม หลายเล่มส่งผลกระทบค่อนข้างกว้างขวางในวงวิชาการ ดังเช่น การจัดระบบและกำเนิดประเภทของสิ่งมีชีวิต (ค.ศ. ๑๙๔๒) การจัดประเภทสิ่งมีชีวิตและวิวัฒนาการ (ค.ศ. ๑๙๖๓) พื้นฐานการจัดระบบทางสัตวศาสตร์ (ค.ศ. ๑๙๖๙) วิวัฒนาการและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต (ค.ศ. ๑๙๗๖) และ พัฒนาการทางความคิดด้านชีววิทยา (ค.ศ. ๑๙๘๒) เป็นต้น

 



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘