ปัญจศร หรือ ศรทั้งห้าแห่งปัญญา
เป็นชื่อในภาษาเยอรมันของหนังสือ Die fuenf Pfeiler der Weisheit
โดย ติช นัท ฮันห์พระภิกษุชาวเวียดนาม ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มชาวตะวันตกที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
โดยเหตุที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งสังฆะและสถานที่ปฏิบัติธรรม หมู่บ้านพลัมในฝรั่งเศส
อเมริกา และออสเตรเลีย ทั้งเป็นกวีและนักเขียน จึงมีงานเขียนตีพิมพ์ออกมาจำนวนมาก
และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยศีลห้าโดยเฉพาะ เมื่อแรกที่ท่านผู้เขียนดำริว่าน่าจะนำหลักศีลห้ามาตีความ
และประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย สานุศิษย์ของท่านก็ขมวดคิ้ว โดยเหตุที่เขาเหล่านั้นก็ไม่ต่างกับชาวไทยที่ถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เริ่มจำความได้
ว่าศีลห้าก็คือข้อห้าม ห้ามทำโน่นทำนี่ แล้วจะกลายมาเป็นหลักปฏิบัติให้ทำอะไรต่อมิอะไรได้อย่างไร
แต่ภายหลังที่ท่านได้ขยายความให้ฟัง ก็รู้สึกว่าจะเป็นที่น่าทึ่งยิ่งนัก
เพราะการตีความแบบใหม่นั้นครอบคลุมกับภาวะของยุคสมัยปัจจุบัน และมองเห็นภาพชัดเจนยิ่งกว่าคำสอนแบบเดิม
ไม่ว่าจะเป็นศีลปาณาติบาต ที่เราเข้าใจมาแต่เดิมว่าห้ามทำลายชีวิต
ท่านขยายความไปถึง การเรียนรู้ที่จะปกป้องสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ
ศีลข้อห้ามลักทรัพย์ ก็รวมไปถึงการทุจริตคอรัปชัน ความอยุติธรรมทางสังคม
ศีลข้อสามยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของเด็ก ศีลข้อสี่ก็มิได้หมายถึงการห้ามกล่าวเท็จแต่เพียงอย่างเดียว
หากยังรวมไปถึงการตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะพูดแต่ความจริง และถ้อยคำที่ก่อให้เิกิดความหวัง
เบิกบาน และไม่ควรกระพือข่าวที่ตนเองไม่รู้แน่ชัด ตลอดจนละเว้นวาจาที่จะก่อให้เกิดความแตกแยก
ส่วนศีลข้อสุดท้ายมิได้หมายถึงข้อห้ามจากสุราเครื่องดื่มมึนเมาเหมือนแต่เดิม
หากยังขยายความไปถึงการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนา
ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ศีลห้าได้ถูกตีความใหม่ในลักษณาการที่คนร่วมสมัยเข้าใจได้
ทั้งนี้ วิถีชีวิตปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ชีวิตและสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
การมองเห็นความผิดบาปหรือความเบียดเบียนที่มนุษย์สามารถกระทำต่อผู้อื่นนั้น
เป็นไปได้ยากขึ้นตามลำดับ การอ่านหนังสือเล่มนี้ช่วยขยายโลกทัศน์ในการมองโลกและพิจารณาสิ่งต่าง
ๆ ตามเหตุและผลได้อย่างลึกซึ้งและเต็มไปด้วยความเข้าใจมากขึ้น
ความโดดเด่นในท่วงทำนองการเขียนของติช นัท ฮันห์นั้น น่าจะอยู่ที่การทำให้เราประจักษ์่ว่า
การปฏิบัติธรรมนั้นสามารถกระทำได้ในทุกปัจจุบันขณะ และแม้ในการดำรงชีวิตประจำวันปรกติธรรมดา
โดยมิจำเป็นว่าต้องไปที่วัดหรือแสวงหาสถานที่เพื่อสร้างความสงบภายใน
การอธิบายธรรมะของท่านเป็นที่เข้าใจง่าย และเหมาะสมกับยุคสมัย จึงไม่น่าแปลกใจ
ที่เหตุใดคำสอนของท่านจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมชาวตะวันตก
หนังสือธรรมะนั้นมีข้อแตกต่างจากหนังสือประเภทอื่นอยู่ข้อหนึ่งตรงที่ว่า
ผลของหนังสือมิได้อยู่ที่ความอิ่มเอมทางความคิดหรืออารมณ์ ผู้อ่านมิอาจบรรลุโสดาบันได้จากการอ่านหนังสือธรรมะดี-ดี
เพราะการทำหรือการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นต้องเกิดจากจิตใจ ที่พิจารณาเหตุและผลอย่างแยบคาย
โดยเหตุที่ทุกวันนี้เรามีวิธีที่จะพัฒนาสมองไปได้มาก แต่การพัฒนาจิตใจนั้นมิอาจจะเกิดจากความคิดแต่เพียงอย่างเดียวได้
หากแต่ต้องเกิดจากการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
การที่ข้าพเจ้าแนะนำหนังสือเล่มนี้ก็โดยเหตุที่ว่า หนังสือธรรมะเล่มนี้ไม่ได้เป็นยาขมของคนรุ่นใหม่
ทั้งเป็นโอกาสที่ชาวไทยพุทธจะได้รู้จักธรรมะจากสายมหายานบ้าง ว่าเขามีดีอย่างไร
ข้อไหนน่าสนใจควรที่จะมาเรียนรู้แลกเปลี่ยนสนทนาระหว่างกันต่อไปในอนาคต
|