งานกักกันพืช
     
การกักกันพืช
ความหมายการกักกันพืช

              "กักกันพืช" คือ การควบคุมและตรวจสอบพืช ศัตรูพืชและการเคลื่อนย้ายพืชให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ระเบียบข้อบังคับและถูกต้องหลักวิชาการ เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูพืชแพร่ระบาดจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศเอง

ลักษณะงานของการกักกันพืช

โดยพิจารณาถึงความคล่องตัวและให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การกักกันพืชจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็น 5 ลักษณะงานหรือกลุ่มงาน คือ

1. งานด้านวิชาการกักกันพืช เป็นการศึกษษวิจัยหาวิธีการหรือนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการตรวจพืช วินิจฉัยศัตรูพืช และกำจัดศัตรูพืช

2. งานด้านปฏิบัติการกักกันพืชขาเข้า เป็นการควบคุมการนำเข้าและนำผ่านพืชให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับและทำการตรวจพืชศัตรูพืชตลอดทั้งกำจัดศัตรูพืช ณ ด่านตรวจพืชที่นำเข้า

3. งานด้านปฏิบัติการกักกันพืชขาออก เป็นการตรวจพืช ศัตรูพืช กำจัดศัตรูพืช และออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitory certification) ให้กับพืชที่ส่งไปต่างประเทศ

4. งานด้านปฏิบัติการกักกันพืชภายในประเทศ เป็นการตรวจพืช ศัตรูพืชและควบคุมการเคลื่อนย้ายพืชออกจาก "เขตควบคุมศัตรูพืช" ไปยังแหล่งอื่นภายในประเทศ

5. งานด้านกฎหมายและคดี เป็นการศึกษาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับให้เหมาะสมกับการใช้ปฏิบัติและเหมาะสมกับกาลสมัย และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย

องค์ประกอบของการกักกันพืช

การกักกันพืชที่ก่อให้เกิดผลดี ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

1. กฎหมายว่าด้วยการกักกันพืช เรื่องกฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายว่าด้วยการกักกันพืชโดยเฉพาะ หรือกฎหมายว่าด้วยการอารักขาพืชก็ได้ ที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นในกรณีสงสัยว่ามีพืชหรือศัตรูพืช ให้อำนาจในการตรวจค้นในกรณีสงสัยว่ามีพืชหรือศัตรูพืช ให้อำนาจในการตรวจพืชศัตรูพืช ให้อำนาจในการยึดทำลายในกรณีนำเข้าหรือนำผ่านพืชไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือมีศัตรูพืชติดเข้ามาด้วย กฎหมายจึงเปรียบเสมือนสะพานที่ทอดให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติการกับพืชได้ตามอำนาจหน้าที่โดยไม่มีความผิด
2. พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการกักกันพืช พนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
2.1 นักวิชาการ โดยทั่วไปเป็นนักวิชาการด้านพืชและศัตรูพืช ได้แก่นักวิชาการด้านโรคพืช กีฏวิทยา ไส้เดือนฝอย ไร หอยและหอยทาก วัชพืช และนักพฤษศาสตร์
2.2 ผู้ช่วยนักวิชาการ เป็นผู้ปฏิบัติการกักกันพืชตามที่ได้รับมอบหมายและช่วยเหลือนักวิชาการในการตรวจพืช วินิจฉัยพืช และกำจัดศัตรูพืช
2.3 นักกฎหมาย เป็นผู้มีความตามกฎหมาย ดำเนินการยกร่างเสนอในการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ ตลอดทั้งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย

3. สถานที่ตรวจพืช
3.1 ด่านตรวจพืช ตามหลักกักกันพืชจะต้องกำหนดจุดหรือสถานที่ให้นำพืชเข้าหรือพืชผ่าน และ ณ จุดหรือสถานที่นั้นจะตั้งด่านตรวจพืชขึ้นไว้เพื่อทำการตรวจพืชและศัตรูพืช
3.2 สถานกักพืช ในกรณีที่นำพืชมาจากแหล่งที่มีศัตรูพืชที่สำคัญ หรือสงสัยว่าจะมีศัตรูพืชที่สำคัญติดมาในสภาพกำบัง (invisible) ซึ่งยังไม่แสดงอาการให้เห็นจะต้องนำไปกัก หรือปลูกเพื่อสังเกตอาการไว้ในสถานกักพืชก่อน จะกักไว้นานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของศัตรูพืชที่สงสัยว่าจะติดมาด้วย ซึ่งนักวิชาการทราบดีว่า ถ้าศัตรูพืชชนิดนั้นติดมาจะแสดงให้เห็นอาการภายในกี่วัน สถานกักพืชนี้อาจจะเป็นโรงเรือนที่กันแมลงเข้าออกได้โดยปกติจะกันด้วยลวดตาข่ายขนาด 32 mesh หรือจะเป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืช (isolated area) ก็ได้
3.3 ห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชในขั้นละเอียด เป็นห้องตรวจสอบศัตรูพืชโดยใช้นักวิชาการผู้มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถสูง ใช้เทคโนโลยีสูงและใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง

4. อุปกรณ์การตรวจพืชและกำจัดศัตรูพืช ศัตรูพืชมีมากมายหลายชนิดแม้แต่โรคพืชอย่างเดียวยังแบ่งออกเป็นเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อไมโคพลาสม่า เชื้อบางชนิดตรวจสอบง่าย เชื้อบางชนิดตรวจสอบยาก ฉะนั้นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในการตรวจสอบมากพอและมีประสิทธิภาพสูงพอด้วย เช่น กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง หรือบางครั้งต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจึงจะตรวจได้ผล ส่วนศัตรูพืชชนิดอื่นไม่ว่าแมลงไส้เดือนฝอย หรือไร ก็ต้องมีอุปกรณ์การตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงด้วย เช่น ตู้รมยา เครื่องอบด้วยน้ำร้อน เครื่องอบไอน้ำ เครื่องพ่นยาฉีดยา ตลอดทั้งเตาเผาพืช

5. ความร่วมมือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติงานกักกันพืชจะไม่ได้ผลเต็มที่ถ้าขาดความร่วมมือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กองตรวจคนเข้าเมือง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพราะหน่วยงานเหล่านี้ได้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกันได้รับความร่วมมือในการนำเข้า หรือนำผ่านพืช และได้รับการสนับสนุนในเรื่องสถานที่ทำงานจากหน่วยงานดังกล่าวด้วย สำหรับต่างประเทศต้องร่วมมือกันป้องกันการระบาดของศัตรูพืชระหว่างประเทศโดยเข้าเป็นสมาชิกในอนุสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ที่ว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ
6. การประชาสัมพันธ์การกักกันพืช เพื่อให้พ่อค้าประชาชนทราบถึงวัตถุประสงค์ของการกักกันพืช และทราบแนวปฏิบัติในการนำพืชเข้า นำพืชผ่าน และนำพืชออกนอกประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์การกักกันพืช ซึ่งอาจดำเนินการได้โดยทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์จัดทำในรูปสิ่งพิมพ์ เปิดหลักสูตรสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยตลอดจนให้มีการฝึกอบรมหรือสัมมนา โดยเชิญพ่อค้าประชาชนและหน่วยงานหรือองค์การที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาด้วย เหล่านี้เป็นต้น


www.oocities.org/thaipqs
HOME