เอกสารเชิงหลักการ
(Concept Paper)
กลุ่มมุสลิมะฮ์
(สตรีมุสลิม) ที่เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนสตรีที่สำเร็จการศึกษาวิชาสามัญและศาสนา
ซึ่งมีโอกาส ไปอบรมจริยธรรม แก่กลุ่มแม่บ้าน ในชุมชนชาวไทยมุสลิม
ในจังหวัด ปัตตานี ยะลา และสงขลา และได้พบเห็นสภาพชีวิต ของเด็กกำพร้า
เด็กยากจนอนาถา ที่ถูกทอดทิ้งในชนบท จึงได้ทำการเลี้ยงดู อบรมเด็กเหล่านี้
และได้ก่อตั้ง ศูนย์เด็กกำพร้า และยากจนหญิงบ้านสุไหงปาแนขึ้นใน
ปี 2533
ปัจจุบันศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิงบ้านสุไหงปาแน
มีเด็กผู้หญิง 145 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กจากจังหวัดปัตตานี ยะลา
นราธิวาส สงขลา ตรัง กรุงเทพ ซึ่งมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน
ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ ได้ให้การศึกษาด้านศาสนา วิชาสามัญ และวิชาชีพ
โดยด้านศาสนา ได้จัดสอนจนถึงชั้น 4 อิบตีดาอี ด้านสามัญสอนถึงชั้นมัธยม
ด้านอาชีพเป็นหลักสูตรเร่งรัดของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เช่น
ด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า อาหาร ของชำร่วย เป็นต้น
จากการดำเนินงานของศูนย์ฯ
ในระยะที่ผ่านมา ได้ประสบกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านจิตสำนึก
ความทุ่มเท และความคิด ที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่นับวันยิ่งจะลดลง
เนื่องจากในระยะหลัง สมาชิกกลุ่ม มิได้พบเจอกัน อย่างสม่ำเสมอเหมือนแต่ก่อน
ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้าง ให้การทำงาน ของกลุ่มเครือข่ายมุสลิมะฮ์
มีการทำงานที่เข้มแข็งขึ้น จึงเห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยอย่างมีส่วนร่วม
เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกร่วม ของกลุ่มมุสลิมะฮ์ พร้อมทั้งสร้างกระบวนการเรียนรู้
เชื่อมความเข้าใจภายในกลุ่มและชุมชน และเพื่อเป็นการหาแนวทาง
ในการพัฒนางานของศูนย์ฯ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
คำถามวิจัย
1. บทบาทหน้าที่ และการทำงานของกลุ่มมุสลิมะฮ์และชุมชน
ต่อศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิง บ้านสุไหงปาแน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เป็นอย่างไร
2. แนวทางในการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าสุไหงปาแน
โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนควรเป็นอย่างไร
วัตถุประสงค์
1. เพื่อทบทวนการทำงาน และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
ของกลุ่มมุสลิมะห์และชุมชน เกี่ยวกับการดำเนินงาน ของศูนย์เด็กกำพร้า
และยากจนหญิง บ้านสุไหงปาแน
2. เพื่อค้นหากระบวนการสร้างจิตสำนึกร่วม
ของกลุ่มมุสลิมะฮ์และชุมชน ที่มีความต่างศาสนิก ในการดำเนินงาน
ของศูนย์เด็กกำพร้า และยากจนหญิง บ้านสุไหงปาแน
3. เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเด็ก
ในศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิง บ้านสุไหงปาแน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
4. เพื่อหาแนวทางการขยายผล โดยสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชน
และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กับการจัดสวัสดิการของชุมชน ด้านการเลี้ยงดูเด็กกำพร้า
และยากจนหญิง
ในจังหวัดปัตตานี ยะลา สงขลา
วิธีการดำเนินการ
1. จัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจ
เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. จัดเวทีถอดบทเรียนศูนย์เด็กกำพร้า
4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านเด็กกำพร้าหญิงและชุมชน ด้านกระบวนการทำงาน
ของศูนย์เด็กกำพร้า และด้านการเรียนรู้ของกลุ่มมุสลิมะฮ์และชุมชน
3. จัดทัศนศึกษา ดูงานด้านการบริหาร
การจัดห้องเรียน การเลี้ยงดูเด็ก และด้านการเงิน ณ ศูนย์เด็กกำพร้าสหรัฐเอมิเรต
จ.สตูล
4. จัดทัศนศึกษา ดูงานด้านการให้การศึกษาอบรม
ด้านศาสนาอิสลาม จริยธรรม กริยามารยาทแก่เด็ก ณ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเปอร์กายา
ขององค์กรชุมชน รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
5. จัดเวทีสรุปงาน โดยกลุ่มมุสลิมะฮ์
ร่วมกับตัวแทนชุมชน, ตัวแทนพหุภาคีจังหวัดปัตตานี ณ ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิง
บ้านสุไหงปาแน
6. จัดเวทีสรุปและรายงานผลการศึกษา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ช่วงเดือนที่ 1 - 6
1. ได้บทเรียนของศูนย์ฯ ในด้านการเงิน
ด้านเด็กกำพร้าหญิงและชุมชน ด้านกระบวนการทำงาน ของศูนย์เด็กกำพร้า
และด้านการเรียนรู้ ของกลุ่มมุสลิมมะฮ์และชุมชน
2.ได้องค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติงาน
ด้านการบริหาร การจัดห้องเรียน การเลี้ยงดูเด็ก และด้านการเงิน
จากการทัศนศึกษาดูงาน ที่ศูนย์เด็กกำพร้าสหรัฐเอมิเรต จ.สตูล
ช่วงเดือนที่
7 - 12
1.
ได้องค์ความรู้ และแนวทางการปฏิบัติงาน ด้านการให้การศึกษาอบรม
ด้านศาสนาอิสลาม จริยธรรม กริยามารยาทแก่เด็ก จากการทัศนศึกษาดูงาน
ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเปอร์กายา ขององค์กรชุมชน รัฐตรังกานู
ประเทศมาเลเซีย
2. ได้กระบวนการสร้างจิตสำนึกให้แก่
เครือข่ายมุสลิมะฮ์ และได้แนวทางที่ชัดเจน ในการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิง
บ้านสุไหงปาแน
3. ทราบทางเลือกในการพัฒนา เพื่อสร้างเสริมสุขภาพทางกาย
สุขภาพจิตใจ และสุขภาพทางสังคม แก่เด็กในศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิง
ที่จะนำไปขยายผล เกี่ยวกับการจัดสวัดิการของชุมชน ด้านเด็กกำพร้าและยากจนหญิง
ในจังหวัดปัตตานี ยะลา สงขลา ในระยะต่อไป
|