ร้อยกรองไทย

กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ กวีวัจนะ

                             

คำว่าร้อยกรอง

 

         ในอดีต คำประพันธ์ที่มีลักษณะบังคับ
ในการแต่ง
  มีชื่อเรียกแยกไปตามประเภทของ
คำประพันธ์ นั้น ๆ ว่า โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนฯ

ยังไม่มีคำเรียกรวมของประเภทคำประพันธ์

             ต่อมาจึงได้มีคำเรียกขานคำประพันธ์
ไทยประเภทนี้ว่า “ร้อยกรอง” ขึ้นใช้ อย่างเป็น
ทางการ ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยสำนัก
วัฒนธรรมทางวรรณกรรม ซึ่งตั้งขึ้นในปีนั้น
เป็นผู้กำหนดคำขึ้นใช้

             พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ
พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้คำจำกัดความว่า
ร้อยกรอง : สอดผูกให้ติดกัน, ประดิษฐ์ทำ,
แต่งหนังสือให้ดีมีความไพเราะ

 

                              ร้อยกรองไทย

               โดยนัย       แห่งพระบรมราชาธิบายของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว "ข้าพเจ้า
ผู้หนึ่งเป็นผู้เชื่อมั่นอยู่ว่า จินตกวีนิพนธ์
เป็นสิ่งซึ่ง
ให้ผลดีหลายประการ ดังจะกล่าว แต่โดยย่อ
พอเป็นสังเขป

              ส่วนผลซึ่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จะให้
แก่ผู้ฟังหรือผู้อ่านนั้น อาจจะมีได้ดังต่อไปนี้คือ

๑) สบายใจ คล้าย ๆ ฟังเพลงบรรเลง
๒) เพลิน ทำให้ลืมสิ่งซึ่งระคายเคือง
      ใจอยู่บ้าง ได้ชั่วคราว
๓) ได้ฟังโวหารอันแปลก
๔)ได้ทราบความคิดของผู้แต่ง

         

              จริงอยู่หนังสือที่แต่งเป็นร้อยแก้ว ก็อาจให้ผลเช่นกล่าวมานี้ได้บ้างเหมือนกัน แต่ร้อยแก้วเสียเปรียบ กาพย์ โคลง เพราะขาด จังหวะซึ่งชวนให้เพลิดเพลิน    เช่นเราไปนั่งฟังเทศนา หรือฟังอาจารย์อธิบายก็ได้ประโยชน์ แต่เราคงไม่คิดเคาะจังหวะ ตามคำพระเทศน์ หรือคำของอาจารย์ นั้นเลย แต่เราไปฟังคนร้องเพลง หรือฟังแตร ฟังพิณพาทย์ เราอดเคาะจังหวะตามไม่ใคร่ได้   

            ดังนี้ แปลว่าเสียงซึ่งมีจังหวะ ย่อมให้ผล แก่เส้นประสาทของคนเราในทางดี หรือทำให้บังเกิดความสงบ หรือความสำราญใจไปได้ และสิ่งไรในโลกนี้ที่ทำให้บังเกิดความสงบ หรือความสำราญโดยไม่มีโทษแล้ว ก็ควรยกว่าเป็นของดีได้แล้ว … 

           ส่วนคนที่แต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
เองนั้นเล่า ก็ได้ผลดีเหมือนกัน กล่าวคือ

           ๑)  สบายใจ คล้ายคนที่เล่นดนตรี ตีพิณพาทย์
           ๒) เพลิน เพราะใช้สมองในทางที่นึกถ้อยคำ
                อันไพเราะ
          ๓) ต้องเขม้นขมักแสดงโวหารให้แปลก
           ๔) มีโอกาสได้แสดงความคิดให้ผู้อื่นฟัง

                            

 

             การแต่งร้อยกรองถ้อยคำเป็น โคลง ฉันท์
กาพย์ กลอน นอกจากเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้แต่ง
เอง โดยอาการอันกล่าวมาแล้วนั้น     ยังนับว่า
ผู้แต่ง ทำความพอใจให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้อีก เป็นอันมาก ...            
           ตามความเห็นของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า ผู้แต่ง
โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ควรจะคิดถึงผู้อ่าน มาก
กว่าตัวเอง คือควรเพ่งเล็งให้ผู้อ่าน เข้าใจ และฟัง
เพราะ มากกว่าที่จะอวดความเก่ง ของ ตนเอง   

            เพราะฉะนั้นข้าพเจ้า ขออนุญาตแนะนำ แก่ผู้ตั้งใจจะเป็นจินตกวี   ให้ละเว้นของบางอย่าง ดัง
ต่อไปนี้คือ

                 ๑) ควรละเว้นวิธีแต่งอุตริสบัดสบิ้ง …
                 ๒) ควรละเว้นวิธีแต่ง    อุตริใช้คำ
                      ที่ไม่ใช่ภาษาไทย …
                 ๓) ควรละเว้นการ ใช้คำซึ่งใช้กันอยู่ในวง
                       แคบ ๆ …
                 ๔) ควรละเว้นเรื่องซึ่งไม่เป็นคติหรือ
                      ซึ่งเรื่องหยาบและโลน เพราะของ
                      เหล่านี้ทำให้เสื่อมเสียวิชาเปล่า ๆ

                 
            มื่อได้แสดงมาซึ่งข้อควรเว้นแล้ว ก็ควร
แสดง ข้อควรประพฤติต่อไป

           ๑) ก่อนที่จะจับแต่งอะไรต้องดูแบบ โคลง
                 ฉันท์ กาพย์กลอน เสียก่อนดูแบบให้เจนตา
                 เป็นดี
            ๒) ควนอ่านจินตกวีนิพนธ์ที่ท่านแต่งมาไว้แล้ว
                  อ่านจนเข้าใจ และได้จังหวะแม่นยำ
            ๓) เลือกหาเรื่องที่เป็นแก่นสาร
            ๔) ใช้สมองตรองดูเรื่องนั้นเสียก่อน จนความคิด
                  แตกแล้วคิดตั้งโครงขึ้นเป็นคำพูด โดยปกติ
                 ก่อน แล้วจึงแปลงไปเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์
                 กลอน ตามอัธยาศัย


               หนังสือนี้ข้าพเจ้าได้ตั้งใจแต่งให้แก่โรงเรียน
มหาดเล็กหลวง เพื่อบำรุงวิชากวีในโรงเรียนนั้น เพราะ
ฉะนั้นข้าพเจ้าขอให้หนังสือนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ แก่ 
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงสืบไป เพื่อให้นักเรียนทั้ง
เก่าและใหม่จะได้มีสิ่งซึ่งเตือนใจ ให้รำลึกถึงข้าพเจ้า
ผู้มุ่งดีต่อเขาทั้งหลายนั้น ชั่วกาลนานฯ"

                            พระปรมาภิไธย วชิราวุธ ปร.

(ตัดตอนจากหนังสือ การประพันธ์ ท๐๔๑ โดย
ศจ.ฐะปะนีย์  นาครทรรพ)

 

 

         


                                                               (หน้าแรก)