พระแสงกระบี่

พระแสงกระบี่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช

             วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒   นับว่าเป็นวันสำคัญพิเศษยิ่งกว่าทุกปีที่ผ่านมา   เนื่องด้วยเป็นปีพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ       กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้มีโอกาสแสดงกตเวทิตาสนองพระมหากรุณาธิคุณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์    โดยได้รับมอบหมายจาก  พลเอก มงคล  อัมพรพิสิฏฐ์  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สร้างพระแสงกระบี่เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นราชสักการะ
             ภารกิจการดำเนินการสร้างพระแสงกระบี่   ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดำริให้พระแสงกระบ ี่
มีน้ำหนักเบาและใช้เป็นธารพระกรได้ด้วย    ทั้งนี้เพื่อทดแทนพระแสงกระบี่องค์เดิมซึ่งมีน้ำหนักมาก    เมื่อได้รับคำสั่งแล้วจึงนำเรียนเรื่องให้    พลเอก สุรยุทธ    จุลานนท์  ผู้บัญชาการทหารบก ทราบ     หลังจากนั้นจึงสั่งการให้ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ  กรมสรรพาวุธทหารบก ดำเนินการสร้างพระแสงกระบี่ขึ้น  ๒ องค์    ลักษณะเหมือนกระบี่นายทหารสัญญาบัตร    มีด้ามเป็นหัวช้าง   น้ำหนักเบา   แข็งแรง   และปลายฝักกระบี่ไม่ลื่นไถล     ซึ่งศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธฯ ได้ดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อประมาณกลางเดือน  ตุลาคม  ๒๕๔๒       และนำพระแสงกระบี่ไปมอบให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

             ต่อมา วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๒  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแจ้งว่า    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า       พระแสงกระบี่ที่นำทูลเกล้าฯ ถวายนั้นไม่ตรงกับที่ทรงใช้อยู่    พระแสงกระบี่องค์ที่ทรงใช้นั้นด้ามเป็นหัวคชสีห์ไม่ใช่ช้าง   และเมื่อเวลาทรงถือแล้วรู้สึกเจ็บพระหัตถ์       จึงได้มีการติดต่อประสานกับสำนักพระราชวังเพื่อขอดูพระแสงกระบี่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี       เจ้าหน้าที่ได้ตรวจดูลายกนกบริเวณส่วนบนของหัวคชสีห์ พบว่ามีลักษณะตั้งฉากกับด้ามพระแสงกระบี่  เป็นสาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจ็บพระหัตถ์เวลาทรงถือ
             ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธฯ   จึงดำเนินการสร้างพระแสงกระบี่ขึ้นใหม่   มีด้ามเป็นหัวคชสีห์มีความลาดของลายกนกมากขึ้น    ส่วนใบพระแสงกระบี่ซึ่งต้องการให้มีน้ำหนักเบาขึ้น    เดิมมีความคิดที่จะใช้โลหะไตนาเมียมแต่กรรมวิธีในการตีขึ้นรูปยากและไม่เรียบร้อยเมื่อนำมาชุบโครเมียมก็ไม่สวยจึงเปลี่ยนมาใช้อลูมินัมอัลลอย         ส่วนลวดพันด้ามกระบี่ ที่ใช้กันทั่วไปใช้ลวดทองเหลืองนำมาชุบ โครเมียม ซึ่งใช้ไปได้ระยะหนึ่งจะดำ   จึงใช้ทองขาวซึ่งมีส่วนผสมของทองคำและทองคำขาว  นำมาดึงเป็นลวด นำลวดมาขวั้นแล้วจึงใช้พันด้ามพระแสงกระบี่   การใช้วัสดุชนิดนี้ด้ามพระแสงกระบี่จะไม่ดำ   และที่โกร่งพระแสงกระบี่มีคำจารึกว่า  " กองทัพไทยทูลเกล้าฯถวาย   เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ  ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ "

 

การผลิต

             ผลิตด้วยโลหะบรอนซ์ด้วยกรรมวิธี Investment  Casting หรือบางทีเรียกว่า Lost   Wax  ซึ่งกรรมวิธีนี้เป็นกรรมวิธีการหล่อที่มีมาแต่ดั้งเดิมหลายร้อยปีแล้ว   แต่แตกต่างกันที่เทียน (Wax) และวัสดุเปลือกโมลด์   โดยเทียนที่ใช้จะเป็นเทียนที่มีการหดตัวน้อยมาก   และเปลือกโมลด์ใช้ผงเซรามิก   ซึ่งกรรมวิธีนี้ได้ใช้แพร่หลายในชาติอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทั่วไป   เหมาะสำหรับการผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนมากๆ ต้องการความละเอียดสูง ในประเทศไทยมีอยู่เพียง ๓-๔ บริษัทที่ได้ใช้เทคโนโลยีนี้

       เทคโนโลยี Investment  Casting นี้ต้องมีการทำต้นแบบด้วยเทียน   แต่เทียน (Wax) ในการผลิตด้วยวิธีนี้เป็นเทียนพิเศษ   ที่มีอัตราการหดตัวของเทียนน้อยมาก   เพียงร้อยละ ๑ เท่านั้น   เมื่อเทียบกับเทียนที่ใช้ในการหล่อทั่วไป   ซึ่งมีอัตราการหดตัวถึงร้อยละ ๑๐-๑๕       จากนั้นจึงนำเทียนนั้น  ไปจุ่ม (Dip) ในน้ำยาที่มีส่วนผสมของผงเซรามิกผสมอยู่  แล้วแต่อุณหภูมิที่ต้องการในการ Preheat Mould  เมื่อจุ่มครั้งหนึ่งแล้ว ต้องยกขึ้นมาทำให้แห้ง แล้วจุ่มใหม่ เพื่อสร้างชั้นเนื้อของ Ceramic  ให้หนาขึ้น  จนหนาได้ที่  ซึ่งปรกติ  จะทำกันประมาณ ๑๐ - ๑๘  ครั้ง  เมื่อได้ที่แล้ว  จึงนำไปไล่เทียนออก  (Dewaxing)   จากนั้นจึงนำไป Preheat  ที่อุณหภูมิ 1250 C  จะทำให้ผงเซรามิกเกาะติดเป็นเนื้อเดียวกัน  (Sintering)   ซึ่งเป็นการทำให้แบบแข็งแรง   นอกจากนี้จะทำให้เทียนที่อาจหลงเหลืออยู่ถูกเผาละลายกลายเป็นเถ้าถ่านไปด้วย  จากนั้นจึงเทน้ำโลหะที่ต้องการลงไป ข้อดีของโมลด์เซรามิกก็คือ   ตัวโมลด์มีอุณหภูมิสูงมาก       ดังนั้นน้ำโลหะที่ถูกเทลงไปจึงยังคงสภาพเป็นของเหลวอยู่  จากนั้นจะค่อยๆ เย็นตัวลงจึงแทบไม่มีโอกาสเกิดฟองอากาศ   เนื่องจากตามซอกมุมต่างๆ ของโมลด์มีความร้อนสูงจัดสูงกว่าจุดหลอมเหลวของน้ำโลหะที่จะเทลงไปมาก   น้ำโลหะจึงไหลไปได้ทั่วถึง   ดังนั้นงานหล่อด้วยกรรมวิธีนี้   จะเป็นงานที่มีความประณีตสวยงาม  สูญเสียน้อย  แต่มีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูงมาก    เนื่องจากเมื่อแกะแบบต้องทุบโมลด์ที่เป็นเนื้อเซรามิกที่มีราคาแพงทิ้งทุกครั้ง    ไม่เหมือนโมลด์ทรายที่ราคาไม่แพง  หรือไม่เหมือนโมลด์เหล็กที่ยังสามารถใช้งานต่อไปได้   งานการผลิตอาวุธส่วนใหญ่จะใช้กรรมวิธีแบบนี้    ที่สามารถเห็นได้ชัดก็คือ  โครงปืนส่วนบนของปืนพกรุ่นใหม่ๆ ที่เป็น Magnesium  Alloy จะใช้กรรมวิธีนี้ในการผลิตทั้งสิ้น               

ด้ามกระบี่รูปคชสีห์

หน้าที่ผ่านมา

[Home] [ประวัติความเป็นมา] [เดินชมพิพิธภัณฑ์] [ปืนดีที่สะพานแดง] [ผลงานที่ภูมิใจ] [ห้องภาพ]