ป๋วย อึ้งภากรณ์
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ > ชีวประวัติ
 
  ชีวประวัติ
  งานหนังสือ
  บทความ
  ในความคิดของคนอื่น
เกิด

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์เกิดเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย บิดาเป็นชาวจีนชื่อซา แซ่อึ๊ง มารดาเป็นลูกครึ่งไทยจีนชื่อเซาะเซ็ง แซ่เตียว ชื่อป๋วยนั้น แปลว่า พูนดินที่โคนต้นไม้ บิดาคงหมายใจที่จะให้ความหมายว่า บำรุง หล่อเลี้ยง ให้แข็งแรงสมบูรณ์

มารดาเป็นบุตรสาวคนโตของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็ง ส่วนบิดาทำงานช่วยพี่ชายอยู่แพปลาแถวปากน้ำ ครอบครัวป๋วยมีพี่น้อง ๗ คน ป๋วยเป็นคนที่ ๔

เรียน

ถึงแม้ครอบครัวจะมีฐานะยากจน ก็ยังอุตส่าห์ตั้งใจส่งเสียป๋วยให้ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีค่าเล่าเรียนแพงมาก คือ ๗๐ บาทต่อปี อยู่มาบิดาก็ล้มป่วยเสียชีวิตโดยกระทันหัน เมื่อป๋วยอายุได้เก้าขวบ มิได้ทิ้งทรัพย์สมบัติอะไรไว้ให้เลย แต่ลุงก็รับอุปการะครอบครัวต่อ โดยส่งเสียให้เป็นรายเดือน มารดาก็พยายามส่งเสียจนกระทั่งป๋วยศึกษาจนสำเร็จ อายุได้ ๑๘ ปี เขาสมัครงานเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนเดิมนั้นเอง โดยรับเงินเดือนสี่สิบบาท ให้มารดาเดือนละสามสิบบาท เก็บไว้ใช้เองสิบบาท

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้เปิดให้เข้าเรียน โดยคิดค่าวิชาเรียนละ ๒ บาท เขาใช้เวลาเรียนภาคค่ำและวันหยุดในการศึกษาเพิ่มเติม จนกระทั่งสำเร็จปริญญาตรีด้านกฎหมายและการเมืองในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อจบแล้วก็ลาออกมาทำงานเป็นล่ามให้กับอาจารย์ชาวฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยนั้นเอง

ปีถัดมา ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อป๋วยออกเดินทางไปได้หกเดือน มารดาก็ถึงแก่กรรม

ด้วยเวลาเพียงสามปี ป๋วยก็สำเร็จการศึกษา ด้วยผลการเรียนดีเด่น ทำคะแนนเป็นที่หนึ่งของ บรรดาผู้ได้เกียรตินิยม ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูมส์ สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้เลย แต่เผอิญกับสงครามโลกครั้งที่สองถูกประกาศ เขาตัดสินใจพักการเรียน เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของเสรีไทยในอังกฤษ มีชื่อรหัสแทนตัวว่า นายเข้ม เย็นยิ่ง

เขาได้รับการฝึกหัดการสู้รบที่อินเดีย ได้รับยศเป็นร้อยเอก ก่อนที่จะถูกส่งตัวเข้าไปในประเทศไทย เพื่อหาทางติดต่อกับรูธ ซึ่งเป็นรหัสแทนตัวของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้น และเป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย เพื่อส่งสัญญาณวิทยุติดต่อกับกองทัพอังกฤษที่อินเดีย โดยส่งข้อมูลุพิกัดสถานที่สำคัญ ดังเช่นพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว เพื่อมิให้เครื่องบินอังกฤษทิ้งระเบิดมาทำลายได้

เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ป๋วยได้รับยศเป็นพันตรีแห่งกองทัพบกอัีงกฤษ ได้รับหน้าที่ไปเจรจากับอังกฤษร่วมกับเสรีไทยคนอื่น เพื่อให้รับรองสถานภาพของเสรีไทย และเจรจาให้ปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้ในธนาคารกลางอังกฤษ

จากนั้นป๋วยก็คืนยศทหารให้แก่กองทัพอังกฤษ และเดินทางกลับไปสมรสกับนางสาวสมิธที่ลอนดอน พร้อมกับศึกษาปริญญาเอกต่อ โดยทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ "เศรษฐศาสตร์การควบคุมดีบุก" โดยใช้เวลาศึกษาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๑ จึงสำเร็จการศึกษา แต่ยังกลับเมืองไทยไม่ได้ เพราะสถานการณ์การเมืองไม่ปรกติ รัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ถูกทำรัฐประหาร ญาติจึงห่วงเรื่องความปลอดภัย

 

งาน

ปีถัดมา เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ป๋วยตัดสินใจเข้ารับราชการ ถึงแม้จะมีบริษัทเอกชน ห้างร้านต่าง ๆ มาติดต่อทาบทามจำนวนมาก พร้อมกับเสนอเงื่อนไขเงินเดือนสูง เพราะเขาถือว่า เกิดเมืองไทย กินข้าวไทย รับทุนรัฐบาลจากชาวนาไทยไปเมืองนอก จึงควรที่จะรับราชการเป็นเครื่องสนองคุณ

ตำแหน่งแรกที่ได้รับคือเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จากนั้นก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นตามลำดับ มีตำแหน่งสำคัญในธนาคารแห่งประเทศไทย และได้ยืนยันที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติมากกว่าของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ หรือพลเอกเผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังขณะนั้นจึงได้ย้ายเขา ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ เพื่อความปลอดภัยของเขาเอง ในช่วงนี้ไทยสามารถขายดีบุกเป็นสินค้าออกสำคัญได้มากขึ้น

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ก่อรัฐประหาร ได้เชิญเขา มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งป๋วยได้ปฏิเสธ โดยอ้างคำสาบานครั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นเสรีไทยว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดเลย จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในการเป็นเสรีไทยโดยไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองใด จอมพลสฤษดิ์จึงได้ตั้งให้ดร. ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชื่อว่าปลอดจากการเมืองมาแทรกแซง เพราะนักการเมืองต่างให้ความเชื่อถือในฝีมือการบริหาร ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเงิน และความซื่อสัตย์ของเขา มหาวิทยาธรรมศาตร์ก็เชิญให้รับตำแหน่งคณบดี และในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ เขายังได้รับรางวัลแมกไซไซ ในสาขาบริการสาธารณะ อีกด้วย

เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๐ เขาได้ร่วมกับกลุ่มกัลยาณมิตรตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นองค์การพัฒนาชนบทองค์กรแรก เพราะเขามีความเห็นว่า การพัฒนาชนบท และคุณภาพชีวิตของคนยากไร้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

เมื่อดำรงตำแหน่งมาได้ ๑๒ ปี ป๋วยจึงลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และลาไปสอนพิเศษและทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ เพื่อเตรียมตัวกลับมาทำงานในตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างเต็มที่ แต่ในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ ปีเดียวกันนั้นเอง จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง ป๋วยจึงเขียนจดหมายจากอังกฤษ เรียกร้องให้จอมพลถนอมคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว จดหมายฉบับนี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับผู้มีอำนาจในขณะนั้น เขาจึงต้องลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่อยู่อังกฤษนั้นเอง

เมื่อเขากลับมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๖ และแม้ประชาคมธรรมศาสตร์จะลงมติเลือกให้เขารับตำแหน่งอธิการบดี แต่ผู้มีอำนาจในยุคนั้นไม่แสดงตัวว่าเห็นด้วย จึงต้องรอไปอีกสองปี เมื่อรัฐบาลทหารถูกขับไล่ เขาจึงได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความขัดแย้งทางการเมืองสูงขึ้นตามลำดับ ป๋วยไม่เป็นที่นิยมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เพราะเขามุ่งมั่นแต่หนทางของสันติประชาธรรม เขาไม่เชื่อในวิถีทางแห่งความรุนแรง

ป๋วยได้แสดงความเสียใจ ภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และได้ประกาศลาออก สภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อความปลอดภัย เพราะฝ่ายขวากำลังต้องการตัวเขา

จุดหมายปลายทางของเขาคราวนี้คือยุโรป เขาได้เดินทางไปประเทศต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยในเมืองไ่ทย และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เขาต้องล้มป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก

ป๋วยได้กลับเมืองไทยอีกสี่ครั้ง ในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ พ.ศ. ๒๕๓๖ พ.ศ. ๒๕๓๘ และครั้งสุดท้าย พ.ศ. ๒๕๔๐ จนกระทั่งวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพ และนำอัฐิกลับมาลอยอังคารที่ประเทศไทย

 

ครอบครัว

สมรสกับนางสาวสมิธ มีบุตรชายหนึ่งคน ชื่อ ใจ อึ๊งภากรณ์

 


หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคน(นั้น)
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่
๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗