หนุ่มสาวดัดจริต > โลกเกื้อกูล

 

แม้ว่าชาร์ลส์ ดาร์วินจะกล่าวอธิบายถึงกำเนิด และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ว่าเกิดจากกระบวนการวิวัฒนาการ แต่เขามิได้กล่าวถึงในรายละเอียดว่ากระบวนการเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างไร สองร้อยกว่าปีให้หลัง ลินน์ มาร์กูลิส นักจุลชีววิทยา และผู้ชำนาญการด้านเคมี ได้นำเสนอทฤษฎีเกื้อกูลภายใน Endo-symbiotic ซึ่งกล่าวถึงกำเนิดของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมีภายในแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กสุดที่ปราศจากนิวเคลียส ปฏิกิริยาเคมีระดับเซลล์เหล่านี้คือการแลกเปลี่ยนสารเคมี และเป็นเหตุให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น มีความหลายหลายยิ่งขึ้น กล่าวโดยสั้น สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนมีกำเนิดมาจากแบคทีเรีย

ทฤษฎีของเธอถูกปฏิเสธแทบจะในทันทีจากวงการวิชาการ และได้รับเสียงหัวเราะเย้ยหยันจากนักชีววิทยาด้วยกัน แต่เธอก็ยังยืนยันความคิดของตนเองอย่างแน่วแน่ หลายปีผ่านไป มีผลการทดลองมากมายยืนยันทฤษฎีดังกล่าว จนในที่สุดก็ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ชัยชนะของเธอเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า นักชีววิทยาจำต้องยอมรับข้อบกพร่องเกี่ยวกับความรู้ด้านอื่น ในที่นี้คือเคมี ซึ่งอาจช่วยอธิบายทฤษฎีวิวัฒนาการที่ยังไม่สมบูรณ์ได้

เมื่อเธอพบกับเจมส์ เลิฟล็อค นักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การนาซา ทั้งสองฝ่ายได้หลอมรวมความรู้เข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอทฤษฎีโลกมีชีวิต Gaia Theory หรือทฤษฎีกายา ซึ่งเป็นชื่อของพระแม่ธรณีของทางตะวันตก ทั้งนี้ เลิฟล็อค และมาร์กูลิส ต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานจากนักชีววิทยาด้วยกันเองอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งริชาร์ด ดอว์กินส์ นักชีววิทยาผู้มีชื่อเสียง เจ้าของงานเขียนระดับขายดีอย่าง ยีนเห็นแก่ตัว – The selfish gene ผู้ซึ่งมองว่า กายา-ทัศนะการมองโลกมีชีวิตนั้นเป็นเรื่องดี เพราะทำให้มนุษย์เคารพโลกหรือธรรมชาติ แต่ไม่อาจจะยอมรับได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ได้

มาร์กูลิสยืนยันว่าเรื่องโลกมีชีวิตไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยหรือความเพ้อฝัน เพราะหากมองเห็นโลกเป็นระบบนิเวศน์อันยิ่งใหญ่ ระบบหมุนเวียนของสารในระบบนิเวศน์ของโลกนั้น เป็นเครื่องยืนยันอย่างดี ถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองของโลก ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ถือว่าเป็นของเสีย แต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนรูปหมุนเวียนอยู่ในระบบอันซับซ้อนเหล่านี้ กระทั่งแบคทีเรีย กำเนิดแรกเริ่มของสิ่งมีชีวิต ก็เป็นผลผลิตของโลก เพราะสารขับถ่ายของสิ่งมีชีวิตก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกก็เป็นผลจากการหายใจและย่อยสลายของสิ่งมีชีวิต อุณหภูมิของโลกก็สูงขึ้น ๗๕ องศาเซลเซียสหลังจากที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในโลก เหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความสามารถในการวิวัฒน์ตัวเองของโลก นั่นคือ ประกอบด้วยกระบวนการปรับตัว และกระบวนการคัดเลือก

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ล้วนแต่มีวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างผสานสอดคล้องกับโลก เรียกได้ว่า เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ มาร์กูลิสเตือนว่า โลกนั้นยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์มาก เพราะว่าโลกนั้นมีชีวิต และมีกระบวนการวิวัฒนาการมายาวนาน ก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น การที่มนุษย์กล่าวว่าจะปกป้องโลก จึงค่อนข้างเป็นความอหังการอยู่สักหน่อย โลกนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์ตัวกระจ้อยจะทำลายได้ โลกเคยผ่านหายนะภัย เทียบเท่ากับการระเบิดของหัวระเบิดนิวเคลียร์ร่วมสมัย ๕,๐๐๐ ลูก มาแล้ว ฉะนั้น ต่อให้โลกนี้ไม่มีมนุษย์เหลืออยู่เลย โลกก็จะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปดังที่เคยเป็นมา และตามทัศนะของมาร์กูลิส ศัตรูของมนุษย์ก็คือมนุษย์ด้วยกันเอง ตราบที่มนุษย์ยังเบียดเบียนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับได้ก้าวเดินไปสู่หายนภัยทีละน้อย

หนังสือ Symbiotic Planet ของมาร์กูลิส เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ เราได้รับรู้ลักษณะแห่งความคิดขบถตั้งแต่วัยเด็ก เธอแต่งงานตั้งแต่อายุ ๑๙ กับเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นนักฟิสิกส์ มีลูกคนแรกเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอทำหน้าที่เลี้ยงลูกและทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน มีบุคลิกเชื่อมั่นในตนเองสูง ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นคนหัวแข็ง

ความนอกครูของเธอ จะว่าไปแล้วไม่ต่างจากความนอกครูของนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ และแวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก ซึ่งต้องก้าวข้ามความเชื่อบนพื้นฐานทฤษฎีเก่าออกมาก่อน เธอไม่ได้เขียนเล่าว่า ความเป็นผู้หญิงของเธอไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ แต่เธอยอมรับว่าหน้าที่ของความเป็นมารดาของเด็ก ๓ คน และการทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเอาเสียเลย

หนังสือเล่มนี้บ่งบอกตัวตนของมาร์กูลิสไว้มากพอควร ส่วนที่น่าสนใจก็คือคำอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีกายา แม้เจมส์ เลิฟล็อค จะได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีกายา แต่มาร์กูลิสก็เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันถ้อยคำกระแหนะกระแหน และอคติทั้งปวงที่มีต่อทฤษฎีกายา จากนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง

ความเป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยชีวิตของโลกนั้น อยู่ที่การตีความหมายของคำว่า “ชีวิต” มาร์กูลิสไม่จมจ่อมกับปัญหาการถกเถียงเรื่องนิยาม หากแต่ก้าวล่วงไปสู่การยกระดับญานทัศนะ ขึ้นมาจับประเด็นความหมายของวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต ท่าทีเช่นนี้น่าสนใจมากทีเดียว

 

สารบาญ

ปฐมกถา

๑ ความเกื้อกูลทุกแห่งหน

๒ แย้งครู

๓ พิเศษจากการคัดเลือก

๔ สมัญญาแห่งองุ่น

๕ เกิดจากฟองน้ำ

๖ พินัยกรรมของเพศ

๗ สู่แผ่นดิน

๘ กายา

บทเสริมท้าย

หมายเหตุ

ดรรชนี

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลินน์ มาร์กูลิส - Lynn Margulis ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยแมสซาสชูเสต ในอัมแฮร์ตสต์ และผู้อำนวยการร่วมของหน่วยชีววิทยาโลกประจำนาซา อยู่ในสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติของอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๓ เธอเขียนหนังสือไว้นับสิบเล่ม เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เขียนแล้วอ่านเข้าใจง่าย งานชิ้นสำคัญคือ ภาวะเกื้อกูลและวิวัฒนาการระดับเซลล์ และ ชีวิต-จากจุดเริ่มต้นสู่ความหลากหลาย



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘