หนุ่มสาวดัดจริต > การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

"พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นมนุษย์ที่มีทั้งกิเลส ตัณหา และความสง่างาม ของการเสียสละที่รุ่งโรจน์ คละเคล้าปะปนกัน ในการกระทำเหมือนมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ ภาพที่แจ่มชัดขึ้นของพระเจ้ากรุงธนบุรีจากการศึกษาทำให้เกิดปีติ ที่ได้สัมผัสทิพยวิมานของนักประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ ได้เห็นคนเป็นคน"

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ประวัติศาสตร์นั้นคือการเล่าเรื่อง และนักเล่าเรื่องที่เยี่ยมยอดย่อมสร้างจินตภาพให้กับผู้อ่านได้แจ่มชัด ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล การอ่านหนังสือประวัติศาสตร์คือการตรวจสอบจินตนาการอัีนมีชีวิตชีวา หาใช่การอ่านสิ่งที่ตายไปแล้ว ดังความรู้สึกของเด็กยามถูกบังคับให้ท่องอ่านตำรา เพื่อตอบให้ไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่เขียนไว้

นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นนักคิด นักเขียนร่วมสมัยที่ผลิตงานเขียนต่อเนื่องออกมาจำนวนมาก และแม้ในขณะนี้เขาก็ยังเป็นแกนหลักสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งมีคำขวัญว่า "กลางวันมองเห็นด้วยแสงสว่าง กลางคืนเรามองด้วยจินตนาการ" มหาวิทยาลัยที่มอบปริญญาให้แก่ผู้รู้มิใช่ผู้เรียน เป็นแหล่งทางปัญญาสำคัญอีกแห่งหนึ่งในสยามประเทศ งานเขียนของเขามีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ส่วนใหญ่เป็นบทความ และหนังสือที่พิมพ์ออกมาช่วงหลัง ก็เป็นรวมเล่มบทความของเขาเสียส่วนใหญ่ หาที่เขียนเป็นหนังสือแท้ได้ยาก หนังสือเล่มนี้จึงนับได้ว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่สุด ในบรรดางานนิพนธ์ของเขา

เมื่อแรกที่สหายสนิทผู้หนึ่งกรุณาซื้อมาฝาก อ่านไปไม่กี่หน้า สหายอีกผู้หนึ่งที่มาเยี่ยมก็ขอยืมไป โดยเหตุที่ว่าบนชั้นหนังสือยังมีอีกหลายเล่ม เลยสละอ่านเป็นคนที่สอง ครั้นเมื่อได้คืนมา ยังไม่ทันจะเปิดอ่าน สหายอีกผู้ก็ขอยืมอ่าน โดยไม่สนใจเล่มอื่น ๆ ที่วางอยู่เคียงกันเลย กว่าจะได้อ่านจบเล่มจริงจัง ก็เรียกได้ว่าหนังสือต้องผ่านการยืมอีกหลายหน เจ้าของหนังสือได้อ่านเป็นคนที่สี่ และยังนึกสงกาว่า หนังสือเล่มหนาเกือบหกร้อยหน้าเล่มนี้ทำไมถึงได้มีผู้สนใจอยากอ่านนัก

เหตุผลที่คิดไว้มีสามข้อ ข้อแรกน่าจะเป็นว่า ประวัติศาสตร์ในช่วงต่อของกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์นั้นคลุมเครือนัก เราอาจจะมีเสรีภาพในจินตนาการ แต่การเขียนแสดงความคิดออกมาไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย งานเขียนด้านนี้จึงมีน้อยเกินกว่าจะหาอ่านประดับความรู้ได้ ข้อถัดมาคือชื่อของผู้แต่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ถือได้ว่าเป็นยี่ห้อรับประกันคุณภาพงานเขียน ว่าคงไม่เพ้อเจ้อเลื่อนลอย ข้อสุดท้ายหนังสือแบบนี้ผู้ชายชอบอ่าน (ฮ่า) เพราะผู้ที่ยืมไปอ่านล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย เข้าใจว่า ผู้ชายชอบอ่านเรื่องของวีรบุรุษ เรื่องชีวประวัติบุคคลสำคัญ ที่ไต่เต้าจากความเป็นคนสามัญธรรมดาไปสู่ความยิ่งใหญ่ ที่มีทั้งความขัดแย้ง ตื่นเต้น เสี่ยงภัย ทฤษฎีแบบนี้ไ่ม่รู้จะถูกหรือผิด แต่คิดไว้ว่า วันหลังน่าจะลองเขียนเรื่องรสนิยมการอ่านหนังสือของเพศหญิงและชายดู

นิธิเขียนไว้ในคำนำครั้งที่สองว่า "หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่ประสบความล้มเหลว" โดยเหตุที่ว่าแม้จะมีผู้ให้ความสนใจมาก แต่กลับไม่ได้รับการอ้างอิงกล่าวถึงเลยในผลงานวิชาการอื่น ๆ ยุคถัดมา ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๒๙ เขาเปรียบว่า ปมทางประวัติศาสตร์นั้น ประกอบด้วยตาข่ายความทรงจำจำนวนมาก การทำลายปมเหล่านั้นย่อมเป็นความเจ็บปวดยิ่ง

คุณูปการของหนังสือเล่มนี้ อาจจะมิใช่เนื้อหา เพราะการพิสูจน์ "ข้อเท็จจริง" ทางประวัติศาสตร์นั้น เป็นเรื่องของวาทกรรม แต่น่าจะเป็นมรรควิธีในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ และเป็นเครื่องยืนยันว่า อิสรภาพแห่งความคิดนั้นคือความรุ่มรวยแห่งสติปัญญาของสังคม

นิธิให้ภาพของประวัติศาสตร์การเืมืองไทย ตั้งแต่การล่มสลายของราชอาณาจักรอยุธยา ไปจนถึงการรัฐประหารอันนำไปสู่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ การให้เหตุผลและคำอธิบายของเขาเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุม หากหาช่องโหว่มาโต้แย้งเขาได้คงน่าสนใจไม่น้อย

หนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ไม่น่าเบื่อเลย เพราะท่วงทำนองการเ่ล่าเรื่องของนิธินั้นหาใครทาบยาก ทั้งเขามักคิดคำขึ้นมาใช้ได้ในจังหวะที่เหมาะสม การขึ้นประโยค หรือวลี มักจะทำให้ตื่นเต้นที่จะได้อ่านต่อเสมอ หากดูจากการตั้งหัวข้อในสารบัญแล้วก็คงพอจะเห็นได้

งานค้นคว้านี้อาจจะล้าสมัยในที่สุด หากมีงานค้นคว้าที่ดีกว่า เกิดจากความคิดที่ลึกซึ้งแหลมคมกว่า แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน งานชิ้นนี้ยังมีลมหายใจอยู่ และท้่าทายให้ถักทอความทรงจำใหม่ขึ้นมาแทนปมประวัติศาสตร์เดิม

 

สารบัญ

บทที่ ๑ การสลายตัวของราชอาณาจักรอยุธยา

  • ระบบป้องกันตนเอง
  • สงคราม พ.ศ. ๒๓๐๗ - ๒๓๑๐
  • ระบบที่ไม่ทำงานของราชอาณาจักรอยุธยา
  • สภาพจราจล

บทที่ ๒ การรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาด้วยการเมืองแบบชุมนุม (๒๓๐๙-๒๓๑๔)

  • พระราชประวัติก่อนเสวยราชย์
    • ประสูติเมื่อไร? ที่ไหน?
    • "ลูกไทย" หรือ "ลูกจีน"
    • พระญาติพระวงศ์พระเจ้ากรุงธนบุรี
    • สัญลักษณ์ "งู" และเจ้าพระยาจักรี
    • ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ไหน?
    • พระนามเดิมว่า "สิน
    • พ่อค้าเกวียนแห่งเมืองตาก
    • วิ่งเต้นเป็นเจ้าเมือง
  • ฐานะเมืองตาก "รัฐชายขอบ"
    • ความผูกพันกับเมืองตาก
    • ไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร
    • พระเจ้าตากไม่ใช่ "ผู้ดีกรุงเก่า"
    • ชุมชนจีนในอยุธยาเป็นกำลังทางการเมืองได้เพียงใด
  • การรื้อฟื้นพระราชอาณาจักรอยุธยา
    • นโยบายทางการเมืองชัดเจนกว่ากลุ่มอื่นๆ
    • "รัฐบาลธรรมชาติ" ที่ชายทะเลตะวันออก
    • เมืองธนบุรีและค่ายโพธิ์สามต้น
    • ยุทธศาสตร์และการเมืองที่เมืองธนบุรี
    • ปราบชุมนุมระบบขุนนางที่เมืองพิษณุโลก
    • ชุมนุมเจ้าพิมาย ความหมายทางการเมือง
    • นครศรีธรรมราช ศาสนจักรและอาณาจักร
    • เจ้าพระฝาง พวก "นอกรีต"
    • พระเจ้าตากกับจักรพรรดิจีน
    • "เนื้อหา" และ "รูปแบบ" ของ "อยุธยา"

บทที่ ๓ ราชอาณาจักรอยุธยาในการเมืองแบบชุมนุม (๒๓๑๐-๒๓๑๗)

  • พระมหากษัตริย์ในการเมืองแบบชุมนุม
    • เน้นลักษณะ "บุคคล" มากกว่า "สถาบัน"
    • สำแดงความเป็น "ประมุข" ของสงฆ์
  • ขุนนางและลูกน้อง
    • เจ้าพระยาจักรีศูนย์กลาง "ขุนนางกรุงเก่า"
  • ปัญหาทางการเมือง: การคุมกำลังคน
  • การปกครองหัวเมืองภาคใต้
  • การปกครองหัวเมืองภาคเหนือ

บทที่ ๔ การสลายตัวของการเมืองแบบชุมนุม

  • ศึกอะแซหวุ่นกี้และผลกระทบต่อการเมืองภายใน
    • "สัญญาวิปลาส" หรือการเมืองไทย
    • ขอลูกสาวพระเจ้ากรุงจีน
    • เศรษฐกิจตึงเครียด พ่อค้าจีนเดือดร้อน
    • ความ "ดุร้าย" เพราะขาดความมั่นคง
  • การรวมกลุ่มของเจ้าพระยาจักรี
    • ความเป็นญาติ
    • การเกี่ยวดอง
    • การฝากตัว
  • การเมืองของกลุ่มมอญ
    • ความขัีดแย้ง
  • อวสานของการเมืองแบบชุมนุม

บทส่งท้าย



หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคนนั้น
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๗