นิยายเรื่อง
ไพร่ฟ้า หรือ Der Untertan ของไฮน์ริค
มันน์ เล่มนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องเสียดสีการเมืองสมัยพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่
๒ ของเยอรมัน ที่โดดเด่นที่สุด หนังสือเล่มนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ในประเทศเยอรมัน
จึงตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษารัสเซียในปีค.ศ. ๑๙๑๕ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเสร็จสิ้น
และพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒ สละราชสมบัติ ลี้ภัยไปอยู่ฮอลแลนด์
นิยายเล่มนี้จึงถูกตีพิมพ์จำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปีค.ศ.
๑๙๑๙ ภายในหกสัปดาห์ก็ผ่านการพิมพ์ซ้ำถึงเจ็ดครั้ง และยอดพิมพ์รวมกันสูงเกินหนึ่งแสนเล่ม
ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลาย และก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง
จากผู้อ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรมในยุคนั้น
ภาพชีวิตของชาวเยอรมันในยุคของเผด็จการและผู้จงรักภักดี
เรื่องราวของความดิบทางจิตวิญญานและความศรัทธาในศาสนา เป้าหมายของชีวิตที่ไร้ความกล้าหาญทางจริยธรรม
ตัวอย่างชีวิตของประชาชนภายใต้การปกครองของพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่
๒ ล้วนปรากฎอยู่อย่างครบถ้วนในนิยายเรื่องนี้
ชีวิตของชาวเยอรมันอย่าง
ดี๊ดเดอริค เฮ็สลิง บุตรชายของเจ้าของโรงงานทำกระดาษเล็ก
ๆ ในเมืองเน็ตซิก ผู้ซึ่งได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด แม้จะมีความเคารพเชื่อฟังต่อบิดามารดาแต่ก็มีทัศนะหมิ่นหยามผู้หญิงยิ่ง
กระทั่งผู้เป็นมารดาของตน เขาเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่แบร์ลิน
พักในหอพักยุวชนที่เน้นความรักระหว่างพวกพ้อง มีรักแรกกับบุตรสาวแห่งมิตรสนิทของบิดา
ก่อนจะทอดทิ้งเธอไปอย่างไม่ดูดำดูดีเมื่อจบการศึกษา และเดินทางกลับมายังบ้านเกิด
สานต่อกิจการของบิดาผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว
ความทะเยอทะยานทั้งธุรกิจ
การเมือง และความรัก ของดี๊ดเดอริค ประกอบไปด้วยความยะโสดื้อรั้นถือดี
ความเป็นผู้นิยมระบบสมบูรนาญาสิทธิราชอย่างสุดโต่งของเขา ทำให้ไม่อาจประนีประนอมกับผู้นิยมประชาธิปไตย
หรือสังคมนิยมไปได้ ผู้มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างไปจากเขา ถูกถือว่าเป็นผู้ทรยศชาติ
ตัวเขาเองเป็นพยานสำคัญของคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์อย่างคลั่งไคล้
เป็นอาวุธสำคัญทางการเมืองของเขา ในการไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น
และใช้อำนาจที่ได้มาในการฉ้อฉลเพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตน
เขาใช้เล่ห์เหลี่ยมแย่งชิงคู่หมั้นของผู้อื่นมาแต่งงานด้วย ทำทุกวิถีทางเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีในทุกที่และทุกเวลา
รวมถึงการใช้เงินบริจาคของเมืองมาสร้างอนุสาวรีย์กษัตริย์แทนโรงเลี้ยงเด็กกำพร้า
และการกล่าวเท็จให้ร้ายป้ายสีผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดตน
ควร์ต
ทูโคลสกี นักเขียนบทละครผู้มีชื่อเสียงได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตของดี๊ดเดอริคนั้นแท้จริงแล้ว
ก็คือชีวิตของพระเจ้าไกเซอร์นั่นเอง เป็นอวตารของความคิดทางการเมืองในเยอรมันยุคนั้น
เป็นพระราชาน้อย ๆ อีกพระองค์หนึ่งที่ดำเนินชีวิตอยู่นับร้อยนับพันในเยอรมัน
เป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจและผู้สยบยอมต่ออำนาจ
เนื้อหาแบ่งเป็นหกบทใหญ่
แต่เดิมมีชื่อบทอยู่ อย่างไรก็ตามไฮน์ริค มันน์มิได้ตั้งชื่อบทไว้ครบทุกบท
บทที่สาม ว่าด้วยคดีลืคนั้น ถือว่าเป็นบทวิพากษ์พระเจ้าไกเซอร์โดยตรง
จากเหตุการณ์ที่สั่งทหารยิงคนงานที่เดินขบวนประท้วง นับว่าเป็นบทวิจารณ์การเมืองที่กล้าหาญตรงไปตรงมาที่สุดในยุคนั้นทีเดียว
ภาษาเขียนของไฮน์ริค
มันน์ ออกจะอ่านเข้าใจง่ายกว่าของโธมัส
มันน์ มาก การเล่าเรื่องออกจะเรียบง่าย แต่ให้ภาพอารมณ์ของผู้คนและเหตุการณ์ได้อย่างค่อนข้างครบถ้วนแจ่มชัด
ตัวละครค่อนข้างมาก แต่ก็ปรากฏตัวเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่สับสนมากนัก
ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนเพิ่งได้สัมผัสนิยายเยอรมันชั้นดี ที่เขียนแบบอ่านง่ายเป็นครั้งแรก
สำหรับผู้สนใจวรรณกรรมเยอรมัน เล่มนี้คงเหมาะสำหรับการเริ่มอ่านเสียยิ่งกว่าบุ๊ดเดนบรูคส์
นิยายของโธมัส มันน์ ที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยเดียวกัน และน่าแปลเป็นภาษาไทยเสียยิ่งกว่านิยายเล่มนั้น
สังคมไทยคงตื่นเต้นไม่น้อย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมันเมื่อราวหนึ่งร้อยปีที่แล้ว
ออกจะใกล้เคียงกับยุคสมัยปัจจุบันของสังคมไทยมากทีเดียว
เกี่ยวกับผู้เขียน

ลูอีซ
ไฮน์ริค มันน์ ถือกำเนิดที่เมืองลือเบ็ค เมื่อวันที่ ๒๗
มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ ปีเดียวกับการก่อตั้งราชอาณาจักรเยอรมันภายใต้การปกครองของปรัสเซีย
โดยมีบิสมาร์กเป็นนายกรัฐมนตรี ไฮน์ริคเป็นบุตรชายคนแรกของ โธมัส
โยฮัน ไฮน์ริค มันน์ กับยูเลีย สี่ปีหลังจากนั้นโธมัส
มันน์ผู้เป็นน้องชายจึงได้ถือกำเนิด ฐานะครอบครัวตระกูลมันน์ถือว่าอยู่ในขั้นดี
มีบริษัทเป็นของตัวเอง บิดาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเมืองลือเบ็ค
เมื่ออายุได้สิบสามปี ไฮน์ริคได้เดินทางไปเมืองซังค์ ปีเตอร์สบวร์ก
รัสเซีย เริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุสิบสี่ และหัดแต่งกวีนิพนธ์เมื่ออายุสิบหก
ภายหลังจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ก็ไปเป็นเด็กฝึกงานในร้านหนังสือที่เมืองเดรสเดน
ช่วงปีค.ศ. ๑๘๙๑ ๑๘๙๒ เป็นอาสาสมัครทำงานในสำนักพิมพ์ เอส ฟิชเฌอร์
เมืองแบร์ลิน พร้อมกันนั้นก็เรียนที่มหาวิทยาลัยฟรีดดริค-วิลเฮล์ม
ไปด้วย
หลังจากบิดาถึงแก่กรรม
บริษัทประจำตระกูลก็ปิดตัวลง ตัวเขาเองก็ออกเดินทางและไม่มีที่พำนักเป็นหลักแหล่ง
แต่ก็มีงานเขียนตีพิมพ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ บ้างก็เขียนร่วมกับน้องชาย
โธมัส มันน์ ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากนิยายเล่มแรก บุ๊ดเดนบรูคส์
ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๐๑ เคยขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองระหว่างกันถึงกับไม่พูดจากันร่วมเจ็ดปี
ตัวเขาเองได้รับเลือกให้เป็นประธานฝ่ายกวีนิพนธ์ สถาบันศิลปะของปรัสเซีย
ที่แบร์ลิน ในปีค.ศ.๑๙๓๑ นิยายเรื่อง ศาสตราจารย์ขยะ ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปีค.ศ.
๑๙๐๕ ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนต์ (ภายใต้ชื่อว่า นางฟ้าสีน้ำเงิน
นำแสดงโดย มาร์เลน ดีททริค) ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก
การแสดงความเห็นทางการเมืองของเขา
ที่ต่อต้านลัทธิชาตินิยมในเยอรมัน พร้อมกับปัญญาชนคนอื่น ทำให้ต้องระเห็จหนีออกนอกประเทศไปอยู่ที่ฝรั่งเศส
สเปน และโปรตุเกส ตั้งแต่ปีค.ศ.๑๙๓๓ และถูกถอดสัญชาติเยอรมัน ไม่นานนักเขาก็เปลี่ยนสัญชาติเป็นเชคโกสโลวาเกีย
ในปีค.ศ. ๑๙๔๐ ก็ย้ายไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สิบปีหลังจากนั้นเขาได้รับตำแหน่งเป็นประธานสถาบันศิลปะในแบร์ลิน
เยอรมันตะวันออก และเตรียมตัวเดินทางกลับมา แต่ก็เสียชีวิตเสียก่อนที่ซานตา
โมนิคา ในลอส แองเจลิส
ไฮน์ริค
ผ่านชีวิตแต่งงานสองครั้ง แต่งงานครั้งแรกกับมาเรีย คาโนวา นักแสดงละครชาวปร๊าก
เมื่อปีค.ศ. ๑๙๑๔ และแยกจากกันสิบห้าปีหลังจากนั้น ก่อนที่จะแต่งงานครั้งใหม่กับเนลลี
เคริกเกอร์ ภรรยาคนที่สอง
เมื่อเทียบกับโธมัส
มันน์ แล้ว แม้จะมีชื่อเสียงน้อยกว่า แต่ไฮน์ริค มันน์ก็มีงานเขียนค่อนข้างมากและหลากหลายกว่า
ประกอบกับเขามีความสนใจทางการเมืองและสังคมค่อนข้างมาก จึงมีบทบาทหลากหลายนอกเหนือจากการเป็นนักเขียน
งานเขียนสำคัญ
-
Der Atem นิยาย ลมหายใจ
-
Die Armen นิยาย ผู้ยากไร้
-
Empfang bei der Welt นิยาย ต้อนรับสู่โลก
-
Ein ernstes Leben นิยาย ชีวิตจริงจัง
-
Es kommt der Tag ความเรียง วันหนึ่ง
-
Flöten und Dolche นิยายขนาดสั้น ขลุ่ยกับกริช
-
Geist und Tat Franzozen 1780-1930 ความเรียง ชีวิตจิตใจฝรั่งเศส
ค.ศ. ๑๗๘๐-๑๙๓๐
-
Der Hass ประวัติศาสตร์เยอรมัน ความเกลียดชัง
-
Die Göttinnen Die Drei Romanen der Herzogin von Assy เทพเจ้า
นิยายสามเรื่องของเคาน์เตสแห่งอัสซี
o
I. Band: Diana ไดอานา
o
II. Band: Minerva มิเนอร์วา
o
III. Band: Venus วีนัส
-
Im Schlaraffenland นิยาย ดินแดนแสนสุข
-
Die Jagd nach Liebe นิยาย พรานเสน่หา
-
Die Jugend des Königs Henri Quatre นิยาย วัยเยาว์ของกษัตริย์อองรี
ควอตเทรอ
-
Die kleine Stadt นิยาย จุลนคร
-
Macht und Mensch ความเรียง มนุษย์กับอำนาจ
-
Mut ความเรียง ความกล้าหาญ
-
Professor Unrat oder Das Ende eines Tyrannen นิยาย ศาสตราจารย์ขยะ
หรืออวสานทรราช
-
Sieben Jahre Chronik der Gedanken und Vorgänge ความเรียง
บันทึกเหตุการณ์และความคิดในช่วงเจ็ดปี
-
Stürmische Morgen นิยายขนาดสั้น พายุอรุณ
-
Der Untertan นิยาย ไพร่ฟ้า
-
Ein Zeitalter wird besichtigt มองอายุ
-
Zwischen den Rassen ระหว่างชาติพันธุ์
|