พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
 
 
   พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
พญามังราย(เม็งราย)ประสูติเมื่อปีกุน พ.ศ.๑๗๘๒ ครองเมืองเงินยางเชียงแสนแทนพญาลาวเม็ง พระราชบิดา เมื่อพ.ศ. ๑๘๐๒ ทรงพระปรีชาสามรถรวบรวมแคว้นและเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นอาณาจักร ล้านนาไทยทรงตรากฎหมาย "มังรายศาสตร์" ใช้ปกครองบ้านเมือง เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังราย สืบเชื้อสายครองเมืองเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนาไทยต่อมาอีก ๑๗ พระองค์ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๔ รวมพระชนม์มายุได้ ๗๒ พรรษา

         พญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยพระโอรสองค์ที่สามแห่ง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงพระบรม เดชานุภาพมาก เมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด พระเกียรติเกริกก้องไปทั่วทิศ ทรงแผ่อาณาจักรไปกว้างใหญ่ไพศาล ทรงประดิษฐ์อักษรไทย ใช้สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทรงครองราชย์ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๒ สิ้นพระชนม์ราว พ.ศ. ๑๘๕๒
พญางำเมือง ประสูติเมื่อปีจอ พ.ศ. ๑๗๘๑ ปกครองเมืองพะเยาสืบต่อจากพญามิ่งเมืองพระราชบิดาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๑ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ร่วมสำนักอาจารย์เดียวกับ พญาร่วง จึงเป็นพระสหายสนิทแต่นั้นมา และทรงอานุภาพ เสมอเท่าเทียมกัน ในการบริหารปกครองบ้านเมืองทรงใช้วิเทโศบายผูกมิตรไมตรีกับอาณาจักร ใกล้เคียง บ้านเมืองอยู่ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๑ รวมพระชนม์มายุได้ ๘๐ พรรษา
กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากน้ำพระหัตถ์เพื่อเป็น ทัฬหมิตร สนิทแนบแน่น ไม่เป็นศัตรูต่อกันภายภาคหน้า ณ ฝั่งแม่น้ำอิง พญามังรายเมื่อได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ต่อมาได้ทรงสร้างเมืองฝาง ตีได้เมืองหริภุญไชยจากพญายี่บาและสร้างเวียงกุมกาม ภายหลังทรงพบชัยภูมิเมืองอันเป็น มงคลเป็นที่ราบ บริเวณ แม่น้ำปิงกับเขาดอยสุเทพ จึงได้เชิญ พระสหายคือ พญาร่วง และพญางำเมืองมาร่วมปรึกษา หารือและทรงเห็นชอบร่วมกัน
    สร้างเมืองกว้าง ๙๐๐ วา ยาว ๑๐๐๐ วา ตั้งพิธีกลปบาตฝังนิมิตหลักเมือง วันพฤหัสบดี เพ็ญเดือน ๖ พ.ศ. ๑๘๓๙ จันทร์เสวยฤกษ์ ๑๖ ยามแตรจักใกล้รุ่ง ไว้ลัคนาเมืองในราศีมีน อาโปธาตุ สร้างเสร็จ ในปีเดียวกัน ขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"
        ชาวเชียงใหม่จึงพร้อมใจกันร่วมสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ประดิษฐาน ณ ที่นี้ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เวลา๑๑.๕๙ น. เพื่อเฉลิมพระเกียรติไว้คู่เมืองเชียงใหม่ และเป็นที่สักการะระลึกถึงใน พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์ชั่วกาลนานเท่านาน ขอดวงพระวิญญาณแห่งพระมหากษัตริย์เจ้าทั้งสามพระองค์ จงสถิตย์เป็นมิ่งขวัญคุ้มครองปวงประชาและบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรืองพ้นภัยพิบัติทั้งปวงด้วยเทอญ


 
ประวัติดินแดนล้านนา(เชียงใหม่), ครูบาศรีวิชัย, เจ้ากาวิละ, พระราชชายาดารารัศมี, พระศิริมังคลาจารย์, พระนางสามผิว, นายพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ, นายไกรศรี, พระบรมพระราชานุสรณ์สามกษัตริย์