ทศชาติที่ ๒ พระมหาชนก... |
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าอดีตชาติให้เหล่าพระภิกษุทั้งปวง
ซึ่งสนทนาถึงเรื่องการออกบวชของพระตถาคตเจ้า
ณ โรงธรรมสภา เชตวันวรวิหาร
ในกรุงสาวัตถี
มีความเป็นมาดังนี้
เมื่อครั้งอดีตกาลที่ผ่านมา ณ
กรุงมิถิลาวิเทหรัฐ
มีพระราชพระนามว่า
"มหาชนก"
ครองราชสมบัติโดยมีพระราชโอรส ๒
พระองค์
ทรงพระนามว่าอริฏฐชนกและโปลชนก
พระมหาชนกทรงตั้งให้พระโอรสองค์โตเป็นพระอุปราช
และทรงตั้งพระโอรสองค์เล็กเป็นเสนาบดี
ครั้นเมื่อท้าวเธอทรงเสด็จสวรรคต
พระอุปราชอริฏฐชนกก็ได้ทรงเสวยราชสมบัติสืบต่อพระบิดา
และพระราชทานตำแหน่งอุปราชให้พระอนุชาโปลชนก
ชะตากรรมพระบิดา
เมื่อแรกนั้นพระเจ้าอริฏฐชนกก็ทรงปกครองบ้านเมืองโดยชอบธรรม
แต่มีพระอำมาตย์มนตรีผู้สอพลอคอยเพ็ดทูลให้ร้ายป้ายสีว่า
พระอุปราชโปลชนกคิดจะปลงพระชนม์เพื่อชิงบัลลังก์
พระเจ้าอริฎฐชนกได้รับฟังบ่อยครั้งเข้าก็ทรงหูเบาหลงเชื่อ
ทรงคลายความรักใคร่พระอนุชา
จนกระทั่งหวาดหวั่นพระทัยถึงกับ
มีรับสั่งให้จับพระอุปราชโปลชนกคุมขังไว้ในคฤหาสถ์หลังหนึ่ง
มหาอุปราชผู้เป็นน้องชายร่วมพระสายโลหิต
จึงตั้งสัตย์อธิษฐานต่อพระเสื้อเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ว่า
พระองค์มิได้เคยมีความคิดมุ่งร้ายต่อพระเชษฐาเลย
ขอให้ความสัตย์ซื่อนี้มีอานุภาพทำลายขื่อคา
และเครื่องจองจำพันธนาการให้มลายไปสิ้นด้วยเถิด
ด้วยพลานุภาพแห่งความสัตย์ซื่อนั้นก็ได้ทำให้เกิดปาฏิหาริย์
บรรดาโซ่ตรวนต่าง ๆ
ก็หลุดหักออกทั้งสิ้น
พระมหาอุปราชจึงเสด็จหลบหนีไปยังปัจจันตคาม
บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ยินเรื่องนี้
ต่างก็พากันมาเป็นพรรคพวกของพระองค์กันมากมาย
ด้วยเพราะมิเชื่อถือศรัทธาในพระราชาที่หูเบาอีกต่อไป
ครั้นต่อมาพระอุปราชโปลชนกจึงรวมไพร่พลยกทัพมาประชิดเมือง
และทรงส่งพระราชสารถึงพระเชษฐาความว่า
"หม่อมฉันมิเคยคิดปองร้ายเสด็จพี่
แต่กลับถูกเสด็จพี่ทำร้าย
เพียงเพราะหลงเชื่อคำคนสอพลอ
บัดนี้หม่อมฉันจะคิดร้ายบ้าง
ขอให้เสด็จพี่พระราชทานบัลลังก์ให้หม่อมฉัน
หรือไม่ก็เตรียมทำศึกกับหม่อมฉัน"
พระเจ้าอริฏฐชนกทรงตกลงพระทัยทำสงครามกับอนุชา
จึงทรงรับสั่งพระอัครมเหสีให้รักษาพระครรภ์ให้จงดี
ด้วยทรงดำริสังหรณ์ว่าอาจจะแพ้ภัยในศึกนี้
เมื่อออกศึกชนช้างกับพระอนุชา
พระเจ้าอริฏฐชนกก็ทรงสิ้นพระชนม์กับคอช้าง
ด้วยพระหัตถ์ของพระอุปราชโปลชนกผู้เป็นอนุชา
ตกยากกับพระมารดา
พระอัครมเหสีได้ทราบข่าวนั้นจึงทรงรวบรวมสิ่งของใส่กระเช้าแล้วปิดทับด้วยผ้าเก่า
ๆ
นำเอาข้าวสารไว้ด้านบนแล้วยกขึ้นเทินศีรษะแต่งกายมอมแมมเสด็จปะปนกับชาวบ้าน
หนีออกจากมิถิลาด้วยน้ำพระเนตรนองพระพักตร์โดยมิมีผู้ใดสังเกตเห็น
ในระหว่างทางที่พระนางคิดมุ่งสู่เมืองกาลจัมปากะ
พระนางทรงอิดโรยด้วยพระครรภ์แก่นักแล้ว
จึงทรงหยุดพักที่ศาลาแห่งหนึ่ง
ยามนั้นท้าวสักกเทวราชบนสรวงสวรรค์ได้ทรงทราบว่าทารกในพระครรภ์ของพระนางก็คือ
"พระโพธิสัตว์"
ผู้เปี่ยมบุญญาธิการ
ท้าวเธอจึงทรงเนรมิตองค์เป็นชายชราขับเกวียนผ่านไป
อาสารับพระนางให้เดินทางต่อไปได้
ซึ่งบนเกวียนนั้นก็มีแท่นบรรทมและพระกระยาหารพร้อมสรรพ
ในเวลาเพียงพริบตาก็มาถึงเมืองกาลจัมปากะพระนางให้สงสัยแคลงพระทัยว่าทำระยะทาง
๖๐ โยชน์จึงถึงได้รวดเร็วนัก
ครั้นจะทรงรับสั่งไถ่ถาม
ท้าวเธอในร่างชายชราก็หายวับไปทันที
ขณะนั้นพราหม์ผู้เป็นทิศาปาโมกข์
ผู้มีลูกศิษย์เป็นชาวเมืองกาลจัมปากะ
๕๐๐ คน
ได้พบพระนางผู้มีพระสิริโฉมงามสง่า
จึงเข้าไต่ถามได้ความว่านางไร้ญาติขาดมิตร
หนีข้าศึกที่รุกเมืองแตกมาตามลำพังทั้ง
ๆ ที่ครรภ์แก่ดังนี้
พราหม์ผู้นั้นจึงชักชวนให้ไปอยู่ด้วยและรับเป็นน้องสาวให้อยู่เรือนอุทิจจพราหมณ์
จนกระทั่งคลอดทารกออกมาเป็นพระกุมารผิดผุดผ่องดั่งทองคำ
พระนางทรงต้องพระนามว่า
"มหาชนก"
ตามพระนามของเสด็จปู่ผู้มีทศพิธราชธรรม
พระมหาชนกกุมารมีพระสหายเป็นเด็กชาวบ้านละแวกนั้น
ครั้นเล่นหัวกันตามประสาเด็ก ๆ
ก็มีต่อสู้ขัดเคืองกันบ้าง
เด็กชาวบ้านที่สู้พระกุมารไม่ได้ก็มักไปฟ้องพ่อแม่ว่า
เด็กไม่มีพ่อรังแกตน
พระมหาชนกจึงตรัสถามพระมารดาว่า
"พ่อของฉันคือใครกันนะ
ท่านแม่"
"ท่านอาจารย์ไงเล่าที่เป็นบิดาของลูก"
พระนางโป้ปดออกไปให้พระกุมารเชื่อดังนั้น
แต่ต่อมาเมื่อเด็กชาวบ้านพูดกันบ่อย
ๆ พระองค์ก็สงสัยนัก
วันหนึ่งเมื่อพระกุมารดื่มน้ำนมจากพระถันของพระมารดา
พระกุมารได้กัดพระถันของพระมารดาแล้วทูลถามว่า
"ท่านแม่
บอกลูกมาเถิดว่าใครเป็นพ่อของลูก
ไม่เช่นนั้นลูกจะกัดนมท่านแม่ให้ขาดเลยด้วย"
พระมารดาถูกกัดพระถันจนเจ็บปวดจึงทรงตกลงตรัสความจริงว่า
"พ่อของลูกคือพระเจ้าอริฏฐชนก
กษัตริย์แห่งเมืองมิถิลานแต่พระราชบิดาของลูก
ถูกพระอุปราชโบลชนกผู้มีศักดิ์เป็นอาของลูกปลงประชนม์และชิงราชสมบัติไป"
เมื่อได้ทราบความจริงดังนั้น
พระกุมารก็ทรงตั้งพระทัยร่ำเรียนศิลปวิชาทุกแขนงจนแตกฉาน
โดยไม่โกรธเครืองใครเมื่อยามถูกล้อเลียนว่าไม่มีพ่ออีก
จนกระทั่งมีพระชนม์ครบ ๑๖ พรรษา
จึงได้ทูลขอทรัพย์มารดา
อันมีแก้ววิเชียรดวงหนึ่ง
แก้วมณีดวงหนึ่ง
แก้วมุกดาอีกดวงหนึ่ง
พระมหาชนกกุมารทรงขอเพียงครึ่งเดียวเพื่อนำไปขายเป็นทุนทำการค้า
แล้วจะมุ่งสู่นครมิถิลาเพื่อชิงบัลลังก์คืน
ข้ามทะเลเด็ดเดี่ยว
ระหว่างที่พระมหาชนกแล่นสำเภาไปกลางทะเลนั้นเอง
เรือสำเภาก็อับปางลงเพราะลมมรสุมซัดกระหน่ำจนพ่อค้าและผู้คนเกือบพันคน
กลายเป็นเหยื่อของสัตว์ทะเลและจมน้ำตายกันไปสิ้น
ตลอด ๗ วัน
พระมหาชนกก็พยายามว่ายน้ำอยู่กลางทะเลมุ่งสู่เมืองมิถิลา
โดยอธิษฐานอุโบสถไปด้วย
นางมณีเมขลาเทพธิดารักษามหาสมุทรจึงมา
ปรากฎกายกลางอากาศ
แล้วถามพระมหาชนกว่า
"ท่านอาจจะตายเสียแน่แท้ที่มัวว่ายน้ำในทะเลลึกทั้ง
ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่งอย่างนี้"
พระมหาชนิกตรัสว่า
"เราพากเพียรเช่นนี้
แม้ตายก็มิถูกติเตียนได้
การไม่รักษาชีวิตไว้อย่างพากเพียรก็เท่ากับว่าเป็นคนเกียจคร้าน"
นางมณีเมขลาจึงพาพระมหาชนกเหาะลอยไปยังอุทยานของพระเจ้าโปลชนก
เจ้าหญิงลองพระปัญญา
ในขณะนั้นพระเจ้าโปลชนกทรงพระประชวรและสวรรคตไปแล้ว
๗ วัน
พระราชธิดาทรงหาคู่ครองมาอภิเษก
เพื่อครองราชสมบัติตามคำรับสั่งของพระราชบิดา
โดยทรงปรึกษากับราชปุโรหิตแล้วให้เซ่นสรวงเทพยดา
เพื่อเสี่ยงราชรถตามพระประเพณีโบราณ
หากราชรถไปเกยที่ผู้ใด
ผู้นั้นก็มีบุญพอจะขึ้นครองเมืองได้
ครั้นเมื่อเทียมรถม้ามงคลแล้ว
ม้าก็วิ่งออกจากพระราชวังไปยังอุทยานของนคร
รถม้าเข้าไปแล่นวนรอบพระมหาชนก
๓ รอบ
แล้วก็หยุดอยู่ที่ปลายเท้าของพระองค์ซึ่งบรรทมอยู่
ณ ที่นั้น
พระราชปุโรหิตจึงสั่งให้ประโคมดนตรีอึกทึก
พระมหาชนกตื่นบรรทมขึ้นมาดูจึงรู้ว่าคงถึงเวลาแห่งการครองบัลลังก์แล้ว
และมิได้ทรงแตกตื่นตกพระทัยแต่อย่างใด
พระราชปุโรหิตจึงทูลเชิญไปครองเมือง
พระมหาชนกจึงตรัสถามว่า
เหตุใดจึงมาให้พระองค์ไปครองเมืองแล้วพระราชาของนครไปไหนเสียแล้ว
"พระราชาได้เสด็จสวรรคตแล้วพระเจ้าข้า"
"แล้วพระราชาไม่มีราชโอรสเลยรึ"
"ขอเดชะ
มีเพียงพระราชธิดาองค์เดียวพระเจ้าข้า"
เมื่อได้ฟังดังนั้น
พระมหาชนกจึงทรงรับสั่งว่าจะยินยอมรับราชสมบัติ
ราชปุโรหิตจึงถวายเครื่องทรงและทำพิธีเถลิงราชสมบัติ
ณ อุทยานนั้นเอง
ครั้นเข้าสู่พระราชมณเฑียรแล้ว
พระราชธิดาคิดลองพระทัย
จึงทรงวางอุบายให้ราชบุรุษผู้หนึ่งทูลพระมหาชนกว่า
มีรับสั่งจากพระราชธิดาให้เข้าเฝ้า
พระมหาชนกก็ยังคงดำเนินชมปราสาทหาได้ใส่พระทัยไม่
จนเมื่อชมปราสาทพอพระทัยแล้วจึงเสด็จขึ้นตำหนักหลวง
พระราชธิดาถึงกับเสด็จออกมารับและยื่นพระหัตถ์ให้พระมหาชนก
ทรงสัมผัสอีกด้วยความเกรงพระบรมเดชานุภาพ
และพระบารมีอันสง่างามยิ่งนัก
เมื่อเข้าประทับแล้ว
พระมหาชนกทรงตรัสถามราชปุโรหิตว่า
"ก่อนเสด็จสวรรคต
พระราชาของท่านมีรับสั่งอย่างไรบ้าง"
"ขอเดชะ
พระราชาทรงรับสั่งไว้ว่า
ถ้าผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสวิลีปีติได้ก็ให้มอบนครให้คนผู้นั้น
ข้อต่อมาคือผู้ใดรู้จักด้านศีรษะและด้านเท้าของบัลลังก์
๔ เหลี่ยม
จึงจะครองบัลลังก์ได้
ข้อต่อมาคือผู้นั้นต้องโก่งคันธนูของเมืองได้
และข้อสุดท้ายคือผู้นั้นต้องค้นหาขุมทรัพย์
๑๖ แห่งให้จงได้"
ซึ่งรับสั่งเหล่านี้นั้น
เจ้าหญิงสิวลีพระราชธิดาได้ทรงคัดเลือกอำมาตย์
และเสนาบดีหนุ่มมาหลายคนแล้ว
เมื่อทรงตรัสให้ผู้ใดเข้าเฝ้า
คนผู้นั้นก็ทำตาม
รับสั่งให้มานวดเท้า
คนผู้นั้นก็มานวด
เจ้าหญิงจึงทรงขับไล่ออกไปจนสิ้นด้วยเคืองพิโรธว่า
คนเหล่านั้นไร้ปัญญาบารมีอันมิควรจะครองราชย์ได้
ราชปุโรหิตทูลต่อพระมหาชนกว่า
ข้อแรกนั้นพระราชธิดาทรงยื่นพระหัตถ์ให้พระมหาชนกแล้ว
ก็หมายความว่าทรงปิติยินดีแล้ว
แต่ยังมีข้อให้หาด้านศีรษะและเท้าของบัลลังก์อีกด้วย
พระมหาชนกจึงทรงถอดปิ่นทองคำจากพระเศียรส่งให้พระราชธิดา
ซึ่งพระนางก็ทรงเปี่ยมด้วยพระปัญญาจึงได้นำปิ่นทองคำไว้
ด้านหนึ่งของบัลลังก์
"ด้านนั้นแหละคือด้านศีรษะของบัลลังก์"
พระมหาชนกจึงทรงตรัสได้ถูกต้อง
จากนั้นทรงยกธนูเมืองอันมีน้ำหนักถึง
๑ พันคนจึงจะยกได้
ทว่าพระองค์ทรงยกอย่างเบาราวกงดีดฝ้ายของสตรี
และก็ทรงโก่งคันธนูน้าวสายธนูได้ด้วยพละกำลังดั่งพญาคชสาร
ครั้งถึงข้อที่ให้ค้นหาขุมทรัพย์
๑๖ แห่ง
พระมหาชนกจึงทรงตรัสถามถึงปริศนาของขุมทรัพย์แรก
ราชปุโรหิตทูลว่า
"ขอเดชะ ขุมทรัพย์ที่ ๑
อยู่ทางทิศตะวันขึ้นพระเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์เคยลองขุดหาทางทิศตะวันออกที่ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
แต่ไม่พบทรัพย์ใดเลย"
"พวกท่านจงไปขุดยังที่ที่ซึ่งพระราชาของท่านยืนประทับรอพระปัจเจกโพธิ
ที่พระราชานิมนต์มารับอาหารบิณฑบาตในทุก
ๆ รุ่งเช้านั้นเถิด"
พวกอำมาตย์ราชวัลลภพากันไปขุด ณ
จุดนั้น
ก็ปรากฎว่า
พบขุมทรัพย์ที่หนึ่งสมจริงดั่งรับสั่งของพระมหาชนก
ยังความอัศจรรย์ใจแก่เหล่าอำมาตย์
จนพากันมาทูลถามพระมหาชนกถึงความนัยของปริศนานั้น
พระมหาชนกตรัสว่า
พระปัจเจกโพธิเปรียบดั่งตะวัน
พระราชายืนคอย ณ ที่ใด
ที่นั้นก็คือขุมทรัพย์ตะวันขึ้น
ดังนั้นปริศนาข้อต่อไปที่ว่าขุมทรัพย์ที่ตะวันอัศดง
ก็คือจุดที่พระปัจเจกโพธิรับทานแล้วจะเสด็จกลับทางนั้น
บรรดาอำมาตย์จึงพากันไปขุดหาทางท้ายพระราชมณเฑียร
ก็ปรากฎว่าพบขุมทรัพย์ที่ ๒ อีก
สำหรับปริศนาข้อต่อไปที่ว่า
"ขุมทรัพย์ภายใน" นั้น
พระมหาชนกทรงรับสั่งให้ไปขุดที่ใต้ธรณีประตูพระราชฐาน
"ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก"
ก็ให้ขุดที่ใต้ธรณีนอกประตูพระราชฐาน
"ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก"
ก็ให้ขุดที่เกยทองสำหรับขึ้น-ลงประทับมงคลหัตถี
"ขุมทรัพย์ในที่ขึ้น"
ก็ให้ขุดหน้าประตูพระนิเวศ
"ขุมทรัพย์ขาลง"
ให้ขุดที่หน้าเกยยามพระราชาขึ้น-ลงคอช้างหน้าชาลา
"ขุมทรัพย์ระหว่างไม้รังทั้ง
๔" ก็ให้ขุดที่ทวารทั้ง ๔
ซึ่งพระแท่นทำด้วยไม้รัง
"ขุมทรัพย์รอบ ๑ โยชน์"
ให้ขุดที่ห่างจากแท่นบรรทมช้างละ
๔ ศอกทั้ง ๔ ทิศ
"ขุมทรัพย์ที่ปลายงา"
ให้ขุดที่โรงคชสารตรงที่งาของพญาเศวตกุญชรจรดปลายงาลงดิน
เสวยราชย์-พบสัจธรรมชีวิต
เมื่อทรงไขปริศนาได้ทั้งสิ้น
บรรดาเสนาอำมาตย์และไพร่ฟ้า
ข้าแผ่นดินต่างก็พากันโห่ร้องกันกึกก้องทั่วพระนคร
คำสรรเสริญเอกเกริกต่างเทอดทูนพระปัญญาบารมีของพระมหาชนก
ที่ไขปริศนาจนพบขุมทรัพย์ทั้งปวงของพระราชา
ต่างก็ยินดีปรีดาแซ่ซ้องถึงพระราชาองค์ใหม่ผู้เป็นปราชญ์อัจฉริยะกันเลื่องลือไป
หลังจากนั้นพราหมณ์มหาชนกจึงทรงมีรับสั่งให้ตั้งโรงทาน
๖ แห่ง ที่กลางนคร
ประตูนคร และประตูรอบนคร ๔
ทิศเพื่อบริจาคทรัพย์ทรงโปรดให้เชิญพระมารดา
และพราหมณ์ทิศาปาโมกข์สู่นคร
ทรงทำสักการะสมโภชน์และประกาศความจริงว่า
พระองค์คือพระราชโอรสของพระเจ้าอริฏฐชนกในพิธีเถลิงถวัลย์ราชย์นั้นเอง
ครั้งนี้พระมหาชนกทรงรำลึกถึงความพากเพียรของพระองค์
ที่ทรงพยายามว่ายน้ำกลางมหาสมุทรจึงได้พบความสำเร็จดังนี้
ทรงโสมนัสและตระหนักว่าคนเราพึงหมั่นเพียรพยายามโดยสุดกำลัง
เพื่อให้ลุล่วงสำเร็จดั่งมุ่งหวังไว้
จากนั้นพระมหาชนกทรงครองราชย์โดยทศพิธราชธรรม
เสนาและไพร่พลเมืองต่างก็เป็นสุขกันถ้วนหน้า
จนกระทั่งเจ้าหญิงสิวลีประสูติพระราชโอรสทรงพระนามว่า
ทีฆาวุราชกุมาร
และพระมหาชนกทรงพระราชทานตำแหน่งอุปราชให้เมื่อพระโอรสเจริญวัยแล้ว
คราวหนึ่ง
พระมหาชนกทรงช้างเสด็จประพาสอุทยาน
ทรงเห็นต้นมะม่วง ๒ ต้น
ที่ประตูอุทยาน
ต้นหนึ่งมีผลดกเต็มต้น
อีกต้นหนึ่งไม่มีผล
พระมหาชนกทรงเก็บมะม่วงจากต้นผลดกมาเสวยแล้วเข้าไปในอุทยาน
ครั้นกลับออกมาก็พบว่ามะม่วงต้นดกนั้นกิ่งก้านหักโค่นใบร่วงหมดสิ้น
มะม่วงแม้แต่ผลเดียวก็มิเหลือ
บรรดาอำมาตย์จึงกราบทูลว่า
พสกนิกรต่างก็มาเก็บมะม่วงจากต้นนี้ด้วยเพราะเป็นต้นที่พระราชาเก็บเสวย
จึงได้เข้ายื้อแย่งเก็บไปเป็นมงคลจนสภาพของต้นมะม่วงแหลกราญดังนี้เอง
พระมหาชนกทอดพระเนตรดูมะม่วงต้นที่ไม่มีผล
ซึ่งยังคงยืนตั้งอยู่อย่างมั่นคงดุจผาแก้วโดยมิบอบช้ำยับเยิน
บัดนั้นเองจึงทรงดำริว่า
ต้นมะม่วงที่มีผลก็เปรียบดั่งราชสมบัติซึ่งจะทำลายตัวเอง
หากไม่มีผลก็ไม่มีภัย
การละสมบัติออกบวชก็เปรียบดั่งต้นไม้ที่ไร้ผลซึ่งย่อมไร้ภัย
ครั้นเสด็จกลับพระราชวัง
พระมหาชนกจึงทรงมีดำรัสว่า
"เราจะเจริญสมณธรรมในตำหนักนับแต่นี้ไป
ขอให้พวกท่านรักษาราชกิจตามแต่เห็นควร
ผู้ใดจะเข้ามาในตำหนักเราก็เพื่อนำอาหารมาเท่านั้น"
ทรงละกิเลสกลางราชวัง
เวลาต่อมาพระมหาชนกก็ทรงบำเพ็ญสมณธรรมสงบอยู่ในปราสาท
มิได้ออกเสด็จมางานมหรสพใดอีกเลยจำนเป็นที่ร่ำลือกันทั่วไปทั้งนคร
พระมหาชนกมีพระทัยน้อมนำไปทางออกบรรพชา
ทรงครุ่นคิดอยู่ในพระทัยว่า
"เมื่อใดหนอ
เราจึงจะได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงผู้ซึ่งตัดโลกละกิเลสได้แล้ว
เมื่อใดหนอเราจักได้ออกบวช
อุ้มบาตร
ถือเพศสมณแสวงธรรมอยู่ลำพังในป่า"
ด้วยพระทัยที่มุ่งในทางธรรมยิ่งนัก
วันหนึ่งพระองค์ทรงรับสั่งให้กัลบกมาชำระ
พระเกศาและปลงพระมัสสุ
ให้อำมาตย์จัดบาตรดินและผ้ากาสาวพัสตร์มาถวาย
จากนั้นพระองค์ก็ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์
นุ่งห่มเกล้าผมดั่งนักบวช
เสด็จจงกรมในปราสาทด้วยพุทธลีลาแลเปล่งพระวาจาว่า
"การบวชนี้เป็นสุขจริงหนอ"
ยามนั้นอัครมเหสีเจ้าหญิงสิวลีได้รับสั่งให้สนม
๖๐๐ กว่านาง
จัดแต่งเครื่องประดับงดงามเพื่อพากันไปเข้าเฝ้า
พระราชาซึ่งจำศีลนานเกือบ ๖
เดือนแล้ว
ครั้นพบว่าพระราชามหาชนกเสด็จออกบวชก็ทรงกันแสงปิ่มจะวายชนม์
พระนางทรงวางอุบายจุดไฟเผาศาลาเก่า
แล้วให้อำมาตย์ไปทูลเชิญเสด็จกลับด้วยว่าพระราชวังไฟไหม้แล้ว
หากทว่าพระมหาชนกก็มิทรงเสด็จกลับ
พระนางสิวลีและไพร่ฟ้า
เสนาอำมาตย์จึงพากันออกตามเสด็จ
พระมหาชนกจึงทรงเอาไม้ขีดเป็นเส้นบนพื้นแล้วตรัสว่า
"หากผู้ใดลบรอยเส้นนี้ได้
ก็จึงจะตามเราไปได้"
แต่เส้นนั้นมิอาจมีผู้ใดกล้าลบได้
ด้วยเกรงจะเป็นการละเมิดพระอาญาสิทธิ์
พระมเหสีก็ได้แต่กันแสงกลิ้งเกลือกด้วยอาดูรยิ่งนัก
เมื่อพระนางกลิ้งเกลือกร่ำไห้นั้น
เส้นที่ขีดขวางอยู่ก็ลบหายไป
คนทั้งปวงจึงพากันติดตามไปอีก
ยามนั้นพระดาบสนาม นารทะ
เห็นด้วยตาทิพย์ว่า
พระมหาชนกต้านแรงมหาชนไม่ได้
จึงมาปรากฏและปลอบให้พระองค์รักษาศีลและพรหมวิหารธรรม
๔ อย่างมุ่งมั่น
เพื่อให้การออกบวชลุล่วงดังประสงค์
พระฤาษีนาม มิคาชินะ
ก็มาถวายโอวาทให้พระองค์ไม่ประมาทเพื่อความสำเร็จ
พระมหาชนกจึงทรงตั้งพระทัยมั่นไม่อ่อนไหวไปกับการยับยั้งของพระมเหสี
ข่มพระทัยตัดเยื่อใย
มุ่งมั่นบรรพชา
เมื่อพระมหาชนกเสด็จถึงถุนันนคร
พบสุนัขที่คาบเนื้อมาจากแผงเร่ที่พ่อค้าขายเนื้อเผลอ
แต่สุนัขวิ่งหนีมาทางพระมหาชนกจึงตกใจทิ้งก้อนเนื้อไว้
พระมหาชนกจึงเก็บก้อนเนื้อชิ้นนั้นมาปัดทำความสะอาดแล้วใส่ลงในบาตร
ครั้นพระมเหสีทูลตำหนิด้วยความสังเวช
พระองค์ก็ทรงตรัสว่า
เนื้อชิ้นนี้สุนัขละทิ้งแล้วถือว่าชอบธรรมแล้วที่จะทรงบริโภคสิ่งของที่ไร้เจ้าของ
ต่อมาพระมหาชนกทอดพระเนตรดูเด็กหญิงที่วิ่งเล่นกันอยู่ใกล้ประตูนคร
เด็กผู้หญิงตัวน้อยสวมกำไลมือ ๑
วง อีกมือหนึ่งสวมกำไล ๒
วงกระทบกันดังไพเราะ
ทรงตรัสถามว่าทำไมกำไลหนึ่งไม่มีเสียงแต่อีกข้างหนึ่งมีเสียง
กุมารีน้อยทูลตอบว่า
"ก็ข้างหนึ่งมีวงเดียวจึงไม่มีเสียง
อีกข้าหนึ่งมี ๒
วงจึงกระทบกันเกิดเสียงไงเล่า"
พระมหาชนกสดับดังนั้นก็ทรงตรัสกับพระมเหสีว่า
"ดูกร น้องหญิง
เราเป็นเพศบรรพาชิตแล้ว
หากมีท่านติดตามไปด้วยย่อมเป็นเหตุแห่งคำนินทาให้พรหมจรรย์มัวหมอง
ขอให้ท่านแยกเดินคนละทางเถิด
และอย่าเรียกอาตมาเป็นพระสวามีอีกเลย"
พระอัครมเหสีทรงเสียพระทัยยอมแยกทางไป
แต่ไม่นานพระนางก็เสด็จตามอีกด้วยว่าตัดพระทัยไม่ได้
พระมหาชนกจึงทรงให้พระนางดูช่างทำลูกศรที่ข้างทาง
ช่างนั้นเล็งได้คัดลูกศรด้วยตาข้างเดียว
ด้วยเพราะถ้าเล็ง ๒ ตา
ก็จะพร่ามัวมองไม่ชัดแจ้ง
หากเล็งตาเดียวจึงจะเห็นชัดแจ้ง
ซึ่งเปรียบดั่งพระองค์กับพระนาง
ซึ่งประพฤติน่าครหายิ่งนัก
ขอให้แยกทางกันบัดนี้เถิด
พระนางสิวลีโทมนัสจนร่ำไห้สิ้นสติไป
ครั้นบรรดาอำมาตย์และสนมดูแลพยาบาลให้พระนางฟื้นขึ้นมา
พระนางก็ทรงอาดูรเมื่อพระมหาชนกเสด็จจากไปแล้ว
จึงทรงโปรดให้สถาปนาพระเจดีย์
ณ
ที่พระมหาชนกประทับยืนก่อนเสด็จจากไปนั้น
ให้บูชาด้วยเครื่องหอมนานาก่อนเสด็จกลับนครมิถิลา
จากนั้นพระนางทรงอภิเษกพระทีฆาวุให้ขึ้นครองราชย์
แล้วพระนางก็ทรงออกบวชบำเพ็ญตนเป็นดาบสินี
ประทับ ณ อุทยานจนทรงบรรลุฌาณ
ด้วยดำริว่า
พระสวามียังมิอาลัยใยดีต่อราชสมบัติทั้งมวลแล้ว
พระนางยังจะอาลัยอยู่ใย
พระมเหสีทรงบำเพ็ญพรตตลอดพระชนมายุของพระนาง
มหาชนกชาดกนี้มีคติธรรมว่า
เกิดเป็นคนควรมีความพากเพียร
ให้ถึงที่สุด
เพื่อให้ถึงแก่สิ่งที่มุ่งหวัง
เพียรสุดกำลังจนชีวิตหาไม่ก็จงเพียรแล้วความสำเร็จจะมาเยือน...
webmaster
songkran2000@chaiyo.com
[ กวีไทย
] [ ดอกสารภี ] [ บ้านกลอนรจนา
] [ กุหลาบเวียงพิงค์
]