ทศชาติที่ ๘ พระนารทะ

ในครั้งหนึ่งเหล่าพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน
ได้พากันทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ให้ทรงเล่าเรื่องอดีตชาติ
เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นมหาพราหมณ์และปราบมาร้ายให้บรรพชาได้
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสเล่าประทาน
หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศธรรมจักกัปปวัตนสูตร
ณ ลัฏฐิวนอุทยานใกล้กรุงราชคฤห์



ความเป็นมาว่าในครั้งอดีตกาล
กษัตริย์แห่งมิถิลานครมีพระนามว่า "อังคติราช"
ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวพระนามว่าเจ้าหญิงรุจา


พระเจ้าอังคติราชได้ทรงครองเมืองโดยธรรม
ทรงพระราชทานผอบดอกไม้
และภูษาแพรพรรณอย่างดีให้พระธิดาทุก ๆ วัน
และในทุก ๑๕ วัน ทรงพระราชทานทรัพย์ให้พระธิดาบริจาคทาน
ทรงให้พระสนมอีกหลายร้อยหมั่นบริจาคทานอยู่เนือง ๆ ด้วยเช่นกัน

ในพระราชวังมี ๓ เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่นามว่า
อำมาตย์วิชัย อำมาตย์สุนามะ และอำมาตย์อลาตะ
ซึ่งเป็นบุคคลที่พระราชามักขอให้ถวายคำปรึกษาอยู่เนืองนิจ

ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ บนท้องฟ้าปรากฏเพ็ญเต็มดวงสว่างไสว
ในสระน้ำก็เจิ่งนองสดใสเต็มไปด้วยบัวใหญ่งดงามชื่นบาน
เป็นฤดูกาลที่ทั่วแคว้นดั่งแดนวิมานประดับแก้วแวววาว
พระเจ้าอังคติคราชจึงทรงมีรับสั่งว่า

"ดูกรท่านอำมาตย์ทั้งสาม ในวันเป็นฤกษ์ดีแห่งฤดูกาลนี้
ท่านว่าเราควรจะประพฤติใดจึงเป็นมงคลดีสม"

ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเห็นว่าพระองค์สมควร
ออกทัพตีหัวเมืองมาไว้ในครอบครองพระเจ้าข้า"
อำมาตย์อลาตะกราบทูล

"ขอเดชะ พระองค์น่าจะจัดมหรสพเฉลิมฉลอง
ตกแต่งอุทยาน จัดมโหรีบรรเลงตลอดวันคืน
ให้นางกำนัลฟ้อนถวายด้วยเครื่องประดับงดงาม
จัดโภชนาการอาหารเพรียบพร้อม
ให้อภิรมย์ทั้งฤดูพระเจ้าข้า"
อำมาตย์สุนามะทูลดั้งนั้น

"ขอเดชะ พระองค์เป็นสมมติเทพผู้ไม่ยินดีในทางอภิรมย์
สมควรจะสนทนาธรรมกับปราชญ์
เพื่อให้รู้กระจ่างเห็นแจ้งในธรรมยิ่งขึ้นพระเจ้าข้า"

เมื่ออำมาตย์วิชัยกราบทูลถวายทางสงบ
พระเจ้าอังคติราชก็ทรงตรัสเห็นด้วย
อำมาตย์อลาตะจึงรีบทูลเอาความดีว่า

"ข้าพระองค์คุ้นเคยกับท่านคุณาชีวกะ
ท่านเป็นผู้ใฝ่ธรรมและมีผู้ศรัทธามากพระเจ้าข้า"




คำตอบพราหมณ์เขลา


ครั้นพระราชาทรงสดับฟังแล้ว
จึงให้ยกขบวนเสด็จไปยังสำนักชีต้นนั้น
พระราชาทรงตรัสถามแก่คุณาชีวะเป็นปริศนาธรรมว่า

"สิ่งใดควรทำสำหรับพระราชา
เมื่อทำแล้วย่อมสำเร็จสู่สวรรค์
สิ่งใดมิควรทำสำหรับพระราชา
ทำแล้วย่อมเป็นทางนำสู่นรก
และสิ่งใดเป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติต่อบิดามารดา
อาจารย์ บุตรภรรยา ผู้เฒ่าผู้อาวุโส พราหมณ์และสมณสงฆ์
และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน"

เมื่อชีเปลือยคุณาชีวกะอับจนปัญญา
จึงกราบทูลตามลัทธิมิจฉาทิฐิของตนว่า

"ขอเดชะท่านมหาบพิตรความสงสัยของพระองค์นั้นตอบได้ดังนี้

๑ เรื่องของบุญนั้นไม่มีจริง บาปก็ไม่มี ภพหน้าก็ไม่มี

๒ เรื่องของบุพการีบิดามารดาก็ไม่มีจริง มิต้องปฏิบัติด้วยดีอย่างใด
เพราะคนเราเกิดมาตามธรรมดา ดั่งเรือเล็กตามเรือใหญ่
ไม่ใช่ผู้มีบุญคุณต่อกัน

๓ สัตว์ทั้งหลายก็เสมอกันเช่นดั่งคน วัยผู้เฒ่าผู้อาวุโสก็เสมอเหมือนกัน
มิต้องนอบน้อมบำรุงปฏิบัติหรือเกื้อกูลแต่อย่างไร

๔ สมณพราหมณ์ก็มิได้วิเศษใด ทำดีไปสวรรค์
ทำชั่วไปนรกมิใช่เรื่องจริง ทำทานไปก็มิได้สิ่งใดตอบแทน
มิมีผลแห่งบุญหรือผลแห่งบาป

๕ การถือศีลก็จะทำให้หิว มิควรถือศีลการให้ทานก็คือความโง่
แต่คนฉลาดคิดแต่รับทาน"





คุณาชีวิกะเห็นพระราชานิ่งสดับฟังด้วยความทึ่งดังนั้น
ก็รีบกล่าวต่อย่างลำพองใจในปัญญาอันมืดมิดของตนอีกว่า

"แม้แต่ร่างกายของคนเรานั้นก็รวมกันมาจาก ๗ สิ่งคือ
ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวิต
หากเมื่อสูญสลายตายไปแล้วส่วนที่เป็นไฟก็จะไปอยู่กับไฟ
ส่วนที่เป็นลมก็จะล่องลอยไปอยู่กับลม
สุขและทุกข์ก็ลอยไปในลมในอากาศเช่นเดียวกับชีวิต

ดังนั้นการฆ่าหรือตัดชีวิตใครก็จึงมิใช่เรื่องของบาปหรือกรรม
สัตว์และมนุษย์เวียนว่ายตายเกิดอีกชั่ว ๖๔ กัปป์กัลล์อยู่แล้ว
ต่อจากนั้นก็จะบริสุทธิ์ได้เองมิต้องถือศีลทำบุญ"

อำมาตย์อลาตะฟังดังนั้นก็รีบทูลสนับสนุน ว่าตนเองก็เห็นจริงเช่นนั้น
อ้างว่าตนระลึกชาติได้ว่าเคยเป็นคนใจบาปชื่อ "ปิงคละ"ผู้ฆ่าโคขาย
ชาติต่อมายังได้เกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลเสนาบดีจนมียศศักดิ์จนถึงวันนี้
มิเห็นต้องตกนรกหมกไหม้แต่อย่างใด
ก็ย่อมแสดงว่าบาปบุญไม่มีจริงดังที่ท่านอาจารย์กล่าว
เพราะหากบาปมีจริง ตนก็คงต้องไปตกนรกหมกไหม้แล้ว

แต่ในทางแห่งความเป็นจริงที่เป็นมา
อำมาตย์อลาตะเกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลดี
เนื่องจากในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ได้ถวายพวงอังกาบบูชาพระเจดีย์
เมื่อตายไปเกิดเป็นปิงคะผู้ฆ่าโคขาย
และอานิสงส์ในภพที่ถวายพวงอังกาบ
จึงได้มาเกิดเป็นเสนาอำมาตย์ในชาติภพนี้
แต่อำมาตย์ระลึกชาติได้ชาติเดียวจึงเห็นผิดไปว่า
เรื่องการทำบาปมิได้ส่งผลให้ต้องชดใช้กรรมแต่อย่างใด




คนบาปเห็นผิดเป็นชอบ

ในขณะนั้น บุรุษนาม "วิชกะ"
บุตรช่างหม้อยากไร้ได้ฟังความด้วยก็ร่ำไห้ออกมา

ครั้นพระราชาตรัสถาม วิชกะก็กราบทูลว่า ตนเสียใจนัก
ตนเคยระลึกชาติว่าเป็นเศรษฐีเมตตาจิตบริจาคทานอยู่ตลอดชีวิต
แต่ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นคนจนอนาถา แสดงว่าบุญและบาปไม่มีจริง ๆ
แน่นอนแล้วล่ะนี่

ซึ่งในความจริงนั้น ชาติเดิมวิชกะเป็นคนเลี้ยงโค
วันหนึ่งโคหายก็พาลดุด่าพระภิกษุที่ผ่านมาถามหนทาง
ตายไปจึงมาเกิดเป็นคนต่ำต้อย
ซึ่งวิชกะระลึกชาติได้แค่ชาติเดียวที่เกิดเป็นเศรษฐี

เมื่อมีผู้สนับสนุนเห็นพ้องด้วย
พระเจ้าอังคติราชก็พลอยเชื่อถือคำของคุณาชีวกะ
จึงทรงตรัสแก่วิชกะว่าพระองค์ก็บริจาคทานไปแล้วเหมือนกัน
นับเป็นทางที่ผิด พระองค์จะหาความสุขให้ตัวเองนับแต่นี้
และไม่มาสำนักนี้อีกเลย
ในเมื่อมิได้มีใครบันดาลผลบุญธรรมแก่เราทุกคน

ตรัสดังนั้นก็มิทรงทำความเคารพชีเปลือยอีก
ทว่าเสด็จกลับวังในทันทีนั้นเอง

เมื่อเสด็จสู่พระราชวังพระเจ้าอังคติราชก็ทรงให้จัด
มหรสพรื่นเริงให้มีดุริยางค์ขับกล่อมตลอดเวลา
มีนางกำนัลตกแต่งกายยั่วยวนฟ้อนรำ
จัดสุราอาหารสำราญพร้อม มิสนใจในกิจแห่งแผ่นดินอีก
ทรงมุ่งแต่มัวเมาในทางกามคุณ ละเว้นโรงทานและศาลาธรรมจนสิ้น




พระธิดาช่วยเหนี่ยวรั้ง


ครั้นเมื่อถึงวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระธิดารุจากุมารก็ทรงเข้าเฝ้าตามกำหนด
พระราชาก็ทรงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งดั่งเดิม
แต่มิได้ใส่พระทัยว่าจะนำเงินไปทำบุญหรือทำสิ่งใด

พระธิดายังทรงถือศีลอุโบสถและทำทานเป็นนิจ
และทรงระลึกชาติได้ ๑๔ ชาติ คือ
ชาติภพเดิม ๗ ชาติ ภพหน้า ๗ ชาติ
และพระนางก็คิดช่วยเหลือพระราชบิดา
ด้วยว่าทั่วนครต่างก็เลื่องลือว่าพระราชา
หลงอบายมุขตามลัทธิชีเปลือยไปเสียแล้วนั้น

ครั้นถึงวันพระอีกคราว
พระธิดารุจาก็เสด็จเข้าตามกำหนด
ทรงให้นางกำนัลแต่งกายละลานตา
ทรงได้สนทนากับพระราชาเป็นอันดี
ทว่าเมื่อทรงทูลขอทรัพย์ตามปกติ
พระราชจึงทรงตรัสว่า
ตั้งแต่แจกทานทำบุญก็มีแต่หมดทรัพย์
แต่มิได้สิ่งตอบแทนคืน
ตอนนี้พระองค์รู้ทางถูกแล้ว
คนเราควรเอาเงินบำรุงบำเรอความสุขให้ตนเอง
ดังนั้นขอให้พระธิดาเลิกเอาเงินไปบริจาคทานเสียทีเถิด
คุณาชีวกะอาจารย์ก็ได้สำแดงลัทธิให้เข้าใจแล้ว
ทาสวิชกะก็ยังยืนยันเช่นกัน

เมื่อธิดารุจาได้ฟังก็ให้สลดพระทัยยิ่งจึงกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระบิดา
ไฉนพระองค์หลงผิดไปเชื่อความของคนที่ไร้สติปัญญาเช่นนั้น"

พระราชบิดาตรัสตอบพระธิดาว่า

"เจ้าหญิงเอ๋ย
พ่อเชื่อเพราะเห็นว่าความที่คุณาชีวกะแสดงมานั้นเป็นเรื่องจริงที่น่าเชื่อถือ
ทำให้พ่อหายโง่ เลิกทำบุญถือศีลซึ่งมิได้ผลดีอันใด"

"หากพราหมณ์นั้นกล่าวว่าคนนั้นเสมอเหมือนกัน
และการบำเพ็ญภาวนาไม่มีผลใด
แล้วพราหมณ์นั้นไฉนจึงเฝ้าบำเพ็ญภาวนา
เป็นอาจารย์ให้ผู้คนกราบไหว้และเชื่อฟัง

ข้าแต่พระราชบิดา หากคนเราคบคนพาลย่อมเป็นพาลไปด้วย
หากคบหาบัณฑิตนักปราชญ์ก็ย่อมจะพลอยเป็นปราชญ์ไปด้วย
ชีเปลือยคุณาชีวกะก็ยังให้คนนับถือตนและบำเพ็ญกิริยาต่าง ๆ
แล้วจะมาว่าการบำเพ็ญไม่มีผลบุญบาปได้อย่างไร"

ส่วนอลาตะและวิชกะนั้นระลึกชาติแค่ชาติเดียวเท่านั้น
หม่อมฉันระลึกได้ถึง ๑๔ ชาติ
ในชาติหนึ่งนั้นเกิดเป็นหญิงมีสกุลแต่คบชู้
ตายไปก็ได้เกิดเป็นบุตรมหาเศรษฐี ด้วยผลบุญก่อนยังหนุน
และผลกรรมยังตามมามิทัน
ยามเป็นบุตรเศรษฐีก็ทำทานถือศีลเพราะมีมิตรดี
เมื่อตายไปก็ตกนรกหมกไหม้เพราะผลกรรมที่ลักลอบเป็นชู้ตามมาทัน
จากนรกก็ไปเกิดเป็นลา ถูกทรมานตาย
แล้วเกิดเป็นลูกลิง ถูกกัดกินจนตาย
ก็ไปเกิดเป็นกะเทย
จากนั้นจึงไปเกิดบนชั้นสวรรค์
เป็นพระมเหสีของพระอินทร์ ๔ ชาติ
เพราะผลบุญจากชาติที่ทำทานตามมา
และในชาตินี้ก็เกิดเป็นพระราชธิดาพระราชาคือพระบิดานี้เอง"

พระราชาทรงเงียบนิ่งด้วยเพราะหาทางโต้แย้งมิได้
พระธิดารุจาจึงทูลต่อว่า

"การคบคนเลวต่างหากที่จะพาให้พระบิดาตกนรก
การคบหาคนดีจึงจะเสด็จสู่สวรรค์ได้ คนที่เป็นครูเป็นอาจารย์
หากอบรมสั่งสอนสิ่งชั่วร้ายเลวทรามให้แก่ศิษย์
ผู้เป็นศิษย์ก็ย่อมตกต่ำไปด้วยเสมือนดั่งใช้ใบไม้เน่าห่อปลา
ปลานั้นย่อมจะเหม็นเน่าไปด้วย
หากห่อปลาด้วยใบไม้หอม ปลาก็ย่อมจะหอมหวลด้วยแน่นอน
ขอให้พระบิดาทรงใคร่ครวญ"

เมื่อพระราชาสดับฟังดังนั้นก็ยังมิเปลี่ยนความเชื่อมั่น
ด้วยเพราะยังคงทรงตกต่ำมัวเมาอยู่ในเพศรสมิจฉาทิฐิดังเดิม




ให้ทวยเทพช่วยเหลือ


พระธิดารุจาจึงทรงนมัสการ ๑๐ ทิศ
แล้วตั้งสัตย์อธิษฐานว่า
ขอให้ทวยเทพยดาช่วยให้พระราชบิดา
ให้พ้นทางมัวเมาตามมิจฉาทิฐินั้นด้วยเถิด

"ข้าแต่ทวยเทพยดา ท้าวจตุโลกบาล
ท้าวมหาพรหมแลสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ขอพระองค์ทั้งหลายทรงโปรดช่วยพระราชบิดาให้พ้นทางมัวเมา
ให้เห็นทางสว่างพ้นจากทางผิดอันมืดมิดด้วยเทอญ"

ยามนั้นพระนารทะมหาพรหมซึ่งคือพระพุทธเจ้านั้นเอง
ได้ทรงจำแลงกายเป็นนักบวชมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอังคติราช
โดยเหาะลอยมาในอากาศพร้อมทองหาบหนึ่ง

พระราชาทรงตรัสถามพระมหานารทะว่า
ไฉนพรหมจึงเหาะได้ พระนารทะจึงทรงทูลว่า
เพราะพระองค์บำเพ็ญคุณธรรม ๔ ประการ คือ
รักษาสัจจะ
ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ไม่ประพฤติผิดในกาม
และประพฤติชอบธรรมทั้งกาย วาจา ใจ คือเสียสละ

พระราชาแคลงพระทัยนัก
ทรงถามว่าภพหน้าและบาปบุญมีจริงหรือ

พระนารทะทรงทูลว่า เรื่องนั้นมีจริงพระราชาจึงทรงว่า
ถ้างั้นก็ขอยืมเงิน ๑ พัน แล้วชาติหน้าจะใช้คืนให้
พระนารทะว่า พระราชเป็นคนผิดศีล
ไม่มีธรรม ตายไปก็จะเกิดในนรก
ซึ่งคงไม่มีใครกล้าลงไปทวงในนรก
แต่หากพระราชาเป็นคนประพฤติชอบ
แม้กี่พันก็จะให้ยืม
เพราะชาติหน้าพระองค์ย่อมชดใช้โดยดี

เมื่อพระราชาฟังแล้วเงียบนิ่ง
พระนารทะจึงทรงกล่าวสืบไปว่า
ถ้าพระราชาหลงผิดในทางอบายมุขละเว้นธรรมเช่นนี้
เมื่อตายไปก็จะเกิดในนรก
ต้องถูกแร้งกาจิกกินจนเลือดโทรมกาย
เจ็บปวดทรมานในนรกโลกันต์อันมืดมิด
มีดหอกคอยทิ่มตำ มีหนามงิ้วเสียดแทง
มีทั้งฝนอาวุธตกลงมาทิ่มแทงใส่กาย
หากล้มไปก็ถูกนิริยบาลรุมแทง
กระหน่ำย่ำเหยียบและโยนลงกะทะเดือด


ในนรกมีภูเขาเหล็กลูกมหึมากลิ้งมาทับบดร่างให้แหลกยับ
ถูกกรอกด้วยน้ำทองแดงจนตับไตไส้พุงขาดวิ่น
ยามหิวต้องกินน้ำเลือดน้ำหนองของตนเอง
บรรดาสุนัขนรกตัวเท่าช้างก็คอยมาแทะกัดกินเนื้อตัว
ให้ทุกข์ทรมานมิรู้สุดสิ้น



พระราชาทรงนิ่งสดับฟังเสร็จแล้วก็ให้หวาดหวั่นพระทัยนัก
ทรงตรัสด้วยความกลัวตัวสั่นว่า

"เรานี้เป็นคนหลงมัวเมาในทางผิด
เรามิอยากตกในนรกเลยนะท่านนารทะ
ขอให้ท่านจงช่วยชี้ทางถูกให้ข้าพเจ้าเถิด"

จากนั้นพระนารทะจึงทรงทูลว่า
ให้พระราชาทรงละมิจฉาทิฐิหมั่นบำเพ็ญกุศลทำทาน
และรักษาศีลอย่างแน่วแน่

บรรดาช้าง ม้า โค กระบือที่แก่เฒ่าก็ให้ปล่อยเสีย
เช่นเดียวกับอำมาตย์ชราก้ฬห้เลี้ยงดูมิต้องทำราชการอีก
และให้ยึดมั่นในการรักษาศีล ๕ และศีล ๘
อันจะมีผลในภายหน้าอย่างสูงส่ง
เป็นทางสู่สวรรค์ชั้นฟ้าด้วย

ให้พระราชาครองราชย์โดยชอบธรรม
ตั้งกายเป็นราชรถ ตั้งจิตเป็นสารถี
ให้สารถีขับรถคือจิตนำกายไป
ประพฤติตามกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ
ละเว้นกิเลส สำรวมตน คบมิตรที่ดี
และไม่ประมาทเสมอไป

เมื่อทรงแสดงโอวาทแล้ว
พระนารทะมหาพรหมก็เหาะกลับสู่วิมานแมน

พระราชาและเหล่าเสนาอำมาตย์ที่พบเห็นก็แตกตื่นรีบก้มสัการะ
และนับแต่นั้นมาพระเจ้าอังคติราชก็ประพฤติตามโอวาทพระนารทะ
บำเพ็ญกุศลถือศีลทำทาน ปกครองเมืองโดยสงบร่มเย็น
เมื่อเสด็จสวรรคตก็ทรงขึ้นสู่สวรรค์




คติธรรมอดีตนิทานนี้มีว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ทำดี ย่อมได้ผลดี
ทำผิดบาป ย่อมได้ชั่วช้าสามานย์เป็นผลตอบ
และการคบมิตรสหายนั้นก็จะส่งผลดีเลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย

 


webmaster
songkran2000@chaiyo.com
[ กวีไทย ] [ ดอกสารภี ] [ บ้านกลอนรจนา ] [ กุหลาบเวียงพิงค์ ]

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เครือข่ายกวีไทย