ทศชาติที่ ๓ พระสุวรรณสาม... |
พ่อแม่ในครอบครัวพราน
เมื่อครั้นอดีตกาลนานมาแล้ว
มีนายพรานผู้หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทางตอนใต้ของเมืองพาราณสี
ซึ่งเป็นละแวกหมู่บ้านนายพราน
ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำก็มีนายพรานอีกหลัง
ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท
รักใคร่ชอบพอกันดีกับนายพรานฝั่งนี้
ทั้งสองสัญญากันว่าหากมีลูกสาวกับลูกชายก็จะให้แต่งงานกัน
ซึ่งในไม่ช้าภรรยาของทั้งสองนายพรานก็ตั้งครรภ์ในเวลาไล่เรี่ยกัน
นายพรานทั้งสองบ้านยิ่งปีตินักเมื่อนายพรานฝั่งนี้ได้บุตรชาย
และให้ชื่อว่า ทุกูลกุมาร
ส่วนบ้านฝั่งโน้นได้บุตรีมีชื่อว่า
ปาริกากุมารี
ทั้งสองลูกนายพรานนี้นับว่ามีนิสัยใจคอแตกต่างผิดจากบุพการียิ่งนัก
แม้เกิดในหมู่บ้านนายพราน
หากทว่าเด็กทั้งคู่กลับมินำพาในการล่าสัตว์ล่าเนื้อ
ทุกูลและปาริกาต่างก็มีน้ำใจเมตตาปรานี
มิยอมให้ผู้คนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
เมื่อเห็นสภาพสัตว์ที่ถูกทำร้ายก็จะพากันสลดหดหู่ใจเป็นยิ่งนัก
ครั้นเมื่อเด็กทั้งสองเติบโตจนมีอายุได้
๑๖ ปี
บิดามารดาของทั้งสองก็จัดงาน
แต่งงานให้ทุกูลและปาริกา
และก็อบรมสั่งสอนวิชาพรานให้แก่คนทั้งสอง
เพื่อจะได้ล่าสัตว์ยังชีพสืบต่อไปได้
"ท่านพ่อ
ลูกไม่อยากเรียนวิชาฆ่าสัตว์
ยิงธนู ล่าเนื้อ
ลูกไม่อยากทำลายชีวิตอื่นแล้วเอามาเลี้ยงชีวิตเราขอรับ"
ทุกูลกุมารบอกกับพ่ออย่างมุ่งมั่นด้วยจิตใจอันอ่อนโยน
พรานผู้พ่อไม่เข้าใจจึงว่า
"แล้วเจ้าจะทำมาหากินอย่างไร
ในเมื่อเจ้าก็เกิดมาอยู่ในบ้านพรานเช่นนี้
ถ้าคิดรังเกียจการล่าสัตว์ล่าเนื้อ
ก็คงต้องไปเดินทางสายอื่นของเจ้า"
"ถ้าเช่นนั้น
ลูกก็ขอไปออกบวชขอรับท่านพ่อ"
นับแต่นั้น
ทุกูลและปาริกาก็ชวนกันออกจากบ้านนายพรานไปอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำมิคสัมมตา
บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าอย่างสงบสุข
กำเนิดในป่า
เลี้ยงบิดามารดาฤาษี
ยามนั้นพระอินทร์บนสรวงสวรรค์คิดช่วยเหลือคนทั้งสอง
จึงให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตรบรรณศาลาให้
และพระอินทร์ยังทรงห่วงภายหน้าว่า
คนทั้งสองจะต้องเสียดวงตาด้วยผลกรรมเก่าแล้ว
ถ้าไม่มีผู้ปรนนิบัติดูแลคนทั้งสองจะอยู่ได้สะดวกสบายอย่างไร
ดังนั้นพระอินทร์จึงจำแลงกายไปหาทุกูลและปาริกา
แนะวิธีที่จะให้ทั้งสองมีบุตรได้โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกันทางกามารมณ์
"เมื่อถึงวาระที่ภรรยาของท่านมีระดู
ท่านจงเอามือของท่านลูบท้องของนาง
๓ ครั้ง
แล้วนางก็จะตั้งครรภ์ได้"
เมื่อทุกูลกระทำตามเช่นนั้น
ในไม่ช้าปาริกาก็ตั้งครรภ์
และคลอดบุตรชายผิพรรณงามดั่งทอง
จึงขนานนามว่า "สุวรรณสาม"
ซึ่งเป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนโยนอาทรและ
มีความประพฤติดีงามเหมือนบิดามารดา
ด้วยความที่มีบุญญาและความเมตตาปรานี
ยามบิดามารดาออกไปหาผลไม้ในป่า
เด็กชายสุวรรณสามก็จะมีเพื่อนเล่นเป็นพวกกินรี
และสัตว์ป่าทั้งหลายที่มาแวดล้อมชิดใกล้มิได้ทำอันตรายใด
ๆ
เมื่อสุวรรณสามเจริญวัยได้ ๑๖
ปีแล้ว
ก็ไม่อยากให้บิดามารดาต้องลำบากออกไปเก็บผลหมากรากไม้ตามลำพัง
จึงแอบสะกดรอยตามไปจนล่วงรู้เส้นทางดีว่าจะต้องไปหายังหนแห่งใดบ้าง
จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่ทุกูลและปาริกาเข้าป่าไปหาผลหมากรากไม้
ก็ประสบพายุลมฝนพัดกระหน่ำจนต้องเข้าไปหลบพายุใต้ร่มไม้เหนือจอมปลวก
ซึ่งเป็นที่อยู่ของงูเห่ามีพิษร้าย
งูเห่านั้นเมื่อถูกบุกรุกก็โกรธ
จึงพ่นพิษงูออกมาใส่ดวงตาของทุกูล
และปาริกาจนดวงตามืดบอดมองอะไรไม่เห็น
อันผลกรรมเก่านี้เนื่องเพราะในชาติปางก่อน
ทุกูลเป็นแพทย์ที่รักษาตาให้เศรษฐีแล้วมิได้ค่ารักษา
ปาริกาผู้ภรรยาจึงโกรธและให้เอายาป้ายตาให้บอดเสีย
บาปนี้จึงติดตามมาสนองในชาตินี้
ฝ่ายสุวรรณสามเห็นบิดามารดาหายไปนานจนเย็นย่ำแล้ว
จึงออกจากบรรณศาลาไปตามหา
เมื่อพบว่าบิดามารดาถูกพิษงูตามืดบอด
สุวรรณสามก็ร้องไห้แล้วก็หัวเราะออกมา
"ลูกหัวเราะเรื่องนี้ทำไมรึ"
บิดามารดาถามอย่างไม่เข้าใจ
"ก็ลูกจะได้ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สักทีไงเล่า
ที่ร้องไห้นั้นด้วยเพราะเสียใจกับเคราะห์กรรมของพ่อแม่
แต่ดีใจยิ่งนักที่จะได้รับใช้พ่อแม่สืบไป"
ปรนนิบัติอย่างงดงาม
จากนั้นสุวรรณสามก็ให้บิดามารดาเกาะไม้เท้าเดินกลับบรรณศาลาอาศรม
แล้วสุวรรณสามก็ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาอย่างดีเลิศ
นำเชือกมาผูกไว้เป็นราวยังที่เดินจงกรม
และที่ต่าง ๆ
รอบอาศรมเพื่อให้บิดามารดาเกาะแล้วเดินไปได้สะดวก
ยามเช้าปัดกวาดจัดที่นั่งที่นอนให้เรียบร้อยออกไปตักน้ำที่แม่น้ำมิคสัมมตา
จากนั้นจึงออกไปขุดเผือกมันหาผลหมากรากไม้
ยามเย็นก่อไฟต้มน้ำล้างมือและเท้าให้บิดามารดา
ตัวเองก็กินผลไม้ที่เหลือจากบิดามารดาแล้ว
มีความสุขสงบด้วยกัน ๓ คน
เป็นที่ตื้นตันแก่บิดามารดานัก
เคราะห์กรรม
ต่อมาได้มีพระเจ้ากบิลยักราช
กษัตริย์กรุงพาราณสีได้เสด็จตามลำพัง
เพื่อมาล่าสัตว์ในป่าด้วยความโปรดปราน
ครั้นเมื่อพระราชาเสด็จประพาสผ่านมาทางแม่น้ำมิคสัมมตา
ทรงพบ เห็นรอยเท้ากวางมากมาย
จึงหลบซุ่มในพุ่มไม้หวังยิงกวาง
ซึ่งในไม่ช้าหมู่เนื้อและกวางต่างก็ตามสุวรรณสาม
มาที่ริมแม่น้ำราวกับเป็นบริวารที่จงรัก
พระราชามิเคยเห็นว่าจะมีผู้คนอยู่ในป่าลึกแห่งนี้
อีกทั้งความสง่างามของสุวรรณสาม
พระราชาจึงทรงดำริว่า
"เออหนอ
คนผู้นี้เป็นคนหรือเทพยาแห่งป่าหิมวันต์กันหนอนี่
หรือว่าเป็นนาคป่า
หากเราเข้าไปใกล้คงจะเหาะเหินหายไป
สู้เรายิงให้บาดเจ็บดีกว่าจะได้เข้าไปดูให้รู้แน่"
ดำริดังนั้นพระราชาจึงทรงธนูอาบพิษ
แล้วน้าวคันศรยิงลูกธนูเล็งไปทางสุวรรณสาม
ที่กำลังตักน้ำขึ้นแบกบ่าพอดี
ลูกธนูปักเข้าที่ร่างของสุวรรณสามหมู่ฝูงสัตว์ตกใจหนีกันไปสิ้น
สุวรรณสามยกหม้อน้ำจากบ่าลงวางบนทรายแล้วร้องออกไปว่า
"ผู้ใดยิงเราขอให้ออกมาเถิด
เราไม่ใช่เนื้อใช่สัตว์
ท่านจะยิงเพื่อประโยชน์ใดกัน
ท่านจงออกมาเถิด
เราไม่ทราบว่าท่านต้องการอะไรจากเรา"
พระราชาสดังฟังดังนั้นก็ประหลาดพระทัย
ที่เห็นบุรุษหนุ่มรูปงามถูกยิงแล้วยังไม่ก่นด่าเคืองแค้น
กลับร้องเรียกด้วยถ้อยคำอ่อนโยน
พระราชาจึงเสด็จออกมาและตรัสว่า
"เราคือพระราชาแห่งเมืองพาราณสีมีความชอบธรรมและช่ำชองในเชิงธนู
เจ้าละเป็นใครกันอยู่ในป่านี้กับใครบ้าง"
"ขอพระราชาทรงมีพระชนมายุยืนนานเถิด
ข้าพระองค์ชื่อสุวรรณสามเป็นบุตรของฤาษี
มิทราบว่าทำไมพระองค์จึงยิงข้าพระองค์เช่นนี้
ช้างถูกยิงเพื่อเอางา
เสือถูกฆ่าเพื่อเอาหนัง
และพระองค์ทรงต้องการอะไรในตัวข้าพระองค์เล่า"
"ก็เพราะเจ้าเดินมา
ฝูงเนื้อกวางจึงแตกตื่นอลหม่าน
เราตั้งใจจะยิงสัตว์"
พระราชาทรงตรัสมุสา
"พระองค์มิอาจกล่าวนั้น
ตั้งแต่ข้าพระองค์เกิดมา
ฝูงสัตว์ในป่าไม่เคยกลัวข้าพระองค์เลยแม้แต่น้อย
ไปไหนก็ยังตามไปด้วยกันดั่งเพื่อน
ข้าพระองค์ถูกยิงดังนี้สงสารก็แต่บิดามารดา
ซึ่งตาบอดอยู่ลำพังมิอาจตักน้ำเองได้"
พระราชาสดับฟังดังนั้นก็รีบถามความเป็นไป
สุวรรณสามจึงกราบทูลว่าตนมีบิดามารดาที่ดวงตามืดบอด
และตนเองต้องปรนนิบัติบำรุง
แม้จะมีอาหารอยู่อีก ๗ วัน
แต่น้ำก็ไม่มีและคงจะเฝ้าห่วงเรียกหาตนผู้เป็นบุตรที่หายไปอย่างนี้
พระราชาทอดพระเนตรดูบุรุษกตัญญูที่นอนจมกองเลือดรำพันถึงแต่บิดามารดา
ก็ทรงสลดหดหู่ใจและสำนึกในผิดที่ทำร้ายบุตรผู้ประพฤติเลิศล้ำเพียงนี้
จึงทรงตรัสด้วยดำริจะเปลื้องบาปของพระองค์ว่า
"ดูกร พ่อหน่มที่น่าสงสาร
เราผิดนักที่ยิงเจ้าเช่นนี้
เจ้าอย่าห่วงกังวลใดเลย
เราจะเลี้ยงดูบิดามารดาของเจ้าให้เหมือนกับที่เจ้าบำรุงเลี้ยง
เจ้าจงบอกทางไปอาศรมของบิดามารดาให้เราด้วยเถิด"
"เป็นพระคุณยิ่งนักแล้ว"
เมื่อสุวรรณสามชี้ทางบรรณศาลาแล้วก็แน่นิ่งไป
พระราชาทรงสลดใจยิ่งนักกับบาปที่พระองค์ก่อขึ้น
ทรงโปรยมวลดอกไม้ปะพรมน้ำและทำทักษิณา
๓ รอบ
ก่อนแบกหม้อน้ำกลับไปยังอาศรมฤาษี
แต่ฝีเท้าที่แตกต่างกันนั้น
ทำให้ดาบสและดาบสินีรู้ว่ามิใช่สุวรรณสามจึงเอ่ยว่า
"ท่านเป็นใครกันหนอ
ท่านมิใช่บุตรเราเป็นแน่"
พระราชาคิดจะดูแลดาบสทั้งสองแทนสุวรรณสาม
แต่เมื่อถูกล่วงรู้เช่นนั้นจึงทรงยอมรัยว่า
"เราคือพระราชาแห่งพาราณสี
มีวิชาธนูเป็นที่เลิศล้ำ"
"โอ พระราชาเสด็จป่า
ขอพระองค์ทรงเสวยผลไม้เล็กน้อยนี้เถิด
และมีน้ำเย็นที่ลูกสามของข้าพระองค์ไปตักมาจากแม่น้ำด้วย
เดี๋ยวบุตรข้าพระองค์ก็คงจะกลับมาถึงแล้วพระเจ้าข้า"
พระราชาจึงตรัสความจริงว่า
พระองค์ยิงสุวรรณสามตายแล้ว
และพระองค์จะเป็นผู้บำรุงปฏิบัติแทนเองเพื่อไถ่บาปกรรมนี้
นางปาริกาได้ฟังดังนั้นก็ร่ำไห้คร่ำครวญ
แต่ทุกูลดาบสก็กล่าวต่อนางว่ามิให้ถือบาปต่อพระองค์อีกเลย
แล้วทั้งสองก็ขอให้พระราชาพาตนไปยังศพของสุวรรณสาม
ครั้นไปถึงริมฝั่งแม่น้ำ
นางปาริกาดาบสินีก็ยกเท้าของสุวรรณสามขึ้น
วางบนตักนางพรางทุกขเวทนา
"ลูกสามเอ๋ย
ใครเลยจะดูแลปัดกวาดอาศรม
ตักน้ำตักท่า
หาผลไม้มาให้พ่อแม่อีก
ถ้าเจ้ามาจากไปอย่างนี้"
ขณะพร่ำอาดูรลูบคลำบุตรรัก
นางก็พบว่าอกของพระสุวรรณสามยังอุ่นอยู่
จึงตั้งจิตทำสัจกิริยาแก่บุตร
ขณะที่ตั้งสัตย์อธิฐานเทพธิดาซึ่งเป็นมารดาของสุวรรณสามปางก่อน
ก็มาร่วมผสานจิตใจด้วย
ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินีก็อธิษฐานว่า
"เราผู้เป็นบิดามารดาของสุวรรณสาม
มีความเศร้าโศกเป็นที่ยิ่งนัก
เราขอประกาศสัจจะว่า
บุตรเราเลี้ยงดูบิดามารดาและประพฤติชอบธรรม
ขอให้อานุภาพบุญกุศลของบุตรเรา
ดลบันดาลให้พิษในตัวบุตรเราจงหายสิ้นไปด้วยเถิด"
ด้วยอำนาจอธิษฐานและแรงภาวนาแห่งสัจจวาจา
ในที่สุดสุวรรณสามก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
พร้อมกันนั้นดวงตาทั้งสองของบิดามารดาสุวรรณสาม
ก็พลอยสว่างไสวมองเห็นได้ดังเดิมอีกด้วย
พระราชาเห็นดังนั้นจึงทรงตรัสอย่างปิติว่า
"แม้เทวดาก็ยังมาคุ้มภัย
ให้แก่คนปฏิบัติต่อบิดามารดาอย่างชอบธรรมเช่นนี้
นับเป็นที่น่าสรรเสริญยิ่งนัก"
ฝ่ายสุวรรณสามก็กราบทูลกษัตริย์กบิลยักขราชว่า
การที่ตนฟื้นคืนสติมาได้นั้นด้วยเพราะอานิสงส์ผลบุญ
ในการที่ปรนนิบัติเลี้ยงดูมารดาบิดาให้เป็นอยู่สุขสบาย
แลตัวพระองค์ผู้เป็นราชานั้นก็เสมือนดั่งร่มไม้ใหญ่
ที่ต้องแผ่ร่มเงาแก่ผู้คนทั้งปวง
ดังนั้นพระองค์สมควรจะปฏิบัติอย่างดีต่อพระราชบิดาพระราชมารดา
รวมไปถึงเหล่าโอรสธิดาและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง
ให้พวกเขาเกิดความสงบสุขสบายทั่วหน้า
สุวรรณสามยังทูลขอให้พระองค์บำรุงเหล่าสมณพราหมณ์
มีเมตตาต่อสรรพสัตว์
ตั้งอยู่ในกายสุจริต วจีสุจริต
และมโนสุจริต คือ
การทำดี พูดดี และคิดดีนั่นเอง
หากประพฤติให้งดงามดั้งนี้พระองค์ก็ย่อมมีเทวดารักษาคุ้มครอง
และได้ไปเสวยสุขในภพสวรรค์ต่อไป
พระราชาสดับฟังแล้วเกิดศรัทธาและสำนึกในสัจธรรมนั้น
พระราชาทรงขออภัยสุวรรณสาม
แล้วเสด็จกลับนคร
ทรงเลิกการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและบำเพ็ญกุศลอย่างมุ่งมั่นมิเคยขาดหาย
สุวรรณสามก็ได้บำรุงปรนนิบัติบิดามารดา
และบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ตราบจนสู่ห้วงภพสุคติ
คติธรรมในชาดกนี้ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต
ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใด
ๆ
ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้...
webmaster
songkran2000@chaiyo.com
[ กวีไทย
] [ ดอกสารภี ] [ บ้านกลอนรจนา
] [ กุหลาบเวียงพิงค์
]