ทศชาติที่ ๗ พระจันทกุมาร

ในสมัยอดีตกาล
พระเจ้าเอกราชเป็นพระราชแห่งเมืองบุปผาวดีนคร
อันเป็นนามเดิมของเมืองพาราณสี
พระเจ้าเอกราชมีพระอัครมเหสีนาม "โคตมี"
มีพระราชโอรสพระนาม "จันทกุมาร" และ "สุริยราชกุมาร"
มีพระธิดาพระนาม "เสลากุมารี"



ทรงธรรมช่วยประชา


ในพระราชวังมีปุโรหิตใจบาปนามว่า "กัณฑหาลพราหมณ์"
เป็นผู้มักคิดการชั่วช้าชอบสินบน ตัดสินความใดก็มิชอบธรรม
ผู้รู้เห็น ก็มิกล้าปริปากไปด้วยกลัวปุโรหิตจะเอาโทษได้

คราวหนึ่งผู้แพ้ความทั้ง ๆ ที่เป็นฝ่ายถูกแต่มิได้ติดสินบน
เดินร่ำไห้ออกมาพอดีพระมหาอุปราชจันทกุมารผ่านมาพบ
จึงทรงตรัสถามเมื่อทรงทราบเรื่องก็เรียกชำระความใหม่
แล้วตัดสินสอบสวนอย่างชอบธรรม
ให้ผู้ชนะที่ติดสินบนนั้นกลายเป็นฝ่ายผิด
และให้ผู้แพ้ที่บริสุทธิ์เป็นฝ่ายชนะความ

เหล่าไพร่ฟ้าทราบเรื่องก็พากันแซ่ซ้องสรรเสริญกันทั่วนคร
พระเจ้าเอกราชจึงให้พระอุปราชจันทกุมาร
เป็นผู้ตัดสินความแทนปุโรหิตกัณฑหาล

เมื่อกาลกลับเป็นดังนั้น
ปุโรหิตก็อดได้ลาภสักการะโดยมิชอบ
ยังความแค้นใจอาฆาตต่อพระจันทกุมารเป็นยิ่งนัก
ที่มาขัดลาภทำให้อดทรัพย์และเสียหน้าอีกด้วย






คนบาปคิดแค้น


เวลาต่อมาพระเจ้าเอกราชทรงพระสุบินเห็นพระองค์
ได้เสด็จขึ้นสรวงสวรรค์ ณ ชั้นดาวดึงส์
ได้เที่ยวชมวิมานทิพย์ปราสาทแก้ว
ซุ้มประตูทองและปราสาททิพย์สูง ๑ พันโยชน์
อุทยานสวรรค์มีแต่เหล่าอัปสรและบุปผาชาติหอมจรุง
ริมสระโบกขรณีมีดุริยางค์ทิพย์ขับกล่อมบรรเลง
ทุกหนแห่งล้วนน่าตื่นตาตื่นใจทั้งสิ้น

ครั้นตื่นบรรทมจึงให้ทรงปีติพระทัยนัก
ทรงตรัสถามปุโรหิตกัณฑหาลว่า
ควรบำเพ็ญกุศลใดหนอ
จึงจักได้เสด็จไปเสวยสุขในชั้นสวรรค์ได้

พราหมณ์ชั่วจึงกราบทูลด้วยความกระหยิ่มใจว่า

"ข้าแต่พระองค์ หากประสงค์จะเสด็จสู่สวรรค์
ต้องทำพิธีบูชายัญ พระเจ้าข้า
พระองค์จะต้องทรงสละสิ่งอันเป็นที่รักทั้งปวง พระเจ้าข้า"

"สิ่งอันเป็นที่รักอย่างไรหรือท่านปุโรหิต"

"ก็คือพระราชโอรสทั้ง ๔
พระราชธิดาทั้ง ๔
พระมเหสีทั้ง ๔
ช้างแก้ว ๔
ม้าทรง ๔
และเศรษฐีอีก ๔ พระเจ้าข้า"

ปุโรหิตทูลให้ฆ่าคนทั้งปวงนั้น
แล้วเอาถาดทองคำรองเลือด
แล้วนำเลือดไปบูชายัญ
โดยจะต้องตัดคอพระโอรสจันทกุมารเป็นองค์แรกด้วย
ซึ่งปุโรหิตคนชั่วคิดแค้นเพียงพระจันทกุมารองค์เดียว
แต่เกรงเป็นที่ครหา จึงหาอุบายให้มีการฆ่าผู้อื่นด้วย
เป็นอุบายที่อำมหิตยิ่งนัก



บรรดาเสนาไพร่ฟ้าเมื่อได้ยินข่าวนี้
ก็ให้หวาดกลัวเสียขวัญกันไปทั่ว
ต่างเลื่องลือกันต่อ ๆ ไป
ว่าพระเจ้าเอกราชจะทรงประหารลูกเมียบูชายัญ
ด้วยเพราะอยากเสวยสมบัติทิพย์ดั่งพระอินทร์บนดาวดึงส์
มิว่าผู้ใดก็มิอาจทัดทานเปลี่ยนพระทัยได้

ด้านพระบิดาพระมารดาของพระเจ้าเอกราชก็เสด็จมาทูลวิงวอน
ตรัสว่ากษัตริย์ที่ใดจะประหารมเหสี
ธิดาและโอรสเพื่อบูชายัญให้เป็นบาปเป็นกรรมผิดธรรมเนียม
ควรปฏิบัติทศพิธราชธรรมจึงจะถูกต้อง

แต่ทว่าพระเจ้าเอกราชทูลตอบว่า

"ขอเดชะพระราชบิดา ปุโรหิตกัณฑหาลพราหมณ์นั้นกล่าวว่า
การบูชายัญนี้จะทำให้ขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้าได้เมื่อสวรรคตแล้ว"

ฝ่ายจันทกุมารก็กราบทูลว่า

"ขอเดชะพระราชบิดา การฆ่าคนเพื่อบูชายัญมิใช่ทางไปสวรรค์
หากการสละของรักทำให้ขึ้นสวรรค์ได้จริง
เหตุใดปุโรหิตจึงมิฆ่าลูกเมียบูชายัญบ้างเล่า
ปุโรหิตทำเช่นนี้เพราะแค้นเคืองหม่อมฉัน
หากพระบิดาทรงเมตตาก็ให้ขับหม่อมฉันออกจากนคร
แล้วไว้ชีวิตทุก ๆ คนด้วยเถิดพระเจ้าข้า"




เมื่อถูกวิงวอนหลายครา
พระเจ้าเอกราชก็ใกล้จะใจอ่อนยอมเลิกการบูชายัญ

ฝ่ายปุโรหิตจึงรีบเตรียมพิธีและให้ขุดหลุมโดยเร็ว
แล้วก็รีบมายุยงเพ็ดทูลพระราชาให้รีบกระทำพิธีโดยมุ่งมั่น
มิให้ทรงเปลี่ยนพระทัยได้ดังนั้น

พระธิดาเสลากุมารีก็ทรงเข้ากราบพระบาทพระราชา
และทูลวิงวอนว่า

"พระบิดาจะฆ่าเสด็จพี่และฆ่าหม่อมฉัน
เพื่อไปสวรรค์ได้อย่างไรกันเพคะ"

ฝ่ายพระนางจันเทวี มเหสีของจันทกุมารก็ทรงกันแสง
พระโอรสของจันทกุมารมีนามว่า "วสุละกุมาร"
จึงทูลวิงวอนเสด็จปู่ว่า

"พระอัยยิกาทรงเว้นการประหารพระบิดาของหม่อมฉันด้วยเถิด"

เมื่อเห็นหลานและคนทั้งปวงร่ำไห้
พระเจ้าเอกราชจึงทรงสลดพระทัยตรัสว่า

"เอาล่ะ เราจะงดบูชายัญ มิต้องคิดเรื่องไปสวรรค์แล้ว"

เมื่อพระราชาเปลี่ยนพระทัย
ปุโรหิตจึงรีบเข้าเพ็ดทูลยุยงพระราชาตามลำพังว่า

"ขอเดชะ การบูชายัญนั้นเป็นเรื่องยากนัก
ดังนั้นถ้าผู้ใดมีจิตเปลี่ยนพระทัย
จงรีบให้ทำพิธีที่หลุมบูชายัญทันทีมิรั้งรออีกแล้ว





พิธีบูชายัญอำมหิต


พระมเหสีทั้ง ๔ ที่จะถูกบูชายัญ คือ
พระนางโคตมี
พระนางวิชยา
พระนางเอราวดี
พระนางเกสินี

พระโอรสทั้ง ๔ ก็มี
เจ้าชายจันทกุมาร
เจ้าชายสุริยกุมาร
เจ้าชายภัททเสน
เจ้าชายรามโคตร

เศรษฐีทั้ง ๔ คือ
ปุณณมุขะ
ภัททิยะ
สิงคาละ
วัทธะ

และช้างแก้ว ม้าแก้ว อย่างละ ๔ ทั้งหมดทั้งปวงนี้
ถูกนำไปรอพร้อมที่พิธีทันที
ท่ามกลางความโกลาหลของชาววังและชาวเมือง

ที่หน้าพระราชวังจึงมีแต่เสียงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินร่ำไห้กันอึงคนึง
เหล่านกกาก็บินว่อนร้องกันผิดอาเพศทั่วในนภากาศ

ปุโรหิตสั่งให้นำตัวจันทกุมารมานั่งก้มพระศอที่หลุมเป็นองค์แรก
แล้วปุโรหิตก็เตรียมดาบจะฟันพระศอพระจันทกุมารให้วายชนม์
สมความแค้นแห่งจิตบาปหยาบช้า




เทวดาคุ้มครอง


ฝ่ายพระนางจันทเทวีพระมเหสีของพระจันทกุมารทรงกันแสง
ด้วยอาดูรใจจะขาด พระนางยกมือพนมตั้งสัตย์อธิษฐานแก่ทวยเทพว่า

"ข้าแต่เทพยดาอันทรงศักดิ์
พระอุปราชจันทกุมารสวามีของข้ามิเคยประพฤติชั่ว
แต่กัณฑหาลพราหมณ์นี้เป็นปุโรหิตที่ทุศีล
ประพฤติบาปหยาบช้าอยู่เป็นนิจ
คิดแต่จะทำร้ายผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตน
คำกล่าวนี้เป็นคำสัตย์ ขอเทพยดาทั้งปวงเป็นพยาน
ของจงทรงช่วยพระจันทกุมารให้พ้นภัยจากมือคนบาปด้วยเถิด"

ด้วยแรงอธิษฐานนั้น พระอัมรินทราชาบนดาวดึงส์
จึงทรงถือค้อนเหล็กอันลุกโชติช่วงด้วยเปลวเพลิง
เสด็จเหินลอยลงมากลางอากาศ
ทรงตวาดด้วยสุรเสียงอันกึกก้องว่า


"ชะช้า.... ไอ้พระราชาโฉดเขลา มิได้ครองราชย์โดยธรรม
คิดจะฆ่าลูกเมียบูชายัญ มิรู้มีประเพณีที่ใดปรากฎเช่นนี้
หากทำพิธีเราจะประหารท่านด้วยค้อนเหล็กนี้แหละ"

พระอินทร์ตวาดพลางทรงฟาดค้อนใส่ฉัตรล้มระเนระนาด
เสียงกัมปนาทลั่นนคร

ผู้คนทั้งปวงเห็นฤทธานุภาพเช่นนั้นก็แตกตื่นอลหม่าน
ต่างกรูกันเข้ารุมทุบตีขว้างปาพราหมณ์กัณฑหาลจนสิ้นใจตาย

หลังจากนั้นก็กรูกันจะเข้าจับตัวพระเจ้าเอกราช
พระจันทกุมารจึงทรงเข้ากอดพระบิดาขวางประชาชนไว้
พรางขอร้องมิให้ฆ่าพระราชา

บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินพากันตะโกนขับไล่พระราชา
ต่างโห่ร้องประฌานมิให้ครองราชย์สืบต่อไป
ให้พระองค์ทรงโพกผ้าย้อมขมิ้นที่ศีรษะเป็นคนจัณฑาล
ให้เนรเทศออกไปอยู่หมู่บ้านจัณฑาล
แล้วอัญเชิญจันทกุมารขึ้นครองเมือง

เวลาต่อมาพระเจ้าจันทกุมารเสด็จออกนครบุปผวดี
ไปดูแลปฏิบัติต่อพระบิดาอยู่เนือง ๆ
พระบิดาก็ทรงถวายพระพร
ให้พระเจ้าจันทกุมารเสวยราชสมบัติโดยสุขตลอดพระชนมายุ
โดยมิต้องประสบภัยใดอีกเลย...




ชาดกเรื่องนี้มีคติธรรมคือเรื่องอาฆาตจองเวรนั้น
ย่อมให้ทุกข์กลับคืนแก่ตนในที่สุด
และความเขลาหลงในทรัพย์และสุขของผู้อื่น
ก็ย่อมให้ผลร้ายแก่ตัวได้ในไม่ช้าเช่นกัน

 


webmaster
songkran2000@chaiyo.com
[ กวีไทย ] [ ดอกสารภี ] [ บ้านกลอนรจนา ] [ กุหลาบเวียงพิงค์ ]

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เครือข่ายกวีไทย