รหัสในการสื่อสารและการควบคุม

            รหัสในการสื่อสารเป็นมาตรฐานที่มีความหมายอย่างเดียวกันสำหรับผู้รับส่ง หากไม่มีมาตรฐานเสียแล้วรหัสเหล่านี้ก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ละเครื่องที่ใช้ในการสื่อสารก็จะเข้ากันไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ผลิตหลายยี่ห้อหลายสถานที่ มีรหัสที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ 2 รหัส คือ ASCII ซึ่งย่อมาจาก American Standard Code for Information Interchange ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก อีกรหัสหนึ่งเป็นของบริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และขนาดกลางมานาน รหัสที่ว่านี้ก็คือ EBCDIC ซึ่งย่อมาจาก Extended Binary Coded Decimal Interchange Code อย่างไรก็ตามยังมีรหัสอีกอย่างหนึ่งที่ใช้กันมานานในงานโทรเลขคือ Baudot เนื่องจาก ASCII เป็นรหัสที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องระดับไมโคร ซึ่งแม้แต่ IBM PC ก็ยังใช้รหัส ASCII

อักขระในชุดของ ASCII
อักขระที่จะกล่าวนี้จะขอพูดถึงทางด้านภาษาอังกฤษก่อน เพราะเป็นมาตรฐานทั่วโลก ส่วนอักขระทางด้านภาษาไทยจะขอกล่าวไว้ในตอนหลัง ใน 128 ตัวแรกของรหัส ASCII ได้รับการกำหนดมาตรฐานเอาไว้ใน ANSIX3.4 ปี ค.ศ. 1977 ( Standard ASCII Character Set ) เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เกือบทั่วโลกใช้รหัสนี้ นับว่าไมโครคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างอันดีในการใช้มาตรฐานอันเดียวกัน

จากตารางแสดงถึงรหัส 128 ตัวแรกของ ASCII ซึ่งประกอบด้วยอักขระภาษาอังกฤษ 26 ตัวใหญ่ 26 ตัวเล็ก เลขโรมัน 10 ตัวและอักขระพิเศษที่มีอยู่ตามเครื่องพิมพ์ดีดทั่วไป รหัสการสื่อสารถูกรวมเข้าไปใช้อยู่ในที่นี้ด้วย


ตารางรหัส ASCII

ถึงแม้ว่ารหัส ASCII ใช้แค่ 7 บิต ส่วนมากไมโครคอมพิวเตอร์จะใช้ 8 บิต ในการเข้ารหัสอักขระ รหัสที่เป็นมาตรฐานของ ASCII จะมีบิตที่ 8 เป็น 0 นั่นคือ 128 ตัวแรกในจำนวน 256 ตัวจะเป็นรหัสมาตรฐาน ASCII ส่วนอีก 128 ตัวหลังจึงเริ่มจาก 128 ถึง 255 ซึ่งมีบิตที่ 8 เป็น 1 นั้น ไมโครคอวพิวเตอร์ส่วนมากใช้เป็นรหัสสำหรับสัญลักษณ์ทางด้านกราฟิก ซึ่งแต่ละยี่ห้อของคอมพิวเตอร์จะไม่เหมือนกัน สำหรับคนไทยนำเอา 128 ตัวหลังเข้ารหัสเป็นอักขระภาษาไทย

ANSI ( American National Standard Institute ) กำหนดมาตรฐานของรหัส ASCII ออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ ตามลักษณะการใช้งานคือ อักขระที่ทำให้เกิดข้อความที่อ่านเข้าใจได้เรียกว่า ตัวอักขระกราฟิก ( Graphic Character ) และอักขระที่ใช้ทำให้เกิดการควบคุม เรียกว่าอักขระควบคุม ( Control Character ) ชื่อของพวกแรกนั้นอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ เนื่องจากอักขระกราฟิกก็คืออักขระที่เป็นพวกที่สามารถอ่านได้เข้าใจจริง ๆ ไม่รวมถึงพวกที่จะทำให้เกิดรูปกราฟิกตามชื่อ พวกที่เป็นกราฟิกในไมโครคอมพิวเตอร์ทั่วไปควรจะอยู่ในจำพวกตัวอักขระใช้งานเฉพาะ ( Special Extended Characters ) อักขระควบคุมของ ASCII แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยตามการใช้งาน คือ
  1. รหัสที่ใช้ควบคุมการสื่อสารข้อมูล ( Communication Control )
  2. รหัสจัดรูปฟอร์แมต ( Format Effectors )
  3. รหัสไว้ใช้แยกข้อความ ( Information Separator )
  4. รหัสควบคุมพิเศษ ( Special Control Characters )
อักขระควบคุมการสื่อสาร

ANSI ได้ให้คำนิยามในการใช้อักขระควบคุมในการสื่อสารเพื่อเป็นที่เข้าใจได้ตรงกันดังนี้

NUL เป็นอักขระว่าง คือไม่มีอะไรเลย อย่าสับสนกับ Blank เพราะ Blank ยังมีอักขระอยู่คือ " " ในภาษาเบสิก ส่วน NUL = " " ในภาษาเบสิก NUL อาจจะแทรกหรือดึงออกจากสายต่อเนื่องของอักขระโดยไม่มีผลกระทบกระเทือน การแทรกหรือดึง NUL เข้าหรือออก เพียงเพื่อต้องการผลในแบบแปลนในการส่งข้อมูลเท่านั้น ( เช่น ทำให้ได้ความยาวของข้อมูลตามต้องการ ) อักขระนี้มีประโยชน์สำหรับอุปกรณ์เครื่องพิมพ์ซึ่งต้องการเวลาที่แน่นอนในการเลื่อนหัวพิมพ์ เครื่องพิมพ์บางตัวต้องการอักขระ NUL อย่างน้อยสองตัวตามหลัง CR ( Carriage Return ) เพื่อเป็นการตั้งหัวพิมพ์ให้เข้าทางซ้ายก่อนที่จะรับอักขระต่อไปได้

SOH Start of Heading ( SOH ) ใช้ในการควบคุมในสายข้อมูลของ Bisyn ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้นของส่วนนำหน้าของข้อมูล สถานีในข่ายการสื่อสารจะตรวจสอบอักขระที่ตามหลัง SOH สำหรับตีความว่าจะเป็นผู้รับข้อความที่ตามหาข้างหลังนี้หรือไม่ หรือง่าย ๆ ก็หมายความว่า " ฟังซิว่าชื่อเธอถูกเรียกหรือเปล่า " SOH บางครั้งก็ใช้ในแบบอะซิโครนัส สำหรับการถ่ายโอนข้อมูลหลาย ๆ แฟ้มติดต่อกันโดยไม่แยกแฟ้มส่ง SOH ใช้สำหรับบอกถึงจุดเริ่มต้นของแต่ละแฟ้ม ในการสื่อสารแบบอะซิงโครนัสมีผู้รับอยู่สถานีเดียวจึงไม่จำเป็นต้องใช้ตำแหน่งที่อยู่ของสถานีรับ เพียงแต่ใส่ชื่อแฟ้มตามหลังเท่านั้น การรับส่งแบบนี้ใช้เฉพาะในโปรแกรมสำเร็จรูปที่เหมือนกันเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานของการสื่อสาร SOH ใช้ในโปรโตคอล XMODEM  เพื่อเป็นการบอกให้รู้ว่า กลุ่มของข้อมูลอีก 128 ไบต์ กำลังตามมา

STX Start of Text ( STX ) ใช้ใน Bisyn เป็นการเตือนให้ฝ่ายรับได้รู้ว่าข้างหลังที่ตามมาเป็นข้อความที่ต้องการจะส่งให้ และเป็นการบอกให้รู้ว่าส่วนหัวได้สิ้นสุดลงแล้ว

ETX End of Text ( ETX ) ใช้ใน Bisyn เหมือนกัน เป็นการบอกฝ่ายรับว่าข้อความที่ต้องการส่งในกลุ่มนี้หมดแล้ว

EOT End of Transmission ( EOT ) เป็นอักขระควบคุมการสื่อสาร เพื่อเป็นการบอกให้รู้ว่าสิ้นสุดการส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ที่บ่งบอกแล้ว อักขระนี้ยังเป็นการบอกให้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่อยู่ในข่ายสื่อสาร คอยตรวจสอบว่าจะมีข้อความส่งมาถึงตัวเองหรือเปล่า EOT เป็นตัวชี้ถึงจุดสุดท้ายของเฟรมที่เริ่มต้นโดยอักขระ SOH ในโปรโตคอล XMODEM ใช้อักขระตัวนี้คอยบอกการสิ้นสุดของการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล

ETB End of Transmission Block ( ETB) เป็นอักขระควบคุมการสื่อสารเป็นตัวบ่งชี้ถึงการสิ้นสุดกลุ่ม ข้อมูลที่ส่ง Bisyn ใช้อักขระตัวนี้แทน ETX เมื่อข้อมูลที่ส่งมากกว่า 2 กลุ่ม

ENQ Enquiry ( ENQ ) อักขระควบคุมตัวนี้ใช้ในการเรียกการตอบสนองจากฝ่ายรับ อาจจะใช้ในการเรียกให้อุปกรณ์ในข่ายการสื่อสารแสดงตัวเอง หรืออาจจะใช้ในการบอกสถานภาพของการสื่อสาร โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้กับ IBM PC บางตัวใช้อักขระตัวนี้ในโปรโตคอลการส่งแฟ้มข้อมูล เพื่อให้แสดงการตอบสนองด้วย ENQ ฝ่ายรับอาจจะต้องการที่จะให้ส่งกลุ่มข้อมูลที่รับไปหลังสุด อย่างไรก็ตามนี้เป็นการใช้ ENQ อย่างไม่เป็นมาตรฐาน

ACK Acknowledge ( ACK ) อักขระควบคุมใช้ในการบ่งบอกถึงการสื่อสาร และถ่ายโอนข้อมูลอย่างไม่ผิดพลาด ระหว่างสถานีรับและสถานีส่ง หลังจากรับกลุ่มของข้อมูลอย่างถูกต้องแล้ว ฝ่ายรับจะต้องส่ง ACK ให้ฝ่ายส่งได้รับรู้ว่าข้อความที่ส่งไปได้รับอย่างถูกต้องแล้ว

NAK Negative Acknowledge ( NAK ) ใช้ระหว่างฝ่ายรับกับฝ่ายส่งหรือบ่งบอกว่ามีการผิดพลาดเกิดขึ้นในการสื่อสาร โดยทั่วไป NAK จะส่งโดยฝ่ายรับไปยังฝ่ายส่งเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น และเป็นการร้องขอให้ฝ่ายส่งส่งข้อความเก่ามาใหม่ ENQ, ACK และ NAK ส่วนมากจะใช้ด้วยกันในโปรโตคอลการรับส่ง แต่ผู้ใช้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอักขระเหล่านี้

BEL Bell เป็นอักขระควบคุมที่ทำงานเหมือนชื่อ คือสั่นกระดิ่งเรียกร้องความสนใจจากผู้ใช้ อาจจะรวมอยู่ในแฟ้มหรือรับส่งระหว่างการสื่อสารที่เป็นลักษณะสนทนาใน IBM PC อาจจะทำได้ทันทีโดยกด CTRL และ G พร้อมกัน หรือในภาษาเบสิกใช้คำสั่ง LPRINT CHR$(7)

BS Back Space ( BS ) เป็นอักขระสำหรับจัดรูปร่าง เพื่อควบคุมเครื่องและการแสดงผลบนหน้าจอ โดยจะมีผลทำให้เคอร์เซอร์หรือหัวพิมพ์เลื่อนไปทางซ้าย 1 ตำแหน่ง ในขณะที่เคอร์เซอร์ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ 1 อักขระที่อยู่ในตำแหน่งที่เคอร์เซอร์เลื่อนไปทับจะหายไป บางครั้งเราเรียกอักขระนี้ว่าอักขระถอยหลังและลบ

HT Horixontal Tabulation ( HT ) เป็นอักขระสำหรับจัดรูปร่าง ทำให้เครื่องพิมพ์และการแสดงผลบนหน้าจอ เลื่อนไปตำแหน่งที่ตั้งค่าเอาไว้ก่อนแล้ว ก่อนที่จะพิมพ์อักขระตัวต่อไป

LF Line Feed ( LF ) เป็นอักขระควบคุมทำให้ตำแหน่งที่พิมพ์เลื่อนไป 1 บรรทัดนับต่อไปในแถวตั้งอันเดียวกัน อาจจะสับสนกับ Carriage Return ( CR ) แต่ว่า LF ไม่ได้เลื่อนหัวพิมพ์หรือเคอร์เซอร์ไปยังแถวตัวที่ 1 ของบรรทัดถัดไป นอกจากจะตามด้วย CR

VT Vertical Tabulation ( VT ) เป็นอักขระควบคุมการจัดรูปร่าง ซึ่งจะทำให้เครื่องพิมพ์หรือการแสดงผลบนหน้าจอเลื่อนไปยังแถวตั้งเดิมแต่จำนวนบรรทัดห่างออกไป เท่ากับจำนวนบรรทัดที่ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้

FF Form Feed ( FF ) เป็นอักขระควบคุมรูปร่าง ใช้ในการเลื่อนหัวพิมพ์ไปยังส่วนบนของแบบฟอร์มที่ตั้งเอาไว้ของหน้าถัดไป พูดง่าย ๆ ก็คือการขึ้นหน้าใหม่ของเครื่องพิมพ์

CR Carriage Return ( CR ) เป็นอักขระควบคุมการจัดรูปร่างซึ่งจะทำให้เครื่องพิมพ์ หรือเคอร์เซอร์ของการแสดงผลบนหน้าจอเลื่อนไปยังตำแหน่งที่ 1 ของบรรทัดเดียวกัน

SO Shift Out ( SO ) เป็นอักขระควบคุมพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่ในการขยายอักขระมาตรฐานของ ASCII ออกไป สำหรับเครื่องพิมพ์อาจจะใช้รหัสควบคุมตัวนี้ทำให้เปลี่ยนโหมดการพิมพ์เป็นพิมพ์ตัวใหญ่หรือความหนาเป็นสองเท่า

SI Shift In ( SI ) เป็นอักขระควบคุมพิเศษซึ่งอาจจะใช้ในการตั้งค่าใหม่ของเครื่องรับกลับไปยังอักขระมาตรฐานของ ASCII ในเครื่องพิมพ์อาจจะใช้อักขระตัวนี้ในการโดดกลับเข้ามาพิมพ์ตัวขนาดมาตรฐานหลังจากที่ใช้ SO พิมพ์ตัวหนาสองเท่า

DLE Data Link Escapr ( DLE ) เป็นอักขระควบคุมการสื่อสารใช้ในการดัดแปลงแก้ไขความหมายของอักขระที่ตามหลังมา ใช้ใน Bisyn สำหรับหมายถึงการเริ่มต้นของข้อมูล Transparent

DC1 Device Control 1 ( DC1 ) เป็นอักขระสำหรับโยกสวิตซ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ การใช้งานจริง ๆ อาจจะแตกต่างกันไปสำหรับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสาร หรือซอพต์แวร์ของแต่ละบริษัท แต่โดยทั่วไปแล้วใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ที่เกี่ยวโยงเอาไว้สำหรับการใช้แสดงผล อักขระตัวนี้มีค่าเท่ากับ Ctrl-Q จะทำให้เกิดการเริ่มต้นการแสดงผลใหม่หลังจากหยุดไปเพราะ DC3 หรือ Ctrl-S ในทางการสื่อสารข้อมูลอักขระตัวนี้ส่วนมากจะมอบหมายให้มีค่าเท่ากับ XON และใช้สำหรับการเริ่มถ่ายโอนใหม่หลังจากหยุดไปเพราะ XOFF

DC2 Device Control 2 ( DC2 ) เช่นเดียวกับ DC1 ความหมายอาจจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ผู้ผลิตจะนำไปใช้

DC3 Device Control 3 ( DC3 ) เป็นอักขระสำหรับโยกสวิตซ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกอันหนึ่งส่วนมากจะใช้ร่วมกับ DC1 เสมอ สำหรับ ( Speed Matching ) ปรับความเร็วให้เข้ากับ DC3 ก็คือ XOFF และใช้ในการหยุดส่งชั่วคราว

DC4 Device Control 4 ( DC4 ) ก็เช่นเดียวกับ DC2 ซึ่งความหมายอาจจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ผู้ใช้

SYN Synchronous Idle ( SYN ) เป็นอักขระควบคุมการสื่อสารใช้ในโปรโตคอล Bisyn สำหรับเริ่มการสื่อสาร หรือเมื่อยังไม่มีข้อมูลจะส่ง สำหรับให้ฝ่ายรับปรับสัญญาณนาฬิกาให้เข้ากับฝ่ายส่งเสมอ

CAN CANCEL ( CAN ) เป็นอักขระควบคุมพิเศษ อาจจะนำไปใช้งานต่าง ๆ กัน สำหรับผู้ใช้แต่ละราย แต่ส่วนมากจะหมายถึง เกิดมีข้อผิดพลาดในการส่งข้อมูล อักขระตัวนี้เป็นตัวบ่งบอกว่าข้อมูลที่ได้รับเข้าก่อนหน้านี้ผิดพลาด ( เนื่องจากฝ่ายส่งเอง ) โยนทิ้งไปได้

EM End of Medium ( EM ) เป็นอักขระควบคุมพิเศษใช้ในการบ่งบอกการสิ้นสุดของตัวกลางในทางฟิสิกส์ ( หน่วยบันทึกข้อมูล อันเป็นตัวแทนของตัวกลางการสื่อสาร ) หรือสิ้นสุดส่วนของตัวกลางที่มีข้อมูลอยู่

SUB Substitute ( SUB ) เป็นอักขระในการสื่อสารเพื่อการควบคุมความแม่นยำเครื่องรับใช้ SUB แทนอักขระที่ถูกตีความว่าผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือเป็นไปไม่ได้ ในการส่งให้เครื่องพิมพ์หรือหน่วยแสดงผล

ESC Escape ( ESC ) เป็นอักขระควบคุมใช้กันอย่างแพร่หลายในการสื่อสารระหว่างเครื่องพิมพ์กับคอมพิวเตอร์ ปกติจะใช้ส่งออกไปก่อนที่จะตามด้วยอักขระหรือตัวเลขที่เป็นรหัสเสริมต่อหรืออักขระควบคุมเสริมต่อ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ที่อักขระที่เสริมต่อนั้นจะมีความหมายอย่างไร

FS File Separator ( FS ) เป็นตัวรับข่าวสารใช้สำหรับแสดงถึงขอบเขตในทางลอจิกระหว่างแฟ้มที่ถูกถ่ายโอน

GS Group Separator ( GS ) เป็นอักขระคั่นกลางใช้ในการแสดงขอบเขตในทางลอจิกของกลุ่มข้อมูลที่กำลังส่งออกไป

RS Record Separator ( RS ) เป็นอักขระสำหรับคั่นกลางอีกเหมือนกันใช้ในการคั่นระหว่างเรคอร์ด ( Record ) ที่กำลังส่งออก

US Unit Separator ( US ) ใช้ในการคั่นระหว่างข้อมูลที่แตกต่างกัน

DEL Delete ( DEL ) ใช้ในการลบอักขระ สำหรับเครื่องพิมพ์ใช้ในการลบอักขระที่ได้รับตัวท้ายสุด ถ้าเป็นหน่วยแสดงผลก็เป็นการลบอักขระใต้เคอร์เซอร์ออก

รหัสภาษาไทย  สืบเนื่องจากปัจจุบันการสื่อสารข้อมูลได้มีบทบาทและสำคัญเพิ่มขึ้น ผู้ใช้คอมพิวเตอร์มีจำนวนมากขึ้น การใช้งานภาษาไทยเป็นไปอย่างกว้างขวาง มีเวิร์ดโปรเซสเซอร์ให้พิมพ์เอกสาร จัดข้อความ จัดรูปแบบการพิมพ์ได้ดียิ่งขึ้น ปัญหาของการใช้ภาษาไทยก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาการใช้ภาษาไทยที่ใช้รหัสแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถโอนย้ายข้อมูลหรือส่งผ่านข้อมูลมาใช้ร่วมกันได้ นับเป็นผลเสียหายโดยส่วนรวม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งทำการศึกษาและเสนอแนะหามาตรฐาน ซึ่งก็ได้กำหนดข้อเสนอแนะของการใช้รหัสมาตรฐานภาษาไทยทั้งในตารางเชื่อมต่อ ASCII และ EBCDIC รหัสภาษาไทยที่ทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้นนี้ มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

หน้า 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
| home | menu | เทคโนโลยี |

1 : 08 : 2541