วัดเชียงมั่น
 
 
วัดเชียงมั่น
          ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ ตามตำนานกล่าวว่าพญามังรายมาตั้งในชัยภูมิที่เรียกว่า เชียงมั่น เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๖ ต่อมาได้สร้างเป็นวัดขึ้นชื่อวัดเชียงมั่น เข้าใจกันว่าเป็นวัดแรกของเชียงใหม่
เจดีย์ ตามประวัติบ่งว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๑๘๓๙ บริเวณหอนอนของพญาเม็งราย ต่อมาได้มีการซ่อมแซม เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๑๔ โดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ซ่อมด้วยศิลาแลง จากลักษณะของส่วนยอดแสดงว่าคงจะซ่อมใหม่ ซึ่งอาจเป็นการซ่อมเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๑๔ โดยพญาแสนหลวง สำหรับลวดลายประดับ และจรนำเรือนธาตุนั้น น่าจะมีการปรับเปลี่ยนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้เอง
วิหาร ตามประวัติกล่าวว่าเจ้าราชวงศ์ได้รื้อเอาหอของพระยาธรรมลังกามาสร้าง แต่วิหารหลังเดิมได้มีการรื้อถอนไปแล้ว แต่ภายในยังมีโขง ปราสาทนี้เป็นรุ่นเดียวกับการสร้างวิหารอยู่
หอไตร เป็นอาคารสองชั้นใต้ถุนโล่ง ฝาผนังชั้นบนมีภาพลายทอง
พระอุโบสถ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละกับพระมหาสังฆราชได้ปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถในวัดเชียงมั่น แต่จากสภาพปัจจุบัน น่าจะมีการซ่อมแซมในสมัยเจ้าอินทรวิชยานนท์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๖
กลุ่มพระพุทธรูปในพระอุโบสถ มีอยู่องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีจารึกว่าสร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๐๘ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีจารึกเก่าแก่ที่สุดที่พบในเมืองเชียงใหม่
พระพุทธรูปศิลา ข้างขวาเป็นรูปพระอานนท์ ข้างซ้ายเป็นรูปช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบปาละ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ มีตำนานเล่าว่าได้นำพระพุทธรูปนี้มาจากลังกา ผ่านเมืองศรีสัชนาลัย ลำปาง มายังเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๔ พระเจ้ากาวิละได้สร้างฐานพระพร้อมซุ้มทำด้วยไม้ลงรักปิดทอง
วัดเชียงมั่นขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และประกาศขอบเขตวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒

 
วัดพระธาตุดอยสุเทพ, วัดพระสิงห์, วัดเจ็ดยอด, วัดสวนดอกวัดเจดีย์หลวง, วัดเจดีย์เหลียม, วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์