วัดเจ็ดยอด
 
 
วัดเจ็ดยอด
วัดเจ็ดยอด หรือวัดเจดีย์เจ็ดยอด เป็นชื่อวัดที่คนทั่วไป ในภายหลังกำหนดเรียกขึ้นตามลักษณะเครื่องยอดส่วนบน หลังคาพระวิหารที่ปรากฏมาแต่เดิม ในวัดนี้ซึ่งก่อสร้างเป็น พระสถูปเจดีย์ มีจำนวนเจ็ดองค์เจ็ดยอดด้วยกันเป็นที่หมาย
แต่ชื่อของวัดที่มีมาแต่เดิม เมื่อคราวแรกสร้างวัดนี้ ชื่อว่า "วัดมหาโพธาราม" หรือ "วัดโพธารามมหาวิหาร" วัดเจ็ดยอด หรือ วัดมหาโพธาราม เป็นวัดโบราณ ที่ พระเจ้าติโลกราช พระราชาธิบดี องค์ที่ 22 แห่งพระราชวงศ์มังราย โปรดให้ หมื่นด้ามพร้าคต หรือ สีหโคตเสนาบดี เป็นนายช่าง ทำการก่อสร้าง ศาสนะสถาน และ เสนาสนะ ขึ้นเป็นอาราม ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 1999 เมื่อการสถาปนาอารามสำเร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราช โปรดให้นิมนต์พระมหาเถระชื่อ พระอุตมปัญญา มาสถิตเป็นอธิบดีองค์แรกแห่งหมู่สงฆ์ในอารามแห่งนี้ ครั้งนั้น พระเจ้าติโลกราช ได้ทรงสดับธรรมบรรยาย จากสำนัก พระภิกษุสีหล เรื่องอานิสงค์ปลูกต้นโพธิ์ มีพระราชประสงค์ ใคร่จะปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดให้แบ่ง หน่อมหาต้นโพธิ์ต้นเดิม ที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกา เอามาปลูกขึ้นไว้ในอาราม ป่าแดงหลวง ที่เชิงดอยสุเทพ เอามาปลูกไว้ในอารามที่สร้างขึ้นนี้ เพราะเหตุที่หน่อมหาโพธิ์ ปลูกในอารามนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า "วัดมหาโพธาราม" หรือ "วัดโพธารามมหาวิหาร"
       วัดเจ็ดยอด   หรือ วัดมหาโพธาราม เป็นอารามที่มีความ สำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ในอาณาจักรล้านนา กล่าวคือ ในปีพุทธศักราช 2020 พระเจ้าติโลกราช โปรดให้จัดการ ประชุม พระเถรานุเถระ ทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา
แล้วทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิน เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้เจนจัดในพระบาลี เป็นฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าติโลกราช ทรงรับเป็น ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำการสังคายนา พระไตรปิฎกครั้งใหญ่เป็นลำดับที่ 8 นับเนื่องจากที่ ได้ทำมาแล้วทั้งในประเทศอินเดีย และ ศรีลังกา รวมแล้ว 7 ครั้ง และการทำการสังคายนา ที่ได้ทำ ณ วัดมหาโพธารามนี้ นับว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรกในประเทศไทย วัดเจ็ดยอด หรือ วัดมหาโพธาราม ได้กลายสภาพเป็น วัดร้างที่ไม่มีภิกษุพำนักอาศัย แต่เมื่อใด ไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่มีที่ ควรสันนิษฐานว่า เมื่อพุทธศักราช 2319 หัวเมืองต่างๆ ในแคว้นล้านนา เผชิญกับยุทธภัยทั่วไปหมด ครั้งนั้นสมเด็จ พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงประกาศให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เนื่องจาก มีกำลังไม่เพียงพอที่จะรักษาเมือง และพม่าก็ยกมารุกรานเนืองๆ พระภิกษุ สามเณรและพลเมืองจึงพากันอพยพไปอยู่ตาม หัวเมืองอื่นหมดสิ้น ต่อมาเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าบรมราชากาวิละ ได้เป็น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช เมื่อพุทธศักราช 2339 เมืองเชียงใหม่ได้กลับตั้งเป็น บ้านเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กระนั้นก็ดีบรรดา วัดวาอาราม ทั้งที่อยู่ภายในกำแพงเมือง และนอกเมืองก็ยังสภาพ เป็นวัดร้างจำนวนมาก วัดเจ็ดยอด หรือ วัดมหาโพธารามเอง ก็เป็นวัดร้างมาโดยลำดับ เพิ่งมีพระภิกษุสามเณรมาจำพรรษา
       เมื่อไม่นานมานี้เอง
วัดเจ็ดยอด หรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ออกไป ทางทิศตะวันตก เฉียงเหนือ มีเนื้อที่เป็นบริเวณวัดปัจจุบัน ประมาณ 37 ไร่ 3 งาน 61 ตารางวา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด
อยู่ใกล้กับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งเป็นทางคมนาคม สำหรับ ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปชม ปูชนียวัตถุ และ โบราณสถาน ที่น่าสนใจ ณ วัดเจ็ดยอดนี้ได้อย่างสะดวก
 

 
วัดพระธาตุดอยสุเทพ, วัดพระสิงห์, วัดเจ็ดยอด, วัดสวนดอกวัดเจดีย์หลวง, วัดเจดีย์เหลียม, วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์