1. ประวัติและถิ่นกำเนิดของลำไย

ประวัติและถิ่นกำเนิดของลำไย

ลำไยเป็นผลไม้ที่สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ เนื่องจากพบว่ามีการปลูกกันมานานหลายพันปี โดยมีปลูกมากในมณฑลฟูเจี้ยน กวางตุ้ง เสฉวน ไหหลำ ไต้หวัน การแพร่หลายของลำไยจากประเทศจีน ได้แพร่เข้าสู่อินเดีย ลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา ( มลรัฐฮาวายและฟลอริดา ) คิวบา หมู่เกาะอินเดียตะวันตกและเกาะมาดากัสกา ส่วนในประเทศไทย สันนิษฐานว่าลำไยมาจากประเทศจีนตอนใต้ นอกจากนี้ยังพบลำไยตามป่าของประเทศไทยด้วย คนไทยเรียกลำไยมาตั้งแต่โบราณ และทราบว่าคนไทยในสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ก็เรียกลำไยว่าลำไยเช่นกัน ซึ่งแสดงว่าเป็นพืชดั้งเดิมของชนถิ่นไทยแน่นอน คนจีน เรียกลำไยเป็นภาษาจีนกลางว่าหลงเหยี่ยน เมื่อ 40 - 50 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงลำไยและลิ้นจี่ที่ปลูกกันที่ตรอกจันทร์ กรุงเทพฯ ซึ่งในยุคนั้นเป็นสวนและเป็นแหล่งที่อยู่ของคนจีนที่อพยพมาจากเมืองจีนตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และอยู่กันมากบริเวณตรอกจันทร์ และมีการนำพันธุ์ไม้จากเมืองจีนมาปลูก เช่น ลำไย ลิ้นจี่ และส้มจีน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการนำพันธุ์ขยายไปสู่ภาคต่างๆ ของประเทศไทย รวมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนด้วย โดยเจ้าดารารัศมี พระชายา ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งชาวจีนตรอกจันทร์ได้ทูลเกล้าถวายและนำไปเพาะเป็นต้นกล้า และนำไปปลูก โดยมอบให้ เจ้าน้อย ตั๋น ณ เชียงใหม่

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 คุณเล็ก ชาติเจริญ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญไม้ผลโดยเฉพาะเรื่องลิ้นจี่ ลำไย ในขณะนั้น ได้ออกไปสำรวจศึกษาพันธุ์ลำไยและศัตรูสำคัญของลำไย จุดที่ไปสำรวจความเป็นมาของลำไยพันธุ์ดี ขณะนั้นอยู่ในเขตอำเภอสารภี เชียงใหม่ และหนองช้างคืน ลำพูน ในครั้งนั้น ลำไยที่ได้รับการกล่าวขวัญกันมากที่สุดคือ ลำไยต้นละหมื่นที่หนองช้างคืน สมัยนั้นเงินหนึ่งหมื่นบาท ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ ลำไยดังกล่าวให้ผลผลิต 40 - 50 เข่ง ต้นใหญ่โตมาก เป็นลำไยพันธุ์อีดอ คุณเล็ก ชาติเจริญ เป็นผู้สัมภาษณ์เจ้าของสวนถึงประวัติความเป็นมาของลำไยต้นนี้ เจ้าของสวนบอกว่าพ่อเขานำมาปลูกนานแล้วจำไม่ได้ว่า ปลูก ปี พ.ศ. เท่าไหร่ แต่ก็ประมาณร้อยปีขึ้นไปและนำเมล็ดมาปลูกจากสวนเจ้าน้อยตั๋นบ้านสบแม่ข่า อำเภอหางดง และลำไยที่ปลูกแถวหนองช้างคืน และสารภีส่วนใหญ่ก็เป็นลำไยรุ่นลูกรุ่นหลานที่เอาพันธุ์มาจากสวนเจ้าน้อยตั๋นทั้งนั้น ปลูกจากเมล็ดก็มี ตอนจากกิ่งแม่มาก็มี และได้มีการกลายพันธุ์แตกลูกหลานออกมาเป็นพันธุ์ต่างๆ เช่น พันธุ์อีดอ พันธุ์ปู่มาตีนโค้ง พันธุ์สีชมพู พันธุ์แดงกลม เป็นต้น

    สภาพของสวนเจ้าน้อยตั๋นที่สบแม่ข่า อำเภอหางดง ในสมัยปี พ.ศ. 2511 เป็นสวนที่ร่มรื่นมีลำไยพันธุ์กะโหลกที่ปลูกจากเมล็ดในสวนและปลูกแนวรั้วรอบๆสวน ต้นขนาดใหญ่โตมโหฬารอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะนั้น คนเฝ้าสวนซึ่งมีอายุประมาณ 65 ปี ได้เล่าให้ฟังว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านสวนของเจ้าน้อยตั๋น ลุงคนเฝ้าสวนเล่าว่าต้นลำไยที่ปลูกในสวนนี้ปลูกมานานแล้ว ก่อนลุงเกิดเสียอีก ได้รับการบอกเล่าว่าเจ้าน้อยตั๋น ได้รับมอบจากเจ้าดารารัศมี พระชายา ซึ่งเป็นต้นที่บงมา ( คำว่า “บงมา” เป็นคำพื้นเมืองแปลว่าเพาะมาจากเมล็ด ) เจ้าดารารัศมีพระชายา ได้รับพระราชทานจากในหลวงราชการที่ 5 ซึ่งคนจีนที่ตรอกจันทร์ได้ทูลเกล้า หลังจากที่ได้ปลูกไปแล้วต้นลำไยออกลูกมา ก็นำเมล็ดลำไยจากต้นนั้นไปบง ( เพาะเมล็ด ) ปลูกรอบๆ รั้วมีอายุยืนยาวมาถึงปัจจุบันนี้ และคงจะเป็นโชคดีของเมืองไทย ที่จะได้รับของดีที่เกิดจากบุญญาธิการของเจ้าดารารัศมี และพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีในหลวงราชการที่ 5 ที่จะให้ประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประชาชนในเขตเชียงใหม่ และลำพูน รวมทั้งจังหวัดต่างๆ ที่ปลูกลำไยในประเทศไทย ขณะนี้ลำไยรุ่นต่อมาที่เกิดจากการเพาะเมล็ดก็ได้เกิดการกลายพันธุ์ หรือทางวิชาการว่าเกิดการมิวเตชั่น ( Mutation ) ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ที่มีคุณลักษณะดีมากกว่าพันธุ์เดิม ประกอบกับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ภูมิอากาศที่เหมาะสม และเกื้อกูลต่อการเจริญเติบโตของลำไย จึงทำให้จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ๆปลูกลำไยพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลกขณะนี้
กลับไปหน้าสารบัญ พฤษกศาสตร์และนิเวศน์วิทยา การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจของลำไย พันธุ์ลำไย การปลูกและการดูแลรักษา การใช้สารโปรแตสฯเพื่อให้ออกดอก
มาตรฐานลำไยของประเทศไทย การผลิตทางการเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสม การตลาดลำไย ราคาและต้นทุนการผลิตลำไย กลยุทธ์การพัฒนาลำไย การแปรูปลำไย
ประโยชน์ของลำไย สถานการณ์ผลิตลำไยจังหวัดเชียงใหม่ เอกสารอ้างอิง
กลับไปหน้าแรก