2.
พฤกษศาสตร์และนิเวศน์วิทยาของลำไย
|
|
พฤกษศาสตร์ของลำไย |
|
![]() |
![]() |
ลำไย ( longan ) จัดเป็นพืชที่อยู่ในตระกูล Sapindaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ อยู่หลายชื่อคือ Euphoria longana Lam. ; Euphoria longan Strend. ; Nephelium longana Camb. และ Dimocarpus longan Lour. พืชร่วมตระกูล ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้แก่ เงาะ ( Rambutan : Nephelium lappaceum L.) ลิ้นจี่ ( Lychee;Litchi: Litchi chinensis Sonn. ; Nephelium litchi Camb. ; Scytalia chinensis Gaertn. Dimocarpus litchi Lour ) นอกจากนี้ยังมีพืชใกล้เคียงกัน แต่ไม่มีความสำคัญในแง่การเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ แต่อาจใช้ประโยชน์ในแง่การเป็นต้นตอไม้ผลทั้ง 3 ชนิด ข้างต้น เช่น คอแลน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( Xerospermum intermedium Radlk.)ลำไยป่า ( Paranephelium longifoliolatum Lec.) ลำไยเครือหรือลำไยเถา ( Dimocarpus longan var. obtusus Leenh. ; Nephelium obovatum L. ; Euphoria scandens Winit Kerr.) | |
จำนวนโครโมโซม จำนวนโครโมโซมของลำไย 2n = 30 | |
ลำต้น ลำไยมีลำต้นสูงขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ต้นที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมีต้นตรง มีความสูงประมาณ 30 - 40 ฟุต แต่ต้นที่ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งมักจะแตกกิ่งก้าน สาขาใกล้ๆ กับพื้นทรงพุ่มต้นสวยงาม มีการแตกกิ่งก้านสาขาดี เนื้อไม้เปราะทำให้กิ่งหักง่ายกว่าต้นลิ้นจี่ เปลือกลำต้นขรุขระมีสีน้ำตาลหรือสีเทา | |
ใบ ลักษณะของใบลำไยเป็นใบรวมประกอบด้วยใบย่อยอยู่บนก้านใบร่วมกัน ( Pinnately compound leaves ) มีปลายใบเป็นคู่ มีใบย่อย 2 - 5 คู่ ความยาวใบ 20 - 30 เซนติเมตร ใบย่อยเรียงตัวสลับหรือเกือบตรงข้าม ความกว้างของใบย่อย 3 - 6 เซนติเมตร ยาว 7 - 15 เซนติเมตร รูปร่างใบเป็นรูปรีหรือรูปหอก ส่วนปลายใบและฐานใบค่อนข้างป้าน ใบด้านบนมีสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ผิวด้านบนเรียบส่วนผิวด้านล่างสากเล็กน้อย ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบเป็นคลื่นเล็กน้อย และเห็นเส้นแขนง ( vein ) แตกออกจากเส้นกลางใบชัดเจน และมีจำนวนมาก | |
ช่อดอก เกิดเป็นช่อ ส่วนมากจะเกิดจากตาที่ปลายยอด ( terminal bud ) บางครั้งอาจเกิดจากตาข้างของกิ่ง ความยาวของช่อดอกประมาณ 15 - 60 เซนติเมตร ช่อดอกขนาดกลางจะมีดอกย่อยประมาณ 3,000 ดอก | |
ดอก ดอกลำไยมีสีขาวหรือสีขาวออกเหลืองมีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 - 8 มิลลิเมตร ช่อดอกหนึ่งๆ อาจมีดอก 3 ชนิด ( polygamo - monoecious ) คือดอกตัวผู้ ( staminate flower ) ดอกตัวเมีย ( pistillate flower ) และดอกสมบูรณ์เพศ ( perfect flower )ลักษณะที่คล้ายคลึงกันของดอกทั้ง 3 ชนิดคือ มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีขาว มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบมีสีเขียวปนน้ำตาลหนาแข็ง | |
ก. ดอกตัวผู้ มีเกสรตัวผู้ 6 - 8 อัน เรียงเป็นชั้นเดียวอยู่บนจานรองดอก ( disc ) สีน้ำตาลอ่อน และมีลักษณะอุ้มน้ำ ก้านชูเกสรตัวผู้มีขน เกสรตัวผู้มีความยาวสม่ำเสมอ คือยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร อับเรณูมี 2 หยัก และเมื่อแตกจะแตกตามยาว ( longitudinal dehiscence ) | |
ข. ดอกตัวเมีย มีเกสรตัวเมีย ประกอบด้วยรังไข่ที่มี 2 พู ( bicarpellate ) ตั้งอยู่ตรงกลางจานรองดอก เป็นแบบ superior ovary ด้านนอกของรังไข่มีขนปกคลุมอยู่ แต่ละพูจะมีเพียง 1 ช่อง ( locule ) เท่านั้นที่จะเจริญเติบโตและพัฒนาจนเป็นผล ส่วนอีกพูหนึ่งจะค่อยๆ ฝ่อในบางกรณีอาจพบไข่ในพูทั้งสองเจริญจนเป็นผลได้ เกสรตัวเมียอยู่ตรงกลางระหว่างพู ก้านชูเกสรตัวเมีย ( style ) ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ตรงปลายยอดเกสร ( stigma ) แยกออกเป็น 2 แฉกเห็นได้ชัดเมื่อดอกบานเต็มที่ เกสรตัวผู้จะไม่มีการแตกและไม่มีการงอก จะค่อยๆ แห้งตายไปหลังดอกบาน | |
ค. ดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน รังไข่พองเป็นกระเปาะค่อนข้างกลม ขนาดเล็กกว่ารังไข่ของดอกเพศเมีย ยอดเกสรตัวเมียจะสั้นกว่าและตรงปลายจะแยกเพียงเล็กน้อยเมื่อดอกบาน ส่วนเกสรตัวผู้จะมีก้านชูเกสรยาวไม่สม่ำเสมอกัน มีความยาวอยู่ระหว่าง 1.5 - 3.0 มิลลิเมตร ดอกสมบูรณ์เพศสามารถติดผลได้เช่นเดียวกับดอกตัวเมีย ( เรืองยศ, 2531) ดอกสมบูรณ์เพศจะให้ละอองเกสรที่สามารถงอกได้ เช่นเดียวกับดอกตัวผู้ | |
ผล ผลทรงกลม หรือทรงเบี้ยว ลำไยพันธุ์กะโหลกจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลสุกมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอมแดง ผิวเปลือกเรียบหรือเกือบเรียบ มีตุ่มแบนๆ ปกคลุมที่ผิวเปลือกด้านนอก เปลือกบาง เนื้อหนา เนื้อ ( aril ) เกิดจากส่วนที่เจริญขึ้นมาจากก้านไข่ ( funiculus ) ซึ่งเนื้อเยื่อส่วนนี้เป็นพวกเนื้อเยื่อฟองน้ำ และเป็นผิวหุ้มเมล็ดส่วนนอก ( outer integument ) เนื้อเยื่อนี้เป็นเนื้อเยื่อพาเรนไคม่า ซึ่งจะเจริญล้อมรอบเมล็ดและอยู่ระหว่างเปลือกกับเมล็ดมีสีขาวคล้ายวุ้น สีขาวขุ่น หรือสีชมพูเรื่อๆ แตกต่างกันไปตามพันธุ์ | |
เมล็ด มีลักษณะกลมจนถึงกลมแบน เมื่อยังไม่แก่มีสีขาวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำมันส่วนของเมล็ดที่ติดกับขั้วผล มีวงกลมสีขาวๆ บนเมล็ด ( placenta ) มีลักษณะคล้ายตามังกร ( dragons eye ) จุดสีขาวจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างกันไปตามพันธุ์ | |
นิเวศน์วิทยาของลำไย |
|
ดิน ลำไยสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แม้กระทั่งดินลูกรัง แต่ดินที่ลำไยชอบมากคือดินร่วนปนทราย และดินตะกอน ( alluvial soil ) ซึ่งเกิดจากตะกอนกรวด หิน ดิน ทราย อินทรีย์วัตถุที่น้ำพัดพามาเกิดการทับถมของอินทรีย์วัตถุซึ่งจะสังเกตได้จากต้นลำไยที่ปลูกตามที่ราบลุ่มริมแม่น้ำปิงที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เจริญงอกงามและให้ผลผลิตดี ดินที่ปลูกลำไยควรมีหน้าดินลึก การระบายน้ำดี สำหรับค่าของความเป็นกรดด่าง ( pH ) ที่พอเหมาะต่อการปลูกลำไยอยู่ระหว่าง 5.0 - 7.0 | |
อุณหภูมิ ลำไยเป็นพืชที่มีความสามารถทนทานต่อดินฟ้าอากาศ ได้ดีกว่าลิ้นจี่ คือ สามารถปลูกได้ในสภาพที่มีอากาศหนาวเย็นกว่าและร้อนกว่า โดยทั่วไปลำไยต้องการอากาศ ค่อนข้างเย็น อุณหภูมิที่สามารถเจริญเติบโตได้อยู่ระหว่าง 4 - 30 องศาเซลเซียส และต้องการที่อุณหภูมิต่ำ 10 - 22 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวช่วงหนึ่งคือประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงมกราคมเพื่อสร้างตาดอก ซึ่งจะสังเกตว่าถ้าปีไหนอากาศหนาวเย็นนานๆ โดยไม่มีอากาศอบอุ่นเข้ามาแทรกลำไยจะมีการออกดอกติดผลดี แต่ถ้าอุณหภูมิไม่ต่ำพอหรือต้นลำไยได้รับอุณหภูมิ ต่ำในช่วงสั้น ก็จะไม่ออกดอกติดผลดี แต่มีรายงานว่าสภาพอุณหภูมิต่ำกว่า -1 องศาเซลเซียส ลำไยต้นเล็กจะตาย ถ้าอุณหภูมิเท่ากับ 0 องศาเซลเซียส ดอกของลำไยจะได้รับความเสียหายและถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า -3 ถึง -4 องศาเซลเซียส จะทำให้ต้นลำไยขนาดใหญ่ตาย |
|
น้ำและความชื้น น้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโตของต้นลำไย ในแหล่งปลูกลำไย ในแหล่งปลูกลำไยควรมีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วงประมาณ 1,000 - 2,000 มิลลิเมตรต่อปี และควรมีการกระจายตัวของฝนดี ประมาณ 100 - 150 วันต่อปี | |
ระดับความสูงของพื้นที่ ลำไยปลูกได้ดีในที่ราบลุ่มถึงพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร พื้นที่ปลูกลำไยเป็นการค้าควรอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 - 28 องศาเหนือใต้ สำหรับเชียงใหม่และลำพูน อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 17 - 19 องศา | |
![]() |
|
กลับไปหน้าสารบัญ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจของลำไย พันธุ์ลำไย การปลูกและการดูแลรักษา การใช้สารโปรแตสฯเพื่อให้ออกดอก การแปรูปลำไย | |
มาตรฐานลำไยของประเทศไทย การผลิตทางการเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสม การตลาดลำไย ราคาและต้นทุนการผลิตลำไย กลยุทธ์การพัฒนาลำไย | |
![]() |
|