สาระน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ        การตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องแล็ป ตั้งแต่การได้รับตัวอย่าง เลือด/ ปัสสาวะ/ สารคัดหลั่งต่างๆ วิธีการทดสอบไปจนถึงการแปลผล
อาการและปัญหาของโรคภัยไข้เจ็บ       การดูแลป้องกันโรคติดต่อ        สรีระร่างกายของเรา       ชมรมเรารักสุขภาพมาช่วยกันดูแลสุขภาพกัน       สุขอนามัย

cdlogo.gif (7928 bytes)
Healthcare & Diagnostic

winshop.jpg (4697 bytes)
HealthShop l ช็อปปิ้งเพื่อสุขภาพ


สนใจรับข่าวสารสุขภาพใหม่ๆ 
พร้อมประโยชน์อื่นๆ เชิญสมัครฟรี !

Home ] Up ] Endocrine ] Muscle/Skeleton ] Cardio ] Skin/Dermal ] Digestive ] Kidney/Urinary ] Tumor/CA ] Infectious ] CBC ] Sexual ] Respiratory ] Brain ] [ Accident ] HIV ] TropicalParasite ] BabyDisease ] Mental ]
ban3.jpg (13652 bytes)

 

Top

กระดูกหัก
Broken Bones

ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก
Burns

ไฟฟ้าช็อต
Electric shock

จมน้ำ
Drowning

สัตว์กัด / แมลงต่อย
Bites / Stings

 

   bar5.jpg (6486 bytes)













กระดูกหัก Broken Bones


ลักษณะทั่วไป
กระดูกหัก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่
กระดูกหักแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่
1. กระดูกหักชนิดธรรมดา (Simple fracture/Closed fracture) จะมีอาการกระดูกหักเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกจะไม่โผล่ออกนอกผิวหนัง
2. กระดูกหักชนิดซับซ้อน หรือมีบาดแผล (Compound fracture/Open fracture) จะมีบาดแผลซึ่งลึก
ถึงกระดูก หรือกระดูกที่หักอาจทิ่มแทงทะลุออกนอกเนื้อ ถือเป็นชนิดร้ายแรง อาจทำให้ตกเลือดรุนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย หรือติดเชื้อได้ง่าย เป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียแขนขาได้

สาเหตุ
ส่วนมากมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม รถคว่ำ รถชน เป็นต้น
ในผู้สูงอายุ กระดูกเสื่อม ผุ และเปราะ จึงมีโอกาสหักง่าย เมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ที่พบได้บ่อย
คือ กระดูกต้นขา หรือตะโพกหัก

อาการ
บริเวณที่หักมีลักษณะบวม เขียวช้ำ เจ็บปวด ซึ่งจะเป็นมากเวลาเคลื่อนไหว หรือใช้มือกดถูก บางคนอาจรู้สึกเคลื่อนไหวส่วนนั้นลำบาก (ถึงแม้จะเคลื่อนไหวได้ตามปกติก็อาจหักได้เช่นกัน) หรือมีการเคลื่อนไหวผิดรูปไป
แขนขาส่วนที่หัก อาจมีลักษณะผิดรูปผิดร่าง เช่น โก่งงอ หรือสั้นกว่าข้างที่ดี
บางครั้งถ้าลองจับกระดูกบริเวณนั้นดู อาจได้ยินเสียงกระดูกสีกัน หรือรู้สึกกรอบแกรบ
แต่กระดูกบางแห่ง เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาจมี อาการบวมและปวดเพียงเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่า เป็นเพียงข้อเคล็ดข้อแพลงก็ได้

อาการแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กระดูกที่หักต่อกันได้ไม่ดี ทำให้แขนขาโก่งได้
ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อน อาจทำให้หลอดเลือดแดงฉีก ตกเลือดรุนแรงถึงช็อกได้ หรืออาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดเป็นอัมพาตและชาได้ หรือไม่ก็อาจมีการติดเชื้อรุนแรง จนกลายเป็น
โลหิตเป็นพิษได้ บางคนอาจติดเชื้อเรื้อรังกลายเป็น เยื่อกระดูกอักเสบเรื้อรัง (Chronic osteomyelitis)

การรักษา
หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล
ควรให้การปฐมพยาบาล เช่น ห้ามเลือด ใส่เฝือก หรือดามกระดูกส่วนที่หักไว้ ถ้าช็อกให้น้ำเกลือ
แล้วส่งโรงพยาบาล ทำการวินิจฉัยโดยเอกซเรย์ดูลักษณะการหักของกระดูก แล้วให้การรักษาโดย
พยายามดึงกระดูกให้เข้าที่ (ถ้าจำเป็น อาจต้องดมยาให้ผู้ป่วยสลบ) แล้วใส่เฝือกปูนพลาสเตอร์ไว้
ถ้ากระดูกต้นขาหัก บางครั้งอาจต้องให้ผู้ป่วยนอนบนเตียง แล้วใช้น้ำหนักถ่วงดึงให้กระดูกเข้าที่ ผู้ป่วยอาจต้องนอนนิ่ง ๆ อยู่เป็นสัปดาห์ ๆ
ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้เหล็กดามกระดูกไว้
หากกระดูกหักแหลกละเอียด หรือมีบาดแผลเหวอะหวะที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยการตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยเสียก่อน
เมื่อแผลหายแล้ว จึงค่อยให้ผู้ป่วยใส่แขนขาเทียม ซึ่งจะช่วยให้เดินและทำงานได้

ข้อแนะนำ
1. กระดูกที่หักสามารถต่อกันได้เองโดยธรรมชาติ การรักษาจึงอยู่ที่การดึงกระดูกให้เข้าที่และตรึง
(ดาม หรือเข้าเผือก) ไว้ อย่าเลื่อนจากแนวปกติ รอให้กระดูกต่อกันเองจนสนิท ซึ่งอาจกินเวลา 1-3
เดือน ขึ้นกับอายุ (เด็กหายเร็วกว่าผู้ใหญ่) ตำแหน่งที่หัก (แขนหายเร็วกว่าขา) และลักษณะของ
กระดูกหัก
2. วิธีการรักษากระดูกหักของแพทย์ มีได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกหัก ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดา มักจะต้องดึงกระดูกเข้าที่ แล้วใส่เฝือกปูน แล้วนัดมาตรวจเป็นระยะ จนกว่าจะหายสนิท จึงถอดเฝือกออก
ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อน การรักษาอาจยุ่งยากขึ้น อาจต้องผ่าตัด
มีผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่อาจต้องพิจารณาให้ตัดแขน หรือขาส่วนนั้นทิ้ง เนื่องจากกระดูกหัก
อย่างรุนแรง ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ดังนั้น จึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ
3. ในปัจจุบัน ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังนิยม ไปรักษากับหมอรักษากระดูกแผนโบราณ (มีทั้งหมอ
พระ และหมอชาวบ้าน ซึ่งกระจายอยู่ในชุมชนทั่วไป) ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดา และไม่รุนแรง
ก็มักจะได้ผลดี แต่ถ้าเป็นชนิดรุนแรง กระดูกอาจต่อกันได้ แต่อาจทำให้แขนขาโก่ง หรือใช้การไม่ได้ ซึ่งต้องให้แพทย์แก้ไขภายหลังดังนั้น จึงควรหาทางส่งเสริมให้ประชาชน และหมอรักษากระดูกแผน
โบราณ มีความรู้เกี่ยวกับ วิธีการรักษากระดูกของแพทย์แผนปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
4. ชาวบ้านมักมีความเชื่อ และความกลัวอย่างผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษากระดูกหักของแพทย์ เช่น
- เชื่อว่าใส่เฝือกปูนหนา ๆ อาจทำให้เนื้อเน่าอยู่ในเฝือก
- รู้สึกว่าการให้ผู้ป่วยนอนบนเตียง และใช้น้ำหนักถ่วงกระดูกให้เข้าที่ เป็นเรื่องที่น่าทรมาน หรือไม่ก็คิดว่าแพทย์ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น
- กลัวที่จะถูกตัดแขน ตัดขา เป็นต้น
ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาควรใช้หลักจิตวิทยาในการพูดคุยชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจวิธีการรักษาของ แพทย์

รายละเอียด
การปฐมพยาบาลกระดูกหัก
1. ถ้ามีเลือดออก ควรทำการห้ามเลือดดังนี้
- ถ้าบาดแผลเล็ก ควรใช้ผ้าสะอาดพันทบหนา ๆ หลายชั้น วางบนปากแผลแล้วใช้นิ้ว หรืออุ้งมือกด
ห้ามเลือด หรือใช้ผ้าพันรัดให้แน่น
- ถ้าบาดแผลใหญ่ และเลือดไหลรุนแรง ควรใช้ผ้า เชือก หรือสายยางรัดเหนือบาดแผลให้แน่น
เรียกว่า การรัดทูร์นิเคต์ (tourniquet) ควรคลายเชือก ทุก ๆ 15 นาที โดยคลายนาน ครั้งละ 1/2 -1 นาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดก็รัดกระชับเข้าไปใหม่
2. ก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรทำการดามกระดูกส่วนที่หัก โดยใช้แผ่นไม้ กระดาษแข็ง กระดาษหนังสือพิมพ์พับทบหลายๆ ชั้น ทำเป็นเฝือกวางแนบส่วนที่หักโดยให้ปลายทั้ง 2 ข้างครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก ใช้ผ้าพันยึดไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว
ถ้าเป็นปลายแขน หรือมือ ให้ใช้ผ้าคลองคอ
ถ้าเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ดีทำเป็นเฝือกแทน โดยใช้ผ้าหรือกระดาษหนา ๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้งสองข้างแล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง 2 ข้าง ข้างหลาย ๆ เปลาะ
3. ถ้ากระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในบาดแผล ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผล แล้วใช้เฝือกดาม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล ถ้าโรงพยาบาลอยู่ไกล ควรให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น คล็อกซาซิลลิน , อีริโทรไมซิน
4. ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวด
5. ถ้ามีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือ

bar5.jpg (6486 bytes)













ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก Burns

ลักษณะทั่วไป
บาดแผลไฟไม้น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนพอทนได้ และค่อย ๆ หายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก (กินบริเวณกว้าง
และแผลลึก) มักมีจะภาวะแทรกซ้อน ทำให้ทุพพลภาพหรือตายได้

สาเหตุ
มักเกิดจากความประมาทเลินเล่อ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ สิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่พบได้แก่
1. ความร้อน เช่น น้ำร้อน (หม้อน้ำ กระติกน้ำ กาน้ำ ไอน้ำ) น้ำมันร้อน ๆ (ในกะทะ) ไฟ (เตาไฟ
ตะเกียง บุหรี่ ประทัด พลุ) วัตถุที่ร้อน (เช่น เตารีด จานชามที่ใส่ของร้อน)
2. ไฟฟ้าช็อต ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
3. สารเคมี เช่น กรด ด่าง
4. รังสี เช่น แสงอัลตราไวโอแลต (แสงแดด) รังสีเรเดียม รังสีโคบอลต์ ระเบิดปรมาณู เป็นต้น

อาการ
อาการขึ้นกับ ขนาด ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล
1. ขนาด หมายถึงบริเวณพื้นที่ของบาดแผล แผลขนาดใหญ่ (กินบริเวณกว้าง) จะมีอันตรายกว่า
แผลขนาดเล็ก อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ โปรตีน และเกลือแร่ ถึงกับเกิดภาวะช็อกได้ และอาจ
มีโอกาส ติดเชื้อถึงขั้นเป็นโลหิตเป็นพิษ   ถึงตายได้
การประเมินขนาดกว้างของบาดแผล นิยมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าคิด
หยาบ ๆ ให้เทียบเอาว่า แผลขนาดหนึ่งฝ่ามือ (ของผู้ป่วย) เท่ากับ 1% ของผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น ถ้าแผลมีขนาดเท่ากับ 10 ฝ่ามือ ก็คิดเป็นประมาณ 10% เป็นต้น
ทางการแพทย์ได้แบ่งเปอร์เซ็นต์ของผิวหนัง ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นมาตรฐานทั้งในเด็ก
และผู้ใหญ่ ซึ่งสะดวกในการคิดคำนวณ

2. ความลึก ผิวหนังมีความลึก 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และชั้นหนังแท้ (dermis) เราแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ออกเป็น 3 ขนาด ด้วยกัน ดังนี้
ก. บาดแผลดีกรีที่ 1 หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของเซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังกำพร้าชั้นในยังไม่ถูกทำลาย สามารถเจริญขึ้นมาแทนที่ส่วนผิวนอกได้ จึงมีโอกาสหายได้สนิท
และไม่มีแผลเป็น (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ)
มักเกิดจากการถูกแดดเผา (อาบแดด) การถูกน้ำร้อน ไอน้ำเดือด หรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียด ๆ และ
ไม่นาน ผิวหนังส่วนที่เป็นบาดแผลจะมีลักษณะแดงบวมเล็กน้อย และปวดแสบปวดร้อน ไม่มี
ตุ่มพอง หรือหนังหลุดลอก มีลักษณะแบบเดียวกับรอยแดดเผา ซึ่งถือเป็นบาดแผลไหม้ดีกรีที่ 1
แบบหนึ่ง
บาดแผลดีกรีที่ 1 ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ และโปรตีน จึงไม่ต้องคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผิวหนัง
ที่เกิดบาดแผล มักจะหายได้เองและไม่มีอันตรายร้ายแรง
ข. บาดแผลดีกรีที่ 2 หมายถึงบาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น (ทั้งชั้นผิวนอก
และชั้นในสุด) และหนังแท้ ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ (ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทน
ส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและ ไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ) มักเกิดจาก
ถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟ
บาดแผลจะมีลักษณะแดงและพุเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็ก และใหญ่ ผิวหนังอาจหลุดลอกเห็นเป็น
เนื้อแดง ๆ มีน้ำเหลืองซึม มีอาการเจ็บปวด อาจทำให้สูญเสียน้ำ โปรตีนและเกลือแร่ และติด
เชื้อได้ง่าย
ค. บาดแผลดีกรีที่ 3 หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้ง
ต่อมเหงื่อ ขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล ผิวหนังทั้งชั้นจะ
หลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดง ๆ หรือแดงสลับขาว หรือเป็นเนื้อที่ไหม้เกรียม มักเกิดจากไฟไหม้หรือ
ถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต
ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำ หรือติดเชื้อรุนแรงได้ แผลมักจะหายยาก และเป็น
แผลเป็นในการเกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกแต่ละครั้ง อาจมีบาดแผลที่มีความลึกขนาดต่าง ๆ กัน ในคนเดียวกันได้ และบางครั้งในระยะแรก อาจแยกบาดแผลดีกรีที่ 2 และ 3 ออกจากกันไม่ชัดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองชนิดนี้ ล้วนถือเป็นบาดแผลที่มีอันตรายรุนแรง และควรคิดเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผล

3. ตำแหน่ง บาดแผลบนใบหน้า อาจทำให้เป็นแผลเป็นและเสียโฉมได้มาก ถ้าถูกบริเวณตา อาจทำ
ให้ตาบอดได้ แผลที่มือและตามข้อพับต่าง ๆ อาจทำให้ข้อนิ้วมือและข้อต่าง ๆ มีแผลเป็นดึงรั้ง ทำให้
เหยียดออกไม่ได้
ถ้าสูดควันไฟเข้าไปในปอดระหว่างเกิดเหตุ อาจทำให้เยื่อบุของทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ กลายเป็นหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ อาจรุนแรงจนหายใจไม่ได้ ถึงตายได้

การรักษา
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบคนที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรรีบให้การช่วยเหลือ ก่อนส่งโรงพยาบาลดังนี้

ก. บาดแผลดีกรีที่ 1
1. รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบบริเวณที่มีบาดแผล เพื่อลดอาการปวดแสบปวดร้อน และป้องกันมิให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น
อาจใช้น้ำเย็นราด หรือแช่ในน้ำใส่น้ำแข็ง หรือ ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบ หรือใช้ถุงพลาสติก ใส่น้ำแข็งผสมน้ำเล็กน้อยวางตรงบริเวณที่มีบาดแผล อย่างน้อย 20 นาที หรือจนกว่าอาการปวด
แสบปวดร้อนลดลง
2. ปิดแผลด้วยผ้ากอซ หรือผ้าสะอาด
3. ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือมีตุ่มใส ควรไปหาหมอ

ข. บาดแผลดีกรีที่ 2
1. รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ใช้ผ้าสะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วใช้ผ้ากอซ หรือผ้าสะอาดปิดไว้
2. ถ้าบาดแผลกว้าง เช่น ประมาณ 10-15 ฝ่ามือ (10-15%) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้รวดเร็ว หรือเกิดที่บริเวณหน้า (รวมทั้งปาก และจมูก) ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก หรือเกิดที่ตา หู มือ เท้า หรืออวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งอาจเป็นแผลเป็นได้ง่าย
ควรส่งโรงพยาบาลทันที ขณะที่รอส่งโรงพยาบาล อาจให้การช่วยเหลือ เบื้องต้นโดย
2.1 เปลื้องเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ถ้าถอดออกลำบากควรตัดออก เป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่น ก็ไม่ต้องดึงออก เพราะจะเจ็บมาก ควรใช้ผ้าสะอาดคลุม
2.2 ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจ
2.3 ถ้ามีกำไล หรือแหวน ควรถอดออก หากปล่อยไว้ นิ้วหรือข้อมืออาจบวมทำให้ถอดออกยาก
2.4 ถ้าผู้ป่วยกระหายน้ำ หรือใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง ในการเดินทางไปถึงสถานพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรืออาจให้กินน้ำส้มคั้นใส่เกลือก็ได้ ควรให้ดื่มครั้งละ
1/4-1/2 แล้ว ทุก ๆ 15 นาที
2.5 ควรใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าสูงเล็กน้อย
2.6 ให้พาราเซตามอล 1-2 เม็ด เพื่อระงับปวด และอาจให้ไดอะซีแพม ขนาด 5 มิลลิกรัม 1/2-1 เม็ด

ค. บาดแผลดีกรีที่ 3
เนื่องจากเป็นบาดแผลลึกซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้ จึงควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบาดแผลมีขนาดมากกว่า 10% (ในเด็ก ) หรือ 15% (ในผู้ใหญ่) ก่อนส่ง
โรงพยาบาล อาจให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับบาดแผลดีกรีที่ 1 และ 2 ดังกล่าว

การรักษา
สำหรับการรักษา ในสถานพยาบาล โดยแพทย์หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาจกระทำดังนี้

ก. ถ้าเป็นเพียงบาดแผลดีกรีที่ 1
ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมสเตอรอยด์   หรือเจลว่านหางจรเข้ของ
องค์การเภสัชกรรมบาง ๆ หรือทาด้วยวาสลิน หรือน้ำมันมะกอก และให้ยาแก้ปวด   ถ้ารู้สึกปวด

ข. ถ้าเป็นบาดแผลดีกรีที่ 2 หรือ 3
1. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ในกรณีต่อไปนี้
- บาดแผลดีกรีที่ 3 มีขนาดมากกว่า 2 ฝ่ามือ (2%)
- บาดแผลดีกรีที่ 2 มีขนาดมากว่า 10 ฝ่ามือ (10%) ในเด็ก หรือ 15 ฝ่ามือ (15%) ในผู้ใหญ่
- บาดแผลที่ตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ตามข้อพับต่าง ๆ
- บาดแผลในทารก เด็กเล็กและผู้สูงอายุ
- สูดควันไฟเข้าไประหว่างเกิดเหตุ
- มีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือมาระหว่างทาง
2. ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวในข้อ 1. อาจให้การรักษาโดย
2.1 ชะล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่
2.2 ถ้ามีตุ่มพองเล็ก ๆ เพียง 2-3 อัน เกิดที่ฝ่ามือ ไม่ควรใช้เข็มเจาะ ให้ทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสด (Merthiolate) แล้วปิดด้วยผ้ากอซ ตุ่มจะค่อย ๆ แห้งและ
หลุดล่อนไปเองใน 3-7 วัน
2.3 ถ้ามีตุ่มพองที่แขนขา หลังมือ หลังเท้า หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้ว ให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อ (เช่น แช่ในแอลกอฮอล์แล้ว) เจาะเป็นรู แล้วใช้ผ้ากอซที่ปราศจากเชื้อกดซับน้ำเหลืองให้แห้ง ใช้โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสดทา แล้วพันด้วยผ้ายืดให้ผิวที่พองกดแนบสนิท ภายใน 2-3 วัน หนังที่พองจะหลุดล่อน
2.4 ถ้ามีตุ่มพองเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้กรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อขริบเอาหนังที่พองออก แล้ว
ล้างด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมซัลฟาไมลอน (Sulfamylon), ขี้ผึ้งแบกตาซิน (Bactacin), น้ำยาโพวิโดนไอโอดีน, ครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน (Silver sulfadiazine) หรือ พ่นด้วยสเปรย์พรีเดกซ์
(Predex spray)
ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขา ให้ใช้ผ้าพัน ถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว ให้เปิดแผลไว้ ควรล้างแผลและใส่ยา
วันละ 1-2 ครั้ง เมื่อดีขึ้นค่อยทำห่างขึ้น
2.5 ควรให้ยาแก้ปวด   และฉีดยาป้องกันบาดทะยัก
2.6 ถ้าบาดแผลไม่ดีขึ้น ใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการติดเชื้อ หรืออาการทั่วไปไม่ดี (เช่น มีไข้สูง
เบื่ออาหาร) ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าบาดแผลลึก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่าย
ผิวหนัง (skin graft)

ข้อแนะนำ
1. การปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่แนะนำในปัจจุบันคือ รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบทันทีหลังเกิดเหตุ อย่าใช้ยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่องทา
2. บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่เกิดในเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว ดังนั้นจึงควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย
3. บาดแผลที่ข้อพับ อาจทำให้เกิดแผลเป็น ดึงรั้งข้อต่อให้คดงอ (เหยียดไม่ได้) สามารถป้องกันได้โดยใช้เฝือกดามข้อในบริเวณนั้นตั้งแต่แรก
4. ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ ในระยะ 2-3 วันแรก คือ ภาวะขาดน้ำและช็อก ถ้ามีบาดแผลกว้าง แพทย์จะให้น้ำเกลือชนิดริงเกอร์แล็กเทต (Ringer's lactate) ในวันแรกอาจให้ขนาด 4 มล. ต่อน้ำหนัก
ตัว 1 กิโลกรัมต่อเนื้อที่บาดแผล 1 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ครึ่งหนึ่งใน 8 ชั่วโมงแรก อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือให้
หมดใน 16 ชัวโมงต่อมา วันต่อมาอาจต้องให้น้ำเกลือ และพลาสมา
ส่วนการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากมีบาดแผล 2-3 วันไปแล้ว (หรือหลัง 1 สัปดาห์) ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้างก็มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง
โดยทั่วไป ถือว่าบาดแผลดีกรีที่ 2 ที่มีขนาดมากกว่า 30% และบาดแผลดีกรีที่ 3 ที่มีขนาด
มากกว่า 10% ถือเป็นบาดแผลรุนแรง รักษายากและมักจะมีอัตราตายสูง
5. ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรกินอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ เพราะร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางบาดแผล
6. ถ้ามีบาดแผลถูกกรดหรือด่าง ควรให้การปฐมพยาบาล โดยรีบชะล้างแผลด้วยน้ำก๊อก นานอย่าง
น้อย 5 นาที แล้วส่งโรงพยาบาล แพทย์อาจให้การรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

การป้องกัน
ควรหาทางป้องกันบาดแผลไฟไหม้น้ำรอนลวก โดย
- อย่าให้เด็กเล็กเล่นในห้องครัว
- อย่าวางกาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง กระติกน้ำร้อน ตะเกียง ไม้ขีดหรือวัตถุอื่น ๆ ที่มีความร้อนไว้
ใกล้มือเด็ก
- อย่าวางบุหรี่ ตะเกียง ใกล้ผ้าห่ม มุ้ง หรือสิ่งที่อาจติดไฟได้ง่าย

ข้อแนะนำ
เมื่อถูกของร้อนรีบใช้ความเย็นแก้

bar5.jpg (6486 bytes)










ไฟฟ้าช็อต Electric shock

ลักษณะทั่วไป
ไฟฟ้าช็อต เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในบ้าน โรงเรียน โรงงาน และสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้า อาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อ การใช้เครื่องไฟฟ้าผิดวิธี หรือจากการรู้เท่าไม่ถึงารณ์ เป็นต้น
คนที่ถูกไฟฟ้าช็อตอาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไป (ตั้งแต่บาดแผลไหม้เพียงเล็กน้อยจนกระทั่ง
ตาย) ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
1. ลักษณะของผิวหนังส่วนที่สัมผัสถูกไฟฟ้า ถ้าผิวหนังแห้งจะมีความต้านทานสูง เกิดอันตรายน้อย แต่ถ้าผิวหนังเปียกชื้น (เช่น มีเหงื่อ หรือเปียกน้ำ) หรือมีบาดแผลสด (เช่น ถูกมีดบาด เข็มแทง หรือ
แผลถลอก) จะมีความต้านทานต่ำ เกิดอันตรายได้สูง
2. ชนิดของกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้ากระแสตรง (direct current) เช่น ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือ ถ่านไฟ จะทำอันตรายได้น้อย ส่วนไฟฟ้ากระแสสลับ (alternating current) จะทำอันตรายได้มาก
กระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำ (เช่น ขนาด 50-60 รอบต่อวินาที) จะมีอันตรายร้ายแรงกว่า ความถี่สูง
กระแส ไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านถือว่าเป็นชนิดที่มีอันตรายสูง
3. ตำแหน่งและทางเดินของกระแสไฟฟ้าในร่างกาย ถ้าไฟฟ้าวิ่งจากแขนไปแขน หรือแขนไปเท้า จะมีอันตรายกว่าจากเท้าลงดิน เพราะสามารถวิ่งผ่าน และทำอันตรายต่อหัวใจ (ทำให้หัวใจเต้นผิด
จังหวะ) หรือถ้ากระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านสมอง (ทำให้หยุดหายใจ), วิ่งผ่านกล้ามเนื้อ (ทำให้ชัก
กระดูกหักหรือ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต)
4. ระยะเวลาสัมผัส ถ้ายิ่งนานก็ยิ่งมีอันตราย ผิวหนังที่สัมผัสไฟฟ้านาน ๆ จะทำให้มีเหงื่อออก ซึ่งจะลดความต้านทานลง กระแสไฟฟ้าจะเข้าร่างกายได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความร้อนในร่างกายเป็นเหตุให้เกิดบาดแผลไหม้รุนแรงได้

อาการ
อาการขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว
บางคนเมื่อถูกไฟฟ้าช็อต อาจเพียงแต่ทำให้ล้มลงกับพื้น (ถ้าตกจากที่สูงก็อาจทำให้เกิดอันตราย
ต่อร่างกายได้) หรือ ของหล่นจากมือ
ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แล้วตามด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็ว
และหมดสติ อาจหยุดหายใจ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอันตรายถึงตายได้ทันที
บางคนอาจหมดสติชั่วครู่ เมื่อฟื้นขึ้นมาอาจรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
และ มีความรู้สึกหวาดผวาได้
นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดบาดแผลไหม้ตรงผิวหนังและกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นแผลไหม้สีเทา และไม่รู้สึกเจ็บ ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ เช่น
เดียวกับ บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกและอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
บางคนอาจมีกระดูกสันหลัง และกระดูกส่วนอื่นๆ หัก เนื่องจากการชักกระตุก หรือตกจากที่สูง
บางคนอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก มีอาการซีด เหลือง

การรักษา
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบคนที่ถูกไฟฟ้าช็อต ควรรีบให้ความช่วยเหลือดังนี้
1. รีบปิดสวิตช์ไฟ หรือถอดปลั๊กไฟทันที
2. ถ้าทำไม่ได้ จำเป็นต้องช่วยให้คนที่ถูกไฟฟ้าช็อตหลุดออกจากสายไฟที่มีกระแสไฟวิ่งอยู่ โดยผู้ที่ทำการช่วยเหลือจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างสูง ต้องยืนอยู่บนฉนวนแห้ง ๆ
เช่น ไม้กระดาน กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้า แล้วใช้ด้ามไม้กวาด ไม้กระดาน
ขาเก้าอี้ไม้ หรือ ไม้เท้าไม้ที่แห้ง เขี่ยสายไฟให้พ้นจากผู้ป่วยหรือดันร่างกายส่วนที่สัมผัสไฟให้หลุด
ออกจากสายไฟ
ห้ามใช้โลหะหรือวัตถุที่เปียกน้ำเป็นอันขาด ควรใช้ไม้หรือฉนวนไฟฟ้าที่แห้ง และห้ามมิให้แตะต้องถูกตัวผู้ป่วยโดยตรง จนกว่าจะหลุดพ้นออกจากสายไฟเสียก่อน
3. ตรวจดูการหายใจ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที ถ้าหัวใจหยุดเต้น
(คลำชีพจรไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจพร้อมกันไป จนกว่าจะหายใจได้เอง
ถ้าผู้ป่วยหายใจได้เอง แต่ยังหมดสติควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น และให้ทำการปฐมพยาบาล เช่นเดียวกับผู้ป่วยหมดสติจากสาเหตุอื่น ๆ
4. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน และควรตรวจดูการหายใจอย่างใกล้ชิด ถ้าหยุดหายใจ ควร เป่าปากช่วยมาตลอดทาง จนกว่าจะถึงโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

การรักษา
ถ้าผู้ป่วยมีชีวิตรอดจนถึงโรงพยาบาล ควรตรวจดูอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะช็อก
ภาวะขาดน้ำ บาดแผลไหม้ กระดูกหัก เป็นต้น และให้การรักษาตามอาการที่พบ
สำหรับบาดแผลไหม้ (ถ้ามี) ควรให้การดูแลรักษาแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก   แต่ควรระวังบาดแผลที่เห็นจากภายนอก แม้จะดูเล็กน้อย แต่เนื้อเยื่อส่วนลึกอาจถูกทำลายรุนแรง ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ หรือมีเลือดออก หรือมีการติดเชื้อในเวลาต่อมาได้

การป้องกัน
ควรหาทางป้องกัน ด้วยการติดตั้งและซ่อมแซมสายไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยสูง
(เช่น ปลั๊กไฟ ควรติดตั้งให้พ้นมือเด็กเล็ก อย่าให้เอาอะไรไปแหย่เล่นได้) และรู้จักใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยความระมัดระวัง

รายละเอียด
ห้ามแตะต้องคนที่ถูกไฟฟ้าช็อตโดยตรง จนกว่าจะช่วยเหลือให้เขาหลุดพ้นออกจาก
สายไฟเสียก่อน

bar5.jpg (6486 bytes)











จมน้ำ Drowning

ลักษณะทั่วไป
จมน้ำ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรง มักจะทำให้ตายในเวลาเพียงไม่กี่นาที มักเกิดกับ
เด็กเล็ก และคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น อาจเกิดจากอุบัติเหตุ (เช่น ตกน้ำ เรือคว่ำ เรือชน) เมาเหล้า
โรคลมชัก โรคหัวใจวาย หรืออื่น ๆ
คนที่จมน้ำมักจะตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจ เพราะสำลักน้ำ บางคนอาจตายเนื่องจากภาวะ
เกร็งของกล่องเสียง (laryngospasm) ทำให้หายใจไม่ได้ สาเหตุเหล่านี้มักจะทำให้คนที่จมน้ำ ตาย
ภายใน 5-10 นาที
คนที่จมน้ำถึงแม้จะรอดมาได้ในระยะแรก แต่ก็อาจ จะตายเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้
เช่น ปอดอักเสบ การเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะปอดบวมน้ำ
(pulmonary edema) ภาวะปอดไม่ทำงาน (ปอดล้ม ปอดวาย) เป็นต้น
ภาวะเหล่านี้มักเกิดขึ้นไม่ต่างกันมากนัก ทั้งในพวกที่จมน้ำจืด (แม่น้ำ ลำคลอง บ่อ สระน้ำ) และพวก
ที่จมน้ำทะเล รวมทั้งอาการแสดงและการรักษาก็ไม่ต่างกันมาก
ข้อแตกต่าง คือ น้ำจืดจะมีความเข้มข้นน้อยกว่า เลือด(พลาสมา) ดังนั้น ถ้ามีน้ำอยู่ในปอดจำนวนมาก ก็จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดทันที ทำให้ปริมาตรของเลือดที่ไหลเวียนเพิ่มจากเดิม (hypervolemia) มีผลทำให้ระดับเกลือแร่ (เช่น โซเดียม โพแทสเซียม) ในเลือดลดลง ซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
หรือหัวใจวายได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (hemolysis) ได้อีกด้วย
ส่วนน้ำทะเลจะมีความเข้มข้นมากกว่าเลือด น้ำทะเลที่สำลักอยู่ในปอด จะดูดซึมน้ำเลือด (พลาสมา) จากกระแสเลือดเข้าไปในปอด ทำให้เกิดภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ระบบไหลเวียนมี
ปริมาตรลดลง (hypovolemia) และระดับเกลือแร่ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อกได้
แต่อย่างไรก็ตาม คนที่จมน้ำมักตาย เนื่องจากขาดอากาศหายใจมากกว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับ
เกลือแร่ และปริมาตรของเลือด

อาการ
คนที่จมน้ำมักจะมีอาการหมดสติ และหยุดหายใจ บางคนหัวใจอาจหยุดเต้น (คลำชีพจรไม่ได้)
ร่วมด้วย ถ้าไม่ถึงกับหมดสติ ก็อาจมีอาการปวดศรีษะ เจ็บหน้าอก อาเจียน กระวนกระวาย หรือ
ไอมีฟองเลือดเรื่อ ๆ (ซึ่งแสดงว่ามีภาวะปอดบวมน้ำ)
บางคนอาจตรวจพบภาวะหัวใจเต็นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดต่ำ หรือภาวะช็อก

การรักษา
การปฐมพยาบาล
การช่วยเหลือคนที่จมน้ำอย่างถูกต้องก่อนส่งไปโรงพยาบาล มีผลต่อความเป็นความตายของผู้ป่วย
มาก ควรแนะนำวิธีปฐมพยาบาลดังนี้
1. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปาก ช่วยหายใจทันที อย่ามัวเสียเวลาในการพยายามเอาน้ำออกจากปอดของผู้ป่วย (เช่น การจับแบก พาดบ่า) หรือทำการผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันกาลและไม่ได้ผล
ถ้าเป็นไปได้ ควรลงมือเป่าปาก ตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น หลังจากพาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้น ๆ ได้
แล้ว เมื่อขึ้นบนฝั่งแล้ว ให้ทำการผายปอดด้วยการเป่าปากต่อไป จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือพาไปส่งถึงโรงพยาบาลแล้ว
วิธีการเป่าปากโดยละเอียด ดูใน "โรคที่ 75 หมดสติ"
เมื่อเริ่มเป่าปากสักพัก ถ้าหากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง อาจจับผู้ป่วยนอนคว่ำแล้วใช้มือ 2 ข้าง วางอยู่ใต้ท้องผู้ป่วย ยกท้องผู้ป่วยขึ้นจะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกทางปากได้ แล้วจับผู้ป่วยพลิกหงาย และทำ
การเป่าปากต่อไป
2. ถ้าคลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการนวดหัวใจทันที 
3. ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง และศีรษะ
หงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้
ผู้ป่วยกินอาหารและดื่มน้ำทางปาก
4. ควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย
ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ควรผายปอด ด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่าเพิ่งรู้สึกหมดหวัง แล้วหยุดให้การช่วยเหลือ (เคยพบว่า การเป่าปากนานเป็นชั่วโมง ๆ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดและ
หายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจมน้ำที่มีความเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 70 ํฟ. หรือ 21.1 ํ ซ.)

การรักษา
ควรรับผู้ป่วยไว้รักษาที่โรงพยาบาลทุกราย ไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ และหาทางป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
ควรเจาะเลือดตรวจระดับแก๊สในเลือด และตรวจหาความเข้มข้นของเกลือแร่ เอกซเรย์ดูว่า มีการ
อักเสบของปอด หรือปอดแฟบหรือไม่ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษา ให้ออกซิเจน, ต่อเครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ พลาสมาหรือเลือด
ถ้ามีภาวะหัวใจวายก็จะให้ยาขับปัสสาวะและ ยารักษาโรคหัวใจ (เช่น ลาน็อกซิน)
ถ้ามีปอดอักเสบ จะให้ยาปฏิชีวนะ และสเตอรอยด์

ข้อแนะนำ
1. วิธีผายปอดแก่ผู้ป่วยจมน้ำที่แนะนำในปัจจุบัน คือ วิธีการเป่าปาก และให้ลงมือทำให้เร็วที่สุด อย่าเสียเวลาในการจับแบกพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออกจากปอด ดังที่เคยแนะนำกันในสมัยก่อน
ส่วนการผายปอดด้วยมือ เช่น วิธีของซิลเวสเตอร์ (Silvester method ) หรือวิธีของโฮลเกอร์นีลเซน
(Holger Nielsen method) เป็นต้น ไม่แนะนำให้ทำ เพราะได้ผลน้อย
2. ผู้ป่วยที่จมน้ำทุกรายไม่ว่าจะหมดสติ หรือหยุดหายใจหรือไม่ก็ตาม ควรพักรักษาตัวใน
โรงพยาบาลอย่างน้อย 24-72 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวัง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

การป้องกัน
ควรหาทางป้องกัน โดย
1. ระวังอย่าให้เด็กเล็กเล่นน้ำหรือเล่นในบริเวณ ใกล้กับน้ำตามลำพัง
2. ควรส่งเสริมให้เด็กฝึกว่ายน้ำให้เป็น
3. เวลาลงเรือหรือออกทะเล ควรเตรียมชูชีพไว้ให้พร้อมเสมอ
4. คนที่เมาเหล้า หรือเป็นโรคลมชัก ห้ามลงเล่นน้ำ

bar5.jpg (6486 bytes)











สัตว์กัด แมลงต่อย Bites / Stings

ลักษณะทั่วไป
สัตว์กัดแมลงต่อย เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในที่นี้ขอแยกกล่าวตามชนิดของสัตว์
และแมลง ที่ต้นเหตุดังนี้

สัตว์กัด
บาดแผลที่เกิดจากสัตว์กัด อาจทำให้มีเลือดออกและติดเชื้ออักเสบได้ บางครั้งอาจติดเชื้อบาดทะยัก ทำให้เป็นบาดทะยัก แทรกซ้อนได้
ถ้าเกิดจากสุนัข แมว สัตว์แทะ (หนู กระรอก) หรือสัตว์ป่ากัด ก็อาจทำให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า   ได้
ถ้าเกิดจากสัตว์พิษ เช่น งูพิษ ก็อาจมีอันตรายร้ายแรงจากพิษของมันได้

ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า
แมลงพวกนี้จะมีเหล็กในอยู่ที่ส่วนปลายของลำตัว เมื่อต่อยเข้าผิวหนังของคนเรา จะปล่อยน้ำพิษ
ออกมาทำให้เกิดอาการต่าง ๆ

เห็บ
เห็บนอกจากจะเป็นพาหะนำไข้รากสาดใหญ่ชนิด Epidemic typhus แล้ว มันยังมีพิษที่สามารถ
ทำลายระบบประสาทให้กลายเป็นอัมพาตได้อีกด้วย

แมงมุม
โดยทั่วไปจะไม่มีพิษ เมื่อถูกกัดจะเป็นเพียงแผลบวมแดงไม่ปวด ให้ใช้ยาหม่อง หรือครีมสเตอรอยด์
ทา แมงมุมที่มีพิษ เช่น แมงมุมดำ (Black widow spider) ซึ่งพบในแถบลาตินอเมริกา (ไม่พบใน
ประเทศไทย) อาจมีพิษต่อประสาท ทำให้อ่อนแรง เวียนศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็งและปวด อาจ
หายใจลำบาก และช็อกถึงตายได้ ต้องฉีดเซรุ่มแก้พิษ ถ้าสงสัยถูกแมงมุมมีพิษต่อย ให้ทำการปฐม
พยาบาล แบบเดียวกับถูกงูกัด

แมงป่อง
แมงป่อง มีเหล็กในที่หาง ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรงตรงบริเวณที่ถูกต่อย ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโต บางคนอาจปวดเป็นชั่วโมง ๆ ให้รักษาแบบเดียวกับถูกผึ้งต่อย ถ้าปวดมากให้ฉีดยาชาตรงบริเวณที่ถูกต่อย
แมงป่องที่มีพิษร้ายแรง (ยังไม่พบในบ้านเรา) จะมีพิษต่อประสาท ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก ชัก อาเจียน
น้ำลายฟูมปาก หยุดหายใจ ตายได้ ต้องฉีดเซรุ่มแก้พิษ ถ้าสงสัยถูกแมงป่องมีพิษต่อย ให้ทำการ
ปฐมพยาบาลแบบเดียวกับถูกงูกัด

ตะขาบ
ตะขาบมักไม่มีพิษร้ายแรง นอกจากทำให้บริเวณที่ถูกกัด มีอาการบวมแดงและปวดเล็กน้อย แต่บางคนอาจมีอาการปวดรุนแรงได้ น้อยรายที่อาจทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีคนถูกตะขาบกัดตาย

แมงกะพรุน
แมงกะพรุนจะมีหนวดพิษหลายอัน แต่ละอันประกอบด้วยเหล็กในเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เมื่อหนวดพิษสัมผัสถูกผิวหนังของคนเรา ก็จะปล่อยพิษออกมา ทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน และผิวหนังมีผื่นแดงหรือเป็นสีแดงเข็ม บางครั้งเหมือนรอยไหม้
บางคนอาจแพ้พิษมาก ทำให้ผิวหนังบวมนูนขึ้นเป็นทางยาว แล้วเกิดเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มพอง และแตกเป็นแผลเรื้อรังหายยาก ถึงแม้ตกสะเก็ดแล้วก็อาจกำเริบเป็นแผลใหม่อีก เมื่อหายแล้วมักจะกลายเป็นแผลปูด หรือคีลอยด์   ซึ่งบางครั้งอาจมีลักษณะน่าเกลียด
โดยทั่วไป แมงกะพรุนไฟ จะมีพิษร้ายแรงกว่า แมงกะพรุนธรรมดา
สำหรับแมงกะพรุนไฟ นอกจากจะทำให้เป็นแผล เรื้อรังแล้ว ยังอาจทำให้มีอาการชาตามมือ เท้า
กล้ามเนื้อหดเกร็ง จุกเสียด หายใจไม่สะดวก ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและมีไข้ อาการอาจเกิด
หลังสัมผัสถูก 30 นาที - 1 ชั่วโมง กว่าจะทุเลากินเวลา 24 - 48 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจเกิดภาวะช็อกและอาจตายได้ใน 10-15 นาที ภาวะแพ้พิษรุนแรงดังกล่าว เป็นสิ่งที่พบได้น้อย
มาก ส่วนมากจะมีเพียงอาการปวดแสบปวดร้อนหรือเป็นแผลเรื้อรังเฉพาะที่บริเวณที่สัมผัสถูก

อาการ
ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า
ส่วนมากจะมีอาการเฉพาะที่เพียงเล็กน้อย คือบริเวณที่ถูกต่อยมีอาการปวด บวม แดง คัน แสบร้อน อาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง
ถ้าเป็นมาก อาจมีอาการบวมลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง และเป็นอยู่หลายวัน (ถ้ากัดที่ลิ้นอาจทำให้ลิ้นบวมอุดกั้นทางเดินหายใจ ตายได้)
ถ้าเกิดอาการแพ้รุนแรง (เช่น ถูกผึ้ง ต่อ หรือแตน ต่อย) นอกจากอาการเฉพาะที่แล้ว ยังอาจมีอาการ
ทั่วไปร่วมด้วย เช่น ริมฝีปากบวม หนังตาบวมคัน มีลมพิษขึ้นทั่วตัว คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก
หายใจหอบ เนื่องจากกล่องเสียงบวม หรือหลอดลมหดตัวคล้ายหืด หรือเกิดภาวะช็อก
(เป็นลม ชีพจรเบาและเร็ว ความดันตก) และอาจ ตายได้ภายใน 15-30 นาที อาการแพ้มักเกิดขึ้น
ภายใน 2-3 นาทีหลังจากถูกต่อย หรืออาจเกิดหลังถูกต่อย แล้ว 24 ชั่วโมงก็ได้
อาการแพ้พิษอาจเกิดจากการถูกต่อยเพียงครั้งเดียว ในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ได้ง่าย หรืออาจเกิดจากการถูกต่อยจำนวนเป็นร้อย ๆ ครั้งพร้อมกัน (เคยมีรายงานว่ามีคนตายจากถูกผึ้ง
ประมาณ 100 ตัว ต่อยพร้อมกัน)
นอกจากนี้บางรายยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง เช่น บริเวณที่ถูกกัด กลายเป็นแผล
อักเสบเป็นหนอง, โรคไตเนโฟรติก   ในกรณีถูกผึ้งต่อย เป็นต้น

เห็บ
ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการเฉพาะที่ เป็นตุ่มคัน หายได้ภายใน 2-3 วัน แต่อาจทำให้เกาจนเป็น
หนองได้ แต่ถ้าเอาตัวออกไม่หมด ยังมีหัวของมัน ฝังอยู่ในผิวหนัง ตุ่มนี้อาจโตขึ้น (ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นก้อนมะเร็งได้) บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการอัมพาต คล้ายโปลิโอ เมื่อเอา
หัวของมันออก ก็จะค่อยๆ หายได้ แต่ถ้าปล่อยจนกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตก็อาจทำให้หยุด
หายใจ ตายได้

การรักษา
สัตว์กัด
1. เมื่อถูกสัตว์กัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที ควรฟอกล้างนานอย่างน้อย 5 นาที
แล้วใช้ผ้ากอซปิด ไม่ควรเย็บปิดแผล เพราะอาจติดเชื้อเป็นหนองได้ง่าย ควรชะล้างแผลด้วย
น้ำเกลือสัก 3-4 วัน เมื่อแผลสะอาดดีจึงค่อยเย็บปิด
2. ถ้าแผลเหวอะหวะ และมีเลือดไหลมาก ควรทำการห้ามเลือด แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน
3. ถ้าเกิดจากงูกัด ควรทำการปฐมพยาบาลและให้การรักษาแบบงูกัด
4. ถ้าเกิดจากสุนัข แมว สัตว์แทะ สัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ กัด ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับ
สุนัขกัด
5. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี , คล็อกซาซิลลิน  หรือ อีริโทรไมซิน   และฉีดยาป้องกันบาดทะยักทุกราย

ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า
1. รีบเอาเหล็กในออก โดยใช้ใบมีดหรือปลายเข็ม ขูดออก หรือใช้กระดาษสกอตเทปปิดทาบ แล้วดึงออก เหล็กในจะหลุดออกมาด้วย หรือใช้ปลายหลอดกาแฟแข็ง ๆ หรือปลายด้ามปากกาลูกลื่นครอบจุดที่ถูก
ต่อยแล้ว กดลงให้เหล็กในโผล่ขึ้นมา แล้วจึงใช้คีมคีบออก ใช้สารที่เป็นด่าง เช่น แอมโมเนียทาให้ทั่ว
เพื่อทำลายพิษซึ่งเป็นกรด และใช้น้ำแข็ง หรือน้ำเย็นประคบ
2. ถ้าปวดและคันเล็กน้อย ใช้ยาหม่อง หรือ ครีมสเตอรอยด์) ทา
3. ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวด ถ้าไม่ได้ผลให้ใช้ยาชา เช่น ไซโลเคน (Xylocaine) หรือโปรเคน (Procaine)
ฉีดรอบ ๆ บริเวณที่ถูกต่อย หรือใช้ถุงน้ำแข็งวางบนบริเวณที่ถูกต่อย บรรเทาอาการปวดก็ได้
4.ถ้ามีอาการแพ้เฉพาะที่ เช่น บวมคัน หรือเป็นลมพิษ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน หรือ
ไดเฟนไฮดรามีน ครั้งละ 1/2 - 1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง และทาด้วยครีมสเตอรอยด์
5.ถ้ามีอาการหอบ ฟังปอดมีเสียงวี้ด (wheezing) หรือ ช็อก ให้ใช้เชือก ผ้าหรือสายยางรัดเหนือ
บริเวณที่ถูกต่อย (ควรคลายออกทุก 10 นาที จนกว่าอาการแพ้จะหมดไป) และฉีดอะดรีนาลิน
0.5 มล. ( เด็ก 0.2-0.3 มล.) เข้าใต้ผิวหนัง พร้อมกับฉีดเดกซาเมทาโซน 5-10 มิลลิกรัมเข้าหลอด
เลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน
ในรายที่หอบรุนแรง ให้ใช้อะมิโนฟิลลีน ขนาด 250 มิลลิกรัม ผสมในน้ำเกลือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ช้า ๆ บางรายอาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ

เห็บ
1.ให้ดึงเอาเห็บออกพร้อมหัว อย่าให้มีส่วนของหัวค้างอยู่ในผิวหนัง อาจใช้น้ำมัน หรือยาหม่องทา หรือใช้บุหรี่ติดไฟรนใกล้ตัวเห็บ จะช่วยให้หลุดออกง่ายขึ้น
2. ถ้าเกาจนเป็นหนอง ให้ยาปฏิชีวนะ เช่นเพนวี  , คล็อกซาซิลลิน   หรืออีริโทรไมซิน
3. ถ้ามีอาการอัมพาต ควรสำรวจว่ามีหัวของเห็บ ติดอยู่ส่วนไหน แล้วเอาออก หรือผ่าออกเสีย และรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที

แมงมุม
เมื่อถูกกัดจะเป็นเพียงแผลบวมแดง ไม่ปวด ให้ใช้ยาหม่อง หรือ ครีมสเตอรอยด์  ทา

แมงป่อง
ให้รักษาแบบเดียวกับถูกผึ้งต่อย ได้แก่ เอาเหล็กไนออก, ทาด้วยแอมโมเนีย หรือครีมสเตอรอยด์,
กินยาแก้ปวด, ถ้าปวดมากฉีดยาชาตรงบริเวณที่ถูกต่อย

ตะขาบ
1. ทาบริเวณที่ถูกกัดด้วยแอมโมเนีย หรือ ครีมสเตอรอยด์
2. ถ้าปวด ให้กินยาแก้ปวด และใช้น้ำแข็งประคบ
3. ถ้าปวดมาก ใช้ยาชาฉีดตรงบริเวณที่ปวด
4. ถ้าปวดหัว มีไข้ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ และควรให้นอนพัก มักจะหายได้ภายใน 12 ชั่วโมง

แมงกะพรุน
1. ถ้าหนวดพิษของแมงกะพรุนติดอยู่ตามตัว ต้องรีบเอาผ้าเช็ดออก และใช้แอมโมเนียหรือ
แอลกอฮอล์ทาแล้ว จึงทาด้วยครีมสเตอรอยด์   หรือจะใช้ผักบุ้งทะเลที่ขึ้นตามชายหาด ขยำ
หรือตำให้มีน้ำ ใช้ทาบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนก็ได้ผลเช่นกัน
2. ถ้าปวดให้ยาแก้ปวด ถ้าปวดมากอาจต้องฉีดมอร์ฟีนระงับปวด
3. ให้กินสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน วันละ40-60 มก. สัก 2-3 วัน แล้วค่อย ๆ ลดขนาดลงที
ละน้อย จนหยุดยาภายใน 7-10 วัน จะทำให้แผลหายเร็ว และไม่กลับกำเริบเรื้อรัง ยานี้ควรกิน
ภายใน 2-3 วันแรก ถ้ากินหลังถูกแมงกะพรุน 2-3 วันไปแล้ว จะไม่ค่อยได้ผล
4. ถ้ามีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือเป็นตะคริว ให้ฉีดแคลเซียมกลูโคเนตขนาด 10% จำนวน 10 มล.เข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ หรือฉีดไดอะซีแพม 10 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำ
5. ถ้ามีอาการหอบหรือช็อก ฉีดอะดรีนาลิน   และฉีดเดกซาเมทาโซน 5-10 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ
หรือหลอดเลือดดำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรส่งโรงพยาบาลด่วน และถ้ามีภาวะช็อกควรให้น้ำเกลือไป
ระหว่างทาง

ข้อแนะนำ
ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า
1. เมื่อถูกแมลงที่มีเหล็กในต่อย ควรรีบเขี่ยออกทันที จะช่วยลดปริมาณพิษที่เข้าสู่ร่างกาย ป้องกันมิให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ (ปกติเมื่อถูกผึ้งต่อยจะต้องกินเวลา 2-3 นาที กว่าพิษจะถูกปล่อยออกมาหมด)
2. อย่าแหย่หรือทำลายรังของแมลง อาจเสี่ยงต่อการถูกต่อยโดยแมลงทีละจำนวนมาก เกิด
อาการแพ้พิษรุนแรงได้ ถ้าต้องการทำลาย รังแมลง ควรให้ผู้ที่ได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะ เป็นคน
จัดการแทน
3. สำหรับคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกแมลงต่อย เช่น พนักงานป่าไม้ นักเดินป่า ลูกเสือเวลา
ออกค่าย เป็นต้น ควรมีชุดปฐมพยาบาล เช่น สายยางทูร์นิเคต์, ยาฉีดอะดรีนาลิน พร้อมอุปกรณ์
การฉีดยา, ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน, ครีมสเตอรอยด์ เป็นต้น ไว้ปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงต่อย
4. ผู้ที่แพ้แมลงบ่อย ๆ อาจลดการแพ้ด้วยการทำดีเซนซิไทเซชั่น (desensitization) โดยการฉีดน้ำสกัดของแมลงพวกนี้ให้ผู้ป่วยทีละน้อย และบ่อย ๆ ควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะ

แมงกะพรุน
1. เวลาลงเล่นน้ำในทะเล ควรเตรียมแอมโมเนีย แอลกอฮอล์ และครีมสเตอรอยด์ไว้ที่ชายหาดให้พร้อม ที่จะให้การปฐมพยาบาลทันที เมื่อถูกแมงกะพรุนไฟ เมื่อให้การปฐมพยาบาลแล้ว ควรไปหาหมอโดยเร็ว อาจต้องกินสเตอรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง และป้องกันมิให้กลายเป็นแผลเรื้อรัง
2. เวลาลงเล่นน้ำในทะเล ควรระมัดระวังอันตรายจากแมงกะพรุน ถ้าเห็นแมงกะพรุนอยู่ใกล้ ควรเลิก
เล่นน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะฝนตก ลมแรง อาจพัดพาแมงกะพรุนเข้าชายฝั่ง จึงควรระวังตัวให้มาก
3. อย่าใช้มือเปล่าจับแมงกะพรุนที่ถูกน้ำพัดขึ้นมาบนชายหาด อาจแพ้พิษได้เช่นกัน


bar5.jpg (6486 bytes)


wpe5.jpg (2158 bytes)
ThaiL
ThaiL
@bOnline - Crystal Diagnostics
Email :
vichai-cd@usa.net
ThaiL@bOnline - Crystal Diagnostics
Email :
vichai-cd@usa.net